'ขบวนการดอกทานตะวัน ฉบับมัธยม' เมื่อเหล่านักเรียนสร้างความสั่นคลอนต่อการเมืองไต้หวัน

นักข่าวที่ประจำในไต้หวัน 30 ปี เขียนถึงเรื่องการชุมนุมของเหล่านักเรียนที่ประท้วงการเปลี่ยนแปลงตำราเรียนในไต้หวันซึ่งมีปัญหาข้อโต้แย้งทางประวัติศาสตร์และเกรงว่าจะเป็นท่าทีการเข้าไปอยู่ใต้อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงเดียวกับที่การเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน-จีน อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ

22 ส.ค. 2558 เว็บไซต์วิเคราะห์นโยบายการต่างประเทศ Foreign Policy In Focus (FPIF) เผยแพร่บทความเกี่ยวกับการประท้วงของเด็กนักเรียนในไต้หวันเมื่อช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เขียนโดยนักข่าวชื่อ เกล็น สมิทธ์ ซึ่งประจำอยู่ในไต้หวันมาแล้ว 30 ปี

ในช่วงปลายเดือน ก.ค. ที่ผ่านมากลุ่มนักเรียนในไต้หวันรวมกลุ่มประท้วง หวู่ซือฮั่ว รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในประเด็นความไม่พอใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาตำราเรียนชั้นมัธยมศึกษาโดยเฉพาะวิชาประวัติศาสตร์ ซึ่งกลุ่มนักเรียนกล่าวหาว่าการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาดังกล่าวนี้กระทำโดยคณะกรรมการลับที่แต่งตั้งขึ้นโดยประธานาธิบดี หม่าอิงจิ่ว และเป็นเนื้อหาที่ลดทอนคุณค่าของชนชาติไต้หวัน

กลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องต้องการเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเพื่อให้คำตอบว่าจะเลื่อนการออกตำราเรียนฉบับใหม่ในวันที่ 1 ส.ค. หรือไม่ ซึ่งในบทความระบุว่าเมื่อเข้าใกล้กำหนดเส้นตายของข้อเรียกร้องดังกล่าว การประท้วงก็ยิ่งยกระดับมากขึ้นโดยมีการพาดบันไดกับกำแพงที่ทำการกระทรวงศึกษาธิการแล้วมีนักเรียนพากันปีนเข้าไป พวกเขายึดพื้นที่สำนักงานของหวู่ซือฮั่วได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่จะถูกตำรวจจับใส่กุญแจมือออกไป มีคนถูกจับกุมในเหตุการณ์ดังกล่าว 33 คน รวมนักข่าวที่ตามเข้าไปด้วย 3 คน

หนึ่งในผู้ถูกจับกุมชื่อ ไต้หลิน อายุ 20 ปี โฆษกกลุ่มสหพันธ์ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรทางภาคเหนือของไต้หวันฆ่าตัวตายหนึ่งสัปดาห์หลังจากถูกจับกุม ทำให้เขาถูกมองเป็น "ผู้พลีชีพ" สำหรับขบวนการเคลื่อนไหวนี้ ทำให้กลุ่มนักเรียนพากันประณามรัฐมนตรีผ่านป้ายประท้วงว่า "รัฐมนตรีกระทรวงฆาตกรรม" อีกทั้งยังมีการตั้งแท่นบูชาสำหรับไต้หลินที่มีดอกไม้เคารพศพและโปสเตอร์ที่เขาถือป้ายคำขวัญว่า "การศึกษาไม่ใช่เครื่องมือทางการเมือง"

บทความของสมิทธ์ระบุว่า กลุ่มนักเรียนในไต้หวันพากันรวมกลุ่มจากเขตต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็นการเคลื่อนไหวระดับชาติ มีครั้งหนึ่งที่พวกเขาบุกเข้าไปในอาคารกระทรวงด้วยการโยนผ้าห่มคลุมรั้วลวดหนามที่แผงกั้นหน้ากระทรวงก่อนจะบุกเข้าไป ซึ่งการบุกในครั้งหลังนี้นายกเทศมนตรีประจำไทเปซึ่งไม่อยู่ฝ่ายใดทางการเมืองเป็นผู้สั่งการให้ยับยั้งการบุกรุกของนักเรียนแต่ไม่มีการจับกุมใดๆ

อย่างไรก็ตาม การออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนก็มาทีหลัง จากที่ก่อนหน้านี้ในปี 2557 มีกลุ่มครูอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา นักวิชาการประวัติศาสตร์ไต้หวัน และกลุ่มผู้สนับสนุนการเป็นเอกราชของไต้หวันเคยร่วมกันออกมาต่อต้านการปรับเปลี่ยนเนื้อหาตำราเรียนก่อนหน้านี้แล้ว

ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาตำราเรียน

สมิทธ์ระบุว่าเรืองการปรับเปลี่ยนเนื้อหาหนังสือเรียนเป็นแค่หนึ่งในแผนการของประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่ว ผู้ที่พยายามเชื่อมความสัมพันธ์กับสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือจีนแผ่นดินใหญ่นับตั้งแต่เขาเข้าสู่ตำแหน่งในปี 2551 จากที่ก่อนหน้านี้จีนและไต้หวันมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีมาตลอด 20 ปี ทำให้มีคนมองว่าการปฏิรูปการศึกษาของหม่าอิงจิ่วเป็นท่าทีแบบสนับสนุนการรวมชาติระหว่างจีนกับไต้หวัน อีกทั้งทางการจีนเองก็มีท่าทียินดีกับการที่ไต้หวันต้องการเปลี่ยนแปลงตำราเรียนที่ได้รับอิทธิพลจากช่วงยุคเรียกร้องเอกราช

สมิทธ์ระบุในบทความเกี่ยวกับแง่มุมทางทางประวัติศาสตร์ว่า ก่อนหน้านี้ก็เคยมีข้อโต้แย้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงตำราเรียนในปี 2540 สมัยประธานาธิบดี หลี่เติงฮุย ผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้เปลี่ยนผ่านไต้หวันไปสู่ประชาธิปไตย แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบที่ต่างกัน เนื่องจากสมัยของผู้นำเจียงไคเช็คหนังสือเรียนประวัติศาสตร์เน้นเรื่องความยิ่งใหญ่ในอดีตของจีนแผ่นดินใหญ่โดยกล่าวถึงไต้หวันว่าเป็นแค่ที่ตั้งกองกำลังพรรคชาตินิยมของเจียงไคเช็คผู้ที่ถูกขับไล่โดยพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรอวันกลับไปยึดจีนแผ่นดินใหญ่เท่านั้น

ในปี 2540 หลังจากมีการยกเลิกกฎอัยการศึกรัฐบาลหลี่เติงฮุยได้เสนอตำราเรียนเสริมเล่มใหม่ที่เรียกว่า "ทำความรู้จักกับไต้หวัน" ซึ่งนำเสนอเรื่องประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และสังคม ของไต้หวัน ทำให้มีคนในชั้นเรียนซึ่งเคยปกปิดเชื้อชาติของตนเองมาก่อนเริ่มเปิดเผยตัวมากขึ้น นักวิชาการคนพื้นถิ่นไต้หวันพากันกล่าวชื่นชมว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี แต่ทางฝ่ายผู้สนับสนุนพรรคก๊กมินตั๋งของเจียงไคเช็ค (KMT) มองการเปลี่ยนแปลงนี้ในทางลบ

เรื่องที่อ่อนไหวในตำราดังกล่าวคือการระบุถึงการสังหารหมู่ปัญญาชนไต้หวันโดยทหารพรรคก๊กมินตั๋งในวันที่ 28 ก.พ. 2490 ตามมาด้วยช่วงเวลาที่มีการประกาศกฎอัยการศึกอย่างยาวนานและมีการไล่ล่าผู้ต่อต้านทางการเมืองที่ถูกเรียกขานว่ายุค "ความน่าสะพรึงกลัวสีขาว" (White Terror) นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ไต้หวันมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงที่อยู่ภายใต้อาณานิคมของญี่ปุ่น และเรื่องที่มีการนำเสนอไต้หวันในฐานะที่แยกจากจีนรวมถึงเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม มีทั้งชาวฮั่นและชนพื้นเมืองที่ไม่ใช่ชาวฮั่น เรื่องทั้งหมดนี้ทำให้มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในยุคสมัยที่เพิ่งได้รับเสรีภาพสื่อ

บทความของสมิทธ์ระบุต่อไปว่า การทำให้ไต้หวันมีตัวตนดำเนินต่อมาในสมัยประธานาธิบดี เฉินสุยเปี่ยน จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าหรือดีพีพี (Democratic Progressive Party - DDP) โดยการทำให้ตำราเรียนเสริมกลายเป็นตำราเรียนอย่างเป็นทางการซึ่งสื่อรัฐบาลจีนวิจารณ์ว่าเป็นสัญญาณการพยายามออกห่างจากจีนอย่างชัดเจน นอกจากนี้ในปี 2550 ช่วงปลายทางการดำรงตำแหน่งของเฉินสุยเปี่ยนก็มีการตีพิมพ์ตำราประวัติศาสตร์จีนและประวัติศาสตร์ไต้หวันแยกออกจากกัน ยิ่งทำให้นักวิเคราะห์การเมืองในจีนดิ้นหนักขึ้น

แต่เมื่อมาถึงสมัยของหม่าอิงจิ่ว ผู้สังกัดพรรคก๊กมินตั๋งก็มีท่าทีกลับไปหาจีนแผ่นดินใหญ่อีกซึ่งรวมถึงความต้องการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไต้หวันให้กลับไปเน้นจีนแผ่นดินใหญ่เป็นศูนย์กลางอีกครั้ง นอกจากนี้ยังมีการปรับเนื้อหาด้านลบของพรรคก๊กมินตั๋งในยุคสมัยก่อนให้ดูเบาลง ลบประวัติศาสตร์ช่วงที่ตกเป็นอาณานิคมญี่ปุ่นทิ้ง ในขณะเดียวกันก็เน้นเชื่อมโยงไต้หวันเข้ากับประวัติศาสตร์ในอดีตของจีนในราชวงศ์ต่างๆ ซึ่งเป็นการส่งเสริมแนวคิดให้จีนอ้างสิทธิเหนือดินแดนไต้หวัน

เรื่องนี้ทำให้ประชาชนจากหลายภาคส่วนของไต้หวันออกมาประท้วง จนกระทั่งต่อมาคนก็เริ่มหันไปสนใจกระแสการประท้วงที่เรียกว่า "ขบวนการดอกทานตะวัน" (Sunflower Movement) มากกว่า ซึ่งขบวนการดอกทานตะวัน มีผู้ประท้วงถึงหลายแสนคนชุมนุมประท้วงต่อต้านการลงนามร่วมกันทางการค้าระหว่างจีนและไต้หวัน ส่งผลให้ความคิดเห็นของประชาชนต่อหม่าอิงจิ่วและพรรคก๊กมินตั๋งเปลี่ยนไป พรรคดีพีพีชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น แต่หลังจากนั้นการประท้วงก็ซาลงไปจนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้กลุ่มเด็กวัยเรียนก็พากันออกมาประท้วงในประเด็นที่ค้างคาตั้งแต่ปีที่แล้วอีกครั้ง

'ขบวนการดอกทานตะวัน ฉบับมัธยม'

สมิทธ์ระบุว่าสื่อในไต้หวันเรียกการประท้วงล่าสุดว่าเป็น "ขบวนการดอกทานตะวัน ฉบับมัธยม" ผู้ประท้วงที่เดิมมีจำนวนแค่หลายร้อยคนก็เพิ่มจำนวนขึ้นในวันที่ 2 ส.ค. เมื่อสมาคมครูหลายแห่งเริ่มออกมาเดินขบวนด้วยในขณะที่ผู้ปิดล้อมอาคารกระทรวงเป็นเด็กนักเรียนและพงเมืองอาวุโสส่วนใหญ่มีคนวัยทำงานเข้าร่วมไม่กี่คน คนอาวุโสหลายคนเป็นที่คุ้นหน้าจากขบวนการดอกทานตะวันในปีที่แล้วพวกเขาคือนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน

นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนรายหนึ่งกล่าวว่า ในขบวนการดอกทานตะวันเมื่อปีที่แล้วมีพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมประท้วงเคียงข้างเด็กๆ ด้วยเพราะสัญญาการค้ากับจีนจะส่งผลกระทบต่ออาชีพของทุกคนเนื่องจากจีนจะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของไต้หวัน ทำให้การประท้วงเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไขตำราเรียนของเด็กๆ มีความยากลำบากกว่า

สมิทธ์เล่าถึงตอนที่มีผู้ประท้วงวัยมัธยมรายหนึ่งที่อ่านสื่อแจกเป็นภาษาอังกฤษให้เขาฟัง เด็กคนนั้นอ่านจากสคริปต์ที่เขียนลงบนปกหลังของหนังสือเล่มหนึ่ง คือหนังสือ " วิธีเริ่มการปฏิวัติ" (How to start a Revolution) ของ ยีน ชาร์ป ฉบับภาษาจีนกลาง

นักเรียนที่ร่วมประท้วงเป็นแนวร่วมจากกลุ่มหลายกลุ่ม บางคนเดินทางมาจากเกาะที่อยู่ไกลเมืองหลวงทางตอนใต้ นักเรียนคนหนึ่งให้สัมภาษณ์กับสมิทธ์ว่าที่สื่อในโทรทัศน์ของไต้หวันนำเสนอภาพพ่อแม่ของพวกเขามาลากตัวพวกเขาออกไปจากลานประท้วงเป็นภาพที่นำเสนอเกินจริง ถึงแม้ว่าพ่อแม่ของพวกเขาไม่ต้องการให้พวกเขาอยู่ในที่ชุมนุมแต่ไม่ใช่เพราะด้วยเหตุผลทางการเมือง แต่พ่อแม่ของพวกเขากลัวว่าเจ้าหน้าที่จะยิงกระสุนน้ำใส่พวกเขา

การประท้วงของพวกเขาทำให้หวู่ซือฮั่ว รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการยอมพบกับพวกเขาในวันที่ 3 ส.ค. แต่เป็นการหารือแบบปกปิดไม่ให้สื่อเข้าร่วมในหอสมุดกลางแห่งชาติโดยมีการแพร่ภาพให้เฉพาะกับผู้ชุมนุมที่ลานหน้าอาคารกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น กลุ่มนักเรียนยืนยันให้มีการระงับการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาบทเรียนแต่หวู่ซือฮั่วยืนกรานว่าการสั่งระงับไม่อาจกระทำได้ในทางกฎหมาย ขณะที่สื่อโทรทัศน์เน้นนำเสนอข่าวเด็กนักเรียนร้องไห้ แต่ในสื่ออินเทอร์เน็ตรูปหวู่ทำตาเหลือกซึ่งเป็นรูปเคลื่อนไหวแบบ GIF ก็ถูกแชร์ต่อกันเป็นไวรัล

อย่างไรก็ตามมีจุดที่กระทรวงศึกษาธิการยอมให้กับกลุ่มนักเรียนในบางเรื่อง เช่นการเปิดเผยชื่อของคณะกรรมการพิจารณาปรับเปลี่ยนเนื้อหาเฉพาะคนที่อนุญาตให้เปิดเผยชื่อ อีกทั้งก่อนหน้านี้ในเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการก็ประกาศว่าจะให้ทางเลือกแก่โรงเรียนว่าจะใช้ตำราใหม่หรือตำราเก่า อีกทั้งยังกำหนดไม่ให้มีการใช้เนื้อหาจากตำราฉบับเปลี่ยนแปลงแล้วในการสอบเอ็นทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัย

บทความของสมิทธ์ยังระบุอีกว่า ในเวลานี้ไต้หวันกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองและความสัมพันธ์กับจีน เพราะประธานาธิบดีคนปัจจุบันกำลังจะหมดวาระ และอดีตคนใหญ่คนโตในพรรคก๊กมินตั๋งอย่างเจมส์ ซูง ก็ประกาศลงสมัครเลือกตั้งโดยสังกัดพรรคพีเพิลเฟิร์สซึ่งสนับสนุนการเข้าร่วมกับประเทศจีน ซึ่งสมิทธ์วิเคราะห์ว่าจะเป็นการแย่งคะแนนเสียงจากพรรคก๊กมินตั๋งเองในการเลือกตั้งครั้งหน้าและมีโอกาสทำให้พรรคดีพีพีชนะการเลือกตั้งมากขึ้น

กลุ่มนักเรียนก็ยังคงประกาศว่าพวกเขาจะสู้ต่อไป ถึงแม้ว่าพวกเขาก็ต้องล่าถอยเพื่อความปลอดภัยเมื่อมีกลุ่มสนับสนุนการรวมชาติกับจีนรวมกลุ่มกันออกมาชุมนุมต่อต้านกลุ่มนักเรียนพร้อมกล่าวหาว่าพวกเขา "ลืมรากเหง้า" แต่การต่อสู้ก็ยังไม่จบเพียงแค่เปลี่ยนสถานที่ต่อสู้จากลานชุมนุมไปสู่ห้องเรียนเท่านั้น

 

เรียบเรียงจาก

How Taiwan’s High School Students Are Shaking Up the Country’s Politics, Glenn Smith, FPIF, 20-08-2015
http://fpif.org/how-taiwans-high-school-students-are-shaking-up-the-countrys-politics/

Typhoon to take wind out of protests, Taipei Times, 06-08-2015
http://www.taipeitimes.com/News/front/archives/2015/08/06/2003624719

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/White_Terror_(Taiwan)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท