Skip to main content
sharethis

 

หลังจากเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ที่ผ่านมา ณัฐนันท์ วรินทรเวช หรือ ‘ไนซ์’ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และอดีตเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว ‘Nattanan Warintarawet’ ถึงการอารยะขัดขืนส่งกระดาษคำตอบเปล่าการการสอบวิชาหน้าที่พลเมือง โดยระบุว่าเป็นการส่งถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา หัวหน้า คสช. เนื่องจากวิชาดังกล่าว เป็นวิชาที่รัฐบาลเผด็จการบังคับให้พวกเราเรียน ที่มีลักษณะยัดเยียดแนวคิดแบบเดียวและปฏิเสธการโต้แย้งแสดงความเห็นต่างตามวิถีประชาธิปไตย (อ่านรายละเอียด)

ต่อมามติชน กรอบบ่าย 23 ก.ค.58 ซึ่งข้อความการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารโรงเรียนเตรียมอุดมเกี่ยวกับ ณัฐนันท์ โดยกล่าวหาว่า มีอาการป่วย และพ่อแม่ได้พาไปรักษามา 2 ปีแล้ว และยังอยู่ในระหว่างการกินยา ขณะที่ ณัฐนันท์ โพสต์โต้ว่าไม่ได้ป่วย พร้อมโพสต์ในลักษณะเตรียมดำเนินคดีกับผู้บริหารโรงเรียนคนดังกล่าวด้วย (อ่านรายละเอียด)

ล่าสุดเมื่อวันที่ 23 ก.ค.และวันนี้(24 ก.ค. 58) ณัฐนันท์ ได้โพสต์ แถลงการณ์ : สิ่งที่ได้ตระหนักหลังจากการครุ่นคิด (2) และ แถลงการณ์เพิ่มเติม : สิ่งที่ได้ตระหนักหลังจากการครุ่นคิด (3) ว่าตัดสินใจที่จะให้อภัยอาจารย์ที่กล่าวหาตนว่าป่วยดังกล่าวและไม่เก็บมาคิดให้บาดหมางใจกันทั้งสองฝ่าย พร้อมเรียกร้องคำขอโทษบนกระดาษแผ่นเล็กเท่านั้น โดยไม่ต้องแสดงตัว ก่อนที่แถลงการณ์ฉบับที่ 3 ณัฐนันท์ ระบุว่า ไม่ต้องการคำขอโทษแล้ว เพราะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลยในการที่จะให้อภัย และเรียกร้องให้สังคมเข้าใจอาจารย์ท่านอื่นๆ ในโรงเรียนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย กลังโดนประณามเหมารวมอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

สำหรับแถลงการณ์ทั้ง 2 ฉบับมีรายละเอียดดังนี้

 

แถลงการณ์ : สิ่งที่ได้ตระหนักหลังจากการครุ่นคิด (2) (เผยแพร่ 23 ก.ค.58 22:48 น.)

ในส่วนของอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนั้น ฉันได้ตัดสินใจที่จะให้อภัยท่านและไม่เก็บมาคิดให้บาดหมางใจกันทั้งสองฝ่าย

สาเหตุในการไม่ยื่นฟ้อง ไม่ได้เป็นเพราะฉันสามารถทำใจได้ทั้งหมดและเลิกรู้สึกผิดหวังในตัวอาจารย์ท่านนั้น

แต่เป็นเพราะฉันได้กลับไปทบทวนโทษทางกฎหมายที่เขาจะต้องได้รับหากฉันชนะคดี

โทษหมิ่นประมาทในประเทศไทย หากตัดสินว่าผิดจริง ไม่เพียงแค่จำเลยจะถูกปรับเท่านั้น แต่มีโทษจำคุกรวมอยู่ด้วย

ฉันกลับมาทบทวน และถามตนเองถึงอุดมการณ์ในตอนแรกเริ่ม

ฉันทำอารยะขัดขืนครั้งนี้ เพราะฉันเชื่อในเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออกไม่ใช่หรือ?

การกล่าวร้ายแบบไม่มีมูล แม้ว่าจะเป็นการกระทำที่ไม่สมควรนัก แต่จำเลยก็ไม่ควรจะเจอโทษหนักถึงขั้นจำคุกไม่ใช่หรือ?

ถ้าเขาถูกจำคุกขึ้นมาจริงๆ ชีวิตของฉันจะมีความสุขหรือเปล่า?

มันจะคุ้มจริงๆหรือเปล่า ที่จะแลกอุดมการณ์ที่มีเพื่อความสะใจเพียงชั่วครั้งชั่วคราว?

ฉันจึงตัดสินใจที่จะกล่าวถ้อยแถลงถึงอาจารย์ท่านนั้นแทน

หากอาจารย์ได้มาอ่าน ฉันขอให้อาจารย์มองฉันเป็นเพียงนักเรียนธรรมดาๆคนหนึ่ง

ฉันเป็นเพียงนักเรียนธรรมดา ที่บังเอิญมีแนวคิดและอุดมการณ์ต่างจากนักเรียนทั่วไปเท่านั้น

ลึกๆแล้วอาจารย์ตระหนักอยู่แก่ใจ ว่าอาจารย์ได้กล่าวหาฉันอย่างร้ายแรง

ลึกๆแล้วอาจารย์รู้ว่า ฉันไม่ได้เป็นผู้ป่วยทางจิตตามที่อาจารย์กล่าวอ้าง

ฉันไม่ทราบเหตุผลของอาจารย์ แต่หากเป็นเพียงเพราะเราคิดต่างกัน เราก็ควรจะแก้ปัญหาด้วยการโต้แย้งอย่างมีเหตุผล แทนที่จะกล่าวร้ายใส่กันไม่ใช่หรือ?

ฉันขอให้เราอโหสิแก่กัน และใช้ชีวิตร่วมรั้วโรงเรียนอย่างสงบสุข

มีเพียงเรื่องเดียวที่ฉันอยากขอ

ฉันอยากเห็นคำขอโทษของอาจารย์ คำสารภาพที่อาจารย์ได้กล่าวหาลูกศิษย์คนหนึ่งอย่างเลือดเย็น

ฉันไม่ได้เรียกร้องให้อาจารย์แสดงตัว

ฉันขอเพียงกระดาษแผ่นเล็กๆ ที่มีคำเพียงคำเดียว

คำว่า "ขอโทษ"

อาจารย์เป็นถึงอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ ย่อมทราบเลขห้องเรียนของฉัน

ฉันขอให้อาจารย์เอากระดาษแผ่นนี้ มาแปะไว้ที่กระดานดำ หรือฝากอาจารย์ประจำชั้นมาให้ฉันก็ได้

ฉันหวังว่า ฉันคงไม่ได้ขอมากเกินไป

ด้วยรัก

ณัฐนันท์, ลูกศิษย์คนหนึ่ง

 

แถลงการณ์เพิ่มเติม : สิ่งที่ได้ตระหนักหลังจากการครุ่นคิด (3) (เผยแพร่เมื่อ 24 ก.ค.58 10:44 น.)

เมื่อวานนี้ฉันได้เขียนแถลงการณ์ของตนเองสองฉบับ

ซึ่งในตอนแรกได้ตั้งใจไว้ว่า แถลงการณ์ฉบับที่สองคงเป็นฉบับสุดท้าย สำหรับประเด็นพิพาทที่ร้อนแรงอยู่ในช่วงนี้

แต่ก็มีความในใจบางส่วนที่ยังไม่ได้เขียนลงไปในฉบับที่สอง เนื่องด้วยตอนแรกกลัวว่าจะมีเนื้อหายืดยาวเกินไป แต่เมื่อกลับมาคิดทบทวนก็มองว่าส่วนที่ยังไม่ได้เขียนส่วนนั้นก็มีความสำคัญเช่นกัน

ประกอบกับการที่เมื่อวานฉันยังมีความโกรธอยู่เล็กน้อย จึงได้เขียนเรียกร้องคำขอโทษจากอาจารย์ ทั้งที่ฉันได้กล่าวไว้เองว่าต้องการที่จะอโหสิซึ่งกันและกัน

ผู้หวังดีหลายท่านได้ช่วยเตือนสติในเรื่องนี้ ฉันจึงได้เห็นถึงความย้อนแย้งของตนเองซึ่งทำให้ฉันเกิดความละอายใจเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ฉันรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสได้รับฟังคำแนะนำอย่างมีเหตุผลจากหลายๆท่าน

คำวิจารณ์ที่มีเหตุผลเหล่านี้ เป็นเหมือนกระจกที่ช่วยชี้ให้ฉันเห็นข้อบกพร่องของตนเอง

ฉันจึงกลับมาคิดทบทวนอีกรอบ และได้ตระหนักว่า การเรียกร้องคำขอโทษจากอาจารย์ของฉันไม่มีประโยชน์อันใดเลย หากฉันมีจิตใจที่อโหสิแล้วตามที่ฉันได้กล่าวไว้จริง

ฉันกลับมาทบทวนตนเอง จึงพบว่าข้อเรียกร้องของฉันเป็นการเรียกร้องแบบเด็กๆเท่านั้น

การให้อภัยนั้นอยู่ที่ความคิดของตัวเราเอง ดังนั้นคำขอโทษจากใครก็ตามจึงไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นเลยในการที่จะให้อภัยและลืมเรื่องราวทั้งหมด

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญมาก ที่ฉันไม่ได้เขียนลงในแถลงการณ์ฉบับที่แล้ว

คือเรื่องการที่อาจารย์ท่านอื่นๆในโรงเรียนโดนประณามเหมารวมอย่างที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น

ตามที่ฉันได้ประกาศไว้ในบันทึกฉบับแรกสุดของฉัน ฉันไม่ได้มีความเกลียดชังต่ออาจารย์ท่านใด

การออกข้อสอบรวมถึงการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมือง ล้วนเป็นหน้าที่ของอาจารย์ที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเบื้องบนอย่างเคร่งครัด

ฉันเชื่อว่าอาจารย์ก็มีความกดดันไม่น้อยไปกว่าฉัน และอาจจะมากกว่าหลายเท่าตัวด้วยซ้ำ

ฉันขอร้องให้ทุกท่านที่โจมตีอาจารย์ทบทวนการกระทำของท่าน

สิ่งที่ควรถูกคัดค้านอย่างแท้จริง คือการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมและการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด

ฉันขอใช้โอกาสในที่นี้แสดงความขอโทษอย่างที่สุดต่ออาจารย์หลายๆท่านที่ต้องเป็นตัวกลางแบกรับความกดดันจากกระแสทั้งสองฝ่าย ขอบคุณอาจารย์หลายๆท่านที่เข้าใจเจตนารมณ์ของฉัน และขอบคุณเพื่อนๆที่ให้กำลังใจและแสดงความเป็นห่วง

ท้ายที่สุดฉันหวังว่าการกระทำอารยะขัดขืนของฉันในครั้งนี้ อาจพอที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้ประชาชนที่สนับสนุนประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

ด้วยรัก

ณัฐนันท์, ประชาชนคนหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net