Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ผมชอบบทความ “วิชาศีลธรรม” ของนิธิ เอียวศรีวงศ์ (มติชนออนไลน์, 3 ส.ค.58) ที่ให้มุมมองเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับศีลธรรมและศาสนาทั้งในมิติลึกและกว้าง นิธินิยามศีลธรรมว่า

"ศีลธรรม ในความหมายที่แท้จริงคือความคิดและความรู้สึกที่เกี่ยวกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น คือไม่ใช่ความคิดที่เกี่ยวกับประโยชน์ตน ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม พูดให้เข้าใจง่ายกว่านั้นคือความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับส่วนรวม...”

สิ่งที่สอนกันในศาสนาเป็นศีลธรรมหรือไม่? นิธิอธิบายโดยยกตัวอย่างว่า

“การไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตนั้น หากสมาทานศีลข้อนี้ด้วยความเชื่อว่าจะทำให้อายุยืน ความเชื่อนี้ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม หรือแม้แต่เชื่อว่าเป็นการฝึกใจตนเองให้อ่อนโยนด้วยความเมตตากรุณา ก็ไม่ใช่ความคิดทางศีลธรรมอยู่นั่นเอง เพราะไม่เกี่ยวกับคนอื่น สัตว์อื่น และสิ่งอื่น แต่อาจเป็นความคิดทางศาสนา (ซึ่งแตกต่างกันในแต่ละศาสนา) ตรงกันข้าม หากไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ด้วยความเชื่อว่าสิ่งมีชีวิตอื่นก็รักตัวกลัวตายเหมือนกัน จึงไม่ควรไปเบียดเบียนเขา อย่างนี้เป็นความคิดความรู้สึกทางศีลธรรม

ผมเข้าใจว่าพระพุทธศาสนา (และเข้าใจว่าศาสนาอื่นด้วย) สอนไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตทั้งสองอย่าง คือเพื่อประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านด้วย หากสอนศีลธรรมของพระพุทธศาสนาก็ต้องว่าด้วยประโยชน์ท่าน”

แปลว่า ศีลธรรมในความหมายของนิธิก็คือ “ความคิดหรือความรู้สึกเกี่ยวกับคนอื่น สัตว์อื่นและสิ่งอื่น หรือความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับส่วนรวม” ความคิดเกี่ยวกับประโยชน์ตนทั้งทางโลกและทางธรรมไม่ใช่ศีลธรรม แต่อาจเป็นความคิดทางศาสนา

อย่างไรก็ตาม อาจจะมีคนเถียงว่า ความคิดเกี่ยวกับประโยชน์ตนก็เป็นศีลธรรมเหมือนกันคือเป็น “ศีลธรรมเชิงปัจเจก” (individual morality) ส่วนความคิดถึงประโยชน์ท่านเป็น “ศีลธรรมทางสังคม” (social morality) แต่ผมขอทิ้งประเด็นนี้ไว้ให้ท่านผู้อ่านไปคิดต่อ

ที่ผมสนใจคือนิธิได้ให้นิยามศีลธรรมต่างไปจากที่สังคมไทยคุ้นเคย สังคมไทยเราคุ้นเคยกับศีลธรรมทางศาสนา เมื่อพูดถึงศีลธรรมเราก็นึกถึงศาสนา เชื่อว่าศีลธรรมมาจากคำสอนทางศาสนาเป็นหลัก และเรายังถูกประชาสัมพันธ์โดยรัฐและสถาบันศาสนาให้เชื่อว่า ศาสนาคือพลังทางศีลธรรมของสังคมไทย สังคมเราจึงมี “พันธะทางกฎหมาย” ที่ต้องให้ความอุปถัมภ์ปกป้องศาสนา เช่นให้อำนาจรัฐแก่สถาบันศาสนา รัฐให้งบประมาณ กำลังคน ทรัพยากรอื่นๆเพื่ออุปถัมภ์และคุ้มครองความถูกต้องบริสุทธิ์ของคำสอนพุทธศาสนาและการปฏิบัติถูกต้องตามธรรมวินัยของพระสงฆ์เป็นต้น

แต่ถามว่า ศาสนาเชิงสถาบันได้สร้างพลังทางศีลธรรมที่เป็นความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับ “ส่วนรวม” หรือไม่? ถ้าดูจากปรากฏการณ์ก็ชัดเจนว่า การแสดงออกในนามพุทธศาสนาทั้งในฐานะปัจเจกบุคคลและสถาบัน เช่นวาทกรรม “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ของกิตติวุฑโฒภิกขุ หรือ “ค่านิยม 12 ประการมีลักษณะคล้ายธรรมะในพุทธศาสนา” ของ ว.วชิรเมธี “โครงการหมู่บ้านศีล 5” เพื่อความปรองดอง เป็นต้น ก็เป็นความพยายามสร้างพลังทางศีลธรรมที่เป็นความคิดและความรู้สึกเกี่ยวกับส่วนรวม

ทว่าเป็นส่วนรวมในความหมายที่ชนชั้นบนกำหนดให้มาว่า “ส่วนรวมต้องเป็นแบบนี้เท่านั้น” หากใครคิดต่างไปจากนี้ ก็แปลว่าไม่คิดถึงส่วนรวม ไม่คิดถึงชาติ หรือคิดทำลายชาติฯลฯ แต่ผมเข้าใจว่า ส่วนรวมในความหมายที่นิธิพูดถึง หมายถึงส่วนรวมที่ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งเท่ากัน เช่นทุกคนเป็นเจ้าของชาติเท่ากัน เป็นเจ้าของสถาบันต่างๆทางสังคมเท่ากัน มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเสนอว่าสถาบันต่างๆทางสังคม(เช่นสถาบันศาสนาฯลฯ) ควรจะเป็นอย่างไรเป็นต้น

ศีลธรรมที่เป็นความคิดและความรู้สึกสึกเกี่ยวกับส่วนรวมในความหมายของนิธิ จึงต่างจาก “ศีลธรรมเชิงกลไก” ที่สนับสนุนอุดมการณ์และอำนาจรัฐ ซึ่งเป็นศีลธรรมที่ผลิตสร้างโดยรัฐและสถาบันพุทธศาสนาเถรวาทไทย

อันที่จริงนักปรัชญาตะวันตก ได้พูดถึง “ศีลธรรมที่ไม่ใช่ศาสนา” มานานมากแล้ว เฉพาะปรัชญาสมัยใหม่ชัดเจนว่า “ศีลธรรมคือการคิดเกี่ยวกับตัวเองและผู้อื่นในฐานะคนเท่ากัน และเป็นคนซึ่งมีเสรีภาพเท่าเทียมในการกำหนดถูกผิดของการกระทำ การใช้ชีวิตส่วนตัว และการมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมทางสังคมร่วมกัน” ฉะนั้น ศีลธรรมจึงเป็นความคิด ความรู้สึกปกป้องความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและความเสมอภาค

ทฤษฎีทางศีลธรรม หรือหลักการทางศีลธรรมของนักปรัชญาสมัยใหม่อาจมีรายละเอียดต่างกัน แต่ทุกแนวคิดก็ถือว่าความมีศีลธรรมต้องอยู่บนฐานของการยืนยัน เคารพ ปกป้องความเป็นมนุษย์ที่มีเสรีภาพและความเสมอภาค พูดง่ายๆ คือเมื่อคิดและรู้สึกเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับคนอื่นๆ หรือส่วนรวม ความคิดและความรู้สึก หรือการกระทำนั้นๆจะมีศีลธรรมได้ก็ต่อเมื่อเป็นความคิดและความรู้สึกบนฐานของการมองตัวเองและคนอื่นมีความเป็นคนเท่ากัน มีสิทธิ เสรีภาพเชิงปัจเจก และสิทธิ เสรีภาพทางสังคมการเมืองเท่ากัน

นิธิเขียนว่า “หากศีลธรรมไม่ใช่ศาสนา คำถามที่ตามมาทันทีก็คือ เราควรสอนศาสนาในสถาบันการศึกษาหรือไม่ ผมเห็นว่าควรครับ แต่สอนในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่ง...” ตรงนี้ผมเห็นด้วยว่าควรจะเป็นเช่นนั้น

แต่ก็ก็อยากชวนให้ช่วยกันคิดต่อว่า หากศาสนาเชิงสถาบันไม่ได้เป็นพลังทางศีลธรรมของสังคม ในความหมายที่ก่อให้เกิดความคิดและความรู้สึกต่อคนอื่นหรือส่วนรวมในมติที่ยืนยัน เคารพ ปกป้องความเป็นคนเท่ากันดังที่กล่าวมา สังคมเราควรมีภาระทางกฎหมายในการให้ความอุปถัมภ์และปกป้องสถาบันศาสนา โดยให้อำนาจรัฐและงบประมาณแก่สถาบันศาสนาหรือไม่ หรือควรจะปล่อยให้ศาสนาเป็นเรื่องเสรีภาพส่วนบุคคล เป็นเรื่องที่ปัจเจกบุคคล สังคมหรือชุมชนทางศาสนาจะอุปถัมภ์ปกป้องศาสนานั้นๆด้วย “ศรัทธา” กันเอง ไม่ใช่ให้รัฐรับภาระอย่างที่เป็นมา

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net