Skip to main content
sharethis

17 ส.ค.2558 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานปาฐกถา 100 ปี ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ขึ้นเป็นครั้งที่ 5 ในหัวข้อจะต่อสู้คอร์รัปชั่นอย่างไรดี โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผาสุก กล่าวว่า จะแบ่งการพูดเป็น 4 ตอน คือ 1.นิยามความหมายและผลของคอร์รัปชั่นต่อสังคม 2.สภาพปัญหาของสังคมไทย 3. ทำไมคอร์รัปชั่นปราบได้ยากมาก 4.เหตุใดต้องต่อสู้กับคอร์รัปชั่นในระบอบประชาธิปไตย

โดยสรุป ผาสุกระบุว่า แม้ว่าการต่อต้านคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องยาก แต่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ จากกรณีศึกษาต่างๆ ทำให้ข้อสรุปว่า การต่อต้านคอร์รัปชั่นมียุทธศาสตร์และมาตรการ  3 ระดับ

1.ระดับปฏิบัติเฉพาะจุดในหน่วยราชการที่เป็นปัญหามาก และไม่สร้างต้นทุนมาก เช่น หากมีหลักฐานว่าทำผิดต้องลงโทษทันทีและหนักตามสมควร

2.ระดับสถาบัน ต้องมีมาตรการป้องกัน การตรวจสอบภายในที่ได้ผล หน่วยงานที่มีการคอร์รัปชั่นเป็นระบบมาเนิ่นนาน อาจต้องมีการนิรโทษกรรมแล้วกำหนดวันว่าหลังจากนี้จะใช้ยาแรง มาตรการเช่นนี้สำเร็จในการปฏิรูประบบตำรวจในฮ่องกง

นอกจากนี้ยังมีระดับสังคมภายนอก ซึ่งต้องมีการกำกับที่ดี อาจต้องนึกถึงศาลพิเศษในการจัดการกับคอร์รัปชั่นดังเช่นที่เกิดในอินโดนีเซีย หรือกฎหมายตรจสอบข้าราชการที่ร่ำรวยผิดปกติที่ฮ่องกง แต่ต้นทุนอาจจะสูง นอกจากนี้ประชาชน สื่อมวลชน ต้องมีเสรีภาพในการตรวจสอบการคอร์รัปชั่น และภาคธุรกิจอาจมีบทบาทเรื่องนี้ด้วย และเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

3.ระดับระบอบการเมือง ต้องมีระบอบที่เอื้อกับการสู้คอร์รัปชั่น เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเพราะเป็นโครงสร้างใหญ่และเป็นปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จในระยะยาว ระบอบประชาธิปไตยที่มีหลักนิติธรรม หลักการความเสมอภาค หลักสิทธิเสรีภาพ จะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่ สตง.จะตรวจสอบการใช้เงินทุกหน่วยงานอย่างเต็มที่

“รัฐประหารไม่สามารถแก้คอร์รัปชั่นได้ หลายครั้งที่มีการอ้างว่ารัฐประหารเพื่อแก้คอร์รัปชั่น แต่แก้ไม่ได้สักครั้ง เราอาจเห็นความพยายามแต่ล้วนเป็นมาตรการระยะสั้น และรัฐบาลรัฐประหารมักปรับแปลงสถาบันสำคัญต่างๆ เป็นระบบปิดที่เอื้อต่อการคอร์รัปชั่นของรัฐ ส่งผลให้การแก้คอร์รัปชั่นยิ่งยากเข้าไปอีก” ผาสุกกล่าว

“อย่าไปเชื่อวาทกรรมเรื่องการแก้คอร์รัปชั่นได้โดยรัฐประหาร มันแก้ไม่ได้แน่นอน” ผาสุกกล่าว

ผาสุกยังกล่าวอีกว่า จากการศึกษาเรื่องนี้มาเกือบ 25 ปี ทำให้มีข้อสรุปว่า ในเมืองไทย มาตรการแก้คอร์รัปชั่นจะได้ผลก็ต่อเมื่อ ประชาชนและสื่อสมวลชนมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ และการเปลี่ยนแปลงในแนวทางที่ดีขึ้นของคอร์รัปชั่นเกิดในสมัยประชาธิปไตยมากกว่าสมัยรัฐบาลรัฐประหารแน่นอน

“ถ้าอาจารย์ป๋วยได้มาฟังปาฐกถาในวันนี้นี้ ดิฉันเชื่อมั่นว่าท่านจะเห็นด้วยกับข้อสรุปนี้ นอกจากจะแก้คอร์รัปชั่นได้ดีที่สุดแล้ว ระบอบประชาธิปไตยยังมีคุณค่าในตัวเอง และสอดคล้องกับที่อาจารย์ป๋วยพูดเสมอ” ผาสุกกล่าว

ในส่วนต้นของการปาฐกถา ผาสุกพูดถึงการแบ่งการคอร์รัปชั่นแบบคร่าวๆ เป็น คอร์รัปชั่นภาคครัวเรือนที่ประชาชนติดสินบนเล็กๆ น้อยๆ กับหน่วยงานราชการ กับคอร์รัปชั่นภาคธุรกิจซึ่งเป็นการติดสินบนใหญ่หรือการปรับนโยบายให้เอื้อผลประโยชน์ส่วนตัว พบว่า ในรอบ 15 ปี ประชาชนติดสินบนหน่วยงานราชการน้อยลงมากและมูลค่าก็ลดลงมาก สืบเนื่องจากการปฏิรูประบบราชการซึ่งส่งผลต่อข้าราชการระดับปฏิบัติงาน แต่ข้าราชการระดับสูงสามารถรับสินบนกับภาคธุรกิจได้ด้วยตัวเอง อาจจะร่วมมือหรือไม่ร่วมมือกับนักการเมืองก็ได้ ซึ่งในระดับนี้ตรวจสอบยากมาก การปฏิรูประบบราชการไม่สามารถจัดการกับกลุ่มนี้ได้ โดยหากดูจากดัชนีความโปร่งใส (CPI) ขององค์การโปร่งใสนานาชาติ (IT) พบว่าคะแนน 15 ปีประเทศไทยแทบไม่ดีขึ้น และอันดับของประเทศไทยก็ตกลงมาเนื่องจากประเทศในเอเชียพากันพัฒนาขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าเราขาดกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ป.ป.ช.อ่อนแอ รวมถึงการยอมรับกับวัฒนธรรมคอร์รัปชั่นในหมู่ข้าราชการนักการเมืองก็เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องศึกษาวิจัยหาทางแก้ไขจริงจังกว่าที่เป็นอยู่

สำหรับคำถามว่าทำไมปัญหาคอร์รัปชั่นจึงแก้ไขได้ยากนั้นสามารถมองได้จาก 4 มุมมอง คือ 1.มุมมองเศรษฐศาสตร์กระแสหลักที่มองเรื่องต้นทุนในการคอร์รัปชั่นต่ำ 2.มุมมองศีลธรรมจรรยาธรรมที่เน้นตัวบุคคล

ผาสุกกล่าว่า จากมุมมองของนักศีลธรรมจรรยาธรรม สังคมขาดคนดี แนวคิดนี้เน้นเลือกเฟ้นคนดีมาปกครอง ประชาชนวงกว้างไม่ต้องมีบทบาทมาก มีคำถามว่า ใครเป็นผู้กำหนดใครดี ใครไม่ดี ดีเพื่อใคร และใครจะตรวจสอบกำกับคนดี ในเมื่ออำนาจผูกขาดสามารถคอร์รัปได้อย่างสุดๆ หากการเมืองคนดีไม่มีระบบตรวจสอบ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมจริงจัง มันก็ไม่มีความหมายใดๆ ไม่ใช่หรือ ส่วนมุมแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลักเห็นว่าสถาบันทางสังคมอ่อน คนผิดไม่ถูกลงโทษ การแก้ไขจึงมุ่งให้สาถบันตรวจสอบเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ คำถามคือระบอบการเมืองแบบไหนเอื้อให้เกิดตรงนี้ การเมืองเผด็จการแบบจีน สิงคโปร์ คนไทยส่วนใหญ่ต้องการเช่นนั้นหรือ

มุมมองที่ 3.มุมมองเศรษฐศาสตร์การเมืองที่เน้นการเชื่อมโยงกับกระบวนการสะสมทุนไม่ว่าทุนเก่าทุนใหม่และระบอบการปกครองที่เปิดกว้าต่อเสรีภาพสื่อและประชาชนเพียงใด ซึ่งจากงานศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ระบอบประชาธิปไตยเอื้อต่อการต่อต้านคอร์รัปชั่นมากกว่าระบอบเผด็จการทหาร เพราะรัฐบาลทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จสูงและไม่ต้องแบ่งใคร

“สมัยรัฐบาลทหารองค์กรตรวจสอบจะถูกปฏิเสธไม่ให้ตรวจสอบงบประมาณของกระทรวงกลาโหม แต่ในสมัยประชาธิปไตยเรื่องนี้ยังเป็นไปได้” ผาสุกกล่าว  

ผาสุกกล่าวอีกว่า น่าสียดายที่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้ลงรากลึกไม่เกิดขึ้นเพราะมักถูกรัฐประหารแทรกแซงอยู่เสมอ ระบอบการเมืองไทยจึงซิกแซกไปมาระหว่างระบบรัฐสภาและระบบเผด็จการทหาร

“ระบบการเมืองเปิดตามแนวทางประชาธิปไตยจะเอื้อต่อการตรวจสอบคอร์รัปชั่นมากกว่าระบอบปิดแบบเผด็จการทหาร แต่ระบอบเปิดยังไม่ได้โอกาสลงหลักปักฐานเพราะถูกแทรกแซงโดยรัฐประหารตลอด” ผาสุกกล่าว

มุมมองสุดท้าย 4.มุมมองสังคมระยะเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเห็นว่าผู้คนสับสนระหว่างคุณค่าใหม่และคุณค่าเก่า บางคนเห็นว่าคอรัปชั่นไม่เป็นปัญหา บางคนเห็นว่าเป็นเพราะสร้างความเสียหายต่อสาธารณะ เส้นแบ่งระหว่างสินน้ำใจกับสินบนเบลอมากขึ้น  ความสับสนนี้เป็นมูลเหตุให้ยากที่จะปราบคอร์รัปชั่น สังคมไทยเป็นสังคมที่เริ่มสู่ระบอบประชาธิปไตย งานศึกษาหลายประเทศชี้ว่าคอร์รัปชั่นมักเพิ่มสูงในระยะแรกของการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมประชาธิปไตย เพราะมันเปิดโอกาสให้คนกลุ่มใหม่ๆ เข้าถึงอำนาจและทรัพยากร แต่เมื่อเวลาผ่านไประดับหนึ่ง คอร์รัปชั่นจะคงที่และลดลงเรื่อยๆ เมื่อสถาบันทางสังคมแข็งแรง ประกอบกับแรงผลักดันของภาคประชาสังคมจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสถาบันต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพให้สอดคล้องกับความเป็นโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม กระบวนการปรับแปลงเหล่านี้ต้องใช้เวลาและต้องการความต่อเนื่อง

“ไทยเป็นสังคมเปลี่ยนผ่านและยังมีระบบพวกพ้อง ที่เรียกว่า ระบบศักดินาราชูปถัมภ์ ที่มากับความเป็นสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5 กระบวนการเปลี่ยนผ่านของไทยไม่ราบรื่น หยุดชะงักและถอยหลังเสมอ หลังทศวรรษ 2530 คอร์รัปชั่นมีบทบาททั้งกระตุ้นการเปลี่ยนแปลง เช่น รัฐธรรมนูญ40 และ คอร์รัปชั่นยังเป็นตัวถ่วงรั้งการเปลี่ยนผ่านดังในทศวรรษ 2550 งานของมาร์ก ซัคซาร์ วิเคราะห์ว่า วาทกรรมคอร์รัปชั่นสูงโดยนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการชะลอ หรือกำจัดระบบกฎหมายและระบอบรัฐสภาอย่างเต็มที่ ภายใต้หลักการหนึ่งคนหนึ่งเสียง” ผาสุกกล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net