ค้านแก้ รธน.ตัดงบหนุน สสส.-ไทยพีบีเอส ชี้แก้ปัญหาไม่ถูกจุด

วงเสวนา “รัฐธรรมนูญมาตรา 190 กับการคลังเพื่อสังคม” เห็นพ้อง ไม่เห็นด้วย ม.190 ยกเลิกให้ภาษีบาป สสส.-ThaiPBS ยันไม่กระทบการคลังประเทศ ย้ำสิ่งสำคัญองค์กรต้องปฏิรูปให้มีคุณภาพ-โปร่งใส-อิสระ

7 ส.ค. 2558  คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกับ เครือข่ายภาคประชาสังคม จัดเวทีเสวนา “รัฐธรรมนูญมาตรา 190 กับการคลังเพื่อสังคม” ห้องประชุมสุจิตรา ชั้น 4 อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม โดยมีวิทยากร ได้แก่ ไพโรจน์ พลเพชร  อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฏหมาย, ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์  อาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ  สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์และ ศรีสุวรรณ  ควรขจร   ประธาน กป.อพช.

ในงาน มีการเสวนาและพูดคุยถึง ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 4 ที่ห้ามและยกเลิกกฎหมายจัดเก็บและจัดสรรภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (earmarked tax) ซึ่งองค์กรที่จะได้รับผลกระทบและเป็นประเด็นหากกฎหมายนี้ผ่านร่างและบังคับใช้จริง คือ 3 องค์กร ได้แก่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 

โดย Earmarked tax หรือภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หมายถึงภาษีหรือค่าธรรมเนียมประเภทหนึ่ง โดยรายได้ที่จัดเก็บได้จากภาษีนี้ จะต้องนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้เท่านั้น รัฐบาลไม่สามารถนำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์อื่นได้
 

ชี้ Earmarked tax ใช้ทั่วโลก - ยืนยันไม่กระทบการเก็บภาษีรัฐฯ 

ดิเรก แสดงความคิดเห็นถึงร่างกฎหมายที่จะยกเลิกภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้อาจจะมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนนิดหน่อยของผู้ยกร่างฯ ไม่ได้จำแนกแยกแยะว่าบริการสาธารณะที่องค์กรในลักษณะพิเศษที่ทำมันไม่เหมือนกับส่วนราชการ และการทำงานแบบนี้สามารถมีข้อดีคือทำงานเชิงรุก เพราะมันมีอิสระอย่างน้อยในเรื่องของการเงิน ทำให้ทำงานเชิงรุกเพื่อจะรณรงค์เรื่องลดเหล้า สูบบุหรี่ หรือการนำสื่อสาธารณะที่ทั่วๆไปไม่ได้ทำ

เขาชี้ว่า ประเด็นอยู่ที่การมีความสมดุลของการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ถ้ามากเกินไป ใครๆ ก็ earmarked ไปหมด ก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน เพราะจะทำให้อิสรภาพในการใช้เงินของรัฐบาลลดน้อยถอยลง แต่ในบ้านเราจริงๆแล้วน้อยมาก มีแค่ 2-3 องค์กรเท่านั้น ใช้เงินไม่ได้มากมาย ไม่น่าส่งผลกระทบมากมาย

ดิเรกกล่าวต่อว่า การเก็บ earmarked tax ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อการเก็บภาษีของรัฐ รัฐยังคงเก็บได้เท่าเดิม แต่การมี earmarked tax นั้น จะช่วยจัดสรรผลประโยชน์ให้แก่สังคมผ่านองค์กรต่างๆที่ทำภารกิจสาธารณะ ที่มีความเป็นอิสระ โดยยกตัวอย่าง องค์กร สสส. ที่มีความเป็นธรรมาภิบาลในโครงสร้าง ดังนั้นปัญหาการคลังจึงไม่ใช่จะแก้ไขด้วยการยกเลิกภาษีนี้ แต่คำถามคือจะปฏิรูปองค์กรอย่างไรเพื่อให้สามารถทำภารกิจสาธาระตอบสนองต่อสังคมได้ดีและมีคุณภาพ

เขาชี้ว่า  earmarked tax มีการใช้ในระดับสากล มีหลายประเทศที่เอา earmarked tax มาใช้กับองค์กรเพื่อทำประโยชน์ให้แก่สังคม และการทำงานเองก็มีความคล่องตัว แต่สิ่งเหล่านี้ท้ายสุดเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ให้สังคมทราบ ต้องปฏิรูปองค์กร ไม่ใช่ว่าองค์กรเหล่านี้สิทธิตามกฏหมายแล้วจะทำอะไรก็ได้ หรือจัดสรรเงินให้พวกตัวเอง
 

แก้ รธน. ไม่ใช่ทางออก ย้ำบทบาท “ภารกิจสาธารณะ” ที่รัฐฯทำไม่ได้

ด้านไพโรจน์ เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามว่ารัฐธรรมนูญที่จะแก้นี้มีจุดหมายเพื่ออะไร? เขาชี้ว่า เมื่อเราเผชิญปัญหาทางการคลัง เรามักกลับไปแก้รัฐธรรมนูญ แต่เรื่องที่ถูกคิดน้อยคือการคลังเพื่อสังคม ซึ่งเป็นแนวคิดที่เห็นได้ว่าการจัดสรรงบประมาณควรจะสร้างความเป็นธรรม ที่ผ่านมางานสาธารณะทั้งหมดคนที่เสนองบประมาณคือกรม ผ่านกระทรวง แต่หากดูข้อเท็จจริงในบ้านเรา มีทั้งงานที่รัฐต้องดูแลหรือเป็นภารกิจของรัฐ เช่น กองทุนคนพิการ กองทุนผู้สูงอายุ แต่ในขณะเดียวกันก็มีงานสาธารณะบางอย่างที่รัฐทำไม่ได้หรือทำไม่ได้ดี จึงจำเป็นต้องมีคนอื่นทำแทน

เขากล่าวต่อว่า คอนเซ็ปต์ที่สำคัญคือการจัดสรรงบประมาณใดๆ ที่กฎหมายกำกับไว้ให้กับภารกิจสาธารณะที่รัฐทำไม่ได้  อย่างไทยพีบีเอส ที่ได้สองพันล้านบาทต่อปี และเป็นเช่นนี้ไปตลอดไม่ว่าค่าเงินจะสูงหรือต่ำมากแค่ไหน งานสาธารณะเช่นนี้เป็นงานที่รัฐควรทำแต่รัฐทำไม่ได้ แต่ก็เกิดข้อวิตกไปว่า ไทยพีบีเอสจ่ายเงินไปทำได้คุ้มค่าหรือไหม? สสส. ทำงานได้เรื่องหรือไหม? จึงคิดว่าภารกิจเหล่านี้ต้องยกเลิกเสีย

ไพโรจน์ชี้ในจุดนี้ว่า มันไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง ช่องทีวีอื่นทำแบบไทยพีบีเอสไม่ได้เพราะเป็นทีวีธุรกิจ ในขณะที่ไทยพีบีเอสไม่ใช่และต้องการความเป็นอิสระ ดังนั้นจึงต้องมีหลักประกันให้เขาอย่างเพียงพอ แต่ที่ผ่านมามีความวิตกเพราะมีหลายฝ่ายอยากให้องค์กรเหล่านี้เป็นอย่างที่ตนเองอยากให้เป็น เลยพยายามแก้ปัญหาโดยไปเขียนในรัฐธรรมนูญ  ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงตามมา เพราะว่ามันแก้ไม่ได้ ยกเว้นแต่จะรัฐประหาร การแก้ไขต้องไปแก้ที่กฎหมาย ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 

ไพโรจน์กล่าวเพิ่มเติมถึงจุดที่น่าเป็นห่วงคือ การไม่พูดเรื่องว่าจะเก็บภาษีมาจากไหน และนั่นก็เป็นการสร้างความเป็นธรรมตามที่มีคนบอกว่าทำไมเราไม่เขียนระบบภาษีเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่มีใครเขียนและไม่มีใครกล้าเขียน เพราะรายได้ที่สร้างความเป็นธรรมจริงๆต้องถูกเขียนทั้งสองด้าน คือ เก็บจากคนที่ควรเก็บและให้มาจากคนที่ควรให้ ซึ่งนี่คือภารกิจของรัฐ ไม่ใช่ว่ารัฐจะมาเน้นความมั่นคงวินัยและเอาปัญหาเฉพาะหน้าที่ผ่านมา ปัญหาไม่ได้เกิดจาก สสส. หรือ ไทยพีบีเอส ที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใสในการจัดสรรงบประมาณ แต่มันเป็นเรื่องของการกู้เงินสองล้านล้านของรัฐบาลเก่า หรือกองทุนทั้งหลายที่ผ่านมา ในการจัดสรรทางภารกิจจะต้องทำให้เห็นชัดว่ามีบางอย่างที่รัฐทำไม่ได้ ซึ่งต้องให้คนอื่นทำโดยรัฐเพียงแค่จัดสรรงบประมาณ

ไพโรจน์กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาการจัดสรรงบประมาณจัดสรรผ่านองค์กรและมีการให้เก็บและใช้ภาษี earmarked tax จากเหล้าบุหรี่ ใช้ในแค่สามองค์กรเพื่อทำผลประโยชน์ให้แก่สังคม ประเด็นก็คือหากมีการเพิ่มวรรค 4 เข้ามาใน ม.190 จะเป็นการทำลายหลักการการจัดสรรงบประมาณที่เป็นธรรม ซึ่งจะไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้
 

ภารกิจสาธารณะเป็นเรื่องจำเป็น องค์กรต้องปฏิรูป, ทำงานมีคุณภาพ และเป็นอิสระ

ด้าน ศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในเรื่องของภารกิจเพื่อสังคม คงจะไม่มีใครสามารถบอกว่าเป็นสิ่งที่ไม่สำคัญหรือไม่จำเป็น ซึ่งทั้ง 3 องค์กรที่กำลังเป็นไฮไลท์อยู่ในตอนนี้นั้นต่างก็สำคัญ เช่น สสส. ซึ่งเป็นองค์กรเรื่องของการดูแลสุขภาพเชิงรุกซึ่งเป็นองค์กรมีความสำคัญ แต่ปัญหาคือทุนที่ส่งให้ สสส. นั้นมีผลทำให้เกิดการขยายในส่วนของภาคประชาสังคมอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคประชาสังคมที่ขยายนั้นอาจจะไม่เป็นที่พอใจของฝ่ายอื่นๆ ส่วนไทยพีบีเอสนั้น สังคมไทยคาดหวังให้มีสื่อหนึ่งที่ไม่ใช่จะมีแต่ข้อมูลมอมเมาหรือบิดเบือน หรือเป็นข้อมูลที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจ ซึ่งเป็นภารกิจสาธารณะที่สำคัญเช่นกัน ด้านกองทุนกีฬาฯ ถ้าเราเชื่อว่ากีฬาสามารถพัฒนาชาติให้เป็นชาติวินัย คนคุณภาพ ขจัดยาเสพติด กีฬาก็จึงเป็น 1 ในภารกิจที่สำคัญด้วยเช่นกัน

ศรีสุวรรณ ชี้ต่อว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนที่กำลังทำภารกิจอยู่นั้น ไม่สามารถตอบสนองภารกิจดังกล่าวนี้ได้ ปัญหาพวกนี้นั้นสมควรถูกปฏิรูป แต่ก็พูดถูกพุดถึงแต่ว่าจะยกเลิกกองทุนนี้ไป ไม่ได้พูดเรื่องปฏิรูปเลย จึงเป็นคำถามที่ว่า แล้วการเอาเข้ามาสู่ระบบปกติมันเป็นธรรมาภิบาลอย่างไร เรื่องนี้กรรมาธิการร่าง รธน. ต้องยอมรับว่าปัญหาบ้านเมืองในเวลานี้เกิดจากการที่ทุกอย่างถูกกำหนดโดยฝ่ายราชการประจำและ ภาคประชาชนหรือสาธารณะ มีบทบาทน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ดังนั้นกรรมการร่างฯต้องคิดให้ดีเพราะว่าหากต้องการให้ร่างนี้ผ่านและให้ประชาชนรับรอง ต้องยอมรับว่ามาตรานี้จะไม่ทำให้เกิดผลตรงข้าม ต้องเข้าใจในภารกิจที่เสริมสร้างภาคประชาสังคม ซึ่งอันนี้สำคัญมาก และยังไม่เห็นว่าฝ่ายประจำหรือฝ่ายการเมือง จะมีความสามารถในการพิจารณางบประมาณเพื่อภารกิจพิเศษพวกนี้สักเท่าไหร่ มีแนวโน้มว่าหน่วยงานเหล่านั้นจะเข้ามามีแนวโน้มต่อภารกิจเหล่านี้เสียมากกว่า

ศรีสุวรรณ กล่าวปิดท้ายว่า อยากให้กรรมการร่างฯ อย่าไปคิดว่า ไทยพีบีเอส แม้จะรายการดี แต่เรตติ้งต่ำ หรือ สสส. ถูกวิจารณ์ว่าองค์กรมีกลุ่มคนเล็กๆเข้ามาบริหาร อันนี้ต้องระบุเป็นกรณีๆและหาทางปรับปรุงองค์กร ไม่ใช่ไปเขียนแบบนี้ การเขียน รธน. แบบนี้เขียนเพื่อนำไปสู่การทำลายสถาบันพวกนี้โดยตรง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท