Skip to main content
sharethis

เปิดป้ายจารึก "คำประกาศสันติภาพ" ในงานรำลึก "วันสันติภาพไทย" 70 ปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 พร้อมเสวนาและฉายภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือกผลงาน "ปรีดีโปรดักชั่น" ซึ่งฉายครั้งแรกเมื่อเมษายนปี 2484 ก่อนเกิดสงครามในอีก 8 เดือนถัดมา

ผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตัวแทนเสรีไทยและทายาท และเอกอัครราชทูตโปรตุเกส ร่วมเปิดป้ายอนุสรณ์จารึก "ประกาศสันติภาพในราชกิจจานุเบกษา" เมื่อ 16 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยป้ายจารึกดังกล่าวบรรจุเนื้อหาคำประกาศสันติภาพ 16 สิงหาคม 2488 โดยป้ายจารึกอยู่ที่ลานประติมากรรม หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

เสรีไทยและทายาท ร่วมกันวางดอกไม้รำลึกถึงเสรีไทยและผู้เสียชีวิตช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

ป้ายจารึก "คำประกาศสันติภาพ" อยู่บริเวณฐานของประติมากรรมชุด "ธรรมศาสตร์กับขบวนเสรีไทย"

ป้ายจารึก "คำประกาศสันติภาพ" มีทั้งข้อความภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

เสวนาภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" วิทยากรโดย โดม สุขวงศ์ (ซ้าย) สุรัยยา สุไลามาน (ขวา) ดำเนินรายการโดย สุกัญญา สมไพบูลย์

การฉายภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" ในงานครบรอบ 70 ปีวันสันติภาพไทย

หนังสือพระเจ้าช้างเผือก ฉบับพิมพ์ภาษาอังกฤษ โดยปรีดี พนมยงค์ พิมพ์ครั้งแรกเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2484 และพิมพ์ครั้งต่อมาในเดือนเมษายนปีเดียวกัน จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ "การเดินทางของพระเจ้าช้างเผือก"

นิทรรศการ "การเดินทางของพระเจ้าช้างเผือก"

ผู้ชมนิทรรศการ "ชีวิตในยามศึก สังคมไทยใต้เปลวเพลิงแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2"

พ.อ.พุทธินาถ พหลพลพยุหเสนา บุตรชาย พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา อดีตนายกรัฐมนตรี และคณะราษฎร ร่วมงาน 70 ปีวันสันติภาพไทย

17 ส.ค. 2558 - ในงานครบรอบ 70 ปี วันสันติภาพไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วานนี้นั้น (16 ส.ค.) มีการฉายภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก ซึ่งผู้เขียนบทภาพยนตร์และอำนวยการสร้างคือ ปรีดี พนมยงค์ ในนาม "ปรีดีโปรดักชั่น" ซึ่งภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวสร้างในปี 2483 สมัยที่ปรีดี พนมยงค์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยเนื้อหาในภาพยนตร์ซึ่งบทละครเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดนั้น ผู้สร้างต้องการประกาศอุดมการณ์สันติภาพในนามของประเทศไทย ในช่วงที่กำลังเกิดสงครามโลกขึ้นในภาคพื้นยุโรป และเอเชีย-แปซิฟิค ผ่านตัวละครคือพระเจ้าจักรา กษัตริย์แห่งอโยธยา ผู้ครอบครองช้างเผือก และพระเจ้าหงสา ที่ต้องการทำสงครามเพื่อช้างเผือก โดยภาพยนตร์ดังกล่าวออกฉายครั้งแรกเดือนเมษายน ปี 2484 สามเมืองคือกรุงเทพฯ นิวยอร์ก และสิงคโปร์ 8 เดือนก่อนที่ญี่ปุ่นจะบุกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก ช้างเผือกสำคัญวงการภาพยนตร์

โดยก่อนการฉายภาพยนตร์มีการปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ประวัติศาสตร์ขบวนการเสรีไทย ในสงครามโลกครั้งที่ 2” โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นมีการเสวนาภาพยนตร์เรื่อง "พระเจ้าช้างเผือก" โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรัยยา สุไลมาน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และโดม สุขวงศ์ จากหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุกัญญา สมไพบูลย์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุรัยยา สุไลมาน กล่าวว่า จากภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก บทบาทของพระเจ้าจักรา คือเป็นกษัตริย์แต่ไม่ได้ต้องการทำสงครามเพื่อทำให้ไพร่พลล้มตาย พระเจ้าจักราจึงใช้วิธีขอทำยุทธหัตถีกับพระเจ้าหงสา เมื่อทำยุทธหัตถีจนชนะเจ้าเมืองหงสา ก็เลิกสงคราม ปล่อยให้ทหารไพร่พลของพระเจ้าหงสากลับบ้านเกิดเมืองนอน ขณะที่บทบาทของปรีดี ก่อนที่จะเกิดสงครามในประเทศไทย ปรีดีไม่เห็นด้วยกับนโยบายของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ทำสงครามเพื่อทวงคืนดินแดนอินโดจีน บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยปรีดี เห็นว่าใช้วิธีการเจรจากับฝรั่งเศสดีกว่า

ขณะเดียวกันภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก ยังสะท้อนภาพความเป็นมนุษย์ แง่มุมจากคนธรรมดาอย่างเช่น ในภาพยนตร์มีฉากที่พระเจ้าหงสา จะประกาศทำสงครามกับอโยธยา แต่มีทหารไพร่พลโต้ว่าไม่เห็นด้วยกับการทำสงคราม จึงถูกพระเจ้าหงสาซัดหอกปัก ซึ่งสะท้อนภาพว่าคนสามัญธรรมดาไม่ได้ต้องการทำสงคราม ทหารชั้นผู้น้อยไม่ต้องการรบ แต่เป็นผู้นำต่างหากที่กระหายอำนาจ

ด้านโดม สุขวงศ์ กล่าวว่า ในแง่การผลิตภาพยนตร์ ปรีดี ไม่ได้คิดทำภาพยนตร์เพื่อการค้า ถ้าทำเพื่อการค้าคงไม่ออกมารูปแบบนี้ และภาพยนตร์เรื่องพระเจ้าช้างเผือกก็ไม่ใช่หนังที่ผลิตโดยรัฐบาลอย่างเรื่อง "เลือดทหารไทย" (กำกับโดย ขุนวิจิตรมาตรา สมัยรัฐบาล พล.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา) ซึ่งมีแนวทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง

ทั้งนี้ปรีดี อำนวยการสร้างภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" ภายใต้ "ปรีดีโปรดักชั่น" ทั้งนี้จะออกทุนด้วยตัวเอง หรือระดมมาจากแหล่งไหนยังไม่ทราบในเวลานี้ แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้โรงถ่าย และบุคลากรที่เป็นมืออาชีพในวงการภาพยนตร์ไทยมาสร้าง โดยในเวลานั้น บริษัทไทยฟิล์ม เพิ่งเลิกกิจการ จึงได้ใช้โรงถ่ายของไทยฟิล์มในการผลิตภาพยนตร์

นอกจากนี้ภาพยนตร์ดังกล่าวยังถ่ายโดย ประสาท สุขุม ซึ่งเรียนวิชาถ่ายภาพยนตร์จากสหรัฐอเมริกา และได้รับเกียรติให้เป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์แห่งอเมริกา (American Society of Cinematographer : ASC) ชื่อเครดิตในภาพยนตร์ ท้ายชื่อของเขา จึงมีอักษรย่อ ASC ประกอบด้วย โดยในภาพยนตร์ยังมีมุมกล้องที่สำคัญนั่นคือมุมกล้องที่ถ่ายในมุมมองลอดท้องช้าง โดยใช้วิธีฝังกล้องไว้ระดับผิวดิน จนมีการเรียกว่า "สุขุมช็อต" เหมือนกับที่ยาสุจิโร โอสุ ผู้กำกับชาวญี่ปุ่น คิดมุมกล้อง "ตาตามิช็อต" หรือมุมกล้องที่ถ่ายระดับมองเห็นหัวเข่า

ทั้งนี้ยังไม่มีการค้นพบบทภาพยนตร์ "พระเจ้าช้างเผือก" ฉบับเต็ม ที่มีการระบุบทพูด ช็อตภาพ การถ่ายทำ มีเพียงการค้นพบบทย่อเท่านั้น โดยในอนาคตหวังว่าจะมีการค้นพบเอกสารดังกล่าว เพื่อจะทำให้เห็นกระบวนการผลิตภาพยนตร์ที่ชัดเจนขึ้น

โดมกล่าวด้วยว่า สำหรับภาพยนตร์ดังกล่าวน่าเสียดายที่หายไปจากสังคมไทยช่วงหนึ่ง หลังจากที่ปรีดี ต้องลี้ภัยหลังรัฐประหารในปี 2490 จนกระทั่งอีกหลายสิบปีจึงได้กลับมาฉายในประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อชมภาพยนตร์แรกๆ ก็รู้สึกเหมือนชมนักแสดงที่เหมือนหุ่นยนต์ กลไก แต่เมื่อชมภาพยนตร์หลายครั้งและทราบถึงเรื่องราวของการผลิตภาพยนตร์ ก็ทำให้มองเห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นช้างเผือกเชือกสำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย

 

เปิดป้ายจารึก "คำประกาศสันติภาพ" ในโอกาส 70 ปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

ขณะเดียวกันเมื่อเวลา 13.00 น. ที่ลานประติมากรรม หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยตัวแทนเสรีไทยและทายาทของนายปรีดี พนมยงค์ ได้เปิดป้ายอนุสรณ์จารึก "ประกาศสันติภาพในราชกิจจานุเบกษา" บรรจุเนื้อหาของประกาศสันติภาพเมื่อ 16 ส.ค. ปี 2488 และวางดอกไม้เพื่อแสดงความเคารพเสรีไทยและผู้เสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งนี้ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ลุยส์ มานูเอล บาเครา เดอ โซซา เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย ได้มาร่วมงานด้วย

ทั้งนี้ในประกาศสันติภาพ ปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าอยู่อานันทมหิดล ระบุว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย เพราะฝ่าฝืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง โดยหลักฐานที่สำคัญว่าประชาชนไทยไม่ยอมรับการประกาศสงคราม ก็คือการจัดตั้งขบวนการเสรีไทยช่วยเหลือฝ่ายสัมพันธมิตรในการต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยึดครองประเทศไทยในระหว่างสงคราม

"ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่เป็นโมฆะ ไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ ประเทศไทยได้ตัดสินที่จะให้กลับคืนมาซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติเมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484 และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับสหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลกนี้

บรรดาดินแดนซึ่งญี่ปุ่นได้มอบให้ไทยครอบครอง คือ รัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะริด เชียงตุง และเมืองพานนั้น ประเทศไทยไม่มีความปรารถนาที่จะได้ดินแดนเหล่านี้และพร้อมที่จะจัดการเพื่อส่งมอบในเมื่อบริเตนใหญ่พร้อมที่จะรับมอบไป

ส่วนบรรดาบทกฎหมายอื่นๆ ใดอันมีผลเป็นปริปักษ์ต่อสหรัฐอเมริกา บริเตนใหญ่และเครือจักรวรรดิก็จะได้พิจารณายกเลิกไปในภายหน้า บรรดาความเสียหายอย่างใดๆ จากกฎหมายเหล่านั้นก็จะได้รับชดใช้โดยชอบธรรม" ตอนหนึ่งของคำประกาศสันติภาพระบุ

 

บรรจง นะแส ได้รางวัลสันติประชาธรรมเป็นคนที่ 4

นอกจากนี้ ยังมีการมอบรางวัล "สันติประชาธรรม" ให้กับบุคคลที่อุทิศตนตามแนวทางป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยในปีนี้ซึ่งจัดการมอบรางวัลเป็นปีที่ 4 คณะกรรมการได้มอบรางรัลให้กับบรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และนักพัฒนาอาวุโส โดยคณะกรรมการพิจารณารางวัลสันติประชาธรรมได้แก่ 1. เดช พุ่มคชา 2. ศิโรช อังสุวัฒนะ 3. สมลักษณ์ หุตานุวัตร 4. จุฬา สุดบรรทัด 5. บุญสม อัครธรรมกุล 6. ทรรศิน สุขโต และ 7.จิตติ มงคลชัยอรัญญา

ก่อนหน้านี้ผู้ได้รับรางวัลเมื่อปี 2555 คือ พงษ์จรัส รวยร่ำ นักกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้ ปี 2556 คือ สมลักษณ์ หุตานุวัตร และปี 2557 คือ ประยงค์ ดอกลำไย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net