อำนาจนิยมในระบบการศึกษา

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

โดยทั่วไป ระบบการศึกษาสมัยใหม่ทำหน้าที่อย่างน้อยสองอย่าง ด้านหนึ่งให้ “ความรู้” กับสมาชิกใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมสังคม พร้อมทั้ง “กล่อมเกลา” (socialization) ให้พวกเขาอยู่ร่วมกับสมาชิกก่อนหน้าได้ ในบ้านเราก็กินระยะเวลามากกว่า 15 ปี ตั้งแต่ 4-5 ขวบ จนกระทั่งจบอุดมศึกษา แปลว่าชีวิตส่วนใหญ่ของเด็กไทย ซึ่งเกือบทั้งหมดไม่ทำอย่างอื่นนอกจากเรียนเหล่านี้ ได้รับความรู้และกล่อมเกลาก่อนเข้าสู่สังคม 

ทั้งนี้ โดยเปรียบเทียบระบบการศึกษาไทยให้น้ำหนักกับการกล่อมเกลามากกว่า ยิ่งสังคมเผชิญกับความผันผวนมากขึ้นเท่าใด ชนชั้นนำไทยเลือกตอกย้ำ “ปฏิรูป” การกล่อมเกลายิ่งขึ้น ซึ่งธีมของการกล่อมเกลานั้นมีกระบวนการอย่างน้อยสองอย่างที่สัมพันธ์และเป็นปัญหาสำหรับโลกยุคนี้ คือ กระบวนการสร้างผู้ใต้บังคับบัญชา-ซึ่งควรเชื่อฟังต่อผู้มีอำนาจอย่างไม่ตั้งคำถาม และ กระบวนการจัดช่วงชั้น (social stratification) และกำหนดตำแหน่งของตนในสังคม 

กระบวนการแรก พบได้ในกิจกรรมประจำวันของนักเรียน-ไทย ตั้งแต่ระดับประถม-มหาวิทยาลัย รูปแบบหลักของกิจกรรมเหล่านี้คือการสั่งให้ทำและทำโทษหากไม่ทำตาม เช่น การแต่งกาย-ทรงผม, เข้าแถว, หรือ“วิธีการ” เรียนการสอนที่เน้นฟัง-เชื่อ นอกจากนี้ในกิจกรรมประกอบหลักสูตรอื่น เช่น พิธีไหว้ครู, เชียร์กีฬา, ลูกเสือ-เนตรนารี, ร.ด. กระทั่งใน การรับน้องประชุมเชียร์ ก็ล้วนสอดแทรกหรือมีแนวโน้มไปในทิศทางของการกล่อมเกลาให้ยอมรับคำสั่ง – ทำตามผู้ออกคำสั่ง อย่างไม่ตั้งคำถาม หรือจำนนต่อการถูกบังคับเช่นเดียวกัน [1]

ส่วนกระบวนการหลัง คือ การจำแนกลำดับชั้นทางสังคม และกำหนดตำแหน่งของตน ว่าหากมีสถานะเช่นนี้จะมี หรือไร้อำนาจ ส่วนสำคัญสุดของการจำแนกคือ การทำให้ยอมรับต่ออำนาจของผู้ที่อยู่ในระดับชั้นซึ่งสูงกว่า เราจะพบเห็นอาการเหล่านี้ได้เมื่อเผชิญคนแปลกหน้า สิ่งแรกที่ต้องทำคือประเมินให้ได้ว่าเขาอยู่ช่วงชั้นใด เพื่อจะรู้ว่าต้องสัมพันธ์กันอย่างไร ใครควรมีอำนาจมากกว่ากัน หรืออย่างน้อยก็ “ใช้ภาษา” ให้ตรงกับระบบความสัมพันธ์นั้นอย่างเคร่งครัด

กระบวนการทั้งสองพบได้ในกิจกรรมจำนวนมากของนักเรียนไทย และแทรกอยู่ในกระบวนการให้ความรู้ ในกิจกรรมนอกห้องโรงเรียนอย่างในครอบครัว หรือในหมู่เครือญาติ ทั้งสองอย่างนี้ร่วมกันสร้างให้สมาชิกใหม่เหล่านั้น กลายเป็น ผู้ใต้-บังคับ-บัญชา คือการ รู้จักตำแหน่งของตนว่าใช้อำนาจกับคนที่ต่ำกว่าได้ อย่างไม่จำเป็นต้องอธิบาย และควรเชื่อฟังผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า อย่างไม่ต้องตั้งคำถาม[2] 

เมื่อระบบการศึกษาทำหน้าที่กล่อมเกลาให้สมาชิกมีลักษณะอำนาจนิยมแบบนี้ จึงไม่แปลกที่การสร้างประชาธิปไตย เป็นไปได้ยากลำบาก  ไม่เพียงเท่านั้น ยังสร้างให้คนในสังคม คุ้นชินกับระบบการบังคับ-และถูกบังคับบัญชาตามลำดับชั้น ดูไปแล้วก็คล้ายอย่างมากกับระบบที่ใช้ในกองทัพ และระบบราชการ (และน่าสงสัยว่าอาจเป็นระบบที่ถูกใช้มาก่อนในประเทศอาณานิคม เพื่อรักษาเสถียรภาพการปกครองของจักรวรรดิ ก่อนที่รัฐไทยสมัยใหม่ยุคแรกจะเลียนแบบ)

เป้าหมายทั้งสองอย่าง (กระบวนการให้ความรู้-กล่อมเกลา) ขัดขวางซึ่งกันและกัน  กล่าวได้ว่าหากเน้นด้านกระบวนการกล่อมเกลาแบบอำนาจนิยมเช่นนี้ ย่อมสร้างอุปสรรคในการสร้างตัวตนแห่งการเรียนรู้ของเด็ก (learning subject) ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายหลักของระบบการศึกษาสมัยใหม่ที่ผู้เรียนต้องคิดเองได้-ทำเองเป็น และสามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ด้วยตนเองหลังสำเร็จการศึกษา

ในทางกลับกัน หากประสบความสำเร็จในการทำให้สมาชิกใหม่ของสังคมเหล่านั้น คิดเอง-แสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้แล้วละก็ ย่อมคุกคามต่อความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมที่ดำรงอยู่อย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เมื่อใดที่เกิดความระส่ำระสายของอำนาจนำ สังคมไทยยิ่งต้องการคนเชื่องๆ และนั่นยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งเหว 

ปัจจุบัน การปฏิรูปการศึกษาอยู่ภายใต้บริบทแบบนี้ และน่าจะเป็นอีกครั้งที่กำลังพบความล้มเหลว เพราะ เริ่มต้นก็ไม่ตระหนักว่าสัดส่วนของทรัพยากรถูกทุ่มเทให้กับการกล่อมเกลามากกว่าจะเน้นเรื่องการให้ความรู้ อีกทั้งผู้ดำเนินการปฏิรูป เน้นปรับปรุงวิธีการให้ความรู้-เนื้อหา แต่มองไม่เห็นว่าการกล่อมเกลาที่มาพร้อมกันนั้น ว่าขัดขวางการเรียนรู้อย่างสำคัญ  ระบบการสร้างตัวตนแห่งการเรียนความรู้ซึ่งอ่อนแออยู่ก่อนแล้วยิ่งง่อยเปลี้ยกว่าเดิม  ส่วนการกล่อมเกลา ยิ่งขับเน้นเป้าหมายหลักของมันมากยิ่งขึ้น คือ ผลิตคนที่สยบยอมต่ออำนาจนิยม
 

อ้างอิง

[1] โดยทั่วไปกิจกรรมเหล่านี้มีลักษณะของคนหมู่มากที่ต้องทำตามคำสั่ง หรือทำตามแบบแผนบางอย่าง เพื่อเป้าหมายร่วมในกิจกรรมนั้น โดยทั่วไปไม่เอื้อต่อลักษณะปัจเจกนิยม แต่เข้ากันได้ดีกับลักษณะอำนาจนิยม- การทำเพื่อองค์รวม

[2] ดูปฏิกริยาจาก “ครู” ที่ออกมาขอนักเรียนบ้าง โดยสรุปคือ ให้เชื่อฟังเขานั่นเอง 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท