รู้จัก ‘แซม พงษ์ศักดิ์’ : จุดเริ่มต้นคือการตั้งคำถาม จุดจบ? คือโทษจำคุก 60 ปี

 

‘พงษ์ศักดิ์’ หรือผู้ใช้เฟซบุ๊กในนามว่า sam parr เป็นผู้ต้องขังในคดี 112   รายล่าสุดที่ศาลทหารพิพากษาให้มีความผิดและจำคุก 60 ปีจากการโพสต์เฟซบุ๊ก 6 กรรม จำเลยรับสารภาพจึงได้รับการลดโทษลงครึ่งหนึ่ง

คดีนี้นับเป็นคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ที่ต้องโทษจำคุกโดยรวมสูงสุด ณ ปัจจุบัน แซงคดีของ ‘ใหญ่ แดงเดือด’ ที่ถูกพิพากษาจากศาลทหารกรุงเทพให้จำคุก 50 ปี (รับโทษกึ่งหนึ่งจากการรับสารภาพ) และจักราวุธ หนุ่มนักดนตรีที่ถูกพิพากษาโดยศาลอาญาจังหวัดอุบลให้จำคุก 30 ปี (รับโทษกึ่งหนึ่งจากการรับสารภาพ) ทั้งหมดมีเหตุสืบเนื่องมาจากการโพสต์เฟซบุ๊ก โซเชียลมีเดียยอดนิยมในประเทศไทย

เขาเป็นใคร ?

แซม เป็นชายวัย 40 กลางๆ มีบุคลลิกเฮฮา อารมณ์ดี พูดจาแบบจีบปากจีบคอ และชอบที่จะพูดภาษาอังกฤษกับผู้มาเยี่ยมเยือนมากกว่าภาษาไทย พื้นเพเป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี มาจากครอบครัวเกษตรกรที่มีฐานะยากจนอันเป็นลักษณะทั่วไปของผู้คนในสังคม เขาออกจากบ้านตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นและดิ้นรนดูแลตัวเองมาโดยตลอด การศึกษาอย่างเป็นทางการนั้นจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่ด้วยความหลงใหลในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศส ทำให้เขาขวนขวายศึกษาและฝึกฝนด้วยตนเองจนมีความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษเขามั่นอกมั่นใจจนมักเอ่ยปากท้าทายให้บัณฑิตมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งหลายมาทำข้อสอบภาษาอังกฤษแข่งกับเขา

มาอยู่จุดนี้ได้อย่างไร ?

แซมทำงานภาคบริการการท่องเที่ยว เขาผ่านงานผู้จัดการโรงแรมและร้านอาหารมาหลายแห่ง และเป็นฟรีแลนซ์ในการจัดทัวร์ให้กับบริษัทต่างๆ เคยมีประสบการณ์ไปอาศัยอยู่ในประเทศโมร็อคโค โดยเป็นหุ้นส่วนทำธุรกิจเกสต์เฮ้าส์เล็กๆ กับเพื่อนต่างชาติ เขาอยู่ที่นั่นราว 1 ปี และท่องเที่ยวยุโรปหลายประเทศ จนกระทั่งพ่อป่วยหนักจึงตัดสินใจขายหุ้นแล้วกลับมาดูแลพ่อแม่ชราที่บ้านเกิด

“การที่เราได้เห็นประเทศอื่นๆ ได้เห็นความเจริญ ได้เห็นว่าคนเขาเท่าเทียมกัน มันทำให้เราตั้งคำถาม ทำไมคนไทยมันจนจังวะ แล้วคนจนก็ถูกกดมากๆ ” เขาเล่า

อย่างไรก็ตาม คำถามเรื่องความไม่เท่าเทียมนั้นเริ่มมีขึ้นในช่วงที่เขาเจอโลกเยอะขึ้น แต่ในช่วงแรกที่เขาเดินทางมาต่างประเทศนั้นเขามีความคิดอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว

“เถียงกับฝรั่งสุดชีวิต เรื่องความเป็นไทยทั้งหลาย แทบจะตบกัน” เขาเล่าพร้อมนิยามตัวเองในช่วงนั้นว่าเป็น ‘สลิ่มตัวแม่’  

จุดเปลี่ยนทางความคิดครั้งสำคัญมาจากการสลายการชุมนุมปี 2553 ประกอบกับช่วงนั้นเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ทำให้เขามีเวลาว่างติดตามข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตอย่างใกล้ชิด การสูญเสียชีวิตของคนจำนวนมากคราวนั้นช็อคเขาอย่างมาก และทำให้เขาสนใจการเมืองอย่างจริงจัง การตั้งคำถามของเขาไปลึกขึ้นเรื่อยๆ การอ่านเอกสารต่างๆ ของเขาก็เช่นกัน โดยเฉพาะเอกสารในโลกภาษาอังกฤษเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยนั้นมีมากมาย เขาสนใจศึกษาย้อนไปยังพฤษภาคม 2535 ตุลาคม 2519 ตุลาคม 2516 มิถุนายน 2475

ความโกรธ ความเมา และเฟซบุ๊ก

แซมกลับมาดูแลพ่อแม่หลังจากนั้น จนพ่อเสียชีวิต และเหลือแม่ชราวัย 84 ปีที่เดินไม่ได้ เขาไม่ได้เข้าร่วมกลุ่มทางการเมืองอย่างจริงจัง เคยไปชุมนุมเพียง 2-3 ครั้ง แต่เคลื่อนไหวอยู่ในโลกโซเชียล และนิยามตัวเองเป็น ‘หน่วยอิสระ’ เขาพบเพื่อนแนวคิดใกล้เคียงกันมากมายในโซเชียลมีเดีย โดยไม่รู้จักตัวตนกันจริงๆ การโพสต์ของเขารุนแรงขึ้นจนภายหลังรัฐประหารเขาได้รับคำเตือนจากผู้หวังดีให้หลบออกจากพื้นที่ เขาไปอาศัยอยู่กับเพื่อนที่รู้จักการทางเฟซบุ๊กและเมื่อเขาถูกจับกุมตัวก็ทำให้เพื่อนคนดังกล่าวเดือดร้อนถูกนำตัวเข้าค่ายทหารและถูกฟ้องคดีให้ความช่วยเหลือจำเลยคดีความมั่นคงไปด้วย เขาบอกว่านั่นเป็นเรื่องที่เขาเสียใจที่สุด

เขาโพสต์ข้อความตั้งคำถามรุนแรง หลายครั้งไม่สุภาพ เขายอมรับว่าหลายครั้งเป็นการโพสต์ด้วยความมึนเมา

“เราแค้นใจมากที่ประชาชนบริสุทธิ์ถูกยิงตาย ภาพแต่ละภาพมันอยู่ในหัวชัดเจนมาก คิดถึงทีไรก็จะโกรธมาก ควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วพอเมาก็ยิ่งแล้วใหญ่” เขากล่าว

“ถ้ามีสิ่งที่เสียใจ ก็คงเสียใจที่ไม่รอบคอบ เราควรโพสต์ให้เป็นวิชาการมากกว่านี้ ใช้เหตุใช้ผล ไม่ใช้อารมณ์” เขากล่าว

เขายังกล่าวถึงโทษทัณฑ์ของเขาว่า เขาเป็นคนที่ปรับตัวยอมรับสภาพต่างๆ ได้เร็ว และหากจะต้องตายในเรือนจำก็ไม่เป็นไร ถือเสียว่าเป็นบทเรียนให้สังคมไทยได้ศึกษา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทำให้เขามีกำลังใจในการใช้ชีวิตในเรือนจำนั้นมาจากเพื่อนผู้ต้องขังที่เข้าใจ ช่วยเหลือดูแลกัน

เขายังคงยิ้มแย้มเมื่อพูดถึงอนาคตอันมืดมนของตนเอง แต่น้ำตาของเขากลับไหล น้ำเสียงสั่นเครือขาดเป็นห้วงๆ เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ผู้คนสูญเสียชีวิตเพราะการเมือง

“หกตุลา ไม่เห็นหรือ ต้นมะขามนั่น เก้าอี้นั่น มันโหดร้ายมากๆ เกิดอีกกี่ชาติก็รับไม่ได้” เขากล่าว

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

พงษ์ศักดิ์ ถูกจับกุมในวันที่ 30 ธ.ค.2557 ที่สถานีขนส่งจังหวัดพิษณุโลก เจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจหลายนายสนธิกำลังรอจับกุมเขาที่สถานีขนส่ง

เขาตั้งข้อสงสัยว่า บุคคลที่เขาติดต่อด้วยทางเฟซบุ๊กแท้จริงแล้วน่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปลอมตัวมาทำความรู้จักพูดคุยกับเขาทั้งในเรื่องทางการเมือง และเรื่องส่วนตัว รวมถึงเคยส่งสิ่งของต่างๆ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือให้เขาด้วย

เขาและบุคคลดังกล่าวพูดคุยกันทางเฟซบุ๊กราว 4-5 เดือนจนมีการนัดหมายเพื่อไปเที่ยวบ้านบุคคลดังกล่าวที่ จ.ตาก มีการติดต่อกันตลอดทางว่าเขาเดินทางถึงไหน รวมถึงการเปลี่ยนรถที่ท่ารถ จ.พิษณุโลกด้วย เขายังระบุว่าด้วยว่าภายหลังถูกจับกุมแล้วนำมาสอบสวนในค่ายทหาร หนึ่งในเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทักเขาว่า จำข้อความสุดท้ายที่ส่งให้กันไม่ได้หรือ

เขาอยู่ในค่ายทหาร 5  วันก่อนถูกนำตัวให้ตำรวจ และมีการแถลงข่าวการจับกุม sam parr ในที่สุด

เขาถูกจำคุกจนถึงวันพิพากษา (7 ส.ค.2558) รวมแล้วราว 8 เดือน

ข้อมูลจากไอลอว์ ระบุว่า

พงษ์ศักดิ์ถูกกล่าวหาว่าโพสต์รูปภาพและข้อความประกอบลงบนเฟซบุ๊กของตนที่ใช้ชื่อว่า "Sam Parr" จำนวน 6 ข้อความ ซึ่งข้อความและรูปภาพดังกล่าวเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ถือเป็นความผิดรวม 6 กรรม ดังนี้

1. วันที่ 4 กันยายน 2556 โพสต์ภาพรูปปั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมข้อความประกอบ 

2. วันที่ 10 กันยายน 2556 โพสต์ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมข้อความประกอบ ซึ่งเป็นการใส่ร้ายพระมหากษัตริย์และพระราชินี

3. วันที่ 17 กันยายน 2556 โพสต์ภาพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พร้อมข้อความประกอบ

4. วันที่ 18 กันยายน 2556 โพสต์ภาพป้ายข้อความ สองภาพ

5. วันที่ 25 พฤศจิกายน 2557 โพสต์สถานะเฟซบุ๊ก เชิงท้าทายว่าตนไม่เคยถูกจับ

6. วันที่ 29 พฤศจิกายน 2557 โพสต์ภาพตัดต่อ พร้อมข้อความประกอบ

ซึ่งภาพและข้อความทั้งหมดยังคงอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์มาจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่พงษ์ศักดิ์ถูกจับกุม และเป็นช่วงที่อยู่ภายใต้การประกาศกฎอัยการศึก และประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีมาตรา 112 ต้องพิจารณาที่ศาลทหาร

ตามคำฟ้องของอัยการทหารระบุว่า การโพสต์ข้อความและภาพทั้ง 6 ครั้ง เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเป็นความผิดฐานนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

 

หมายเหตุ: มีการแก้ไขข้อมูลวันที่ 8 ม.ค. 2559 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท