ขบวนการ 'ลา ปูยา' ชัยชนะของชุมชนต่อต้านเหมืองในกัวเตมาลา

เมื่อศาลอุทธรณ์ตัดสินให้บริษัทต่างชาติหยุดเข้าไปวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อทำเหมืองแร่เพราะจะส่งผลกระทบต่อชุมชนในประเทศกัวเตมาลา ถือเป็นชัยชนะอย่างท่วมท้นของชุมชนที่รวมกันในนามขบวนการ 'ลา ปูยา' ที่ต่อสู้มาเป็นเวลายาวนาน

30 ก.ค. 2558 เว็บไซต์ Waging Nonviolence รายงานเรื่องชัยชนะของผู้ประท้วงต่อต้านเหมืองแร่ของชุมชนในประเทศกัวเตมาลา ชุมชนดังกล่าวคือชุมชนซานโฮเซเดลโกลโฟ และซานเปโดรอยัมปุค ซึ่งทั้งสองชุมชนทำการต่อต้านการสร้างเหมืองทองในชุมชนของพวกเขามาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว และถึงแม้ว่าเคลื่อนไหวของพวกเขาในนามขบวนการ "ลา ปูยา" จะเคยเผชิญกับความรุนแรงและถูกดำเนินคดี แต่ในที่สุดพวกเขาก็เอาชนะได้

พวกเขาได้รับชัยชนะครั้งใหญ่เมื่อผู้พิพากษา แองเจลิกา โนเอมี เทลเลซ เฮอร์นานเดซ จากศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ แคปส์ แคสสิเดย์ และบริษัทในเครือ (Kappes, Cassiday & Associates - KCA) ระงับการก่อสร้างโครงการทั้งหมดที่เหมืองเอลทัมเบอร์ในแถบชุมชนซานโฮเซเดลโกลโฟ

ผู้พิพากษาระบุว่าทางบริษัทดำเนินการอย่างผิดกฎหมายเนื่องจากไม่มีการหารือร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการอย่างเหมาะสมอีกทั้งยังไม่ได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินการตามโครงการ ผู้พิพากษาเฮอร์นานเดซจึงสั่งให้บริษัทยับยั้งโครงการในเหมืองแร่ทั้งหมดภายในเวลา 15 วัน และสั่งให้เทศบาลเมืองเพิ่มมาตรการเพื่อยับยั้งไม่ให้มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเหมืองแร่ต่อไปอีก

แม้ว่าก่อนหน้านี้ทางทนายความของบริษัทเหมืองแร่จะโต้แย้งว่าทางบริษัท KCA ได้รับใบอนุญาตและมีการหารือกับชุมชนแล้วแต่ผู้พิพากษาก็มองออกว่าเป็นเพียงข้ออ้างที่ไม่เป็นความจริง

คำตัดสินของศาลในครั้งนี้ถือเป็นการทำให้ชุมชนมีเรี่ยวแรงในการต่อสู้เพื่อปกป้องแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อมของพวกเขาต่อไป ซึ่งอันโตนิโอ เรซ สมาชิกของขบวนการลา ปูยา กล่าวว่าที่ผ่านมาพวกเขาต้องผ่านความเจ็บปวดและมีการต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักแต่พวกเขาก็จะไม่หยุดต่อสู้

หลังได้รับชัยชนะจากการตัดสินของศาล ขบวนการลา ปูยา พากันเฉลิมฉลองในนาม 'เทศกาลความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน' (Festivales Solidarios) โดยมีทั้งปิญาตาซึ่งเป็นอุปกรณ์ตกแต่งในงานเทศกาลของชาวลาตินอเมริกาและมีการจัดแสดงดนตรีที่ลานปักหลักประท้วงหน้าทางเข้าเหมือง บรรยากาศของการเฉลิมฉลองเป็นไปอย่างคึกคัก มีการเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเข้าร่วมรวมถึงมีนักแสดงดนตรีจากหลายประเทศอย่าง กัวเตมาลา นิคารากัว แคนาดา เวเนซุเอลา และสหรัฐฯ

เรซกล่าวอีกว่าพวกเขาต่อสู้ด้วยเหตุผลทั้งในแง่ประเด็นทางสังคมและประเด็นทางสิ่งแวดล้อม และในตอนนี้ศาลก็ตัดสินให้การประท้วงอย่างสันติของพวกเขาเป็นสิ่งที่ชอบธรรม

Waging Nonviolence ระบุว่าก่อนหน้านี้ในปี 2557 เคยมีชุมชนอีก 2 แห่งคือ เอลคาร์ริสซัล และเอลหัวปิโนล ฟ้องร้องรัฐบาลกัวเตมาลาว่าไม่สามารถทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์ให้กับชุมชนไว้ได้เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชามติเรื่องโครงการเหมืองซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ในกฎหมายกัวเตมาลาและกฎหมายนานาชาติ อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีการพิจารณาคดีชุมชนเหล่านี้ก็ได้รัฐมนตรีด้านกิจการสาธารณะของกัวเตมาลามาเป็นพวก ซึ่งรัฐมนตรีดังกล่าวบอกว่าบริษัทเหมืองแร่ทำโครงการที่ละเมิดกฎหมายและชุมชนก็มีสิทธิที่จะต่อต้านโครงการของพวกเขา

นอกจากนี้คำตัดสินของศาลในกรณีของลา ปูยา ยังถือเป็นชัยชนะของชุมชนอื่นๆ ทั่วกัวเตมาลาด้วย เพราะถือเป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลกัวเตมาลาเคารพและปฏิบัติตามข้อกำหนดในเรื่องการต้องหารือกับชุมชนก่อนสร้างโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีระบุไว้ในอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 169 ที่ระบุถึงสิทธิของชนพื้นเมืองและชนเผ่า

นับตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมามีการหารือร่วมกับชุมชน 75 แห่งทั่วกัวเตมาลาในการสร้างโครงการต่างๆ เช่น โครงการเหมืองแร่ โครงการเขื่อนพลังงานน้ำ โดยส่วนใหญ่ชุมชนในพื้นที่มักจะปฏิเสธไม่ยอมให้มีการดำเนินโครงการด้านทรัพยากรภายในผืนดินของพวกเขา

กรณีเหมืองของบริษัท KCA ย้อนเรื่องไปได้ถึงเมื่อเดือน มี.ค. 2555 ที่มีผู้ประท้วงมาชุมนุมกันอย่างสงบหน้าเหมืองเอลทัมเบอร์ โดยมีการปักหลักตั้งรกรากอย่างถาวรที่หน้าเหมือง พวกเขาประท้วงเพราะกลัวว่าเหมืองแร่ดังกล่าวจะสร้างมลภาวะให้กับผืนน้ำและผืนดินของพวกเขา

ขบวนการลา ปูยา ยังเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวที่เน้นวิธีการแบบสันติ อีกทั้งยังให้การต้อนรับผู้ที่สนับสนุนพวกเขาเข้าไปที่ค่ายผู้ชุมนุมประท้วงเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาเอง แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญอุปสรรคเมื่อช่วงเดือน พ.ค. 2557 เมื่อตำรวจปราบจลาจลที่มาจากการสั่งการของรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในเข้าปราบปรามกลุ่มผู้ปักหลักชุมนุมเพื่อให้มีการขนส่งอุปกรณ์เข้าไปในจุดก่อสร้างได้ แต่ในวันถัดมาผู้ชุมนุมก็ยังคงเข้าไปปักหลักชุมนุมที่เดิมภายใต้การสอดส่องของเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้สนับสนุนขบวนการลา ปูยา ในต่างประเทศอย่างคณะกรรมการเพื่อสิทธิมนุษยชนในกัวเตมาลาซึ่งเป็นองค์กรจากสหรัฐฯ ยังได้ร่วมรณรงค์ล่ารายชื่อเรียกร้องให้บริษัท KCA หยุดการก่อสร้างเหมืองแร่ด้วย

ถึงแม้ว่าจะได้รับชัยชนะแล้ว แต่เรซและสมาชิกลา ปูยา คนอื่นๆ ก็ยืนยันว่าจะปักหลักอยู่หน้าทางเข้าเหมืองต่อไปเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมต่อไปและยังบอกอีกว่าพวกเขาวางแผนปฏิบัติการเพิ่มเติมแต่ยังไม่บอกรายละเอียด ทางฝ่าย KCA ก็ยังไม่ยอมแพ้เช่นกัน พวกเขาบอกว่าจะมีการร้องเรียนต่อในศาลชั้นถัดไป

 

เรียบเรียงจาก

Communities struggling against mining win major victory in Guatemala, Waging Nonvolence, 28-07-2015
http://wagingnonviolence.org/2015/07/communities-struggling-mining-win-major-victory-guatemala/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท