ม.เที่ยงคืน แถลง 'รัฐธรรมนูญต้องอยู่ในกำมือของประชาชน'

2 ก.ย. 2558 มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์ เรื่อง รัฐธรรมนูญต้องอยู่ในกำมือของประชาชน เรียกร้องให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องร่วมกันผลักดันให้รัฐธรรมนูญกลับมาอยู่ในกำมือของประชาชน และเพื่อร่วมกันแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมกันว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาและความยุ่งยากในสังคมไทยนั้นจะสามารถผ่านพ้นไปได้ก็ด้วยการยอมรับอำนาจและสิทธิของประชาชนอย่างเท่าเทียมในการร่วมกันกำหนดชะตากรรมของสังคมไทย มิใช่ปล่อยให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่มซึ่งไม่เห็นความสำคัญของความเสมอภาค เสรีภาพ และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นผู้กำหนดทิศทางของสังคมไทยตามอำเภอใจ

       

แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เรื่อง รัฐธรรมนูญต้องอยู่ในกำมือของประชาชน

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาปฏิรูปแห่งชาติในวันที่ 6 กันยายนนี้ มีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยอย่างยิ่ง นับเป็นความพยายามในการสถาปนาระบอบการเมืองที่ปฏิเสธอำนาจทางการเมืองของประชาชนอย่างน่าเศร้าใจ

ในเชิงโครงสร้างของสถาบันการเมือง จะพบว่าได้มีการลดทอนอำนาจของสถาบันการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งให้ตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชนแต่อย่างใด รวมทั้งการสถาปนาอำนาจเหนือรัฐธรรมนูญขององค์กรเหล่านั้น ซึ่งปรากฏให้เห็นทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ เช่น การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดอง การกำหนดให้วุฒิสมาชิกที่มาจากการสรรหามีจำนวนมากกว่าการเลือกตั้ง การกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการอนุมัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนสภาพที่สถาบันการเมืองต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้น ทั้งนี้ รวมถึงการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังจะเกิดขึ้นก็เป็นเพียงความเห็นของคนกลุ่มเล็กๆ ที่มิใช่ตัวแทนอันชอบธรรมของประชาชนเช่นเดียวกัน

หากพิจารณาว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎกติกาสำหรับการดำรงอยู่ร่วมกันของสมาชิกทั้งหมดในสังคม มิใช่เป็นเพียงกติกาในหมู่คณะรัฐประหาร กลุ่มผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือบรรดาผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้อยู่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติเท่านั้น และเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญก็จะมีผลบังคับเป็นกฎเกณฑ์ทั่วไปสำหรับทุกคน ดังนั้น จึงย่อมเป็นสิทธิและความชอบธรรมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ของประชาชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญในทุกขั้นตอน

ด้วยหลักการดังกล่าวข้างต้นนี้ การรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงควรเป็นอำนาจและดุลพินิจของประชาชนอย่างแท้จริงในการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวหรือไม่

อนึ่ง ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองไทยที่ประชาชนทุกกลุ่มต้องการมีอำนาจต่อรองและมีส่วนร่วมทางการเมืองตลอดจนมีอำนาจในการจัดการและเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นต่อการปรับตัวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่มอบอำนาจระดับสูงแก่คนจำนวนน้อยเช่นนี้ย่อมเป็นการกีดกันคนส่วนใหญ่ออกไปจากพื้นที่ทางการเมือง ซึ่งย่อมจะนำไปสู่ความตึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองอย่างรุนแรงในอนาคตอันใกล้

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนขอเรียกร้องให้ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องร่วมกันผลักดันให้รัฐธรรมนูญกลับมาอยู่ในกำมือของประชาชน และเพื่อร่วมกันแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง ก่อนที่จะตัดสินใจร่วมกันว่าจะยอมรับหรือไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ด้วยความเชื่อมั่นว่าการแก้ไขปัญหาและความยุ่งยากในสังคมไทยนั้นจะสามารถผ่านพ้นไปได้ก็ด้วยการยอมรับอำนาจและสิทธิของประชาชนอย่างเท่าเทียมในการร่วมกันกำหนดชะตากรรมของสังคมไทย มิใช่ปล่อยให้กลุ่มบุคคลบางกลุ่มซึ่งไม่เห็นความสำคัญของความเสมอภาค เสรีภาพ และการดำรงอยู่ร่วมกันอย่างสันติ เป็นผู้กำหนดทิศทางของสังคมไทยตามอำเภอใจ
      
มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน   
2 กันยายน 2558

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท