Skip to main content
sharethis

หลังจากวันนี้ (22 ส.ค. 58) เว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปดาวน์โหลด ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลังมอบฉบับพิมพ์ให้ สปช. อ่านเตรียมตัวลงมติ 6 ก.ย. นั้น (ดู : ดาวน์โหลดร่าง รธน. หลัง กมธ.ยกร่างส่งให้ สปช. แล้ว)

ทั้งนี้ มาตรา 280 ของร่าง รธน. ซึ่งอยู่ในบทเฉพาะกาล ดังกล่าว ให้อำนาจกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งระบุว่าภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาความเป็นเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือมีกรณีความขัดแย้งอันอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ทั้งการดำเนินการตามปกติของสถาบันทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญและคณะรัฐมนตรีไม่อาจดำเนินการเพื่อยุติกรณีดังกล่าวได้ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งมีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของคณะกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ มีอำนาจใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ ภายหลังจากที่ได้มีการปรึกษาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว โดยเมื่อดำเนินการดังกล่าวแล้วให้ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้และกฎหมาย และเป็นที่สุด

ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับ มาตรา 44  ใน รธน. ฉบับชั่วคราว 2557 ที่ให้อำนาจกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดบระบุว่า ในกรณีที่หัวหน้า คสช. เห็นเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์ ในการปฏิรูปในด้านต่าง ๆ การส่งเสริมความสามัคคีและความสมานฉันท์ของประชาชนในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร ให้หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. มีอำนาจสั่งการ ระงับยับยั้ง หรือกระทำการใด ๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำ รวมทั้งการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว เป็นคำสั่ง หรือการกระทำ หรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญนี้และเป็นที่สุด ทั้งนี้เมื่อได้ดำเนินการดังกล่าวแล้ว ให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

สำหรับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ นั้น ระบุไว้ใน ม.260 ว่า ประกอบด้วยประธานกรรมการ 1 และกรรมการจำนวนไม่เกิน 22 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์แต่งตั้งจากบุคคลดังต่อไปนี้

1. กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

2. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกฯ ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละประเภท ประเภทละ 1 คน และ

3. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 11 คน ซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้ซึ่งมีความเชียวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ และสร้างความปรองดอง

และให้กรรมการเหล่านั้นเลือกผู้มีความเหมาะสมคนหนึ่งให้เป็นประธานกรรมการฯ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net