ทีดีอาร์ไอจัดเวทีทบทวน ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ 300’ ไม่ควรขึ้นเพราะการเมือง-คำนึงถึงความเป็นมนุษย์

<--break- />

 

เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich Ebert Stiftung: FES) จัดสัมมนาวิชาการสาธารณะในหัวข้อ “ค่าจ้างขั้นต่ำ - ข้อเท็จจริงและทิศทางที่ควรเป็นในอนาคต” ณ โรงแรม เดอะ สุโกศล โดยมี ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์ นำเสนอบทความในหัวข้อ “มองย้อนหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท” จากนั้นจึงมีการอภิปรายในหัวข้อ “ค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมในบริบทสังคมไทย” โดย เพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน สุชาติ จันทรานาคราช รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ศาสตราภิชาน แล ดิลกวิทยรัตน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จาก TDRI

ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่ม แรงงานยิ่งตกงาน ชี้กลุ่มวัยรุ่นถูกเลิกจ้างเยอะที่สุด

ดิลกะ จากทีดีอาร์ไอนำเสนอบทความ “มองย้อนหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่ได้จัดขึ้นเพื่อนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ดำเนินนโยบายนำไปถกเถียงกันบนพื้นฐานข้อมูลทางวิชาการ

ดิลกะ กล่าวว่า โครงสร้างแรงงานของประเทศไทยในปี 2013 มีแรงงานที่มีระดับการศึกษาประถมศึกษาและมัธยมศึกษารวมกันอยู่ถึงร้อยละ 82 ก่อนที่จะมีการบังคับใช้ค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2013 จะเห็นได้ว่ามีเพียงกลุ่มเดียวที่มีค่าจ้างเพิ่มขึ้น ก็คือแรงงานระดับล่าง ทำให้เห็นได้ชัดว่าความเหลื่อมล้ำของค่าจ้างลดลงเพราะแรงงานระดับล่างยกระดับค่าจ้างสูงขึ้น

โครงสร้างการจ้างงานช่วงที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท พบว่าสัดส่วนการทำงานในเอกชนลดลง โดยเฉพาะธุรกิจเล็กๆ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ธุรกิจขนาดใหญ่ไม่ค่อยได้รับผลกระทบ ซ้ำยังมีการจ้างแรงงานได้เพิ่มขึ้น

ดิลกะ กล่าวว่า ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมีผลกับการเคลื่อนย้ายแรงงาน การจ้างงาน ชั่วโมงการทำงาน กลุ่มที่สนใจคือกลุ่มที่น่าจะโดนผลกระทบที่สุด คือกลุ่มที่มีผลิตภาพ (Productivity) น้อยที่สุด อันได้แก่ กลุ่มที่มีการศึกษา อายุ และประสบการณ์การทำงานน้อย (15 - 24 ปี) ในขณะเดียวกัน กลุ่มผู้ใหญ่ (25 - 65 ปี) จะมีการถูกสับเปลี่ยนหรือไม่

ดิลกะ นำเสนอว่า ภายหลังการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ การจ้างงานลดลงประมาณร้อยละ 2 ภายในระยะเวลา 2 ปีแรก และภาคเอกชนเป็นภาคที่ปรับลดคนงานเยอะที่สุด ในขณะที่ภาคเกษตรกรรมนั้นมีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้น และกลุ่มที่มีการศึกษาสูง แรงงานมีฝีมือ ได้รับผลกระทบน้อย และยังได้รับการจ้างงานเพิ่มด้วยซ้ำ ส่วนกลุ่มแรงงานอายุ 15 - 24 ปี ที่มีการศึกษาและประสบการณ์น้อยได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งๆ ที่คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่นโยบายค่าจ้างขั้นต่อมุ่งเข้าไปช่วยเหลือที่สุด แต่ผลที่ได้รับกลับเป็นการปลดแรงงานส่วนนี้จำนวนมากแทน

ดิลกะ กล่าวว่า แรงงานกลุ่มอายุ 15 - 24 ปีนั้น ถูกปลดออกมาจากทุกภาคส่วน โดยส่วนมากเป็นภาคการผลิตด้วยเครื่องจักร แรงงานที่ถูกปลดก็จะไปทำงานในภาคส่วนเกษตรแทน หรือเป็น unpay family worker (แรงงานในครอบครัวที่ไม่ได้รับค่าจ้าง) เช่นการกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรกับครอบครัวที่บ้าน ส่วนแรงงานระดับล่างที่มีประสบการณ์นั้น นายจ้างมีการสับเปลี่ยนแรงงาน โดยหาคนที่มีประสบการณ์สูงกว่าเข้ามาทำงานแทน

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนามนุษย์จาก TDRI ยังกล่าวอีกว่า ธุรกิจขนาดกลางนั้นได้รับผลกระทบในช่วงแรก แต่ก็เริ่มที่จะปรับตัวได้ภายหลัง 2 ไตรมาสแรก ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นจึงทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของแรงงาน ทั้งนี้การเคลื่อนย้ายแรงงานมักเกิดขึ้นกับแรงงานมีฝีมือและประสบการณ์ ส่วนแรงงานที่ไม่มีฝีมือก็ไม่ได้รับโอกาสมากนัก

ในด้านของชั่วโมงทำงานพบว่าแรงงานมีชั่วโมงทำงานเพิ่มขึ้น เพราะนายจ้างเองก็ต้องการผลิตภาพมากขึ้นเพื่อทดแทนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นมา นอกจากนี้ ดิลกะ ยังคาดการณ์ว่า บริษัทใหญ่จะลงทุนในเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ทดแทนแรงงานไร้ฝีมือเพื่อลดต้นทุนการผลิตในระยะยาว

การกำหนดค่าจ้างต้องผ่านไตรภาคี - ต้องต่อรองน้อยที่สุด

เพชรรัตน์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เราพึงพิจารณาคุณภาพชีวิตของแรงงานที่ถูกปลดไปในหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นความสุขที่ได้อยู่กับครอบครัว สภาพชีวิตที่ไม่แออัดเช่นในเมืองใหญ่ ทั้งยังกล่าวว่าโจทย์ที่ต้องตีเมื่อแรงงานกลับไปทำงานในภาคการเกษตร คือทำอย่างไรให้ผลิตภาพของภาคการเกษตรสูงขึ้น

เพชรรัตน์ กล่าวว่า หลักเกณฑ์การกำหนดค่าจ้างในประเทศไทยมีหลักสำคัญ 3 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง ค่าจ้างคือปัจจัยที่สำคัญในระบบการคุ้มครองแรงงานของประเทศ สอง ค่าจ้างขั้นต่ำจะถูกกำหนดโดยองค์กรไตรภาคี ซึ่งประกอบไปด้วยนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐ ที่จะพิจารณาทั้งด้านผลกำไรของผู้ประกอบการ ความจำเป็นในการครองชีพของแรงงาน และศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค สาม การพิจารณาของคณะกรรมการค่าจ้างในเรื่องของค่าจ้างนั้น เพชรรัตน์ กล่าวว่า จะต้องพยายามทำให้เป็นวิทยาศาสตร์มากที่สุด และมีการต่อรองน้อยที่สุด

ผลิตภาพแรงงานกำหนดค่าจ้าง ถ้าทำงานคุ้ม นายจ้างพร้อมจ่าย

สุชาติ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวว่า แรงงานและนายจ้างมีทัศนคติต่อค่าจ้างขั้นต่ำไปในคนละความหมาย สำหรับแรงงานแล้ว ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลักประกันสังคม เป็นสวัสดิการของรัฐที่จะให้ และเป็นประกันสังคมอีกแบบ ส่วนนายจ้างจะคิดว่า ค่าจ้างคือต้นทุนที่ต้องจ่าย หากนายจ้างมีเงินอยู่ 900 บาทเพื่อจัดทำงานหนึ่งงาน หากใช้คน 3 คนทำ หารเฉลี่ยกันก็จะเป็นค่าจ้างคนละ 300 บาท แต่ถ้าหากใช้ 2 คนทำ ลดงบประมาณเงินค่าจ้างลดลงจาก 900 เหลือ 800 แล้วจ่ายให้คนละ 400 บาท แต่งานเสร็จเหมือนกัน อย่างไหนจะดีกว่ากัน

จากสมมติฐานดังกล่าว สุชาติ กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ประกอบการรายใหญ่สามารถอยู่รอดภายใต้ค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น มิหน้ำซ้ำยังสามารถจ้างแรงงานเพิ่มได้นั้นมีสาเหตุจากผลิตภาพของแรงงาน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด ถ้าผลิตภาพสูงขึ้นจนคุ้มกับค่าจ้าง นายจ้างก็พร้อมจ่าย สิ่งที่ต้องระลึกถึงก็คือ ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เป็นสิ่งที่มีอยู่ควบคู่กันไป ขาดกันไม่ได้ ค่าจ้างเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยการผลิตของแรงงาน ในขณะที่ตัวแรงงานเป็นปัจจัยการผลิตของนายจ้าง ดังนั้นการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จะต้องพิจารณามิติในด้านผลิตภาพของแรงงานเข้าไปด้วย

ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นหลักประกันสังคม ต้องทำให้ลูกจ้างอยู่ได้เยี่ยงมนุษย์คนหนึ่ง

ศาสตราภิชานแล กล่าวว่า เรื่องค่าจ้างนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย และคุยได้ยาวนาน แต่ไม่คิดว่าการไม่มีค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นทางช่วยเหลือแรงงาน ทั้งยังกล่าวว่า หากวัดค่าจ้างด้วยผลิตภาพ ค่าจ้างจะต้องคุ้มกับผลผลิต ถ้าไม่คุ้มกับผลผลิต ก็จะกลายเป็นการจ่ายค่าจ้างเกิน ถ้าจะทำเช่นนั้นก็ปล่อยให้เกิดการต่อรองตามตลาดจะดีกว่า ไม่ต้องมีค่าจ้างขั้นต่ำ หรือที่เรียกว่าค่าจ้างลอยตัว ทว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นไม่ใช่มาตรการทางเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่เป็นมาตรการทางสังคมด้วย โดยถือเป็นหลักประกันทางสังคมขั้นต่ำ ดังนั้นการเอาผลิตภาพการผลิตมาเป็นตัวชี้วัดนั้นคงไม่ใช่ แต่ควรเอาค่าความเป็นมนุษย์มาเป็นตัวตั้ง โดยประกันว่าเมื่อทำงานแล้วจะได้อยู่อย่างมนุษย์

อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ในบริบทเศรษฐกิจ ค่าจ้างขั้นต่ำต้องทำให้ลูกจ้างทำงานอย่างเป็นผู้เป็นคน หมายความว่า คุณสามารถทำงาน 8 ชั่วโมง แล้วกลับบ้านดูแลลูกเต้าได้ตรงเวลา ให้ค่าจ้างขั้นต่ำเพียงพอต่อการค้ำจุนความเป็นมนุษย์  ส่วนในกรณีของผู้ประกอบการ แลตั้งข้อสงสัยว่า ผลิตภาพนั้นเป็นตัววัดค่าจ้างได้จริงแท้เพียงใด นายจ้างอาจจะถามว่า ถ้าผลิตภาพไม่เท่าค่าจ้างจะต้องทำอย่างไร แลตอบว่า ต้องถัวเฉลี่ยกันเพราะการวัดผลิตภาพนั้นไม่สามารถทำได้อย่างแม่นยำ การที่นายจ้างบางรายสามารถอยู่ได้อย่างดีก็เพราะนายจ้างจ่ายเงินให้ลูกจ้างน้อยกว่าผลิตภาพที่พวกเขาทำได้ใช่หรือไม่ ในขณะเดียวกันถ้าลูกจ้างมีผลิตภาพติดลบ เช่น ล้างจานแล้วทำจานแตก ลูกจ้างจะติดหนี้นายจ้างหรือไม่ ถ้าเอาประสิทธิภาพการทำงานมาจับจริงๆ ลูกจ้างที่เข้ามาทำงานวันแรกคงไม่มีปัญญาเลี้ยงดูตัวเองไปได้ตลอดรอดฝั่ง

แลทิ้งท้ายว่า ค่าจ้างขั้นต่ำนั้นอย่างไรก็เป็นมาตรการทางสังคม ค่าจ้างขั้นต่ำ ควรทำให้ลูกจ้างได้อยู่อย่างเป็นมนุษย์ มีเวลาเหนือจากการทำงานไปใช้ชีวิตเยี่ยงมนุษย์คนหนึ่ง ลูกจ้างต้องไม่มีหนี้สินอันเนื่องมาจากความจำเป็นในการดำรงชีวิต

ค่าจ้างต้องต้องเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย ต้องไม่ขึ้นเพราะการเมือง

สมเกียรติ จากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การกำหนดปัจจัยมากมายในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้การตัดสินใจมีความยากลำบาก และมีเงื่อนไขที่นำมาต่อรองกันได้หลายประการ นอกจากนั้น การขึ้นค่าจ้างหลายครั้งเป็นการตัดสินใจจากฝ่ายการเมือง เช่นการที่พรรคการเมืองไปหาเสียงว่าจะให้ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้ แล้วพรรคการเมืองทราบได้อย่างไรว่า ค่าจ้างที่ขึ้นไปนั้นได้ปรับไปตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้หรือไม่

นักวิชาการจาก TDRI กล่าวว่า ปัจจุบัน ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ทำให้ลูกจ้างก้าวพ้นเส้นความยากจน ดังนั้นจึงต้องพิจารณาเป็นรายๆเพิ่มเติม เพราะสภาพการดำรงชีวิตของแต่ละคนต่างกัน ทั้งนี้ การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องทำให้มีสภาพบังคับตามกฎหมายด้วย เพราะยังมีสถานประกอบการจำนวนมากที่ยังไม่ได้จ่ายค่าจ้างตามมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำ

สมเกียรติ กล่าวว่า แนวโน้มค่าจ้างน่าจะสูงขึ้นในอนาคตด้วยปัจจัย 2 อย่าง หนึ่ง เศรษฐกิจถดถอยในปีปัจจุบันทำให้คาดกันว่าค่าจ้างจะขึ้นในปีหน้า และอีกประการหนึ่งก็คือ อุปทานแรงงานที่จะลดลงเพราะประชากรแก่ตัวมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยต้องเพิ่มประสิทธิภาพของแรงงาน ต้องผลิตแบบ “ลีน” ซึ่งก็คือ การลดขนาดของการใช้แรงงาน หันมาใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์มากขึ้น และย้ายการผลิตมูลค่าเพิ่มต่ำไปทำ ณ ประเทศเพื่อนบ้าน

สมเกียรติยังกล่าวว่า การมีค่าจ้างขั้นต่ำนั้นเป็นเครื่องมือที่ลูกจ้างมีไว้ต่อรอง เพราะในประเทศไทยนั้นสหภาพแรงงานมีความอ่อนแอ เขาเสนอว่า จุดตั้งต้นของค่าจ้างขั้นต่ำควรอิงกับค่าใช้จ่ายของแรงงานที่ทุกฝ่ายยอมรับ และต้องทำให้แรงงานก้าวผ่านเส้นความยากจน อีกทั้งไม่จำเป็นต้องเท่ากันทั้งประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีผลิตภาพแรงงานไม่เหมือนกัน และมีผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ไม่เท่ากัน ที่สำคัญ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรเป็นไปตามการเมือง ควรให้การจัดทำค่าจ้างนั้นเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์มากขึ้น เป็นการเมืองน้อยลง ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการจะต้องมีความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากร ลูกจ้างก็ควรให้ความร่วมมือ สุดท้าย ภาครัฐต้องชักนำและช่วยเหลือ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท