สหภาพแรงงาน 'อินเดีย-อินโดนีเซีย' ประท้วงครั้งใหญ่

แรงงานอินเดียร่วม 150 ล้านคนประท้วงแผนปฏิรูปแรงงานของรัฐบาล ด้านแรงงานอินโดนีเซียประท้วงรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
 
 
การประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงานอินเดียที่ Gurgaon เมื่อวันพุธ (2ส.ค.) ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: indianexpress.com)
 
 
เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2558 ที่ผ่านมา VOA รายงานว่าองค์กรสหภาพแรงงานในอินเดียได้นำแรงงานอินเดียราว ๆ 150 ล้านคนหยุดงานประท้วงกฎหมายปฏิรูปแรงงานทั่วประเทศเมื่อวันพุธ แรงงานเหล่านี้มาจากอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้ง เหมืองแร่และถ่านหิน การธนาคาร และแท็กซี่ โดยการประท้วงจัดขึ้นโดยสหภาพแรงงานใหญ่ 10 แห่ง ซึ่งกล่าวหาว่ากฎหมายปฏิรูปแรงงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี Narendra Modi มุ่งสนับสนุนธุรกิจ และจะส่งผลเสียต่อสวัสดิการและความมั่นคงในการว่าจ้างของแรงงาน ตัวอย่างเช่น ตามกฎหมายใหม่ ธุรกิจที่จ้างแรงงานต่ำกว่า 300 คน จะสามารถปลดคนออกจากงานได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐบาล กฎหมายฉบับปัจจุบันกำหนดจำนวนแรงงานไว้ที่ 100 คน
 
ทั้งนี้การปฏิรูปแรงงานเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลอินเดีย ที่ต้องการชักจูงให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ และปรับเปลี่ยนให้อินเดียกลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม
 
 
 
แรงงานอินโดนีเซียประท้วงรัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
 
 
การประท้วงของกลุ่มสหภาพแรงงานในอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา (ที่มาภาพ: thejakartapost.com)
 
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ผ่านมา Jakarta Post รายงานว่าสมาชิกสหภาพแรงงานประมาณ 13,000 คน เดินขบวนประท้วงในกรุงจาการ์ตา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมาอย่างต่อเนื่อง และได้กระทบต่อการใช้จ่ายค่าครองชีพของแรงงาน โดยคนงานที่เข้าร่วมชุมนุมประท้วงในครั้งนี้ส่วนใหญ่มาจากภาคอุตสาหกรรมเหล็กจากกว่า 40 สหภาพแรงงาน โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลลดราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมทั้งแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยการสร้างเสถียรภาพให้กับค่าเงินรูเปียะห์ ซึ่งนายจ้างมักจะอ้างปัญหาเศรษฐกิจในการเลิกจ้างแรงงาน
 
อนึ่งจากการรายงานของสำนักข่าวต่างประเทศอื่น ๆ ระบุว่านอกจากการประท้วงในกรุงจาการ์ตาแล้วยังมีรายงานว่าอีก 20 จังหวัดทั่วประเทศก็มีการจัดการชุมนุมประท้วงด้วยเช่นกัน ทั้งนี้อินโดนีเซียประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของภูมิภาคอาเซียน มีอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 5.81 จากการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่นักวิเคราะห์ระบุว่าตัวเลขนี้ไม่ได้ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งตัวเลขอัตราการว่างงานที่แท้จริงของอินโดนีเซียจะสูงกว่านี้มาก ส่วนอัตราการเติบโตรายปีของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ก็ลดลงอยู่ที่ร้อยละ 4.67 ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้  ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียเองก็มีแผนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ ซึ่งประกอบไปด้วยมาตรการจูงใจด้านภาษีอากร สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การกลั่นน้ำมัน หรือการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท