Skip to main content
sharethis
นักเรียนมัธยมในญี่ปุ่นจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนนักเรียนที่ทำงานพาร์ทไทม์ในการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทแรงงานกับนายจ้าง ซึ่งในญี่ปุ่นมีปัญหาที่เรียกว่า "งานสีดำ" หรือ "black arbeit" ที่เป็นลักษณะการจ้างงานอย่างกดขี่และไม่เป็นธรรม
 
29 ส.ค. 2558 กลุ่มนักเรียนจากโรงเรียน 5 แห่งในกรุงโตเกียวและจังหวัดชิบะจัดตั้งสหภาพแรงงานชื่อ 'ชูโทะเคน โคโคเซย์ ยูเนียน' (首都圏高校生ユーニオン) เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ผ่านมา เพื่อเน้นการต่อสู้กับการจ้างงานพาร์ทไทม์นักเรียนอย่างไม่เป็นธรรม เช่นการบังคับให้ทำงานนานหลายชั่วโมงหรือจ้างให้ทำงานหนักมากจนส่งผลต่อชีวิตการเรียนของพวกเขา
 
สหภาพที่จัดตั้งโดยนักเรียนกลุ่มนี้จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านปัญหาการทำงานและดำเนินกิจกรรมการรณรงค์บนท้องถนนที่เป็นการช่วยเหลือนักเรียนลูกจ้างพาร์ทไทม์ที่ประสบปัญหาในการทำงาน โดยผู้เข้าร่วมสหภาพจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมเป็นสมาชิกเดือนละ 500 เยน (ประมาณ 150 บาท)
 
ยูนะ ฮะตะโนะ ผู้จัดตั้งสหภาพชูโทะเคน โคโคเซย์ ยูเนียน กล่าวว่า ตอนที่เธอทำงานในร้านสะดวกซื้อ เธอเคยแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการรวมกลุ่มกันต่อรองจนทำให้เธอเกือบจะแก้ไขปัญหาสำเร็จ ทำให้เธออยากจัดตั้งสหภาพเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นบ้าง สหภาพพาร์ทไทม์ยังได้รับการสนับสนุนจากสหภาพ 'ชูโทะเคน เซย์เนน ยูเนียน' (首都圏青年ユニオン) ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานคนหนุ่มสาวโดยรวมอีกด้วย
 
อนึ่ง ในญี่ปุ่นมีคำที่เรียกว่า "งานสีดำ" หรือ "black arbeit" ที่ใช้เรียกลักษณะการจ้างงานแบบกดขี่ไม่เป็นธรรม เช่นการบังคับให้นักเรียนทำงานแม้กระทั่งในช่วงสอบหรือการบังคับให้ซื้อสินค้าด้วยเงินตัวเองหากทำยอดขายไม่ได้ตามเป้า ซึ่งกระทรวงแรงงานของญี่ปุ่นก็กำลังรณรงค์เพื่อให้นักเรียนรับรู้ถึงกฎหมายขั้นพื้นฐานของการจ้างงานแบบพาร์ทไทม์เพื่อลดจำนวนนักเรียนที่ต้องประสบความทุกข์ยากจาก "งานสีดำ" เหล่านี้
 
เรียบเรียงจาก
 
High school students form labor union for protection in part-time jobs, Asahi, 28-08-2015
 
เนื้อความฉบับภาษาญี่ปุ่น
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net