แนะรัฐ 'เป็นกลางทางเทคโนโลยี' เพื่อกำกับสื่อใหม่ยุคหลอมรวม

24 ก.ค. 2558 มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนร่วมกับสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง (สส.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  จัดเวทีสาธารณะ "คิดใหม่พรมแดนสื่อ: ประสบการณ์จากต่างประเทศและข้อเสนอแนะสำหรับประเทศไทย" โดยในงานมีการนำเสนองานวิจัยและการเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากต่างประเทศ ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ

อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล หัวหน้าคณะวิจัย “โครงการศึกษาแนวทางการส่งเสริมจริยธรรมจรรยาบรรณและการกำกับกิจการสื่อใหม่ในยุคหลอมรวมเทคโนโลยี” กล่าวว่า จากงานวิจัยได้ข้อสรุปว่า คุณสมบัติของสื่อใหม่คือ ปฏิสัมพันธ์ได้ง่าย สื่อสารสองทาง ติดตามตัว เป็นดิจิทัล ดัดแปลงเปลี่ยนรูปได้ เชื่อมต่อได้ ใช้ได้ทุกที่ รวดเร็ว ไร้พรมแดน การหลอมรวมของสื่อเป็นมากกว่าเรื่องของเทคโนโลยี เทคโนโลยีทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น การที่เพลงทำสำเนาได้ง่ายจะทำให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์มากขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมดนตรีเปลี่ยนแปลงไป มีการจัดคอนเสิร์ตมากขึ้น

ลักษณะของสื่อใหม่ที่มีการหลอมรวมที่สำคัญคือ พรมแดนที่ข้ามและบรรจบกันหลายด้าน คือ โครงสร้างพื้นฐาน อุปกรณ์ เนื้อหาและบริการ ความเป็นเจ้าของ พฤติกรรมผู้ใช้สื่อ รัฐชาติ การกำกับกิจการอาจแบ่งได้ 3 รูปแบบคือ  การกำกับฝ่ายเดียว (กำกับตัวเอง) การกำกับสองฝ่าย (ผู้กำกับ-ผู้ถูกกำกับ) การกำกับสามฝ่าย (ผู้กำกับ คนกลาง ผู้ถูกกำกับ โดยมากคนกลางมีบทบาทเป็นผู้ตรวจสอบ)

อาทิตย์ยังได้กล่าวถึงตัวอย่างของหน่วยงานกำกับดูแลสื่อหลอมรวมที่ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐบาล เช่น GoNGOs ที่รัฐบาลเป็นผู้จัดตั้งหรือมีอิทธิพล เช่น Ofcom สหราชอาณาจักร MaNGOs ที่ภาคธุรกิจเป็นผู้จัดตั้ง เช่น Internet Watch Foundation สหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังพบว่า ในประเทศอื่นๆ การกำกับใช้กฎหมายก็ยังเป็นการใช้แยกสื่ออยู่ แต่ก็มีการสนทนาเกี่ยวกับการหลอมรวมสื่อแล้ว และในบางประเทศมีสถาบันที่มีความเข้มแข็งในหลายประเด็นอยู่แล้ว เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล 

ข้อเสนอจากโครงการวิจัยต่อการกำกับดูแลสื่อหลอมรวมมีหลายด้าน ได้แก่ ด้านบทบาทหน้าที่และสมดุลอำนาจระหว่างองค์กร โดยเป็นการรักษาหลักการคานอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ยึดโยงกับประชาชน และมีความโปร่งใสตรวจสอบง่าย ด้านการจัดสรรทรัพยากรซึ่งควรจัดสรรทรัพยากรให้กับสื่อพลเมืองไม่ต่างจากสื่ออื่นๆ  ด้านการเชื่อมกับทรัพยากรท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ด้านการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมรวมตัวกันกำหนดมาตรฐานที่จำเป็น ส่วนการกำกับเนื้อหาควรมีหลักเกณฑ์ขั้นต่ำที่ใช้ร่วมกันคือ สิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง นอกจากนี้ควรมีหลักประกันสิทธิเสรีภาพของตัวกลาง  สำหรับประเด็นท้าทายใหม่คือ สื่อหลอมรวมมีความซับซ้อนและตัดข้ามหลายศาสตร์และหลายกิจการ เช่น เขตอำนาจศาล ข้อตกลงระหว่างประเทศ

อาทิตย์สรุปว่า เท่าที่สำรวจมาสามประเทศ ตอนแรกเราคาดหวังว่าจะเจอการกำกับแบบหลอมรวม แต่ทำไปทำมา ยังไม่มีประเทศไหนไปถึงขนาดนั้นเสียทีเดียว คือทุกประเทศมีบทสนทนานี้แล้ว แต่พัฒนาการแตกต่างกันไป ที่ก้าวหน้าที่สุดคงจะเป็นเกาหลีใต้ แต่เราก็พบว่าในการหลอมรวมการกำกับดูแลอาจเป็นแค่ขั้นแรกเท่านั้น คือการมีหลอมรวมในตัวสถาบันองค์กร คือตัวองค์กรกำกับดูแลกระจายเสียงฯ กับโทรคมนาคมเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม กฎหมายที่ใช้ในการกำกับกิจการยังแยกฉบับกันอยู่ คือองค์กรรวมแล้ว แต่เวลาใช้กฎหมายยังแยกกันอยู่ ยังไม่ได้คิดรวมเสียทีเดียวนัก รวมถึงยังมีกฎหมายบางอันที่ยังลักลั่นอยู่ เช่น กฎหมายไอพีทีวี ของเกาหลีใต้ มีคำถามว่า ทำไมต้องแยกออกไปเป็นอีกสื่อหนึ่ง ไม่เหมือนเคเบิลทีวี หรือกระจายเสียงอย่างไร และแตกต่างกับกิจการอินเทอร์เน็ตที่ก็ใช้ไอพีเน็ตเวิร์กอย่างไร ก็เป็นคำถามอยู่เหมือนกัน เขามีปัญหาที่ต้องแก้กันต่อไป 
 
ในกรณีอินโดนีเซีย มีบทสนทนาเรื่องนี้แล้วเหมือนกัน แต่ก็ยังแบ่งรับแบ่งสู้ องค์กรวิชาชีพยังเห็นไม่ตรงกันว่าต้องขยับไปสู่บทสนทนาเรื่อง Media Convergence Bill ดีหรือไม่ คือทางหนึ่งเขาเห็นปัญหาความลักลั่นในการกำกับดูแลที่จะต้องหลอมรวมเข้ามาใช้มาตรฐานแบบแนวขวาง ไม่ใช่แนวตั้ง ที่แยกสื่อเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ ฯลฯ แต่ความกังวลของสภาวิชาชีพในอินโดนีเซียก็คือ ปัจจุบัน กฎหมายสื่อของอินโดนีเซียที่ออกมาปี 1990 หลังการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทางการเมือง เป็นกฎหมายที่เสรีมากๆ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมากๆ หากเปิดโอกาสให้มีการแก้ไขกฎหมายในรัฐบาลชุดนี้มีโอกาสที่เสรีภาพสื่อที่ได้รับการรับรองไว้จะถูกลดลง เพราะสภาพอินโดนีเซียตอนนี้คือสื่อขนาดใหญ่มีอยู่แค่ไม่กี่เจ้าและยึดโยงกับนักการเมืองบางกลุ่ม 
 
ในฝรั่งเศส น่าสนใจไปอีกแบบ คือไม่ได้มีการหลอมรวมในตัวกฎหมายกำกับดูแลสื่อ แต่ฝรั่งเศสมีหลักคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพซึมอยู่ในสถาบันทางสังคมต่างๆ อยู่แล้ว และมีองค์กรที่เข้มแข็งในเรื่องสิทธิเสรีภาพพลเมืองที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลข่าวสาร เช่น การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เมื่อมีบริบทสื่อใหม่ ก็ปรับเปลี่ยนการทำงานของตัวเอง มีการออกไกด์ไลน์ว่า ในเรื่องสื่อใหม่ต้องคิดกับเรื่องข้อมูลข่าวสารอย่างไรบ้าง คือใช้องค์กรที่มีอยู่เดิมปรับแนวคิดให้เข้ากับบริบทสื่อใหม่ นอกจากนี้ ในยุโรปยังมีกลไกสิทธิมนุษยชนระดับภูมิภาคที่ทำงานเข้มแข็ง คือ EU Directive และศาล รองรับอยู่อีกชั้นหนึ่งด้วย 

 


(จากซ้ายไปขวา) กรรณิการ์ กิจติเวชกุล-กษิติธร ภูดราดัย-ดอนนี บียู-จีวอน ปาร์ก-มยองจุน คิม-สิขเรศ ศิรากานต์

ต่อมา มีการเสวนาหัวข้อ “โครงสร้างพื้นฐานสำหรับอนาคต: การอภิบาลสื่อในยุคหลอมรวมจะส่งเสริมเศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและสังคมประชาธิปไตยได้อย่างไร” ดำเนินรายการโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล 

จิวอน ปาร์ก หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย OpenNet เกาหลีใต้ องค์กรประชาสังคมในเกาหลีใต้ที่ทำงานส่งเสริมเสรีภาพและความเปิดกว้างออนไลน์ ได้กล่าวถึงวิกฤตทางเทคโนโลยีของเกาหลีใต้ จากการที่เว็บไซต์ต่างๆ ใช้เทคโนโลยี Active X ซึ่งใช้ได้เฉพาะระบบปฏิบัติการวินโดวส์ของไมโครซอฟท์เท่านั้น  สาเหตุมาจากกฎหมายการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ระบุเทคโนโลยีที่ใช้อย่างเฉพาะเจาะจงเกินไป กฎหมายนี้สะท้อนว่ารัฐแทรกแซงและทำลายกลไกตลาด การกำกับดูแลสื่อหลอมรวมควรยึดหลักการความเป็นกลางทางเทคโนโลยี (Technology Neutrality) คือแนวคิดที่ว่ากฎข้อบังคับที่กำกับการสื่อสารไอซีทีไม่ควรโน้มเอียงหรือเข้าข้างเทคโนโลยีหนึ่งเทคโนโลยีใดเป็นพิเศษ ปีที่แล้ว OpenNet ได้ฟ้องร้องให้ปรับแก้กฎหมายการทำธุรรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ให้ระบุเทคโนโลยีที่เฉพาะเจาะจง เพื่อให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ๆ ประเด็นสำคัญคือ รัฐต้องทำหน้าที่เป็นกรรมการไม่ใช่ผู้เล่นในสนามแข่งขัน

การบังคับใช้กฎข้อบังคับที่ “ไม่เป็นกลางทางเทคโนโลยี” (Non-Technological Neutral Regulation) จะก่อให้เกิดผลเสียคือ 1) ข้อบังคับนั้นจะล้าสมัยอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขตัวอยู่บ่อยครั้ง 2) ขัดขวางการแข่งขันกันของเทคโนโลยี อีกทั้งยังลำเอียงเข้าข้างเทคโนโลยีหนึ่งมากกว่าเทคโนโลยีอื่นๆ 3) เป็นอุปสรรคสำหรับบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ และจะส่งผลให้อินเทอร์เน็ตของประเทศถูกโดดเดี่ยวจากอินเทอร์เน็ตโลก

ทั้งนี้ เขาให้คำแนะนำว่า รัฐต้องยึดเอาผลลัพธ์ที่ต้องการเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ไปกำหนดที่ตัวเทคโนโลยี เขากล่าวด้วยว่ารัฐบาลเองก็ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี การไปกำหนดดังกล่าวจึงจะทำให้เทคโนโลยีที่เลือกมาล้าสมัยภายในเวลาอันรวดเร็วด้วย

กษิติธร ภูภราดัย ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบาย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เน้นไปที่นโยบายด้านเศรษฐกิจในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยกล่าวว่า ประเด็นที่สำคัญในการพิจารณาคือ คุณภาพและการเข้าถึง ความพร้อมเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ในปัจจุบันสายโทรศัพท์บ้าน (fixed line) มีความสามารถในการรองรับปัจจุบันอยู่ที่ 7.1 กิกะไบต์ จะสามารถรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตในอนาคตได้หรือไม่ เศรษฐกิจดิจิทัลต้องมุ่งเน้นการครอบคลุมคุณภาพและความสามารถในการเข้าถึง มีความพยายามทำให้ไฟเบอร์ออฟติกเข้าถึงระดับหมู่บ้าน รวมทั้งมีการพูดคุยเรื่องสัญญาณสัมปทาน กฎหมาย ต้องอาศัยรัฐ และการกำกับดูแลเข้ามามีส่วนร่วม ข้อสังเกตหนึ่งในกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลคือ ยังมีการมองแบบแยกส่วน เช่น คอมพิวเตอร์ การกระจายเสียง และไม่มีการคิดถึงการหลอมรวมสื่อเสียทีเดียว

ที่ผ่านมา การทำงานระหว่างฝ่ายนโยบายคือกระทรวงไอซีทีและการกำกับดูแลคือ กสทช. ไม่มีการทำงานเชื่อมโยงกัน ในกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลจึงมีคณะกรรมการที่มีตัวแทนของ กสทช.มาร่วมอยู่ด้วย โดยเชื่อว่าจะช่วยให้การตัดสินใจทางนโยบายรอบคอบมากยิ่งขึ้น

ส่วนสิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อ กล่าวว่า การหลอมรวมนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลของสื่อ โดยในต่างประเทศมีการทบทวนเรื่องนี้มาประมาณ 15 ปีแล้ว ประเทศออสเตรเลียมีแนวคิดในการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการในประเทศให้เป็นการหลอมรวมมากขึ้น มีการรวมองค์กรกำกับดูแลโทรคมนาคมและกระจายเสียง (ACMA) ปี 2012 มีการจัดการทบทวนการบริหารจัดการ มีข้อเสนอหลายอย่าง เช่น ทำอย่างไรกับสมาคมวิชาชีพที่ไม่มีอำนาจทางกฎหมาย  มีการจัดแนวคิดเรื่องมาตรฐานทางการตลาด การมีส่วนร่วมของสังคมและเศรษฐกิจมาขึ้น คุณค่าทางวัฒนธรรม และทำอย่างไรให้อินเทอร์เน็ตปลอดภัย เช่น ทำเรื่องการรู้เท่าทันสื่อ การพัฒนาเป็นการมุ่งความเป็นพลเมืองดิจิทัล (digital citizenship) มีการจัดทำรายงานเพื่อปรับปรุงกฎหมาย และพบว่ามีกฎหมายล้าสมัย 65 ฉบับ

ปัจจุบันมีการทดลองระหว่างประเทศที่สำคัญคือ การใช้สัญญาณ 4G ส่งสัญญาณโทรทัศน์ มีการจับมือกันระหว่าง บีบีซี หัวเว่ย และสื่อเกาหลีเพื่อทดลองออกอากาศ โดยมีเนื้อหาด้านกีฬาเป็นตัวเร่งสำคัญ

กลวิธีในการกำหนดนโยบายร่วมสมัย ควรมีรูปแบบแนวคิดใหม่ คือ การจัดการโทรคมนาคมของรัฐที่ทันสมัย ซึ่งในบางประเทศมีการทำให้คลื่นกลาโหมเป็นพาณิชย์มากขึ้น กระบวนการประมูลและจัดการคลื่นความถี่เชิงพาณิชย์เพื่อให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุด ควรจัดสรรคลื่นความถี่ที่ไม่เคยใช้ประโยชน์ ในลักษณะแบ่งปันประโยชน์ซึ่งกันและกัน มีการบริหารจัดการที่คำนึงถึงพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคต ประการสำคัญคือ ต้องมีการวางแผนร่วมกัน เพราะปัจจุบันภาคประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วม ทั้งที่เป็นผู้ใช้โดยตรง

มยองจุน คิม ประธาน MediAct องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานส่งเสริมวัฒนธรรมสื่อสร้างสรรค์ และส่งเสริมการผลิตสื่อด้วยตนเองของชุมชนจากเกาหลีใต้ ได้กล่าวถึงประสบการณ์ในประเทศเกาหลีว่า ก่อนหน้านี้สื่อมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เห็นได้จากการเกิดขึ้นของสื่ออิสระและสื่อทางเลือกจำนวนมาก แต่เหตุการณ์เรือเฟอรีเซวอลจมก็ทำให้เห็นข้อบกพร่องต่างๆ วิกฤตในการสื่อสารในเกาหลีใต้ สื่อและรัฐไม่ได้ให้ข้อมูลที่เหมาะสมเกี่ยวกับอุบัติเหตุ ประชาชนจึงต้องพยายามหาทางเลือก ทำให้คนตัดสินใจที่จะเป็นสื่อเอง เช่น สมาชิกในครอบครัวที่เป็นเหยื่อ ทำสถานีโทรทัศน์เองเพื่อทำเนื้อหาของตัวเอง

นอกจากนี้ควรส่งเสริมให้เกิดสื่ออิสระในระดับท้องถิ่นมากขึ้น ในเกาหลีใต้มีการจัดตั้งศูนย์สื่อชุมชนกระจายในหลายพื้นที่ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา ในเมืองหนึ่ง มีคนจากหลากหลายพื้นที่เป็นสื่ออิสระเอง เช่น อินเทอร์เน็ตทีวี พื้นที่ใหม่ๆ เหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่นโยบายสื่อหลอมรวมควรพิจารณา การลงมือทำสื่อด้วยตนเองทำให้ผู้คนคิดถึงชุมชนของตนเองมากขึ้น และเห็นถึงขาดแคลนเนื้อหาของท้องถิ่นจึงทำให้คนในท้องถิ่นหันมาเสพสื่อท้องถิ่นมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ควรคำนึงถึงการการควบคุมจากรัฐ และระบบราชการ หรือนักการเมืองที่ไม่มีแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน

ส่วน ดอนนี บี ยู ผู้อำนวยการบริหาร ICT Watch อินโดนีเซียได้นำเสนอการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและรัฐจากประสบการณ์ของอินโดนีเซีย ในอินโดนีเซียมีช่องว่างในการเข้าถึงสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ต แม้ว่าเราจะมีสื่อต่างๆ มากมาย แต่ว่ามีเนื้อหาจำกัด เพราะมักกระจุกตัวอยู่เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกรุงจากาตาร์เท่านั้น ดังนั้น จึงมีช่องว่างของข้อมูลมาก ทาง ICT Watch จึงพยายามทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมอื่นๆ

วิธีการทำงานคือจัดประชุมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ ภาครัฐ ชุมชน และหาทางทำให้รัฐได้ยินเสียงของประชาชนที่อยู่ห่างไกล องค์กรของเขาได้รณรงค์ด้วยการคลิปวิดีโอให้รัฐมนตรีชม ปรากฏว่ารัฐมนตรีสนใจ และไปเยือนพื้นที่ห่างไกล ทำให้รัฐได้เรียนรู้จากชุมชนและประชาสังคม

นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยให้ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายอินเทอร์เน็ตเข้าร่วมประชุมกับรัฐมนตรี ให้พวกเขาได้พูด จนส่งผลทำให้เกิดการแก้กฎหมาย

“เริ่มแรกเราทำงานกับรัฐ โดยทำงานร่วมกับกระทรวงไอซีทีเรื่องการใช้เน็ตปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ทำให้มีความสัมพันธ์อันดี ซึ่งถือเป็นการเปิดประตูในการพูดคุย จากนั้น เราเสนอให้เชิญองค์กรภาคประชาสังคมด้านอื่นๆ มาคุยเรื่องนโยบายไอซีทีบ้าง ในอินโดนีเซียมีการจัดการประชุมอภิบาลอินเทอร์เน็ตระดับชาติ มาแล้ว 2 ครั้ง มีภาคประชาสังคมได้พบกับภาครัฐบาล และได้เชิญภาคประชาสังคมด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่ด้านอินเทอร์เน็ตมามีส่วนร่วมด้วย  เริ่มต้นจากประเด็นที่ว่าอินเทอร์เน็ตสำคัญ จากนั้นเราก็เชิญให้พวกเขาร่วมคิดเรื่องนโยบายด้านอินเทอร์เน็ต มีการอภิปรายกัน พูดคุยกับหลายภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคประชาสังคม ทั้งรูปแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ทำให้มีการพูดคุยมากขึ้น"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท