Skip to main content
sharethis

บ.ก.และผู้อำนวยการฝ่ายข่าวอัลจาซีราอิงลิชประกาศจุดยืนไม่เรียกผู้เดินทางออกจากประเทศที่กำลังมีสงครามและการปราบปรามเพื่อหาที่พักพิงในยุโรปว่าเป็น 'ผู้อพยพ' (migrants) แต่ยืนยันจะเรียกพวกเขาว่าเป็น 'ประชาชน' 'ครอบครัว' หรือ 'ผู้ลี้ภัย' หนึ่งในเหตุผลของเรื่องนี้เพราะต้องการให้เล็งเห็นความทุกข์ยากที่พวกเขาต้องเผชิญ

25 ส.ค. 2558 สำนักข่าวอัลจาซีราเปิดเผยถึงเหตุผลที่พวกเขาไม่เรียกกลุ่มผู้หลบหนีออกจากประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาข้ามทะเลเมอร์ดิเตอร์เรเนียนและคาบสมุทรบอลข่านเข้าสู่ยุโรปในช่วงนี้ว่าเป็น "ผู้อพยพ" (migrants)

ท่ามกลางสถานการณ์ที่สื่อมักจะเรียกว่า "วิกฤตผู้อพยพเมติเตอร์เรเนียน" หรือ "วิกฤตผู้อพยพยุโรป" ซึ่งเกิดขึ้นจากกลุ่มผู้หลบหนีจากภัยสงครามหรือภัยการปราบปรามจากรัฐบาลหรือกลุ่มผู้มีอิทธิพลนับแสนคนจากประเทศอย่างซีเรีย, อัฟกานิสถาน, อิรัก, ลิเบีย, เอริเทรีย, โซมาเลีย พากันเดินทางเข้าสู่ยุโรป จนทำให้เกิดเหตุการณ์น่าเศร้าเช่นมีเรือจมกลางทะเลจนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 1,000 คน

แบร์รี่ มาโลน บ.ก.ออนไลน์ของสำนักข่าวอัลจาซีราอิงลิช เขียนบทความถึงสาเหตุที่สื่อของพวกเขาเลือกที่จะไม่ใช้คำว่า "ผู้อพยพ" ในการอธิบายถึงกลุ่มคนเหล่านี้เช่นที่สื่ออื่นนิยมใช้ ว่าเพราะคำๆ นี้เป็นการลดทอนความซับซ้อนของเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นกับพวกเขาในทะเลเมดิเตอเรเนียน อีกทั้งยังเป็นคำที่ฟังดูลดทอนความเป็นมนุษย์และผลักให้พวกเขาดูอยู่ห่างไกล ทำให้อัลจาซีราเลือกจะใช้คำว่า "ประชาชน" "ครอบครัว" และ "ผู้ลี้ภัย" เรียกผู้คนเหล่านี้แทน

องค์การสหประชาชาติประเมินว่าผู้ลี้ภัยที่ออกจากประเทศเพื่อเดินทางมายุโรปส่วนใหญ่เป็นผู้หนีจากภัยสงคราม ส่วนใหญ่แล้วมาจากซีเรียที่มีประชาชนราว 220,000 ถึง 300,000 คนหรือมากกว่านั้นถูกเสียชีวิตจากสงครามภายในประเทศ

สำนักข่าวอัลจาซีราระบุว่ามีผู้พยายามเดินทางเพื่อลี้ภัยเข้าสู่ยุโรปราว 340,000 คน เทียบกับประเทศตุรกีรองรับผู้ลี้ภัยจากซีเรียประเทศเดียวถึง 1.8 ล้านคน ขณะที่เลบานอนมีผู้ลี้ภัยชาวซีเรียมากกว่า 1 ล้านคน และแม้แต่อิรักที่มีปัญหาสงครามภายในของตัวเองก็ต้องให้ที่พักพิงแก่ประชาชนจากประเทศเพื่อนบ้านมากกว่า 200,000 คน

มาโลนระบุว่าปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาที่ไม่สามารถหาทางออกได้ง่ายๆ แต่วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้พบทางออกได้คือการสนทนากันอย่างเปิดเผยจริงใจ และสื่อก็เป็นผู้ที่วางรูปแบบการสนทนาเหล่านี้

"ด้วยเหตุผลเรื่องความถูกต้องเที่ยงตรง ซาลาห์ เนกม์ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของอัลจาซีร่าอิงลิชตัดสินใจว่าพวกเขาจะไม่ใช้คำว่า 'ผู้อพยพ' ในบริบทนี้ แต่จะใช้คำที่เหมาะสมกว่าอย่าง 'ผู้ลี้ภัย' แทน" มาโลนระบุในบทความ

"คำว่า 'ผู้อพยพ' เป็นการถอดเอาเสียงแห่งความทุกข์ยากของประชาชนออกไป พวกเราจึงเรียก 'ผู้ลี้ภัย' เพื่ออย่างน้อยก็เป็นการพยายามนำเสียงแห่งความทุกข์ยากของพวกเขากลับคืนมาได้สักเล็กน้อย" มาโลนระบุในบทความ

เว็บไซต์ i100 ในเครือดิอินดิเพนเดนต์ระบุว่ามาโลนเป็นคนแรกๆ ที่เผยแพร่ภาพครอบครัวชาวซีเรียที่สามารถลี้ภัยเข้าสู่กรีซสำเร็จเมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งเป็นภาพที่ถ่ายโดยแดเนียล เอตเตอร์ ทำให้ภาพนี้ถูกเผยแพร่ออกไปในวงกว้างจนเป็นกระแสทางอินเทอร์เน็ต

i100 ระบุอีกว่าผลสำรวจจากบริษัทสำรวจอิบซอสมอริ (Ipsos MORI) ระบุว่าชาวอังกฤษมีความเป็นห่วงในเรื่อง "ปัญหาผู้อพยพ" เพิ่มมากขึ้นโดยร้อยละ 32 มองว่าเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ประเทศกำลังเผชิญ

 


เรียบเรียงจาก

Why Al Jazeera will not say Mediterranean 'migrants', Barry Malone, Aljazeera, 20-08-2015
http://www.aljazeera.com/blogs/editors-blog/2015/08/al-jazeera-mediterranean-migrants-150820082226309.html

Why Al Jazeera stopped using the word migrant (and we probably should too), The Independent, 22-08-2015
http://i100.independent.co.uk/article/why-al-jazeera-stopped-using-the-word-migrant-and-we-probably-should-too--b1kj88hRNx


ข้อมูลเพิ่มเติมจาก
https://en.wikipedia.org/wiki/European_migrant_crisis

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net