ระบุ คสช. ใช้ ม.44 หวังกันเยาวชนจากอบายมุข อย่ามองเฉพาะผลประโยชน์ทางการค้า

รองโฆษกรัฐบาลเผยหัวหน้า คสช. หวังคืนเด็กสู่ครอบครัว สร้างเกราะคุ้มกันเยาวชนจากอบายมุขด้วย ม.44 ชี้ผู้ประกอบการต้องร่วมมือส่งเสริมเยาวชนให้ถูกทางอย่ามองเฉพาะผลประโยชน์ทางการค้า
 
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2558 ที่ผ่านมา สำนักข่าวไทย รายงานว่า พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2558 เรื่องมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางหลวง และการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการว่า มาตรการทั้งสองเรื่องมีเป้าหมายเหมือนกันคือ เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชนไทยจากพฤติกรรมเสี่ยงและอบายมุขเป็นปัจจัยก่อปัญหาสังคมในอนาคต โดยการแก้ไขปัญหาการขับขี่แข่งขันบนท้องถนนทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ เป็นดำริและความห่วงใยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้า คสช. ที่ต้องการคืนเด็กเยาวชนกลับสู่ครอบครัวเพื่อมีเวลาร่วมกัน  เด็กเยาวชนได้ช่วยเหลือพ่อแม่ประกอบอาชีพ  มีเวลาตั้งใจทบทวนวิชาความรู้ ไม่ออกมาขับขี่รถซิ่ง ซึ่งทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเป็นห่วงเดือดเนื้อร้อนใจ เกิดอุบัติเหตุขึ้นมาก็ต้องรักษาหรือบางกรณีก็เสียชีวิตหมดอนาคตไป  ขณะเดียวกันก็จะช่วยลดอุบัติเหตุให้กับพี่น้องประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน รวมถึงคืนความสงบให้กับทุกครัวเรือนที่เคยต้องทนกับเสียงดังและความวุ่นวายจากการขับขี่แข่งขันบนท้องถนน
 
“ทั้งนี้ มาตรการที่ออกมาตามคำสั่ง จะครอบคลุมทั้งระบบทั้งกระบวนที่ก่อให้เกิดการแข่งขัน ได้แก่ เด็กเยาวชนที่เป็นผู้ขับขี่ ผู้ชมเชียร์ บิดามารดาผู้ปกครอง ผู้ประกอบการร้านค้า อู่รถ ที่จำหน่าย ประกอบ ดัดแปลง เปลี่ยนแปลงสภาพ หรือทำชิ้นส่วนพิเศษที่มีส่วนเกี่ยวข้องสนับสนุนนำไปสู่การแข่งขัน ซึ่งในส่วนผู้ประกอบการมีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือนหรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  หากเป็นโรงงานหรือสถานประกอบกิจการ เจ้าหน้าที่สามารถสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการได้ทันที เรียกว่าเป็นการดำเนินการครบทั้งวงจรมิใช่ดำเนินการเพียงแค่กวดขันเด็กที่แข่งรถเท่านั้น”
 
พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า ในส่วนของการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ในคำสั่งมีแนวทางปฏิบัติชัดเจน คือ ต้องไม่อนุญาตให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าใช้บริการ ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้แก่เด็กเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ห้ามเปิดเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด  ขายในช่วงเวลาที่กำหนด และต้องไม่ยินยอมปล่อยปละให้มีการพกพาอาวุธ วัตถุระเบิด หรือยาเสพติดเข้าไปในสถานที่ของตน หากสถานประกอบการใดกระทำผิดเจ้าหน้าที่มีอำนาจเพิกถอนใบอนุญาตหรือสั่งปิดสถานบริการดังกล่าวเป็นเวลา 5 ปี
 
“สำหรับสถานบริการที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงสถานศึกษา ซึ่งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ห้ามร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตั้งอยู่ภายในรัศมี 300 เมตร รอบอาชีวะศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน  ต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ขอให้เห็นแก่อนาคตของเยาวชน ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ  อย่ามองเฉพาะผลประโยชน์จากการค้าเท่านั้น  ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการยกเลิกจำหน่ายสุรา จำหน่ายเพียงอาหารก็สามารถประกอบการกิจการได้ตามปกติ  ในส่วนของสถานศึกษาในระดับประถม มัธยม ไม่ได้ระบุไว้ในประกาศด้วยเนื่องจากมุ่งเน้นกลุ่มเยาวชนกลุ่มเสี่ยงเป็นสำคัญ แนวทางปฏิบัติจึงจะใช้แนวทางให้โรงเรียน สรรพสามิต เจ้าพนักงานตามกฎหมาย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้หารือร่วมกันเพื่อ กำหนดแนวปฏิบัติที่ความเหมาะสมร่วมกัน”
 
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวต่อว่า  คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นไป หากเจ้าหน้าที่ของรัฐปล่อยปละละเลยให้มีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการหรือใบขายอนุญาตไม่เป็นไปตามข้อกำหนด  ให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครองกับเจ้าหน้าที่ผู้นั้นอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท