Skip to main content
sharethis

ชาวบ้านรัฐฉานจากชุมชนในลุ่มแม่น้ำสาละวิน เดินทางมาที่ย่างกุ้ง เพื่อยื่นรายชื่อประชาชน 2 หมื่นราย ต่อบริษัททำ EIA/SIA โดยชาวบ้านยืนยันคัดค้านการสร้างเขื่อนเมืองโต๋นในแม่น้ำสาละวิน เพราะเกรงว่าระดับน้ำจากเขื่อนจะท่วมหลายพื้นที่ในรัฐฉาน รวมทั้งเมืองพันเกาะ 'กุ๋นเหง'

ตัวแทนจากชุมชนต่างๆ ในลุ่มน้ำสาละวิน พื้นที่รัฐฉาน ยื่นรายชื่อประชาชน 2.3 หมื่นราย คัดค้านการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น ต่อบริษัท SMEC ซึ่งเป็นบริษัทที่รับผิดชอบการประชุมหารือสาธารณะ และการจัดทำ EIA/SIA โครงการสร้างเขื่อนดังกล่าว (ที่มา: SHRF)

ชุมชนเมืองเครือ รัฐฉาน คัดค้านการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น (ที่มา: แฟ้มภาพ/SHRF)

ชาวบ้านโหป่าง รัฐฉานตอนเหนือ ลงลายมือชื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น (ที่มา: แฟ้มภาพ/SHRF)

ชาวบ้านที่เมืองล่าเสี้ยว รัฐฉาน ลงชื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนเมืองโต๋น (ที่มา: แฟ้มภาพ/SHRF) 

 

25 ส.ค. 2558 - เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ตัวแทนชุมชนจากเมืองต่างๆ ตลอดลำน้ำสาละวินในรัฐฉานจำนวน 12 คน ที่ได้เดินทางมายังนครย่างกุ้ง พร้อมรายชื่อประชาชนชาวรัฐฉานจำนวน 23,717 ราย เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน โดยเป็นการยื่นต่อผู้บริหารบริษัท Snowy Mountain Engineering Corporation หรือ SMEC ซึ่งเป็นบริษัทจากออสเตรเลียที่รับผิดชอบการจัดประชุมหารือสาธารณะสร้างเขื่อนเมืองโต๋น ในแม่น้ำสาละวิน หรือชื่อเดิมคือเขื่อนท่าซาง โดยบริษัทดังกล่าวเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้

จายหอแสง ชาวบ้านจากรัฐฉาน กล่าวว่าตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท SMEC ได้ลงพื้นที่สํารวจและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) ทีมงานของบริษัท SMEC ได้ตั้งเป้าที่จะเก็บข้อมูลให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การลงพื้นที่เก็บข้อมูลของบริษัท SMEC นั้น ถูกชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่อต้านทุกครั้ง โดยเฉพาะชาวบ้านจากเมืองกุ๋นเหง ซึ่งจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

"เราใช้เครือข่ายชาวไทใหญ่และชาวรัฐฉาน กลุ่มต่างๆ รวบรวมรายชื่อประชาชน และรายชื่อที่ถูกยื่นต่อบริษัท SMEC เป็นรายชื่อของชาวบ้านจากทุกพื้นที่จากรัฐฉาน โดยเฉพาะจากพื้นที่ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจากเขื่อน เช่นเมืองโต๋น เมืองกุ๋นเหงและใกล้เคียง โดยชาวบ้านเห็นว่า หากมีการสร้างเขื่อนจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำป๋างสูงขึ้น ซึ่งแม่น้ำป๋างเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวินและไหลผ่านเมืองกุ๋นเหง หรือเมืองพันเกาะ ระดับน้ำที่สูงขึ้นจะส่งผลให้เกิดน้ำเข้าท่วมในหลายตำบลของเมืองกุ๋นเหง

"ชาวบ้านยังแสดงความไม่พอใจเป็นอย่างมากที่ทางบริษัท SMEC ไม่ตอบสนองเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และละเลยผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยบริษัทบอกชาวบ้านว่า จะได้ใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนดังกล่าว ทั้งที่ในความเป็นจริง ไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนเมืองโต๋นจะถูกขายให้ไทยและจีน" นายจายหอแสง กล่าว

นางคำน้อง ชาวบ้านจากเมืองกุ๋นเหง รัฐฉาน กล่าวว่าแม่น้ำสาละวินเปรียบเสมือนสายเลือดหล่อเลี้ยงประชาชนนับล้านคนในพม่า "แม่น้ำสาละวินเป็นมรดกประวัติศาสตร์สำคัญของคนในรัฐฉาน ดังนั้นรัฐบาลพม่าเนปิดอว์ และบริษัทต่างชาติไม่มีสิทธิเอาไปขาย" นางคำน้องกล่าว

นางคำหมาย ชาวไทใหญ่จากรัฐฉาน กล่าวว่าก่อนหน้านี้บริษัท SMEC ก็ถูกกองทัพสหรัฐว้า (UWSA) ขัดขวางในการลงเก็บข้อมูล โดยผู้แทนกองทัพว้ากล่าวว่า พื้นที่สร้างเขื่อนเมืองโต๋นยังเป็นพื้นที่เสี่ยงจากการสู้รบ และจะเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมากหากมีการสร้างเขื่อน เนื่องจากยังมีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มเคลื่อนไหวอยู่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเจ้าหน้าที่ของบริษัท SMEC ได้ให้ตัวแทนชาวรัฐฉานเข้าไปยื่นเอกสารในสำนักงาน โดยชี้แจงว่าบริษัทมิใช่ผู้ก่อสร้างเขื่อน และที่ผ่านมาก็พยายามทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) อย่างดีที่สุดแล้ว

000

ก่อนหน้านี้จากข้อมูลจากเอกสารประกอบการนำเสนอของบริษัท SMEC ในการจัดประชุมหารือสาธารณะ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ระบุว่าเขื่อนเมืองโต๋นดังกล่าว หากผ่านการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA) จะใช้เวลาประมาณ 14 ปีในการก่อสร้าง จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 7,000 เมกะวัตต์ โดยไฟฟ้า 90% จะถูกส่งให้ไทยและจีน และอีก 10% จะใช้ในประเทศ

โดยผู้ก่อสร้างเขื่อนได้แก่ บริษัทไชน่าทรีจอร์จคอร์เปอเรชั่น, ไชน่าเซาท์เทิร์น พาวเวอร์ กริด แอนด์ พาวอร์ คอนสตรัคชัน ออฟ ไชน่า รวมทั้ง บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล และ เมียนมา อินเตอร์เนชั่นแนลกรุ๊ป ออฟ เอนเทรอเพรอเนอ (IGE)

ทั้งนี้ในเอกสารนำเสนอของ SMEC ระบุว่าจะมีการโยกย้ายประชาชน 12,000 คนหากมีการสร้างเขื่อน โดยจำนวนที่แน่นอนจะระบุอีกครั้งหลังทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม (EIA/SIA)

เมืองกุ๋นเหง หรือกุ๋นฮิง ตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำป๋าง แม่น้ำสาขาของแม่น้ำสาละวิน ซึ่งองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐฉานเกรงว่า ผลจากการก่อสร้างเขื่อนเมืองโต๋น จะทำให้ระดับน้ำท่วมกินพื้นที่ลุ่มแม่น้ำในรัฐฉาน รวมถึงท่วมพื้นที่เมืองกุ๋นเหง ซึ่งได้รับฉายาว่า "เมืองพันเกาะ" นี้ด้วย (ที่มา: Google Maps)

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับจุดสร้างเขื่อนเมืองโต๋น อยู่ที่บ้านท่าศาลา เมืองโต๋น โดยอยู่ห่างจากจุดสร้างเขื่อนท่าซางเดิมประมาณ 10 กม. โดยเขื่อนแห่งใหม่นี้จะกักเก็บน้ำจากแม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำป๋าง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาสายใหญ่ที่ไหลลงสู่แม่น้ำสาละวินและเป็นแหล่งจับปลาสำคัญของรัฐฉาน

และหากเขื่อนดังกล่าวเกิดขึ้นจะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำป๋างเพิ่มสูงขึ้น จนท่วมสองฝั่งของเมืองกุ๋นเหง ชุมชนสำคัญแห่งหนึ่งของรัฐฉานที่อยู่ระหว่างเส้นทาง ตองจี - กุ๋นเหง - เชียงตุง

ขณะที่องค์กรสภาวะ ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในรัฐฉาน แสดงความกังวลว่า ตัวเขื่อนซึ่งสูง 241 เมตรจะทำให้เกิดน้ำท่วมเหนือเขื่อนกินพื้นที่ถึง 640 ตารางกิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านไม่ต่ำกว่า 10,000 คนต้องอพยพเพราะหมู่บ้านจะถูกน้ำท่วม ชุมชนที่สำคัญอย่างเกงคำ เมืองกุ๋นเหง ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะนับพันแห่งกลางแม่น้ำ มีความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศวิทยา จะต้องจมใต้น้ำหากมีการสร้างเขื่อน ซึ่งเรื่องนี้สร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านอย่างยิ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net