Skip to main content
sharethis

ในวันที่ 14 ส.ค. ที่จะถึงนี้นายกฯ ชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นจะต้องขึ้นกล่าวสุนทรพจน์รำลึกถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งนักวิชาการชาวญี่ปุ่นเสนอแนะว่าอาเบะควรขอโทษและแสดงออกว่าญี่ปุ่นสำนึกผิดอย่างจริงใจต่อการกระทำที่โหดร้ายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จะช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดจากประวัติศาสตร์ตามมาหลอกหลอน

12 ส.ค. 2558 นายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ของญี่ปุ่นมีกำหนดการต้องกล่าวสุนทรพจน์เพื่อรำลึกเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 14 ส.ค. ที่จะถึงนี้ หลังจากผ่านมาแล้ว 70 ปี ที่ญี่ปุ่นลงนามยอมรับปฏิญญาปอตสดัม (Potsdam Declaration) เพื่อยุติการก่อสงคราม นักวิชาการชาวญี่ปุ่น 2 คน เขียนบทความเกี่ยวกับการกล่าวสุนทรพจน์ในครั้งนี้ในแง่ที่จะส่งผลถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของญี่ปุ่นกับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกับประเทศที่เคยถูกญี่ปุ่นรุกราน

นับตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมาประวัติศาสตร์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กลายเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความบาดหมางระหว่างญี่ปุ่นกับเพื่อนบ้านที่สำคัญอย่างจีนและเกาหลีใต้ ซึ่งยูอิจิ โฮโซยะ อาจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเคโอในกรุงโตเกียวระบุในบทความว่า โทะมิอิจิ มุระยะมะ นายกรัฐมนตรีในยุคนั้นออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2538 แสดงการขอโทษอย่างจริงใจต่อการกระทำของญี่ปุ่นช่วงสงครามโลก แต่มันเป็นเรื่องน่าย้อนแย้งที่แถลงการณ์ดังกล่าวกลับเป็นการเปิดผนึกให้ประวัติศาสตร์ตามมาหลอกหลอน

โฮโซยะ ระบุถึงสถานการณ์ช่วงหลังแถลงการณ์ออกมาใหม่ๆ ว่า ในตอนแรกจีนและเกาหลีใต้ก็ยังมีท่าทีไม่ยอมรับคำขอโทษแต่รัฐบาลของทั้ง 2 ประเทศก็แสดงออกในทางบวกต่อคำในแถลงการณ์ที่เป็นไปในเชิงขอโทษและยอมรับความผิด รวมถึงการยอมรับว่าญี่ปุ่นทำการ "รุกรานและปกครองแบบอาณานิคม" จริงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีนายกฯ ญี่ปุ่นคนใดแสดงออกอย่างเป็นทางการในทำนองนี้มาก่อน และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ของ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ก็เป็นไปด้วยดีจนกระทั่งประชาชนฝ่ายขวาของทั้ง 3 ประเทศไม่พอใจท่าทีอ่อนข้อของประเทศตน

ทางด้านคะซุฮิโกะ โตโก ผู้อำนวยการสถาบันกิจการนานาชาติและศาตราจารย์ด้านการเมืองระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัยเกียวโตซังเงียวระบุว่าคำสำคัญจากแถลงการณ์ของมุระยะมะเมื่อปี 2538 ถูกนำมาใช้ในการหารือเพื่อความปรองดองร่วมกับประเทศต่างๆ ที่เคยมีส่วนร่วมในสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกครั้งนับแต่นั้นเป็นต้นมา โตโกยังมองอีกว่าที่ผ่านมาอาเบะส่งสัญญาณในเชิงที่จะกล่าวสุนทรพจน์ไปในรูปเดียวกับแถลงการณ์ของมะรุยะมะ และของ จุงอิชิโร โคะอิซุมิ อดีตนายกรัฐมนตรีอีกคนหนึ่งที่เคยกล่าวรำลึกถึงเหตุการณ์สงครามโลก

แต่สำหรับโตโกแล้วยังคงมีคำถามตามมาว่าอาเบะจะต้องการคงไว้ซึ่งแนวคิดแบบเดียวกับแถลงการณ์ของมะรุยะมะ หรือแค่นำมาอ้างถึงแบบผิวเผิน ถึงแม้ว่าเมื่อไม่นานมานี้อาเบะจะเริ่มแสดงออกว่ารู้สึกเสียใจต่อเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลก แต่ก่อนหน้านี้อาเบะกล่าวถึงสงครามโลกในแบบที่ทำให้จีน เกาหลีใต้ สหรัฐฯ และแม้แต่ชาวญี่ปุ่นบางส่วนรู้สึกความไม่ไว้วางใจ ทำให้แม้ว่าต่อให้อาเบะพูดถึงความเสียใจหรือการสำนึกผิดก็อาจจะยังถูกวิจารณ์จากประเทศเพื่อนบ้านของญี่ปุ่นอยู่ดี

โตโกจึงเสนอว่าวิธีการที่ดีที่สุดคืออาเบะควรแสดงออกอย่างเปิดเผยว่าเขารักษาจุดยืนการขอโทษและสำนึกผิดแบบเดียวกับแถลงการณ์ของมุระยะมะซึ่งจะทำให้อาเบะถูกมองว่าเป็นผู้มีอำนาจเชิงจริยธรรม (moral authority) เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

โตโกระบุอีกว่าญี่ปุ่นควรมีโรดแมปในการแก้ไขปัญหาทางประวัติศาสตร์และข้อพิพาทดินแดน โดยการกล่าวสุนทรพจน์ในวันที่ 14 ส.ค. เป็นแค่จุดเริ่มต้นของโรดแมปเท่านั้น ผู้นำญี่ปุ่นควรกล่าวถึงกรณีวิพากษ์วิจารณ์เรื่องศาลเจ้ายะสุกุนิ ประเด็น "หญิงบำเรอ" การบังคับใช้แรงงานในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และประเด็นข้อพิพาทดินแดนกับประเทศอื่น

ส่วนโฮโซยะระบุว่าที่ผ่านมาอาเบะมีท่าทีพยายามรักษาสมดุลในเรื่องนี้ แง่หนึ่งเขาก็พยายามทำให้แถลงการณ์ของเขาดูเป็นการมองไปข้างหน้า ในอีกแง่หนึ่งเขาก็ต้องพยายามรักษาความสัมพันธ์กับจีนและเกาหลีใต้โดยการทำให้ประวัติศาสตร์เป็นที่ยอมรับได้จากประชาชนของทั้งสองฝ่าย

เพื่อการนี้ทำให้อาเบะแต่งตั้ง "คณะกรรมการให้คำปรึกษาเพื่อประวัติศาสตร์แห่งศตวรรษที่ 20 และบทบาทของญี่ปุ่นต่อระเบียบโลกในศตวรรษที่ 21" ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวมองเห็นความสำคัญของการคงไว้ซึ่งสาระสำคัญของแถลงการณ์นายกฯ ญี่ปุ่นในอดีตโดยเฉพาะแถลงการณ์มุระยะมะ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้ถ้อยแถลงใหม่ของอาเบะมีลักษณะมองไปข้างหน้ามากขึ้นและเน้นให้มองประวัติศาสตร์หลังสงครามของญี่ปุ่นในฐานะประเทศที่รักสันติ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และเน้นย้ำเรื่องการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตามการแสดงความสำนึกผิดและการขอโทษก็ยังสำคัญ โฮโซยะระบุว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ในยุคปัจจุบันและนักวิชาการในญี่ปุ่นจะเน้นมองประวัติศาสตร์หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ว่า การสำนึกผิดต่อการก่อสงครามของญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นหลังสงครามมีสันติภาพ มีเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น และมีการเคารพต่อสิทธิมนุษยชนมากขึ้น ถ้าหากรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีเห็นตรงกันในมุมมองนี้ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งจากประเด็นประวัติศาสตร์กับประเทศเพื่อนบ้านเป็นไปได้ง่ายขึ้น


เรียบเรียงจาก

What to expect from Abe’s WWII anniversary statement, Yuichi Hosoya, East Asia Forum, 11-08-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/08/11/what-to-expect-from-abes-wwii-anniversary-statement/

Japan must face history to move forward, Kazuhiko Togo, East Asia Forum, 09-08-2015
http://www.eastasiaforum.org/2015/08/09/japan-must-face-history-to-move-forward/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net