Skip to main content
sharethis


ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคอุษาคเนย์ ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แม้กระทั้งหลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น ก่อให้เกิดกระแสการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยทั่วโลก ประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงฝืนกระแสดังกล่าวได้อย่างมั่นคงยืนยาว ยกตัวอย่าง ในหลายกรณี ประเทศไทย ที่หลังสิ้นสุดสงครามเย็นสิ้นสุดแล้วก็ยังมีการก่อรัฐประหารสำเร็จมากถึง 3 ครั้ง จึงนำมาสู่คำถามที่ว่า ทำไมระบอบประชาธิปไตยจึงไม่สามารถลงหลักปักฐานในภูมิภาคนี้ได้ ?

เวลา 14.00 น. วันที่ 26 สิงหาคม 2558 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดกิจกรรมการบรรยายในหัวข้อ “ประชาธิปไตยกับประชาคมอาเซียน” โดย ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นภายใต้โครงการเตรียมความพร้อมสู่อาเซียนของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558  ณ ห้อง 5204 อาคารเรียนรวม 5 มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

๐๐๐๐

ประจักษ์ ก้องกีรติ เริ่มด้วยการพูดถึง การศึกษาประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่าส่วนใหญ่เน้นที่ด้านสังคม วัฒนธรรม แต่มีการพูดประเด็นด้านการเมืองน้อยมากโดยเฉพาะในประเด็นประชาธิปไตย โดย การศึกษาหรือตำราชิ้นที่ใหม่สุดที่เป็นภาษาไทยในเรื่องนี้ได้เขียนขึ้นเมื่อ  15 ปีที่แล้ว ดังนั้นนักวิชาการจึงต้องพึ่งการศึกษาจากตำราภาษาอังกฤษ เป็นส่วนใหญ่

หากย้อนไป ในช่วง 4 – 5 ทศวรรษที่ผ่านมา นักวิชาการด้านนี้ได้แต่หมกมุ่นต่อการตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ซึ่งอิงกับฐานกรอบทฤษฎีภาวะทันสมัย (Modernization Theory)ยกตัวอย่างผลงานที่สำคัญ เช่น งานเขียนของ Samuel Huntington(3) การทำลายกำแพงเบอร์ลิน (ค.ศ. 1989) ล่มสลายของสหภาพโซเวียต (ค.ศ.1991) ตอกย้ำความเชื่อนี้

อย่างไรก็ตาม สองทศวรรษผ่านไป และมีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประชาธิปไตยมันเติบโต  

ประจักษ์ กล่าวว่า ยังมีหลายประเทศในโลกนี้ที่ยังไม่เปลี่ยนเป็นประชาธิปไตยและบางประเทศยืนยันจะเป็นเผด็จการเหมือนเดิม จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามในหมู่นักวิชาการใหม่ โดย โดยคำถามได้เปลี่ยนจากที่มุ่งศึกษาว่า ‘การเปลี่ยนแปลง’ สู่ประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ มาเป็นการศึกษาความ ‘ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ เป็นประชาธิปไตยของประเทศต่างๆ ว่า ‘ความยั่นยืน ความคงทนของระบอบเผด็จการ’ (authoritarian durability) ซึ่งการให้ความสำคัญกับการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศต่างๆนี้

ได้นำไปสู่คำถามงานวิจัย เปลี่ยนวิธีวิจัยและเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยใหม่

เดิมนักวิชาการมักตั้งคำถามว่า “เหตุใดหลายประเทศจึงไม่ยอมเปลี่ยนแปลงเป็นประเทศประชาธิปไตย เช่น หลายประเทศในตะวันออกกลางและในเอเชีย” การศึกษา รัฐต่างๆเหล่านี้ มา 4 - 5 ทศวรรษก็ยังไม่ได้คำตอบ เนื่องจาก นักวิชาการตั้งคำถามผิดมาตลอด ซึ่งคำถามที่ถูกต้องในการที่จะเข้าใจพลวัตทางการเมืองของประเทศเหล่านี้ คือถามว่า “ทำไมประเทศเหล่าที่มีระบอบการปกครองที่เรียกว่าเผด็จการ ทั้งเผด็จการทหาร,เผด็จการอำนาจนิยม,เผด็จการพรรคการเมือง,และเผด็จการตัวบุคคล ฯลฯ ทำไมรัฐเหล่านี้สามารถฝืนกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกได้ อาจเป็นเพราะโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้มันเอื้อให้รูปแบบการปกครองแบบนี้อยู่  หรือวัฒนธรรมบางอย่างมันเอื้อให้เผด็จการยังอยู่หรือสนับสนุนระบอบเผด็จการ ?” ประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้คือคำถามใหญ่เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาเกี่ยวกับประชาธิปไตยในปัจจุบันควรให้ความสำคัญ

ประจักษ์ชี้ว่าเมื่อดูการเมืองในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วจะเห็นปรากฏการณ์นี้อย่างชัดเจน มีนักวิชาการที่ศึกษาในประเด็นเกี่ยวกับประชาธิปไตยและเผด็จการมาก่อน พบว่า ประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคอุษาคเนย์นั้น ไม่ได้เป็นประชาธิปไตย แม้การสิ้นสุดของสงครามเย็น ที่มีการไหลบ่าเข้ามาของประแสประชาธิปไตยและโลกาภิวัตน์ ประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงฝืนกระแสดังกล่าวได้อย่างมั่นคง

ประจักษ์ได้อ้างงานของDonald Emmerson(4)นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ว่า เป็นภูมิภาคที่มี‘ความดื้อด้าน’ (recalcitrance) ต่อกระแสประชาธิปไตยมากแม้โลกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตามภูมิภาคก็จะฝืนกระแสนี้ยังมีความเป็นระบอบอำนาจนิยมสูงและมีโอกาสพัฒนาเป็นประชาธิปไตยได้ยากมาก ความดื้อด้านของภูมิภาคนี้เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ ประการแรก การขาดอุดมการณ์ประชาธิปไตยของประเทศในภูมิภาคนี้ แม้แต่ประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทยที่ถูกเรียกว่าเป็นประเทศเสรีนิยมประชาธิปไตยก็มีข้อบกพร่องและมีปัญหามากมาย

สาเหตุอีกประการหนึ่งมาจากความหลากหลายทางการเมืองของภูมิภาคที่มีอยู่สูงมากกล่าวคือ ในภูมิภาคอุษาคเนย์มีระบอบการปกครองเกือบทุกระบอบทุกรูปแบบก็ว่าได้ความแตกต่าง หลากหลายทางการเมืองของแต่ละประเทศที่เป็นประเทศสมาชิกอาเซียน และการที่แต่ละประเทศไม่อยากเข้าไปยุ่งกับการเมืองภายในของประเทศอื่นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ทำให้การสร้างบรรทัดฐานทางการเมืองเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

นอกจากนั้น ผู้นำประเทศในภูมิภาคนี้ก็ยังพยายามสร้างแนวคิดที่ใช้โต้แย้งกับแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย ยกตัวอย่างเช่น วาทกรรมประชาธิปไตยแบบเอเชียหรือที่รู้จักกันในนาม ‘วีถีเอเชีย’ที่สร้างขึ้นมาเพื่อปฏิเสธประชาธิปไตยแบบตะวันตกตัวผู้นำประเทศที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างวาทกรรมนี้ขึ้นมา เช่น ผู้นำของของสิงคโปร์และมาเลเซีย แม้แต่ประเทศไทยช่วงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ยังเกิดวาทกรรมประชาธิปไตยแบบไทยขึ้น วาทกรรมเหล่านี้ได้ท้าทายประชาธิปไตยแบบตะวันตกอย่างมาก

เมื่อสำรวจภูมิทัศน์ทางการเมืองจากในช่วงที่ Emmerson เขียนงานชิ้นนี้ในปี ค.ศ. 1995 จนถึงปัจจุบันแล้วจะเห็นว่าประเทศส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย เวียดนามและลาวก็ยังคงเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ปกครองด้วยพรรคเดียว พม่ายังอยู่ภายใต้กองทัพ บรูไนก็ยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กัมพูชาก็ยังคงเป็นระบอบประชาธิปไตยแค่เพียงเปลือกนอก มาเลเซียและสิงคโปร์ยังถูกครอบงำโดยพรรคการเมืองใหญ่เพียงพรรคเดียว การเมืองฟิลิปปินส์ยังคงถูกควบคุมด้วยกลุ่มการเมืองไม่กี่กลุ่ม ส่วนที่แย่ลงคือ ประเทศไทยที่พัฒนาจากประเทศประชาธิปไตยคุณภาพต่ำ (low-quality democracy)กลายเป็นประเทศเผด็จการทหารแต่ที่ดีขึ้นกลับกลายเป็นประเทศอินโดนีเซียที่อดีตเคยอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการมากว่า 30 ปี แต่บัดนี้ประชาธิปไตยเริ่มจะลงหลักปักฐานมั่นคงมากขึ้น

ประจักษ์ยังกล่าวถึงปัจจัยอื่นๆที่อาจเป็นปัญหาสำหรับการสร้างประชาธิปไตยในอุษาคเนย์ในเชิงประวัติศาสตร์หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตกเป็นอาณานิคมของเจ้าอาณานิคมตะวันตก และหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อเจ้าอาณานิคมล่มสลายได้เกิดกระแสเรียกร้องเอกราช และเมื่อได้รับอิสรภาพประเทศเหล่านี้ก็ถูกกลืนด้วยกระแสเผด็จการซึ่งอาจมีช่วงสั้นๆเท่านั้นที่มีประชาธิปไตยแต่ก็ไม่ยั่งยืนเช่น ในช่วงที่มีขบวนการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนในแต่ละประเทศ

ประจักษ์ยังได้ยกตัวอย่าง“อินโดนีเซียโมเดล”ที่ถือว่าเป็นต้นแบบของประเทศที่มีประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียอุษาคเนย์ในยุคปัจจุบันคือวิธีการประนีประนอมของชนชั้นนำ ซึ่งการประนีประนอมนี้ ชนชั้นนำของอินโดนีเซียทุกฝ่าย ผู้นำกองทัพ ได้พูดถึงการรักษาประชาธิปไตยที่เป็นรูปแบบเอาไว้ ซึ่งให้ประโยชน์กับทุกฝ่ายมากกว่าจะกลับไปสู่ระบอบเผด็จการเหมือนอย่างในอดีต พูดง่ายๆ คือการตกลงแบ่งผลประโยชน์ทางอำนาจกันระหว่างชนชั้นนำทุกฝ่าย ไม่มีใครได้หมด เสียหมดในระบอบแบบนี้ซึ่งก็ได้นำมาสู่คำถามว่า แล้วทำไมชนชั้นนำไทยไม่สามารถประนีประนอมกันได้เหตุใดขึงเป็นเช่นนั้น เราจะมีแต่การเมืองที่แตกหัก สู้กันให้มีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์หมด ส่วนอีกฝ่ายเสียหมดทุกอย่างหรือไม่ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงประเทศไทยก็ไม่มีทางที่จะนำไปสู่ประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพหรือยั่งยืนได้

ประจักษ์ ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่าการที่ชนชั้นนำของแต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังสามารถยึดกุมอำนาจอยู่ได้ส่งผลทำให้การเคลื่อนไหวทางการเมืองในภูมิภาคนี้เป็นไปอย่างจำกัด แม้จะมีการเดินขบวนเรียกร้องประชาธิปไตยในแต่ละประเทศ แต่อุษาคเนย์ก็ไม่เคยมีประสบการณ์คล้าย‘อาหรับสปริง’ (Arab Spring) ที่การเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศหนึ่งลุกลามไปยังประเทศอื่นในภูมิภาค

นอกจากนั้น ประจักษ์ชี้ไปที่บทบาทของชนชั้นกลางต่อการพัฒนาประชาธิปไตยว่า แท้จริงแล้วชนชั้นกลางที่เชื่อกันว่าเป็นกำลังสำคัญหรือหัวหอกในการต่อสู้หรือสร้างประชาธิปไตยในหลายๆประเทศนั้นไม่สามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ชนชั้นกลางกับการพัฒนาประชาธิปไตยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ เนื่องจากบางครั้งชนชั้นกลางกลับมีบทบาทในการออกมาประท้วงโค่นล้มประชาธิปไตย ล้มการเลือกตั้งและสนับสนุนอำนาจเผด็จการ อย่างเช่นใน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย เป็นต้น

นี่คือความขัดแย้งทางชนชั้น ที่ชนชั้นกลางถูกบีบอัดทั้งจากชนชั้นสูงและหวาดกลัวการขึ้นมามีอำนาจของชนชั้นล่าง ขบวนการชาวนา กรรมกร ที่จะทำให้ตนเองเสียประโยชน์ประเด็นต่อมาคือการที่ชนชั้นกลางถูกแบ่งแยกทางศาสนาและชาติพันธุ์ จึงทำให้ชนชั้นกลางไม่มีความเป็นหนึ่งเดียวกัน นำมาสู่ความอ่อนแอในหมู่ชนชั้นกลาง โดยเฉพาะบางประเทศในอาเซียนและการที่ชนชั้นกลางพยายามแยกตัวออกจากขบวนการชาวนาและแรงงาน คนชนชั้นล่างจึงทำให้ชนชั้นกลางไม่มีความเข้มแข็งหรือได้แรงสนับสนุนจากชนชั้นล่างเหล่านี้ ซึ่งเป็นปัญหาในแง่ของการจัดตั้งองค์กรทางการเมือง

นอกจากคำถามเกี่ยวกับชนชั้นกลางแล้ว ประจักษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้นำมาสู่ความเป็นประชาธิปไตย หลายประเทศในภูมิภาคนี้ได้มีอัตราการเจริญทางเศรษฐกิจสูงอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการพัฒนาทางด้านประชาธิปไตยเลย ยกตัวอย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ที่ถูก Larry Diamond เรียกว่า “ประเทศเผด็จการที่ร่ำรวยที่สุดในโลก”(5)

ประจักษ์ สรุปในตอนท้ายว่าการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคนี้คงเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก การรวมกลุ่มกันของประเทศในภูมิภาคนี้อยู่บนฐานของการไม่แทรกแซงการเมืองไม่พยายามที่จะสร้างค่านิยมและอุดมการณ์ที่สามารถยึดถือร่วมกันเหมือนเช่นในยุโรป การรวมตัวกันเช่นนี้จะไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคหากจะเกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในภูมิภาคบ้าง เช่น ในกรณีพม่า มันเกิดจากแรงกดดันจากภายนอกมากกว่าอิทธิพลของอาเซียนเอง

 
 

เชิงอรรถ 

1. เชิงอรรถในบทความชิ้นนี้ถูกเพิ่มโดยผู้เขียนเอง

2.  คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

3. Samuel Huntington อธิบายใน The Third Wave: Democratization in the Late Twentieth Century (1991) กระบวนการโลกาภิวัตน์ได้ก่อให้เกิด ‘คลื่น’ (wave) ประชาธิปไตยกระจายไปยังประเทศต่างๆ ในประวัติศาสตร์ Huntington อธิบายว่าได้มีคลื่นดังกล่าวมาแล้วสองครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 และคลื่นลูกที่สองเกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนในคลื่นที่สาม (third wave) นี้ได้เกิดในช่วงทศวรรษที่ 1970 – 1990 ซึ่งส่งผลทำให้ประเทศจำนวนมากกลายเป็นประชาธิปไตย โดย Huntington ชี้ว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศต่างๆเหล่านี้ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในประเทศ บวกกับกระแสกดดันจากต่างประเทศ (ดู Huntington, Samuel. 1991. The Third Wave: Democratization in the Late Twentieth Century. USA: University of Oklahoma Press.– ผู้เขียน)

4. Donald Emmerson. 1995. Region and Recalcitrance: Rethinking Democracy through Southeast Asia.The Pacific Review. Volume 8, Issue 2.

5. ดู Diamond, Larry. 2003. Universal Democracy? Policy Review. June – July, p.14 (ผู้เขียน).

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net