Skip to main content
sharethis
นิคมแหลมฉบังยอมรับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์บางรายเริ่มปรับลดคนงานในบางไลน์ผลิต-ลดโอที
 
นายปรีชา จรเณร ผู้อำนวยการนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมในชลบุรีขณะนี้ยังดำเนินไปตามปกติ ไม่มีกระแสข่าวการปิดโรงงาน ทั้งที่ตั้งอยู่ในเขตนิคม และใกล้เคียง จะมีเพียงการลดเวลาโอทีตามทิศทางเศรษฐกิจ และคำสั่งซื้อรถยนต์ทั้งใน และต่างประเทศที่ลดน้อยลง
       
โดยในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง พบว่า ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ไม่พบการปิดตัวของโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีเพียงการปรับตัวทางธุรกิจตามข้อมูลพื้นฐาน และการปรับกระบวนการผลิตเพื่อสร้างผลตอบแทนในช่วงภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
       
“จากการที่ได้สัมผัสกับผู้ประกอบการในหลายภาคส่วน รวมทั้งชิ้นส่วนรถยนต์ และยานยนต์ พบว่า ครึ่งหลังของปี 2558 การประกอบธุรกิจน่าจะมีการปรับตัวค่อนข้างสูง โดยหลายโรงงานคาดว่าน่าจะมีการปรับลดจำนวนพนักงานในบางไลน์ผลิตที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะพนักงานไม่ประจำ ซึ่งก็เป็นไปตามปกติของการจ้างงานในพื้นที่ รวมทั้งชิ้นส่วนยานยนต์ ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งเมื่อมีการเร่งกำลังการผลิตก็ต้องเพิ่มจำนวนคน แต่เมื่อถึงช่วงลดการผลิตก็ต้องลดจำนวนคน”
       
ขณะที่ค่าจ้างแรงงานภาคอุตสาหกรรมในนิคมยังคงเกินค่าแรงขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด จึงไม่น่าเป็นห่วง แม้ขณะนี้พนักงานในบางโรงงานอาจมีจำนวนโอทีลดลงก็ตาม ส่วนเรื่องการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ก็เข้าไปอธิบายให้พนักงานเข้าใจ ซึ่งคาดว่าในปีนี้ไม่น่าจะมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมแต่อย่างใด
       
นายชนินทร์ ขาวจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 4 (บีโอไอแหลมฉบัง) ที่ได้ให้ข้อมูลการลงทุนในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา (1 มกราคม-31กรกฎาคม) ของภาคตะวันออกว่า มีโครงการได้รับอนุมัติการส่งเสริม 547 โครงการ มูลค่าการลงทุน 204,905 ล้านบาท จ้างงาน 44,804 คน โดยจังหวัดที่มีโครงการได้รับอนุมัติมากเป็นอันดับ 1 คือ ระยอง รองลงมา คือ ชลบุรี
       
“ช่วงไตรมาส 2 เรามีโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในระดับที่ดีพอสมควร แม้จะลดลงจากไตรมาสแรกในแง่ของจำนวนโครงการ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการลงทุนจะตกลง แต่เป็นเพียงตัวเลขที่ตกค้างจากปีที่แล้วเท่านั้น ส่วนแนวโน้มการปิดตัวของโรงงาน และการเลิกจ้างก็คงมีบ้าง แต่ในความเป็นจริง คือ ประเทศไทยยังมีปัญหาแรงงานที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น เมื่อมีการปิดโรงงานที่โคราช เราจึงได้เห็นว่ามีโรงงานอื่นมาตั้งโต๊ะรับสมัครแทน และเราก็ไม่ควรมองประเทศไทยในแง่ลบ เพราะความจริงของภาคอุตสาหกรรมก็เป็นเช่นนี้”
       
หากย้อนไปเมื่อสมัย 10-20 ปีก่อน ประเทศไทยมีโรงงานผลิตรองเท้าทุกยี่ห้อ มีโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปมากมาย แต่ในวันนี้แทบไม่มีให้เห็นก็เพราะโรงงานเหล่านั้นใช้แรงงานจำนวนมาก และต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่แรงงาน ดังนั้น เมื่อค่าแรงแพง ผู้ผลิตก็ต้องหาพื้นที่การลงทุนที่มีต้นทุนถูกกว่าแทน
       
อย่างไรก็ดี ทีมข่าวได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการในพื้นที่ก็ได้รับข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า การปิดโรงงาน และการปรับลดคนงานขนาดใหญ่ในจังหวัดชลบุรี ระยอง รวมทั้งฉะเชิงเทรา จะยังไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะความแข็งแกร่งจากปัจจัยหนุนต่างๆ ทั้งสภาพถนน ท่าเรือ อยู่ไม่ไกลสนามบิน ยังทำให้นักลงทุนต่างชาติเห็นความสำคัญ และความสะดวกในการขนส่ง และการเดินทาง ขณะที่แรงงานฝีมือในพื้นที่ที่ยังขาดแคลน ทำให้เมื่อมีการย้ายออกจากโรงงานหนึ่งก็จะถูกว่าจ้างจากอีกโรงงานหนึ่งในทันที 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27/8/2558)
 
หนุนแม่วัยทำงานเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
 
"ภาคีร่วมใจ ช่วยแม่ไทย ให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หรือBreastfeeding and Work-Lets make it work"  เป็นคำขวัญที่ถูกนำมาใช้ในสัปดาห์นมแม่โลก ปี 2515 ที่อยู่ระหว่าง วันที่ 1-7 สิงหาคมของทุกปี ซึ่งปีนี้  ในประเทศไทยได้รับความร่วมมือจาก กรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุข กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน มูลนิธินมแม่แห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เรียกร้องให้ให้ทุกฝ่ายสนับสนุนให้ผู้หญิงวัยทำงาน ทั้งในระบบและนอกระบบสามารถทำงานไปควบคู่กับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ พร้อมทั้งส่งเสริมให้สถานประกอบการจัดพื้นที่สำหรับบีบเก็บน้ำนมแม่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อเด็ก แม่ และสถานประกอบการเอง
 
พญ.ยุพยง แห่งเชาวนิชเลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย อธิบายถึงการเจริญเติบโตของเด็กว่า เด็กคนหนึ่งจะเจริญเติบโตได้ดี นอกจากพันธุกรรมที่มีติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด 50%แล้ว อีก 50% เป็นสิ่งที่สามารถสร้างขึ้นได้เอง ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนได้แก่ 1.โภชนาการ 2.การเลี้ยงดู และ 3.สภาพแวดล้อม ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ หมายถึงการให้นมแม่ควบคู่กับการเลี้ยงดูที่เหมาะสม และก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกที่จะช่วยการกระตุ้นพัฒนาการลูกน้อยให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
 
เลขาธิการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย แนะนำด้วยว่าควรให้ลูกดื่มนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน พร้อมกับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่กับอาหารตามวัย ต่อเนื่องไปจนถึง 2 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะนมแม่เป็นอาหารที่ดีและเหมาะสม สำหรับเด็กมากที่สุด อีกทั้งยังส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งของแม่และเด็ก เพราะเด็กที่กินนมแม่จะได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตทางร่างกาย ช่วยสร้างพัฒนาการของสมองและเสริมภูมิคุ้มกันโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคติดเชื้อต่างๆ โรคภูมิแพ้รวมถึงช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยของทั้งแม่และลูกจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable disease : NCDs) เช่นโรคอ้วน โรคเบาหวาน ไขมันในเลือดผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูงและโรคมะเร็ง เป็นต้น
 
"การมีมุมนมแม่ไว้ให้บริการในสถานประกอบการจะทำให้แม่มีความสะดวกสบายมากขึ้นในการใช้สถานที่บีบน้ำนมให้ลูก เพื่อให้ลูกได้ดื่มนมแม่อย่างต่อเนื่อง เพราะถึงแม้แม่จะอยู่ที่ทำงานแต่ก็ยังสามารถบีบเก็บน้ำนมไว้ให้ลูกดื่มที่บ้านได้ ซึ่งน้ำนมจะถูกสร้างในทุกๆ 3 ชั่วโมงถ้าไม่บีบน้ำนมอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้น้ำนมของแม่แห้งได้ ซึ่งเมื่อแม่สามารถให้นมลูกน้อยได้อย่างเต็มที่ เด็กก็จะได้รับภูมิคุ้มกันจากโรคภัยต่างๆ ลดอัตราการเจ็บป่วย ทำให้แม่ไม่ต้องหยุดงานดูแลลูกขณะเจ็บป่วยสถานประกอบการเองก็จะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้ด้วย" พญ.ยุพยงแนะนำเพิ่มเติม
 
ด้าน ดร.วิภาวี ศรีเพียร ผอ.กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานให้ข้อมูลว่าสถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีความสอดคล้องกับสิทธิหญิงตั้งครรภ์ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 บางส่วนดังนี้  ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นหญิงตั้งครรภ์มีสิทธิลาเพื่อคลอดบุตร ครรภ์หนึ่งไม่เกิน90วัน และให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างเต็มเป็นเวลา 45 วัน ส่วนค่าจ้างอีก 45 วันที่เหลือนั้น หญิงตั้งครรภ์สามารถไปขอประโยชน์ทดแทนจากกองทุนประกันสังคม ในกรณีที่ลูกจ้างหญิงตั้งครรภ์ นายจ้างหรือสถานประกอบการไม่สามารถเลิกจ้างระหว่างตั้งครรภ์ได้ นอกจากนั้นหญิงตั้งครรภ์ยังสามารถเปลี่ยนตำแหน่งงานได้หากเห็นว่าหน้าที่รับผิดชอบส่งผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของแม่และเด็กเอง
 
"กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ส่งเสริมให้แม่วัยทำงานได้ตระหนักถึงประโยชน์และความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ พร้อมทั้งสนับสนุนให้แม่ใช้สิทธิการลาคลอดของตนเองให้เต็มที่ เพื่อจะได้มีเวลาให้ดูแลลูกอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังส่งเสริมให้มีการจัดมุมนมแม่ในสถานประกอบการ ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2549 ปัจจุบันมีสถานประกอบการให้ความร่วมมือ กว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ และใน พ.ศ.2558 นี้ ได้พยายามกระตุ้นให้มีการจัดตั้งมุมนมแม่กว่า 100 แห่ง ในสถานประกอบการ พร้อมทั้งให้ความรู้แก่นายจ้างถึงประโยชน์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อีกด้วย" ดร.วิภาวี กล่าวทิ้งท้าย
 
(บ้านเมือง, 27/8/2558)
 
กยศ.ประสาน ศธ.หักเงินเดือนคนค้างหนี้
 
(27 ส.ค.) ดร.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ กยศ.มีโครงการรณรงค์ชำระหนี้เงินกู้ กยศ.นั้น ที่ผ่านมา กยศ.ได้พยายามติดตามทวงหนี้ผู้ค้างชำระมาโดยตลอด และขอความร่วมมือจากองค์กรนายจ้างเพื่อส่งเสริมวินัยทางการเงินของผู้กู้ยืมเงิน เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และแสดงถึงการเป็นองค์กรนายจ้างที่ดีที่เห็นถึงความสำคัญของเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งที่ผ่านมา กยศ.ได้ทำข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนเรศวร บริษัท บาธรูมดีไซน์ จำกัด ในการหักเงินเดือนข้าราชการ พนักงานที่เป็นหนี้ค้างชำระกองทุน กยศ.แล้ว และเมื่อเร็ว ๆ นี้ตนได้หารือร่วมกับ รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขอความร่วมมือในการหักเงินเดือนบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)ที่ค้างชำระเงินกู้ กยศ. และ เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.)ด้วยเช่นกัน ซึ่งรศ.นพ.กำจรได้เห็นด้วยในหลักการแล้ว “นอกจากนี้ กยศ.ยังมีแผนจะขยายความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการหักเงินเดือนผู้ที่ค้างชำระเงินกู้ กยศ.เพิ่มขึ้นด้วย โดยกำลังประสานไปยังหน่วยงาน องค์กรนายจ้างต่าง ๆ อยู่ และหากหน่วยงานใดสนใจเข้าร่วมเป็นเครือข่ายส่งเสริมความรับผิดชอบทางการเงินและความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อลดการค้างชำระหนี้กองทุน กยศ.สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ฝ่ายเครือข่ายสัมพันธ์ กยศ.โทร.0-2610-4862”ดร.ฑิตติมากล่าว ด้าน รศ.นพ.กำจร กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับหลักการของ กยศ.ในการติดตามหนี้ และอยากเห็นคน ศธ.เป็นต้นแบบของสังคมที่กู้ยืมเงินมาแล้วเมื่อถึงกำหนดคืนก็ไปชำระคืน อย่างไรก็ตามการหักหนี้คนใน ศธ.ที่ค้างหนี้กองทุน กยศ.นั้น ไม่เป็นการบังคับ ให้ขึ้นกับความสมัครใจ แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นคน ศธ.ที่ค้างชำระหนี้ กยศ.และกรอ.มีจำนวนไม่มากนัก โดยมีจำนวนผู้กู้ยืมเงิน กยศ.และ กรอ. ทั้งสิ้น 62,744 คน แยกเป็นกู้ยืม กยศ. 59,868 คน ไม่ค้างชำระ 40,431 คน ค้างชำระ 19,437 คน และ ผู้กู้ กรอ. 2,876 คน ไม่ค้างชำระ1,932 คน และค้างชำระ 944 คน
 
(เดลินิวส์, 27/8/2558)
 
เผย 3 เดือนที่ผ่านมาแรงงานโคราชขึ้นทะเบียนว่างงานแล้วกว่า 5,700 ราย
 
นายพงศวัฒน์ เพชรวิเชียร จัดหางานจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยยอดผู้ขึ้นทะเบียนว่างงานจากการถูกเลิกจ้าง และลาออกจากงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีแล้ว 5,700 คน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปรกติของช่วงนี้ที่มีการลาออกเลิกจ้าง
 
“ผู้มาขึ้นทะเบียนคนว่างงานส่วนใหญ่จะเป็นแรงงานที่มาจากสถานประกอบการขนาดเล็ก และจะเป็นพนักงานทั่วไปหรือพนักงานในฝ่ายการผลิต ในส่วนของผู้ที่ลาออกจากงานนั้นเป็นผลมาจากนายจ้างปรับลดค่าล่วงเวลาพิเศษหรือโอที จึงลาออกไปสมัครงานที่ใหม่”
 
(โลกวันนี้, 29/8/2558)
 
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. ยังติดลบ 5.3% 
 
นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนก.ค. ติดลบ 5.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เริ่มติดลบลดลงกว่าช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่ดัชนีผลผลิตอุตฯ ติดลบประมาณ 7-8% เนื่องจากอุตสาหกรรมรถยนต์เริ่มปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติ มีการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้น 9.6% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับอุตฯอาหารที่การผลิตภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.7% 
 
“เชื่อว่าแนวนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจที่เน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งกลุ่มเอสเอ็มอีเป็นหลัก จะช่วยกระตุ้นให้กลุ่มดังกล่าวมีรายได้และการบริโภคมากขึ้น จะส่งผลต่อเนื่องให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้นได้ รวมทั้งนโยบายกระทรวงอุตสาหกรรม จะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลเชิงบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในช่วงต่อไป” 
 
สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนก.ค. ติดลบ 2.8% ซึ่งเป็นอัตราที่ลดลง ตามการส่งออกสินค้าสำคัญอย่าง เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้ภาพรวม 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค. 58 ) การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 2.9% สอดคล้องการภาพรวมการส่งออกของประเทศในช่วง 7 เดือนที่ติดลบ 4.7%ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือนก.ค.อยู่ที่ 58.74 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการใช้อัตราการผลิตอยู่ที่ 60.07 
 
อย่างไรก็ตามขณะนี้คงไม่สามารถพึ่งพาการส่งออกได้มากนัก จะเห็นได้ว่า บางประเทศมีการปรับเปลี่ยนนโยบายโดยให้ความสำคัญเศรษฐกิจในประเทศมากกว่าการส่งออก สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันคงเป็นเรื่องยากที่จะใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันประเทศไทยที่ให้ความสำคัญกับการกระตุ้นในประเทศมากขึ้น แต่เรื่องนี้เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นๆที่จะเห็นผลในปีนี้
 
(กรุงเทพธุรกิจ, 29/8/2558)
 
บอร์ด สปส.เห็นชอบให้ตัดยอดหนี้สูญนายจ้างค้างจ่ายเงินสมทบ 13 ล้านบาท
 
ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม นายนคร ศิลปอาชา บอกว่า ที่ประชุมบอร์ดสปส.เห็นชอบตามที่สำนักเงินสมทบเสนอขอตัดยอดหนี้สูญของนายจ้างที่ค้างจ่ายเงินสมทบ เนื่องจากประสบปัญหาธุรกิจต้องปิดกิจการ เป็นวงเงินทั้งหมดกว่า 13 ล้านบาทซึ่งกรรมการสปส. บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่า สำนักเงินสมทบควรติดตามนายจ้างให้ถึงที่สุด เพื่อจะได้รู้ว่ามีทรัพย์สินใดของนายจ้างที่สามารถยึดมาขายทอดตลาด และนำมาจ่ายเงินสมทบที่ค้างไว้ได้หรือไม่ ซึ่งไม่ควรที่จะตัดให้เป็นหนี้สูญได้ง่าย อย่างไรก็ตาม สปส.จะหารือกระทรวงการคลัง หากเห็นชอบจะตัดยอดหนี้สูญในที่สุดนอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดสปส.ยังเห็นชอบแนวทางการลงทุนของกองทุนรวมในต่างประเทศ ที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.)ถือครองเพียงรายเดียวจากเดิมลงทุนได้เพียงเฉพาะตราสารหนี้ต่างประเทศ ก็ให้นำเงินไปลงทุนในตราสารทุนต่างประเทศได้ด้วย โดยกำหนดให้แต่ละกองทุนรวมนำเงินกองทุนที่เกิดจากดอกผลไปลงทุนได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของดอกผลทั้งหมดในกองทุน อีกทั้งยังให้ป้องกันความเสี่ยงในการลงทุน โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราในวงเงินที่ไม่สูงกว่าจำนวนเงินของดอกผลในแต่ละกองทุนที่นำไปลงทุน
 
(เนชั่น, 30/8/2558)
 
ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนฯ แล้วกว่า 2 แสนราย คิดเป็นเงินออมกว่า 190 ล้านบาท
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. กล่าวถึงการเปิดให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ 7 วันแรก ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้สมัครเป็นสมาชิกแล้ว 205,132 ราย คิดเป็นเงินออม 191 ล้านบาท และยังคงเป้าสิ้นปีนี้(58) จะมีผู้สมัครเป็นสมาชิก 6 แสนราย แม้การดำเนินงานยังพบอุปสรรคบ้าง เช่น การทำข้อมูลผู้สมัครล่าช้า / ผู้สนใจสมัครมีอายุเกิน 60 ปี ส่วนกรณีผู้ทำประกันตนของสำนักงานประกันสังคม ต้องการโอนเป็นสมาชิกองทุนฯ ยังติดข้อกฎหมาย นอกจากนี้ ทางกองทุนฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนสมัครเป็นสมาชิกฯ มากขึ้น เพราะเป็นกองทุนฯ ที่รัฐตั้งขึ้นดูแลประชาชนโดยตรง
 
สำหรับประชาชนที่สนใจสมัครเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)ได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย ทั้งนี้ ผู้สมัครต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี ใช้บัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถสมัครได้ สอบถามรายละเอียดได้ที่ กองทุนการออมแห่งชาติ 02 278-1815 หรือ www.nsf.or.th
 
(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 30/8/2558)
 
คปค.จี้ผลักดัน ก.ม.ปฏิรูปประกันสังคมเป็นอิสระ 
 
เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่กระทรวงแรงงาน เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) จัดเสวนา สมัชชาปฏิรูปประกันสังคม 2558 “ 25 ปี ประกันสังคมต้องเป็นอิสระ”  โดยนายนคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดเสวนาตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาประกันสังคมได้มีการปรับปรุงกฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเพิ่มการตรวจสอบที่มาของคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ที่จะต้องมีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพราะที่ผ่านมาการตั้งบอร์ดประกันสังคมมักจะมีการนำพรรคพวกของตัวเองเข้าไปบริหาร ฉะนั้นบอร์ดประกันสังคมต้องมีความชัดเจน สามารถตรวจสอบได้และโปร่งใส อย่างไรก็ตามถ้าให้เป็นองค์กรที่อิสระเลยก็ต้องมาดูว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบ รวมทั้งหลักประกันจะสามารถดำเนินงานที่ดีกว่าปัจจุบันได้อย่างไร ทั้งนี้จะต้องมีการมาหารือกันอีกครั้งหนึ่งว่าสิ่งไหนดีกว่ากัน เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นสำคัญ ด้านนายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมปัจจุบันมีเงินทุนอยู่ประมาณ 1.37 ล้านล้านบาท แต่ปัญหายังติดที่ระบบราชการจึงทำให้กองทุนไม่โตเท่าที่ควร ผู้ประกันตนยังขาดโอกาสที่จะได้รับสิทธิประโยชน์หรือผลประโยชน์เท่าที่ควร เพราะฉะนั้นการปฏิรูปต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นอิสระ  คปค.จึงมีข้อเสนอนโยบายเพื่อให้การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมมีความเป็นอิสระ ดังนี้ 1.เร่งปฏิรูปประกันสังคมให้มีความอิสระ 2.เร่งตราพระราชบัญญัติประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระภายใต้การกำกับของรัฐ นอกจากนี้ขอให้การดำเนินการต่าง ๆ ตามข้อเรียกร้องของ คปค. ให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลชุดนี้
 
(เดลินิวส์, 31/8/2558)
 
เผยโรงงานซัมซุงที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มีนโยบายเลิกจ้างพนักงานแล้ว
 
ประชาชาติธุรกิจรายงานว่า สถานการณ์ล่าสุด โรงงานซัมซุงที่ อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา มีนโยบายเลิกจ้างเช่นเดียวกัน แหล่งข่าวจากบริษัท ซัมซุง อิเล็คโทร-แม็คคานิคส์ (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ได้ปลดพนักงานประมาณ 300 คน โดยมีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน เพื่อลดต้นทุนดำเนินงานเนื่องจากสินค้าหลัก ๆ ที่ผลิต อาทิ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์หรือจูนเนอร์สำหรับทีวีมี กำไรน้อยมาก ที่ผ่านมาซัมซุงได้ย้ายโรงงานประกอบทีวีจากศรีราชาไป ประเทศเวียดนามแล้ว เนื่องจากชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์รับส่งสัญญาณ บลูทูท ไวไฟสำหรับโทรศัพท์มือถือ ซัมซุงมีโรงงานอยู่ในเวียดนามอยู่แล้ว การย้ายฐานการผลิตจากไทยไปรวมกันที่เวียดนามเป็นการบริหารจัดการซัพพลายเชน โดยตรง ประเด็นสำคัญยังรวมถึงค่าจ้างแรงงานในเวียดนามก็ถูกกว่าไทย
 
"ตอนนี้ที่โรงงานยังเหลือพนักงาน 500 คน อยู่ระหว่างเตรียมการ และท้ายที่สุดก็คงจะปิดโรงงานในไทยย้ายไปเวียดนามทั้งหมด" แหล่งข่าวกล่าว
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 31/8/2558)
 
จ่อคลอด กม. คุม “บริษัท-โรงเรียน” ห้ามไล่ผู้ป่วยเอดส์ออก
 
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า การตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ยังคงเป็นปัญหา ที่ผ่านมา พบว่า บางบริษัทไล่พนักงานออก เมื่อพบภายหลังว่ามีเลือดบวก หรือติดเชื้อเอชไอวี หรือโรงเรียนบางแห่งไม่ให้เด็กที่ติดเชื้อเอชไอวีเรียนต่อ ซึ่งทางเครือข่ายคุ้มครองสิทธิ หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ คร. จะพยายามเข้าไปหารือเพื่อขอให้อย่าดำเนินการเช่นนี้แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะไม่มีอำนาจหรือกฎหมายมาบังคับ ซึ่งในการประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ที่มี นายจอน อึ๊งภากรณ์ เป็นประธานก็มีการหารือถึงแนวทางแก้ปัญหาดังกล่าว โดยเสนอให้มีกฎหมายมาบังคับเรื่องนี้ ซึ่งจะต้องมีการหารือว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป แต่อาจต้องใช้เวลา เพราะมีกระบวนการสื่อสารกันก่อนผลักดันเป็นกฎหมาย และเมื่อเป็นกฎหมายแล้วก็จะมีบทลงโทษด้วย เช่น หากไม่ยอมให้นักเรียนที่มีเลือดบวกเรียน ก็จะมีกฎหมายลงโทษในลักษณะปรับ
       
นพ.โสภณ กล่าวว่า การออกกฎหมายเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ยังต้องมีการหารือหลาย ๆ ฝ่าย เบื้องต้นทราบว่า ภาคประชาชนจะมีการไปหารือกัน แต่ระหว่างนี้ทาง คร. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ หากประชาชนมีปัญหาถูกไล่ออกจากงานหรืจากที่เรียนเพราะผลเลือดเป็นบวก หรือถูกตีตราจากสังคมใด ๆ ก็ตาม สามารถร้องทุกข์ได้ที่สายด่วน คร.
       
น.ส.จารุณี ศิริพันธุ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า เบื้องต้นทางมูลนิธิจะมีการหารือเรื่องนี้ในวันที่ 4 กันยายน ก่อนจะหารือร่วมกับที่ประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองด้านเอดส์ ในวันที่ 11 กันยายน ต่อไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31/8/2558)
 
“พยาบาลวิชาชีพภาคอีสาน” เรียกร้องความเท่าเทียม จ่อฟ้อง รพ.ให้เงินเดือนไม่ถึง 1.5 หมื่น
 
เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ASTV ผู้จัดการ ได้รับรายงานมาว่า สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระราชูปภัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชนนี สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้จัดประชุมสามัญและประชุมวิชาการประจำปี 2558 เรื่อง “การขับเคลื่อนวิชาชีพในยุคเศรษฐกิจอาเซียนด้วยการจัดการดูแลเชิงบูรณาการ” มี “พยาบาลวิชาชีพ” จากทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมประชุมจำนวนมาก
       
ต่อมามีการเผยแพร่จดหมายเปิดผนึกจาก “พยาบาลวิชาชีพ” ท่านหนึ่งเขียนร้องเรียนผ่านไปยัง สำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็น “พยาบาลวิชาชีพ” โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า ตัวเองทำงานเป็นพยาบาลมา 3 ปี ได้เงินเดือน 13,700 บาท ในจดหมายเล่าว่า มีความคับข้องใจเป็นอย่างมากเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในวิชาชีพนี้ จึงอยากได้รับความเป็นธรรม
       
จดหมายจาก พยาบาลวิชาชีพ ฉบับนี้ ตั้งคำถามว่า เหตุใดพยาบาลวิชาชีพที่จบระดับปริญญาตรี ไม่ได้รับค่าตอบแทนเงินเดือน 15000 บาท เช่นดังสายอาชีพอื่น ๆ
       
“ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เปลี่ยนตำแหน่งจากลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานกระทรวงสาธารณสุข แต่เหตุใดท่านแค่ชื่อแต่ทุกอย่างเหมือนเดิม เช่น เงินเดือน สวัสดิการ, พยาบาลทำงานเป็นกะ (เวร) อดหลับอดนอน ค่าตอบแทนส่วนนี้น้อยมาก, พยาบาลวิชาชีพ ส่วนใหญ่ ได้แค่ ซี 7 ไม่สามารถทำ ซี 8 ได้ ยุติธรรม หรือ? นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการบรรจุ ที่ต้องการสอบบรรจุเหมือนกับสายอาชีพอื่น”
       
โดยในการประชุมสามัญและประชุมวิชาการประจำปี 2558 ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งนั้นมีการเล่าถึงปัญหาด้านต่าง ๆ ในวิชาชีพ และแนวทางการขับเคลื่อนหลังจากนี้
       
จากข้อเสนอพบว่า ปัญหาใหญ่ ๆ ที่พยาบาลกำลังประสบอยู่ในขณะนี้มี 3 ประเด็น คือ
       
ประเด็น 1. ความไม่เท่าเทียมในการจ้างงาน เพราะเงินเดือนขั้นต่ำของผู้จบปริญญาตรี คือ 15,000 บาท แต่พบว่ามีโรงพยาบาลหลายแห่งที่จ้างพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว โดยให้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 12,000 - 13,000 บาท แล้วมีเงินเพิ่มพิเศษสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ให้อีก 1,500 - 2,000 บาท เงินค่าหอพักอีกประมาณ 1,500 บาท รวมแล้วเป็นเงินประมาณ 15,000 บาท ซึ่งเป็นความไม่เท่าเทียม เพราะเงิน พ.ต.ส. และค่าหอพักไม่ควรนำมานับรวมอยู่ในเงินเดือน
       
ประเด็นที่ 2 เรื่องเงินเดือนตันอยู่แค่ซี 7 พยาบาลบางคนอยู่ซี 7 มาเป็นสิบปี แต่เงินเดือนก็ตันอยู่แค่นั้น ไม่สามารถเลื่อนไหลได้ ทั้ง ๆ ที่เงินเดือนและตำแหน่งควรขยับเพิ่มขึ้นตามภาระงานและผลงาน
       
ประเด็นที่ 3 เรื่องสวัสดิการ เพราะการทำงานของพยาบาลมีความเสี่ยง แต่ไม่มีสวัสดิการรองรับ ตัวอย่างเช่น การส่งต่อผู้ป่วย หากเกิดอุบัติเหตุระหว่างการส่งตัวจนเกิดการบาดเจ็บ พิการหรือเสียชีวิต ก็ไม่มีสวัสดิการรองรับ
       
“เราก็อยากให้สังคมได้ยินว่ามันมีความเหลื่อมล้ำมาก พยาบาลเหมือนทำงานราคาถูก อย่างเรื่องเงินเดือนไม่ถึง 15,000 ก็มีคุยกันว่า จะลองฟ้องสักโรงพยาบาลดูไหมว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร กระทรวงสาธารณสุขจะว่าอย่างไร หรือเรื่องการบรรจุเป็นข้าราชการ หลายคนก็บอกว่าถ้ายังไม่บรรจุจะแต่งชุดขาวไปชุมนุมที่ทำเนียบหรือลานพระรูปฯ เลยไหม เป็นต้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ และส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการไปชุมนุม เพราะสามารถแสดงออกอย่างอื่นได้หลายทาง เช่น ติดโบว์ดำ ขึ้นแผ่นป้ายแสดงจุดยืน หรือรวมตัวที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องไปที่ทำเนียบก็ได้ เป็นต้น”
       
เรื่องของรายได้และการบริหารงาน ในวงการพยาบาลวิชาชีพกลับมีปัญหาในอีกแง่มุมหนึ่งที่อาจจะส่อไปทางทุจริต โดยเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีผู้ร้องเรียนมายัง “ASTV ผู้จัดการ” ในส่วนของประเด็น “เงินประจำตำแหน่งของพยาบาลวิชาชีพ” ในโรงพยาบาลรัฐ สังกัดกรมการแพทย์ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งพบว่า มีการเบิกโดยไม่โปร่งใสส่อไปทางทางทุจริต
       
ขณะนี้ได้มี “โรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ ในกรุงเทพฯแห่งหนึ่ง” มีการเบิกเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ให้กับเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลหลายคน อย่างไม่เหมาะสม “ส่อไม่เหมาะสม” และอาจจะสร้างความเสียหายในด้านงบประมาณ ให้กับรัฐและหน่วยงานต้นสังกัดได้
       
ผู้ร้องเรียนอ้างคำสั่งจากกรมการแพทย์ที่ 866/2547 ระบุว่า กรมการแพทย์ได้มีการแต่งตั้งบุคคลท่านหนึ่ง ในตำแหน่ง “พยาบาลวิชาชีพ 7 วช. ด้านการพยาบาล” ให้ปฏิบัติราชการในฐานะ “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผลของโรงพยาบาล” แต่บุคคลผู้นี้ยังคงได้สิทธิรับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ ในฐานะพยาบาลวิชาชีพเรื่อยมาหลายปี (3,500บาทต่อเดือน) ทั้งที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ “พยาบาลวิชาชีพ” เลยในปัจจุบัน มากว่า 7 ปี ถือว่า เป็นการกระทำผิดโดยสำเร็จหรือไม่
       
มีการตั้งข้อสังเกตและมีคำถามไปยังอธิบดีกรมการแพทย์ ผอ.สำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ว่า สามารถทำได้หรือไม่ เนื่องจากกรมการแพทย์ มีหน้าที่ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติราชการให้ถูกต้องเป็นไปตามกฎระเบียบวินัยทางราชการในส่วนของกรมการแพทย์ เพราะตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ.2551 วรรค 2
       
ระบุว่า “ข้าราชการพลเรือนสามัญที่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งผู้ใด หากได้รับคำสั่ง ให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นและมิได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ ไม่มีสิทธิได้รับเงินประจำตำแหน่งตั้งแต่วันที่ไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่ เว้นแต่ในกรณีที่ ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการ หรือประเภททั่วไปและได้รับคำสั่งให้ไปปฏิบัติหน้าที่อื่นที่มีลักษณะ เป็นงานวิชาชีพหรืองานที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเหมือนหน้าที่หลักของตำแหน่งที่ตนดำรงอยู่เดิม ให้ได้รับเงินประจำตำแหน่งในอัตราเดิมของตำแหน่งต่อไป”
       
ผู้ร้องเรียนระบุว่า ต่อมายังพบว่า มีความพยายามกระทำผิด จากคำสั่งการแต่งตั้งบุคลากรของโรงพยาบาลแห่งนี้ ที่40(3)/2551 โดยให้ “พยาบาลวิชาชีพ” อีกหลายคนเข้ามาปฏิบัติราชการใน “ฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์” ที่สังกัดรอง ผอ. กลุ่มภารกิจอำนวยการ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในด้าน “วิชาชีพพยาบาล” เลย เพราะงานฝ่ายนี้ส่วนใหญ่เน้นไปในด้านงานประสานสิทธิผู้ป่วยประกันสังคม งานตรวจสอบและติดตามหนี้ หรืองานด้านสังคมสงเคราะห์ที่มีเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์ประจำอยู่ ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ ก็ไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ เช่นกัน แต่บุคคลเหล่านี้ก็ยังได้รับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ (3,500 บาทต่อเดือน) เรื่อยมาตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งก็ถือว่าเป็นการกระทำผิดสำเร็จแล้วหรือไม่
       
“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของโรงพยาบาลแห่งนี้ใหม่ จะเห็นได้จาก บันทึกข้อความที่ สธ 0314/70 ลงวันที่ 14 มกราคม 2558 ของกรมการแพทย์ สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล เรื่องการปรับโครงสร้างการแบ่งงานภายในหน่วยงานกรมการแพทย์ พบว่า โรงพยาบาลแห่งนี้มีการเพิ่ม “กลุ่มภารกิจด้านการพัฒนาระบบสุขภาพ” ขึ้นมาใหม่ “มีคำสั่ง สธ 0303.21/1117 ลงวันที่ 12 มิ.ย. 58 ให้ปรับย้ายงานในกรอบภารกิจของเวชกรรมการสังคมเดิม ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของรองผอ.ด้านการพยาบาล กลุ่มภารกิจบริการวิชาการ”
       
“เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่มีหน่วยงานนี้ในโรงพยาบาล เพราะหากมีผลบังคับใช้ พยาบาลวิชาชีพ เหล่านี้ก็จะไม่มีความผิด ถือว่าเป็นการล้างความผิดให้กันเอง แม้จะกระทำผิดสำเร็จแล้วหรือไม่”
       
ผู้ร้องเรียนระบุว่า ได้มีการทำหนังสือสอบถามเรื่องการติดตามตรวจสอบและดำเนินการกรณี “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผลของโรงพยาบาล” เบิกเงินประจำตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ โดยไม่ปฏิบัติงานด้านการพยาบาล ไปยังหลายหน่วยงาน เช่น สำนักบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ หรือ ฝ่ายสวัสดิการสังคมและประกันสุขภาพ รวมทั้งผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้หลายครั้ง แต่กลับมีการตอบมาไม่ชัดเจน และมีการทำหนังสือสอบถามไปหน่วยงานต้นสังกัดคือ กรมการแพทย์ ตอบโต้กันไปมาไม่มีข้อยุติ
       
“เช่น เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 58 ผู้ร้องเรียน ได้ทำหนังสือสอบถามไปยัง ผอ.สำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ และมีหนังสือที่ สธ 0319/5038 ลงวันที่ 14 พ.ค. 58 ชี้แจงผลการดำเนินการ เฉพาะเรื่องการเบิกจ่ายเงินประจำตำแหน่งวิชาชีพพยาบาล ระบุว่า ในระบบการคลังภายในโรงพยาบาลแห่งนี้ ในเรื่องการเบิกจ่ายนั้นจะต้องดำเนินการตรวจสอบให้เป็นไปตามระเบียบและยังมีหน่วยงานภายนอกโรงพยาบาล เช่น กลุ่มงานตรวจสอบภายใน รวมถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการตรวจสอบ โดยเรื่องนี้มิใช่หน้าที่ของสำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ ทั้งนี้ ได้ประสานงานด้วยวาจากับ ผอ.โรงพยาบาลแห่งนี้ ให้ดำเนินการตรวจสอบ หากไม่ถูกต้องให้ดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป”
       
จากนั้นวันที่ 23 มิ.ย. 58 ผู้ร้องเรียน ได้สอบถามไปยัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งนี้ในฐานะรอง ผอ.ด้านอำนวยการ ว่า บุคคลผู้นี้มีสิทธิ์ได้รับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ หรือไม่ แต่โรงพยาบาลก็ยังไม่มีคำตอบให้
       
อย่างไรก็ตามกว่า 3 เดือน ที่ผู้ร้องเรียนส่งหนังสือไปถามกลับยังไม่มีคำตอบ โดยวันที่ 3 ส.ค. 58 ได้ส่งหนังสือย้ำคถามเดิมสอบถามไปยัง ผอ.โรงพยาบาลอีกครั้ง โดยอ้างหนังสือของ ผอ.สำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ที่ระบุว่า “เรื่องนี้มิใช่หน้าที่ของสำนักงานบริหารทรัพยากรบุคคล กรมการแพทย์ และประสานทางวาจากับ ผอ.ดรงพยาบาลแล้ว” เนื่องจากพบว่า หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผลของโรงพยาบาล ยังคงได้รับเงินประจำตำแหน่งของ“พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการอยู่ และไมได้ปฏิบัติงานด้านการพยาบาลแต่อย่างใด
       
ประกอบกับ เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 58 สำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ ได้มีหนังสือที่ สธ 0326/41 เรื่อง”ขอกำชับผู้บริหารทุกระดับของกรมการแพทย์ปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะในสถานปัจจุบันเพื่อประโยชน์ของกรมการแพทย์และราชการแผ่นดิน โดยอ้างประกาศ คสช. ที่ 69/2557 เรื่อง มาตรการป้องกันและแก้ปัญหาประพฤติมิชอบติดประกาศ โดยเฉพาะข้อ 4. กรณีหัวหน้าส่วนราชการหรือผู้บังคับบัญชาปล่อยปละละเลย ให้ถือเป็นความผิดทางวินัยหรือความผิดทางอาญาแล้วแต่กรณี
       
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีคำสั่ง คสช. ฉบับดังกล่าวเผยแพร่ไป ได้มีหนังสือ สธ 0307/7534 ลงวันที่ 11 ส.ค. 58 จาก ผอ.โรงพยาบาล มายัง ผอ.สำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ เพื่อขอความอนุเคราะห์พิจารณาข้อเท็จจริงกรณีการเบิกเงินประจำตำแหน่ง มีใจความตอนหนึ่งว่า “บุคคลผู้นี้เบื้องต้นมีสิทธิ์รับเงินประจำตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2541 และได้รับการแต่งตั้งจากกรมการแพทย์ ให้เป็น “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผลของโรงพยาบาล” เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2547 จนถึงปัจจุบันและยังคงรับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ (3,500 บาท) อยู่ ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551 วรรค 2
       
“แต่เนื่องจากกรณีนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกฎระเบียบ ซึ่งต้องใช้ผู้มีความรู้เฉพาะทางมาพิจารณาให้ข้อคิดเห็น จึงขิให้ ผอ.สำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ พิจารณาข้อเท็จจริง ว่า บุคคลผู้นี้ยังมีสิทธิได้รับเงินดังกล่าวหรือไม่ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติต่อไป พร้อมแนบเอกสารคำสั่งที่ 866/2547 เรื่องแต่งตั้งของกรมการแพทย์ เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 47 มาด้วย”
       
ต่อมาอีก 8 วัน นอกจากนั้น ผอ.โรงพยาบาล ยังทำหนังสือที่ 0307/7722 ลงวันที่ 18 ส.ค. แจ้งว่า บุคคลผู้นี้มีสิทธิรับเงินประจำตำแหน่งของ “พยาบาลวิชาชีพ” ชำนาญการ (3,500 บาท) อยู่ ตามกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชพลเรือนสามัญได้รับเงินประจำตำแหน่ง พ.ศ. 2551 วรรค 2
 
“อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาล ได้พิจารณาปัญหาดังกล่าว เป็นปัญหาด้านระเบียบ ซึ่งต้องใช้ผู้มีความรู้เฉพาะทาง โรงพยาบาลจึงได้หารือไปทางสำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ เพื่อจะได้ยึดถือเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติต่อไป จึงเรียนมาเพื่อทราบไว้ชั้นหนึ่งก่อน หากโรงพยาบาลได้รับแจ้งจากสำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง”
       
ล่าสุด มีหนังสือที่ สธ 0319/9089 ลงวันที่ 19 ส.ค. 58 เรื่องขอชี้แจงเพิ่มเติมกรณีการเบิกเงินประจำตำแหน่ง จากรักษาการ ผอ.สำนักบริหารทรัพยากร กรมการแพทย์ ถึง ผอ.โรงพยาบาล ระบุว่า กลุ่มงานกฎหมาย วินัย และพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรมการแพทย์ พิจารณาแล้วเห็นว่า หากพิจารณากรณีนี้ ย่อมจะเป็นเรื่องที่อาจกระทบกระเทือนถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคลได้โดยตรง ลำพังเพียงเอกสารคำสั่งแต่งตั้ง ยังมิอาจพอเพียงที่จะพิจารณาข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด จึงขอให้ทางโรงพยาบาลชี้แจงข้อมูล
       
ประกอบด้วย 1. บุคคลผู้นี้ขณะดำรงตำแหน่ง พยาบาลวิชาชีพ 7 วช. (ก่อนรับคำสั่งแต่งตั้งจากกรมการแพทย์ให้ปฏิบัติหน้าที่“หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผล”อยู่ในสังกัดกลุ่มงาน/กลุ่มภารกิจใด และได้มอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่หลักของตำแหน่งดังกล่าวอย่างไร 2. ภายหลังที่ได้รับการแต่งตั้งจากกรมการแพทย์ ให้ปฏิบัติราชการในฐานะ “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผล” แล้ว ยังคงได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ตามข้อ 1. อยู่อีกหรือไม่/อย่างไร และ 3. ตำแหน่ง “หัวหน้าฝ่ายแผนงานและประเมินผล” ได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ปัจจุบันมีลักษณะอย่างไร”
       
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณา ตามระเบียบ
 
แม้ผู้ร้องเรียน จะตั้งข้อสังเกตว่า แม้ทางกลุ่มงานกฎหมาย วินัย และพิทักษ์ระบบคุณธรรม กรมการแพทย์ จะรับเรื่องไว้พิจารณา แต่การดำเนินการต่าง ๆ นี้ เชื่อว่า กระทำผิดโดยสำเร็จแล้ว รวมถึงมีความพยายามที่จะช่วยบุคคล และคณะ ที่ร่วมกระทำผิดในเรื่องนี้ โดยผู้ร้องเรียนยัง ได้ยื่นเรื่องส่วนหนึ่งให้กับ ป.ป.ช. เพื่อขอสอบสวนผู้บริหารโรงพยาบาลแห่งนี้แล้ว
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 31/8/2558)
       
ก.แรงงาน พร้อมผลักดันอัตราค่าจ้างมาตรฐานฝีมือเพิ่มอีก 20 อาชีพ
 
างเพชรรัตน์ สินอวย ผู้ช่วยปลัดกระทรวงแรงงาน ประธานเปิดโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 20 สาขาอาชีพ ณ โรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า “โครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็น (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 20 สาขาอาชีพ” จัดขึ้นเพื่อระดมความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พร้อมทั้งนำผลที่ได้จากการสัมมนาฯ ไปปรับปรุง (ร่าง) อัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ 20 สาขาอาชีพ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการค่าจ้างเพื่อประกาศใช้ต่อไป ซึ่งการกำหนดอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือเป็นกลไกลหนึ่งที่ช่วยส่งเสริม สนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศอาเซียน หรือประเทศต่างๆทั่วโลก ขณะนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้เร่งดำเนินการในการพัฒนาฝีมือแรงงานให้พร้อมในการแข่งขัน โดยสถานประกอบการสามารถผลักดัน สนับสนุนให้ลูกจ้างเข้ารับการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน
 
"อัตราค่าจ้างที่กำหนดต้องเป็นค่าจ้างที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับการทำงานในตำแหน่งหรือการใช้ความรู้ความสามารถทักษะฝีมือในระดับนั้นจริง จึงจะเกิดประโยชน์และเป็นธรรมทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง" นางเพชรรัตน์กล่าว
 
ด้าน นายสิงหเดช ชูอำนาจ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า ค่าจ้างเริ่มต้นสำหรับมาตรฐานฝีมือแต่ละสาขาอาชีพเป็นแรงจูงใจให้แรงงานมีความต้องการที่จะฝึกฝนเพื่อให้ตนเองผ่านการทดสอบซึ่งต้องมีฝีมือทักษะ จรรยาบรรณ รักในอาชีพนั้นๆ และเป็นการพัฒนาฝีมือตนเองเพื่อให้ค่าจ้างที่สูงขึ้นตามความสามารถ และเป็นผลดีต่อสถานประกอบการที่สามารถยกระดับสินค้าของตนจากการมีแรงงานที่ได้มาตรฐานในการผลิต
 
ทั้งนี้5 กลุ่มอุตสาหกรรม 20 สาขาอาชีพที่กระทรวงแรงงานเปิดรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากเดิมที่ประกาศไปแล้ว 35 สาขาอาชีพ ได้แก่ 1)กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4 สาขาอาชีพ คือพนักงานประกอบอุปกรณ์ไฟฟ้าแสงสว่าง พนักงานประกอบมอเตอร์สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และช่างเทคนิคระบบรักษาความปลอดภัย2)กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ จำนวน 4 สาขาอาชีพ คือช่างกลึงสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ช่างเชื่อมมิก-แม็ก สำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ช่างเทคนิคบำรุงรักษาเครื่องจักรกลสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และช่างเทคนิคเครื่องกลึงอัตโนมัติสำหรับอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ 3)กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ จำนวน 4 สาขาอาชีพ คือช่างเทคนิคพ่นสีตัวถังสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ช่างเทคนิคพ่นซีลเลอร์ตัวถังสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ พนักงานประกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ (ขั้นสุดท้าย)และช่างเทคนิคเชื่อมสปอตตัวถังสำหรับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ 4)กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมนี จำนวน 4 สาขาอาชีพ คือช่างเจียระไนพลอย ช่างหล่อเครื่องประดับ ช่างตกแต่งเครื่องประดับ และช่างฝังอัญมณีเครื่องประดับ และ 5)กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ จำนวน 4 สาขาอาชีพ คือผู้ควบคุมสินค้าคงคลัง ผู้ควบคุมรถยกสินค้าขนาดไม่เกิน 10 ตัน ผู้ปฏิบัติการคลังสินค้า และนักบริหารการขนส่งสินค้าทางถนน
 
(ประชาติธุรกิจ, 1/9/2558)
 
ชาวบ้านรอบโรงงานพลาสติกไฟไหม้ โอดสำลักควันพิษทั้งวัน
 
(1 ก.ย.) ร.ต.ท.เปรม สิทธิอุดม พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโพธิ์ กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีเหตุเพลิงไหม้โรงงานรีไซเคิลพลาสติกของบริษัท พี.วี.เจ.พลาสติก จำกัด ตั้งอยู่ริมถนนสาย 3304 ดอนสีนนท์-แปลงยาว เลขที่ 10 ม.5 ต.แหลมประดู่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อช่วงเช้ามืดของเมื่อคืนวานนี้ว่า ขณะนี้ได้มีบุตรชายของ นางแสงตะวัน ชูแจ่ม เจ้าของโรงงาน ทราบเพียงชื่อเล่นว่า “โอ” ได้เข้ามาติดต่อกับเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว
       
นายโอ กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผู้เป็นมารดาได้มีอาการป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล หลังจากทราบว่า เกิดเหตุเพลิงไหม้โรงงานตั้งแต่เมื่อช่วงสายของเมื่อวานนี้ จึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถติดต่อกับทางนางแสงตะวัน ได้ทางโทรศัพท์
       
สำหรับวันนี้มีเจ้าหน้าที่จากกองวิทยาการพิสูจน์หลักฐาน ภ.จว.ฉะเชิงเทรา จะเข้ามาทำการตรวจสอบในที่เกิดเหตุอีกครั้ง ส่วนในทางคดีนั้นยังไม่มีความคืบหน้ามาก เพราะต้องรอผลจากการพิสูจน์หาหลักฐานในที่เกิดเหตุก่อน
       
ขณะเดียวกัน นางทองปลิว หิ้งทอง อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 3/1 ม.5 ต.แหลมประดู่ อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีบ้านพักอาศัยอยู่ทางใต้ของทิศทางลมขณะเกิดเหตุเพลิงไหม้ และเป็นจุดที่ทางเจ้าหน้าที่จากสำนักวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมโรงงาน กรมโรงงานอุตสาหกรรม จากจังหวัดชลบุรี ได้เข้ามาทำการติดตั้งเครื่องตรวจวัดค่าของมลพิษในอากาศ อยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 1 กม.
       
“หลังจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ตั้งแต่เมื่อช่วงเช้ามืดของเมื่อวานที่ผ่านมา ตน และคนในครอบครัว เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุที่เกิดขึ้นโดยตรง ที่รับแบบเต็มๆ ทั้งกลิ่นเหม็นไหม้ของควันไฟจนแสบคอ แสบจมูก วิงเวียนศีรษะ เป็นลม ซึ่งปกติตนก็เคยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมาก่อนอยู่แล้ว แต่ก็ไม่รู้ว่าจะหนีไปทางไหน ทั้งถูกควันพิษเข้าตาจนแสบมีน้ำตาไหลนองตลอดทั้งวัน และรู้สึกระคายเคืองต่อผิวหนัง คันไปจนทั่วทั้งตัว” นางทองปลิว กล่าว
       
นางทองปลิว กล่าวต่อไปว่า ตนต้องการให้ทางหน่วยงานผู้รับผิดชอบเข้ามาดูแล หรือให้ผู้นำชุมชนดำเนินการอะไรสักอย่างหนึ่งต่อโรงงานแห่งนี้ เพราะเคยเกิดเหตุเพลิงไหม้แบบนี้บ่อยครั้งมาก 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์ , 1/9/2558)
 
สปส.แก้ "กม.ประกันสังคม" แยก "ผู้ประกันตนต่างด้าว"
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพื่อปรับปรุงระบบประกันสังคมสำหรับแรงงาน ต่างด้าว ซึ่งเบื้องต้นศึกษาใน 2 แนวทาง คือ 1.ให้นายจ้างที่เป็นผู้จ้างแรงงานต่างด้าว ซื้อประกันชีวิตให้ลูกจ้างแทนการเข้าสู่ระบบประกันสังคม ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองใน 3-4 กรณี 2.การจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ. ...สำหรับแรงงานต่างด้าวขึ้นมาโดยเฉพาะ
 
"สปส.ศึกษาตัวอย่างจากประเทศต่างๆ พบว่าในหลายประเทศมีการแยกกฎหมายประกันสังคมของพลเมืองในประเทศกับแรงงาน ต่างด้าวที่เข้ามาทำงานออกจากกัน เพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการ เนื่องจากแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานเพียงไม่กี่ปีก็ต้องเดินทางกลับประเทศ ต้นทาง และยังพบว่า ในประเทศต่างๆ ที่มีกฎหมายประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าว รัฐบาลไม่ต้องร่วมจ่ายเงินสมทบ มีเพียงฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้นที่จ่ายเงินสมทบ โดยไม่ได้ให้สิทธิประโยชน์ในกรณีคลอดบุตร สงเคราะห์บุตร และว่างงาน เนื่องจากมองว่าเป็นการเดินทางมาทำงานในระยะเวลาหนึ่ง" นายโกวิทกล่าว และว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป จะต้องมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเครือข่ายผู้ที่ทำงานกับแรงงานต่างด้าว เนื่องจากมีข้อเรียกร้องขอมีส่วนร่วมจัดทำร่างกฎหมาย เพื่อให้การจัดทำร่างกฎหมายเป็นไปอย่างเหมาะสมและรอบด้าน แต่คาดว่าภายในปลายปีนี้จะแล้วเสร็จ
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามนโยบายการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวและตามกฎหมายการทำงานของแรงงาน ต่างด้าวนั้น นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา ที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ มีหนังสือเดินทาง และได้รับใบอนุญาตทำงาน จะต้องแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นลูกจ้างตาม พ.ร.บ.เงินทดแทน พ.ศ.2537 และเป็นผู้ประกันตนตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2558 เมื่อลูกจ้างแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและนำส่งเงินสมทบจะ ได้รับความคุ้มครอง 7 กรณี เท่าคนไทย ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน โดยปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วประมาณ 400,000 คน จากยอดจดทะเบียน 1.6 ล้านคน และมีการใช้สิทธิเบิกเงินสงเคราะห์บุตรปีละกว่า 100 ล้านบาท หรือเฉลี่ยเดือนละกว่า 10 ล้านบาท โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรสาคร และ จ.ระนอง ทั้งนี้ สปส.คาดการณ์ว่าจะต้องจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ สปส.มีแนวคิดที่จะจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมสำหรับแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 2/9/2558)
 
สำนักสถิติเปิดตัวเลขว่างงานเดือน ส.ค.58 พบเด็กจบใหม่ว่างงานมากสุด เพิ่มขึ้นจากปีช่วงเดียวกันก่อน 46,000 คน
 
รายงานข่าวจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) เปิดเผยว่า ได้สำรวจอัตราการว่างงานของคนไทยเดือน ส.ค.58 พบว่า จากจำนวนผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.94 ล้านคน มีผู้ว่างงานมากถึง 377,999 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเมื่อพิจารราถึงระดับการศึกษาของผู้ว่างาน ส่วนใหญ่เป็นผู้ว่างงานในระดับอุดมศึกษาถึง 157,000 คน เพิ่มขึ้น 46,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน รองลงมา คือ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 89,000 คน ระดับมัธยมปลาย 74,000 คน ระดับประถมศึกษา 44,000 คน และผู้ที่ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 13,000 คน ทั้งนี้เมื่อพิจารณาออกเป็นรายภาค พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวน ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 37,000 คน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน กรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 27,000 คน ภาคกลางเพิ่มขึ้น 21,000 คน และภาคใต้เพิ่มขึ้น 9,000 คน ขณะที่ภาคเหนือมีผู้ว่างงานลดลง 4,000 คน และเมื่อเปรียบเทียบให้เห็นชัดว่าภาคใดมีคนว่างงานมากที่สุดในเดอนส.ค. พบว่า ภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงที่สุด คือ 1.3% รองลงมาคือกรุงเทพฯ 1.1% ภาคกลาง 1% ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 0.9% และ ภาคเหนือ 0.7% ตามลำดับ ส่วนภาพรวมของการทำงานของคนไทย พบว่า ประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปมี 55.29 ล้านคน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 38.94 ล้านคน หรือคิดเป็น 70.4% เป็นผู้ที่อยู่นอกกำลังแรงงาน 16.35 ล้านคน หรือคิดเป็น 29.6%สำหรับกลุ่มผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน แยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ ผู้มีงานทำ 38.49 ล้านคน หรือคิดเป็น 98.8% ของผู้อยู่ในกำลังแรงงาน ,ผู้ว่างงาน ซึ่งเป็นผู้ไม่มีงานทำแต่พร้อมที่จะทำงาน 377,000 คน หรือคิดเป็นอัตราการว่างงาน 1%ผู้ที่รอฤดูกาล ซึ่งผู้ที่ไม่ได้ทำงาน และไม่พร้อมที่จะทำงาน เนื่องจากจะรอทำงานในฤดูกาลต่อไป มีจำนวน 71,000 คน คิดเป็น 0.2% อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงลักษณะการทำงาน พบว่า จากผู้มีงานทำ 38.49 ล้านคน เป็นผู้ทำงานภาคเกษตรกรรม 13.51 ล้านคน คิดเป็น 35.1% ของผู้มีงานทำ และทำงานนอกภาคเกษตรกรรม 24.98 ล้านคน คิดเป็น 64.9% แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน พบว่า ในภาคเกษตรกรรมผู้ทำงานลดลง 130,000 คน จาก 13.64 ล้านคน เป็น 13.51 ล้านคน ขณะที่นอกภาคเกษตรกรรมมีจำนวนผู้ทำงานเพิ่มขึ้น 250,000 คน จาก 24.73 ล้านคน เป็น 24.98 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นการเพิ่มขึ้นในสาขากิจกรรมอสังหาริมทรัพย์มากที่สุด 90,000 คน ขณะที่สาขากิจกรรมการบริการด้านอื่น ๆ เช่น กิจกรรมบริการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพร่างกาย การดูแลสัตว์เลี้ยง การบริการซักรีดและซักแห้ง 80,000 คน สาขาการก่อสร้าง 60,000 คน สาขาการผลิต สาขากิจกรรมทางการเงินและการประกันภัย และสาขา การศึกษาเพิ่มขึ้นเท่ากันคือ 40,000 คน และสาขาการบริหารราชการ การป้องกันประเทศและการประกันสังคมภาคบังคับ 20,000 คน ส่วนสาขาที่ลดลงมากที่สุดคือสาขาการขายส่งการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และรถจักรยานยนต์ 190,000 คน และสาขากิจกรรมด้านสุขภาพและงานสังคมสงเคราะห์ 80,000 คน สำหรับสาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า และสาขา ที่พักแรมและบริการด้านอาหารไม่เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น ๆ“
 
(เดลินิวส์, 2/9/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net