ซีรีย์รัฐธรรมนูญ EP.1 ตอน แก้อะไร ให้เราอนุญาตก่อน

อ่านร่างรัฐธรรมนูญ บทสุดท้ายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากรัฐสภาจะแก้อะไร เมื่อผ่านวาระ 3 แทนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต้องส่งร่างฯ ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิฉัยก่อน

หลังจากที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้กับสภาปฎิรูปแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่มาผ่าน ประชาชนชาวไทยเป็นเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยจึงได้เห็นโฉมหน้าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะก่อนหน้านี้กระบวนการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็นการพิจารณาแบบลับ

กระแสวิพากษ์ วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีการบัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ ในสภาวะการณ์ที่ไม่ปกติ หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจุดยื่นแบบพลิกฝ่ามือ ก็แน่ชัดแล้วว่านักการเมืองสองพรรคใหญ่ทั้งเพื่อไทย และประชาธิปัตย์ ไม่เห็นด้วยกับการมีบทบัญญัติดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ได้มีเพียงคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เท่านั้นที่จะมีอำนาจเหนือรัฐบาล และรัฐสภา หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ประกาศใช้ ตัวแสดงสำคัญอีกตัวหนึ่งในรัฐธรรมนูญ ก็คือศาลรัฐธรรมนูญ

เมื่อเปิดร่างรัฐธรรมนูญมาดูที่บทสุดท้าย เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ  มาตรา 270 (7) ได้ระบุให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งนั้นหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจในการควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งนั่นหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจเหนือรัฐสภาในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โดยสามารถมาเข้ามาควบคุมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

คลิกดูภาพขนาดใหญ่

ใครมีสิทธิเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญได้บ้าง

1.คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฏร

2.สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

3.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน

กระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

1.วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ให้มีการเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยใช้คะเสียงในการผ่านวาระ 1 2 ใน 3 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีของทั้งสองสภา

2.วาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ใช้คะแนนเสียงข้างมาก (หากประชาชนเป็นผู้เสนอต้องมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนด้วย) ถ้าผ่านวาระ 2 แล้วให้รอไว้ก่อน 15 วัน จึงจะสามารถพิจารณาวาระ 3 ได้

3.วาระที่ 3 การออกเสียงในวาระ 3 ให้มีการเรียกชื่อ และลงคะแนนโดยเปิดเผย โดยใช้คะเสียงในการผ่านวาระ 2 ใน 3 จากจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีของทั้งสองสภา

ผ่านวาระ 3 แล้ว ก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ส่งศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อน

1.ประธานรัฐสภา ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข้เพิ่มเติม ไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาว่าร่างรัฐธรรมแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ขัดแย้งกับมาตรา 268 หรือไม่ (เปลี่ยนแปลงการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข / แปลงเปลี่ยนรูปแบบรัฐ)

2.หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็น การเปลี่ยนแปลงการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือแปลงเปลี่ยนรูปแบบรัฐ ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมแก้ไข เป็นอันตกไป

3.หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าเป็น การแก้ในหลักการพื้นฐานสำคัญ ให้ประธานรัฐสภาส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไข้เพิ่มเติม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อดำเนินการให้ประชาชนลงมติก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยต้องได้เสียงข้างมากจากประชาชน หากไม่ได้เสียงข้างมากให้ร่างนั้นตกไป  ทั้งนี้หลักการพื้นฐานสำคัญประกอบด้วย  

                - หลักการประกันเพื่อคุ้มครองสิทธิเสีภาพและการมีส่วนร่วมทางการเมือง

                -โครงสร้างของสถาบันทางการเมือง ซึ่งได้แก่ การมีสอสภา องค์ประกอบของแต่ละสภา การตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

                - กลไกเพื่อการรักษาวินัยทางการเงิน การคลัง และงบประมาณ

                - สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์การตรวจสอบอำนาจรัฐ

                - สาระสำคัญของบทบัญญัติในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง

                -หลักเกณฑ์ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามตัวบทสุดท้ายนี้

                ***แต่หากเป็นการเพิ่มสิทธิเสรีภาพ หรือการมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมือง หรือเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการของศาล หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ไม่ถือเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการพื้ฐานสำคัญ

4. หากศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรูปแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือแปลงเปลี่ยนรูปแบบรัฐ และไม่ได้เป็นการแก้ไขในหลักการพื้นฐานสำคัญ ให้นำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

หมายเหตุ: ศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ซึ่งมีที่มาจากการสรรหา ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2556 ศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาและคุณสมบัติของ ส.ว. เป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 และล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 68 ซึ่งในช่วงเวลานั้นได้มีข้อถกเถียงกันในวงแวดวงวิชาการว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในวินิจฉัยหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท