Skip to main content
sharethis

ตัวแทนชาวบ้านจังหวัดระยองรวมตัวยื่นหนังสือคัดค้านร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยอง ชี้เปิดช่องให้อุตสาหกรรมขยายตัวในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตร

7 ส.ค. 2558 วันนี้เวลา 11.30 ณ กรมโยธาธิการและผังเมือง เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและตัวแทนชาวบ้านในจังหวัดระยองได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียน คัดค้านร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยอง โดยมีตัวแทนชาวบ้านจาก 7 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอวังจันทร์, กลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง, ตำบลนาตาขวัญ, ตำบลป่ายุบใน, ตำบลกระแสบน และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาบตาพุด โดยมี โอฬาร ศักยโรจน์กุล รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นตัวแทนรับเรื่อง

แผนผังเมืองรวมจังหวัดระยองฉบับใหม่นี้ ได้ทำการเผยแพร่ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการติดประกาศเป็นเวลา 90 วันที่บริเวณศาลากลางจังหวัดระยอง พร้อมช่องทางให้ยื่นคำร้องทางอินเตอร์เน็ตถึงวันที่ 12 ส.ค.นี้

ประเด็นที่ชาวบ้านกลุ่มนี้ออกมาร้องเรียนก็คือ ร่างผังเมืองรวมฉบับนี้จะสนับสนุนให้เกิดการขยายอุตสาหกรรมในพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อนุรักษ์ชนบท และพื้นที่เขตควบคุมมลพิษ ซึ่งพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนคือบริเวณตำบลบ้านแลง ตำบลเชิงเนิน ตำบลตะพง และตำบลห้วยโป่ง

บุญยิ่ง วงษ์ลิขิต ตัวแทนกลุ่มคนบ้านค่ายรักษ์บ้านเกิด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกในพื้นที่อำเภอบ้านค่าย ตั้งคำถามว่าเหตุใดร่างผังจังหวัดระยองจึงกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรมท่ามกลางพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม อีกทั้งกำหนดแนวเขตพื้นที่อุตสาหกรรม (สีม่วง) โดยใช้แนวเขตโฉนดที่ดินของเอกชนเพียงบางราย แต่กลับไม่สนใจโฉนดที่ดินของเกษตรกรจำนวนมากที่ทำกินในพื้นที่โดยรอบ

อุดม ศิริภักดี ตัวแทนกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อมบ้านแลง เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกในพื้นที่ตำบลบ้านแลง  กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างผังเมืองรวมจังหวัดระยองกำหนดให้สร้างโรงงานอุตสาหกรรมได้แม้กระทั่งในพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ขาวแทยงเขียว) ซึ่งปัจจุบัน เป็นแหล่งต้นน้ำที่ใช้ผลิตน้ำประปาเพื่ออุปโภคบริโภคของชาวบ้าน 6,000 กว่าคนในตำบลบ้านแลง และยังเป็นแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับพื้นที่เกษตรอีกนับหมื่นไร่ 

เจริญ เดชคุ้ม ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาบตาพุด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกในพื้นที่เทศบาลเมืองมาบตาพุด แสดงความกังวลว่าเนื้อหาในผังเมืองรวมจังหวัดระยองสวนทางกับ “ผังสุขภาวะ” ที่รับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่แล้วและผ่านการศึกษาวิจัยอย่างรอบคอบจนเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2555 หลังจากใช้งบประมาณหลายพันล้านในการวางแผนลดและขจัดมลพิษ หลังคำพิพากษาศาลปกครองเมื่อปี 2552 

ตำบลบ้านแลง ในร่างผังเมืองมีส่วนหนึ่งที่อยู่ในเขตพื้นที่สีม่วง (Purple zone) ถูกจัดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า แม้ว่าในข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ข้อ ๙ จะกำหนดว่าห้ามสร้างโรงงานหรือประกอบกิจการที่ก่อให้เกิดมลพิษเป็นภัยร้ายแรง 22 ชนิด แต่ยกเว้นพื้นที่หมายเลข 3.13 ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลมาบตาพุด ติดกับตำบลห้วยโป่ง และพื้นที่หมายเลข 3.15 อยู่ในตำบลบ้านแลง สามารถก่อสร้างได้ทุกชนิด  ซึ่งในตำบลบ้านแลงนี้ นอกจากเขตที่อนุญาตให้สร้างโรงงานได้จะอยู่ติดกับเขตพื้นที่เกษตร สวนผลไม้และพื้นที่ชุมชนแล้ว พื้นที่ที่อนุญาตให้สร้างโรงงานได้นี้ยังอยู่ติดทะเล เหนือลมที่อาจจะพัดเอาสารเคมีและควันเข้ามาสู่พื้นที่อื่นๆได้

นอกจากนี้ ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินยังเอื้อให้กับการสร้างโรงงานอุตสาหกรรม เช่น พื้นที่ชุมชน (สีชมพู) มีการยกเว้นให้กับโรงงาน 8 ประเภท  พื้นที่ชนบทและเกษตรกรรม (สีเขียว) สามารถสร้างโรงงานได้ถึง 19 ชนิด พื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (สีขาวคาดเขียว) สามารถสร้างโรงงานได้ 2 ชนิด  โรงงานที่สามารถสร้างได้ในพื้นที่เหล่านี้รวมถึงโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช่ถ่านหิน

นิชา รักพานิชมณี นักวิจัยจากมูลนิธิบูรณะนิเวศกล่าวว่าร่างผังเมืองฉบับนี้เป็นการเปิดช่องให้กับการขยายตัวของอุตสาหกรรม  และมองพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรเป็นที่รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรม  แม้ว่าพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรที่มีอยู่ตอนนี้จะเป็นชาวบ้านในพื้นที่ถือโฉนด แต่การที่อนุญาตให้มีโรงงานเข้ามาก็อาจจะส่งผลกระทบกับการอยู่อาศัยและกิจการเกษตรสวนผลไม้ได้ นอกจากนี้ยังมีกรณีมาบตาพุด ที่แสดงให้เห็นว่ามีชาวบ้านที่ขายที่เพื่อหนีมลพิษ หรือขายที่เพราะต้องการเงินก็มี

“แทนที่เราจะได้บทเรียนจากคดีมาบตาพุด ที่ก็ชัดเจนอยู่ว่ามีการเจ็บป่วย ผิดปกติ สิ่งแวดล้อมเสียหายรุนแรงจนต้องประกาศเขตควบคุมมลพิษ ทำแผนลดและขจัดมลพิษ เสียเงินไปกี่พันล้าน  แต่ร่างผังเมืองฉบับนี้สวนทางหมดเลย ปลดล็อคหมดทุกอย่าง อยากจะสร้างโรงงานตรงไหนก็ได้หมดยกเว้นไปสร้างบนป่าเขา”

นิชามองว่า ประชาชนในพื้นที่และจังหวัดอื่นๆ ยังตามร่างผังเมืองรวมไม่ทัน  เมื่อเห็นผังเมืองพบว่าพื้นที่ตัวเองเป็นสีเขียวก็นิ่งนอนใจ แต่เมื่อมาอ่านข้อกำหนดจะพบว่ามีข้อยกเว้นเยอะมาก  ซึ่งคนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงและทำความเข้าใจข้อกำหนดการใช้ผังเมืองนี้ได้โดยง่าย

ด้านโอฬาร ภายหลังรับหนังสือจากตัวแทนชาวบ้านทั้ง 7 กลุ่ม ได้ชี้แจงว่าคำร้องที่ได้รับมาจะทำการรวบรวมกับคำร้องอื่นๆและส่งให้กับคณะกรรมการผังเมืองพิจารณา และกล่าวว่ากรมโยธาธิการพยายามวางผังเมืองรวมจังหวัดระยองเพื่อบูรณาการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว และถ้ามีผู้ไม่เห็นด้วย ก็จะรับฟังตามกระบวนการต่อไป

นอกจากนี้ โอฬารกล่าวว่า หากผังเมืองรวมนี้ผ่านไม่ได้หมายความว่าโรงงานจะสามารถเกิดขึ้นได้ทันที แต่ยังมีกฎหมายส่วนอื่นเช่น กฎหมายโรงงานของกระทรวงอุตสาหกรรม และการทำ EIA/HIA ที่ต้องพิจารณาเช่นกัน  พร้อมทั้งฝากชาวบ้านให้เสริมความเข้มแข็งของชุมชน ถ้าหากมีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินก็อย่าขาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net