Skip to main content
sharethis
13  ส.ค.นี้ จะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีของ สุรภักดิ์ ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเพจที่โพสต์ข้อความหมิ่น 5 ข้อความหลังเขาถูกจำคุก 1 ปี 2 เดือนโดยไม่ได้ประกันตัว สู้คดีจนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้องมาแล้วก่อนหน้านี้


13 สิงหาคม เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญา(รัชดา)จะมีการอ่านคำพิพากษาคดีของสุรภักดิ์ ผู้ต้องหาในคดีความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

อัยการฟ้องว่าจำเลยถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของเพจ เราจะครองแผ่นดินโดยการทำรัฐประหาร และโพสต์ข้อความ 5  ข้อความที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ ฟ้องทั้งมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  ต่อสู้กันจนถึงชั้นฎีกา

จำเลยคือ สุรภักดิ์ อายุ  45 ปี มีอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์และกำลังสร้างบริษัทเล็กๆ ของตนเอง พื้นเพเป็นคนจังหวัดบึงกาฬ จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เขาถูกเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) บุกจับกุมที่โฮมออฟฟิศของตัวเองเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2554

เขาถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครนับแต่นั้น เป็นเวลาราว 1 ปี 2 เดือนโดยไม่ได้รับการประกันตัว จนกระทั่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ในวันที่ 31 ตุลาคม 2555 เขาจึงเป็นอิสระ โดยศาลชั้นต้นเห็นว่าหลักฐานยังมีข้อสงสัยอยู่หลายประการ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ปัจจุบันเขายังคงทำงานด้านนี้โดยเริ่มต้นใหม่กับการดูแลระบบของบริษัทต่างๆ

เขายืนยันปฏิเสธข้อกล่าวหาตั้งแต่ชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และยืนยันต่อสู้คดีแม้จะไม่ได้รับการประกันตัวให้ออกมารวบรวมพยานหลักฐาน เขาได้รับอนุญาตจากองค์คณะผู้พิพากษาให้นำคอมพิวเตอร์มาแสดงให้เห็นตามคำยืนยันที่ว่าหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพบนั้นมีความผิดปกติ “เป็นหลักฐานเท็จ”

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันมีคดีของธันย์ฐวุฒิที่ถูกจับกุมและถูกกล่าวหาเป็นผู้จัดทำเว็บไซต์ นปช.ยูเอสเอ เขาสู้คดีแต่ศาลไม่อนุญาตให้นำคอมพิวเตอร์เข้าแสดงในศาล เขาแพ้คดี ศาลลงโทษจำคุก 13 ปีและท้ายที่สุดหลังถูกจำคุกมา 3 ปีกว่าเขาตัดสินใจถอนอุทธรณ์เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ

ข้อมูลการสืบพยานที่บันทึกโดย โครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ ระบุข้อมูลที่น่าสนใจในคดีสุรภักดิ์ว่า จุดเริ่มต้นของคดีนี้ ปอท. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักศึกษาชั้นปีที่ 3 ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มีแนวคิดและจุดยืนทางการเมืองสอดคล้องและเคยร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) โดยใช้โปรไฟล์ปลอมว่า I am red เข้าไปเล่นในเพจดังกล่าว และเป็นผู้ร้องต่อ ปอท. ว่าเจ้าของเพจเราจะครองฯ นั้นใช้อีเมล์ใดและเป็นใคร โดยเขาให้เหตุผลว่าเหตุที่ทราบการเชื่อมโยงดังกล่าวเพราะเป็นสมาชิกของ TSRO ของกูเกิ้ลกรุ๊ป ที่มีทั้งภาพ เสียง และข้อความหมิ่นฯ แล้วเมื่อลองนำอีเมล์นี้ไปค้นหาในเฟซบุ๊ก ก็พบชื่อเพจ “เราจะครองฯ” พยานจึงเชื่อว่าเป็นคนเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ไอลอว์ระบุว่า เมื่อทนายขอให้พยานสาธิตการค้นหาอีเมล์ในเฟซบุ๊ก พยานปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าพยานให้หลักฐานไปหมดแล้ว และกลัวว่าข้อมูลความเป็นส่วนตัวจะไปปรากฎในคอมพิวเตอร์ของทนายจำเลย

การเชื่อมโยงเพจกับคนกระทำผิด เริ่มต้นจากนักศึกษาคนหนึ่ง จากนั้น ปอท.จึงเข้าสืบหาที่อยู่แล้วเข้าจับกุมสุรภักดิ์ มีการต่อสู้กันในศาลจนถึงชั้นฎีกา แม้ว่าตามกฎหมายหากจำเลยชนะในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์แล้ว คู่ความไม่สามารถฏีกาได้ ยกเว้นจะมีการรับรองจากอัยการสูงสุดว่ามีเหตุอันควรฎีกา เช่นเดียวกับคดีนี้

โดยโจทก์ระบุว่าจำเลยได้ยอมรับว่าเป็นเจ้าของเพจดังกล่าวและใช้อีเมล์ดังกล่าวจริง พร้อมให้รหัสเฟซบุ๊กและอีเมล์แล้ว แต่จำเลยโต้แย้งว่าจำเลยเพียงแต่ให้รหัสผ่านของเครื่องคอมพิวเตอร์ เพราะไม่เกี่ยวข้องจึงไม่รู้รหัสของอีเมล์หรือเฟซบุ๊กดังกล่าว จึงเขียนรหัสลงกระดาษเปล่าแต่ต่อมามันถูกเขียนข้อความอื่นๆ เพิ่มเติมเข้ามาแล้วใช้เป็นหลักฐานวาจำเลยรับในเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีการต่อสู้กันในประเด็นทางเทคนิคของคอมพิวเตอร์อีกมาก โดยสรุปคือเป็นไปได้หรือไม่ที่จะพบหลักฐานว่าร่องรอยในคอมพิวเตอร์จำเลยที่ถูกยึดทันทีหลังจับกุม โดยโจทก์ระบุว่า พบซอสโค้ดที่เป็นการเข้าถึงอีเมล์ตามฟ้องและเข้าถึงเพจเราจะครองในเฟซบุ๊กในฐานะผู้ใช้ แต่จำเลยระบุว่า หลักฐานดังกล่าวเป็นการทำปลอมขึ้นมา โดยมีข้อพิรุธหลายประการ โดยเฉพาะการปรากฏเข้าใช้คอมพิวเตอร์งานอีเมล์ดังกล่าวภายหลังจำเลยถูกจับแล้วและคอมพิวเตอร์อยู่ที่พนักงานสอบสวน ซึ่งโจทก์ระบุว่าจำเลยอาจให้รหัสอีเมล์กับคนอื่นในการเข้าถึงก็เป็นได้ ขณะที่จำเลยเห็นว่าเป็นการกล่าวหาที่เลื่อนลอย

ในฎีกาของทั้งโจทก์และจำเลยมีการให้เหตุผลต่อสู้กันในรายละเอียดหลายประเด็น เช่น การตรวจพบข้อมูลประวัติการใช้อีเมล์และเฟซบุ๊กที่หลักฐานโจทก์ปรากฏในพาร์ทิชั่นที่สองนั้นเป็นไปได้หรือไม่, ข้อถกเถียงว่าเฟซบุ๊กเป็นระบบที่จะไม่เก็บร่องรอยประวัติการเข้าใช้จริงหรือไม่, ซอสโค้ด(source code)อันเป็นหลักฐานของโจทก์มีการตัดทอนและใช้ฟอนต์ไม่เหมือนกันนั้นเป็นของจริงหรือไม่ หรือเรื่องคุณสมบัติด้านเวลาของไฟล์ที่ตรวจพบในเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง เรื่องนี้ดูเป็นเรื่องที่ศาลชั้นต้นให้ความสำคัญ จำเลยระบุว่าจำเลยสามารถพิสูจน์ได้อย่างประจักษ์ชัดเจนแล้วว่าการเกิดไฟล์ดังกล่าวเกิดจากการจงใจสร้างหลักฐานเท็จโดยการสำเนาหน้าเพจที่มีปัญหาแล้วมาวางสำเนา (Copy) ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของจำเลย โดยจำเลยได้แสดงให้เห็นความผิดปกติของเวลาที่เกิดขึ้นได้ เพราะหากเป็นการใช้งานตามปกติไฟล์ที่เกิดขึ้นจะไม่มีเวลาที่สร้าง เข้าถึง เปลี่ยนแปลง เป็นเวลาเดียวกันได้ หรือแตกต่างกันเพียงวินาทีตามหลักฐานที่โจทก์นำเสนอต่อศาล  ขณะที่โจทก์โต้ว่าเรื่องเวลานั้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และการต่อสู้ของจำเลยเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นหลักฐานเท็จ ฯลฯ

นับเป็นคดีตัวอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญทางคอมพิวเตอร์และนักกฎหมายควรได้ร่วมกันศึกษาอย่างยิ่ง

โจทก์ยังให้เหตุผลด้วยว่า หากศาลไม่รับฟังหลักฐานชิ้นนี้ คงไม่อาจดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ได้เลยและจะมีผู้กระทำผิดในลักษณะนี้เพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากคดีลักษณะนี้ การค้นหาพยานหลักฐานให้ได้ประจักษ์พยานตามวันเวลาขณะกระทำผิดเป็นเรื่องยากและผู้กระทำผิดคงไม่กระทำอย่างเปิดเผย จึงจำเป็นต้องอาศัยพยานหลักฐานที่ได้จากการตรวจพิสูจน์ร่องรอยการใช้งานคอมพิวเตอร์ของกลาง และเจ้าหน้าที่ไม่มีเหตุโกรธเคืองต้องกลั่นแกล้งจำเลย การสร้างหลักฐานเท็จแล้วทำให้ปรากฏในเครื่องของจำเลยไม่ได้ทำอย่างง่ายดายตามที่จำเลยกล่าวอ้าง

ขณะที่จำเลยระบุว่า ข้อกล่าวอ้างดังกล่าวของโจทก์ไม่สมเหตุสมผล เนื่องจาก พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต (ISP) ต้องเก็บข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ 90 วันเพื่อใช้หาตัวผู้กระทำผิด เปรียบได้กับประจักษ์พยาน แต่โจทก์กลับไม่นำมาแสดง การกล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำผิดโดยปราศจากหลักฐานตามบทบัญญัติกฎหมายเอง หรือในหลักการสากลยอมรับ เพื่อให้ลงโทษในความผิดที่จำเลยไม่ได้กระทำนั้นไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง ในทางกลับกันแม้ว่าจำเลยจะเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในคอมพิวเตอร์ก็ตาม แต่จำเลยก็หาใช่ผู้กระทำความผิด ยืนยันอย่างหนักแน่นในการปฎิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอด และได้รับทุกข์ทรมานจากการถูกจำคุกโดยไม่ได้กระทำความผิด ต่อสู้คดีจนพิสูจน์ได้ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ หากว่าเคราะห์กรรมครั้งนี้ไม่ได้เกิดกับจำเลย แต่เกิดกับประชาชนทั่วไปที่มีความรู้เพียงแค่สามารถใช้งานเป็น และถูกฟ้องโดยการสร้างพยานหลักฐานในลักษณะเช่นคดีนี้ จะต่อสู้คดีได้อย่างไร คงจะได้รับทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัสกับความผิดที่ตนเองไม่ได้ก่อ 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net