Skip to main content
sharethis

เตรียมปฏิรูปรองรับสังคมผู้สูงวัย สปช. เสนอสร้างหลักประกันทางรายได้ผู้สูงอายุ เน้นรัฐสร้างกลไกการออม เปลี่ยนกฏหมายเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ เป็น พ.ร.บ. บำนาญพื้นฐาน

4 ส.ค. 2558 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสนอรายงานวาระปฏิรูปสังคมสูงวัย ต่อที่ประชุม สปช. เรื่อง การปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัย (รอบ 2) ซึ่งคณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเสร็จแล้ว

เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมการปฏิรูประบบรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย พร้อมคณะ ได้ชี้แจงประเด็นการปฏิรูปใน 4 ด้านหลัก ประกอบด้วย การปฏิรูประบบเพื่อรองรับสังคมสูงวัยด้านเศรษฐกิจ ด้วยการสร้างหลักประกันทางรายได้สำหรับผู้สูงอายุและประชากรรุ่นใหม่ โดยรัฐต้องสร้างกลไกการออมและสร้างกลไกการเชื่อมต่อและบริหารจัดการกองทุน ต่างๆ แบบบูรณาการเพื่อการวางระบบบำนาญพื้นฐานให้กับประชาชนในทุกกลุ่มด้วยการ พัฒนาระบบบำนาญแห่งชาติ อาทิ เปลี่ยนสถานะของกฎหมายของเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุ ให้เป็น “พระราชบัญญัติบำนาญพื้นฐาน” และการจัดโครงสร้างใหม่ในการอภิบาลระบบบำนาญแห่งชาติให้เป็นระบบมากขึ้น ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมพัฒนาคุณภาพแรงงาน เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับระบบเศรษฐกิจไทยภายใต้บริบทสังคมสูงวัย อาทิ การขยายอายุเกษียณของภาคราชการ และส่งเสริมการทำงานผู้สูงอายุ

ขณะที่การปฏิรูปด้านสภาพแวดล้อม สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการสาธารณะ ควรสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนสร้างชุมชนที่น่าอยู่สำหรับผู้สูงวัย ปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สามารถเชื่อต่อระบบขนส่งมวลชนและบริการ สาธารณะได้อย่างเหมาะสม รวมถึงส่งเสริมบ้านปลอดภัยสำหรับประชากรวัยเกษียณด้วย

ส่วนการปฏิรูปด้านสุขภาพ ได้เน้นสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการร่วมพัฒนาระบบดูแลสุขภาพผู้สูงวัยใน ทุกระดับตั้งแต่ครอบครัว พร้อมจัดระบบผู้ดูแลที่ได้รับการว่าจ้างทั้งการดูแลที่บ้าน และในหน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนโดยมีกฎหมายรองรับในการกำกับมาตรฐาน

สำหรับการปฏิรูปด้านสังคม ต้องส่งเสริมการวางแผนชีวิตครอบครัวแนวใหม่ เพื่อเพิ่มศักยภาพครอบครัวให้เป็นสถาบันหลักในการสร้างความมั่นคง และเพิ่มคุณค่าผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาทัศนคติที่ดีในการสร้างคุณค่าประชากรใน ทุกช่วงวัย โดยภาครัฐและเอกชนต้องทำงานเชิงรุกเพื่อรองรับสังคมสูงวัยด้วย

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net