Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมระดับนานาชาติของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ลงมติรับรองนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ (sex workers) มติดังกล่าวเสนอให้แอมเนสตี้ฯ จัดทำนโยบายที่สนับสนุนการลดการเอาผิดทางอาญาสำหรับการบริการทางเพศที่เกิดจากความยินยอมทุกประเภท ยันการค้ามนุษย์ควรเป็นเรื่องผิดกฎหมายระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2558 ในที่ประชุมการประชุมสามัญระดับนานาชาติ  (International Council Meeting - ICM) ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ณ กรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ มีการลงมติครั้งสำคัญเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ (sex workers) โดยมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรับรองมติที่ให้อำนาจคณะกรรมการบริหารระดับนานาชาติ (International Board) ในการจัดทำและรับรองนโยบายในประเด็นดังกล่าว

ซาลิล เช็ตติ (Salil Shetty) เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า พนักงานบริการหรือผู้ให้บริการทางเพศเป็นหนึ่งในกลุ่มที่อยู่ชายขอบมากสุดกลุ่มหนึ่งในโลก ส่วนใหญ่มักต้องเผชิญกับการเลือกปฏิบัติ ความรุนแรง และการปฏิบัติมิชอบอย่างสม่ำเสมอ การขับเคลื่อนในระดับสากลขององค์กรมุ่งทำงานเพื่อให้มีการรับรองนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการ ที่จะช่วยกำหนดแนวทางการทำงานในอนาคตของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเด็นสำคัญนี้

มติดังกล่าวเสนอให้แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดทำนโยบายที่สนับสนุนการลดการเอาผิดทางอาญาสำหรับการบริการทางเพศที่เกิดจากความยินยอมทุกประเภท นโยบายดังกล่าวยังเรียกร้องให้รัฐต้องให้การประกันว่าพนักงานบริการต้องได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างเต็มที่ อย่างเท่าเทียม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ และต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และความรุนแรง

“เราตระหนักดีว่าปัญหาสิทธิมนุษยชนดังกล่าวมีความสำคัญและซับซ้อนอย่างยิ่ง เป็นเหตุให้เราหาทางแก้ไขปัญหานี้จากแง่มุมของมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นอกจากนั้นเรายังได้ปรึกษาหารือเป็นการภายในจากการประชุมสามัญระดับนานาชาติเพื่อรับฟังความเห็นที่แตกต่างจากทั่วโลก” ซาลิล เช็ตติกล่าว

จากการทำวิจัยและปรึกษาหารือเพื่อจัดทำนโยบายนี้ในช่วงสองปีที่ผ่านมาได้ข้อสรุปว่า แนวทางนี้จะช่วยปกป้องสิทธิมนุษยชนของพนักงานบริการได้ดีที่สุด และลดความเสี่ยงจากการถูกปฏิบัติมิชอบและการละเมิดที่กำลังเผชิญกันอยู่

จากงานวิจัยพบว่าพนักงานบริการต้องเผชิญกับการละเมิดรูปแบบต่างๆ ทั้งการใช้ความรุนแรงทางร่างกายและทางเพศ การจับกุมและควบคุมตัวโดยพลการ การข่มขู่และรีดไถ การค้ามนุษย์ การบังคับตรวจหาเชื้อเอชไอวี และการบังคับให้รับการรักษาพยาบาล ทั้งยังมีการกีดกันบุคคลเหล่านี้ไม่ให้ได้รับการดูแลด้านสุขภาพและบริการด้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งการคุ้มครองทางสังคมและกฎหมายอื่นๆ

นโยบายนี้จัดทำขึ้นจากข้อมูลจำนวนมากที่ได้มาจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานสหประชาชาติ เช่น องค์การอนามัยโลก องค์การสหประชาชาติด้านโรคเอดส์ (UNAIDS) องค์การสหประชาชาติด้านผู้หญิง (UN Women) และผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิด้านสุขภาพ (UN Special Rapporteur on the Right to Health) นอกจากนั้น ยังได้ทำงานวิจัยในสี่ประเทศ

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุว่า ได้ปรึกษาหารือกับกลุ่มต่างๆ ทั้งกลุ่มผู้ให้บริการทางเพศ กลุ่มของผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อการค้าบริการทางเพศ หน่วยงานที่สนับสนุนการยกเลิกโทษประหารชีวิต หน่วยงานสตรีนิยมและตัวแทนสิทธิสตรี นักกิจกรรมด้านความหลากหลายทางเพศ หน่วยงานต่อต้านการค้ามนุษย์ และหน่วยงานด้านเอชไอวี/เอดส์

ทั้งนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเห็นว่าการค้ามนุษย์เป็นเรื่องที่น่ารังเกียจไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม ทั้งการเอารัดเอาเปรียบทางเพศ และเห็นว่าควรเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายสำหรับกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ชัดเจนตามนโยบายใหม่ดังกล่าวและการทำงานด้านอื่นๆ ที่ผ่านมาของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลด้วย

“นี่ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าสำคัญสำหรับแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล มตินี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างง่ายดายหรือใช้เวลาอันรวดเร็ว เราต้องขอขอบคุณสมาชิกทุกท่านจากทั่วโลก รวมทั้งเครือข่ายอีกหลายกลุ่มที่เราได้จัดรับฟังความคิดเห็น ทุกความคิดเห็นของท่านสำคัญต่อการอภิปรายครั้งนี้ ความเห็นของท่านมีส่วนช่วยให้เราบรรลุมติที่สำคัญนี้ ซึ่งจะช่วยกำหนดแนวทางการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในอนาคตของเรา” ซาลิล เช็ตติกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net