Skip to main content
sharethis

สารี อ๋องสมหวัง สปช. สายผู้บริโภค ระบุเห็นข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญในเรื่องสิทธิของประชาชนที่เพิ่มขึ้น ชี้กังวลประเด็นการเมือง เช่น ที่มา ส.ว. การมีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เช่นกัน แต่เชื่อใครมีอำนาจ ประชาชนก็ต้องต่อสู้-เรียกร้องเองอยู่ดี จึงสนใจเครื่องมือในรัฐธรรมนูญมากกว่า


สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรรมาธิการยกร่างฯ ว่า ข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นในส่วนของสิทธิของประชาชน สิทธิของกลุ่มต่างๆที่ดีขึ้น หมายถึงว่าก้าวหน้าขึ้น ซึ่งต้องบอกว่าจริงๆ รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับ หมวดที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิของพลเมืองมันก็จะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ มันก็คงจะมีน้อยที่มันจะล้าหลังไปอย่างเช่นถ้ามองในเรื่องรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ชัดเจนเลยก็คงเป็นเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน ด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องการมีส่วนร่วม เรื่องธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อม และก็เรื่องเพศสภาพถึงแม้ว่าอาจจะมีแค่ส่วนเดียว แต่ก็อาจจะเป็นครั้งแรกที่พูดถึงเรื่องพวกนี้

สารีกล่าวต่อว่า อีกส่วนหนึ่งคือเรื่องสาธารณสุข สิทธิของชุมชน เรื่องสิทธิในที่อยู่อาศัย และสิทธิในความเข้าถึงสินค้าบริการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต ซึ่งหลายคนก็บอกว่า ทำไมเขียนว่า “ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ” เยอะมาก กรรมการยกร่างได้ตอบคำถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอยู่มาตรานึงเลยที่ไม่ต้องรอกฎหมายบัญญัติคือมาตรา 32 ที่ว่า ทุกคนอ้างสิทธิของตนได้ อันนี้ก็จะคุ้มครองเลยถึงแม้ว่าจะไม่มีกฎหมายบัญญัติขึ้นมา คือปกติ เวลาเรามีสิทธิแล้วเขียนว่า “ตามที่กฎหมายบัญญัติ” ต้องรอให้บัญญัติกฎหมายก่อน แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เขียนบอกเลยว่าเรามีสิทธิถึงแม้ว่าไม่ได้บัญญัติกฎหมายก็ตาม

สารี กล่าวว่า นอกจากนี้ก็จะมีเรื่องสุขภาพ แล้วก็เรื่องของกลุ่มเด็กเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เรื่องสวัสดิการทางสังคมก็เขียนไว้อยู่ระดับนึง และที่น่าสนใจอีกอัน ก็คงเป็นเรื่องของการเงินการคลังด้านสังคม และก็เรื่องที่เกี่ยวกับตนเองโดยตรงคือเรื่องคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเรื่องคุ้มครองผู้บริโภคอย่างที่บอกไปว่า การเขียนรับรองว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเข้าถึงบริการ เรียกว่าบริการขั้นพื้นฐานอันนี้ ซึ่งจะต้องมีสิทธิในการได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่มีมาตรฐานที่เหมาะสม ซึ่งรวมไปถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่มและที่อยู่อาศัย อันนี้ก็ถือว่าสอดคล้องกับหลักเรื่องสิทธิผู้บริโภคในระดับสากล ที่วัดด้วยเรื่องสิทธิที่ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

นอกจากนี้ สารีระบุว่า ยังมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญ ให้องค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคสามารถดำเนินคดีที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้ ซึ่งจริงๆ เสนอว่า การฟ้องคดีจริงๆ เป็นเรื่องพื้นฐาน เพราะฉะนั้นปกติองค์กรสาธารณประโยชน์ทั่วไปก็ฟ้องคดีได้โดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่ว่าปัญหาที่ผ่านมาก็คือว่า เมื่อฟ้องคดีแล้ว ไม่สามารถไปบังคับคดีได้ เพราะว่าโดยเฉพาะอย่างเช่นในกรณีศาลปกครอง เขาก็จะบอกว่าเราไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ เพราะฉะนั้นตัวนี้ก็ยังไม่ได้เขียนไปถึงตรงนั้น แต่ว่า กมธ. ก็นำเอาไปเขียนไว้ในเจตนารมณ์ในเรื่องของอำนาจในการใช้สิทธิบังคับคดี ของกลุ่มที่ฟ้องคดีเพื่อประโยชน์สาธารณะ

“ในส่วนที่น่าเสียดายก็คือ ระบบปฏิรูปที่เรียกว่าในรัฐธรรมนูญเองไม่ได้ใส่ไว้ทั้งหมดเพียงแต่ว่าเขียนกลไกบางส่วนไว้เท่านั้นว่าจะไปทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูป” สารีกล่าวและว่า “จริงๆ ก็คิดว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ส่วนนึงก็ถูกประชาสัมพันธ์ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่อาจจะเรียกว่า พลเมืองเป็นใหญ่ ปฏิรูปประเทศ ดังนั้นควรจะเขียนเรื่องการปฏิรูปไว้ให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญ แต่ว่าในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็จะเขียนตัวบทปฏิรูปไว้จำนวนนึง แต่ว่าก็ไม่ได้มีรายละเอียดในด้านต่างๆซึ่งด้านต่างๆจะถูกเขียนอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ”

เมื่อถามว่า ภายใต้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ข้อดีที่ว่ามาจะสามารถบังคับใช้ได้หรือไม่ สารีตอบโดยยกตัวอย่างประเด็นพลังงานว่า รัฐบาลทุกแบบต่างก็ให้ความสำคัญเรื่องพลังงานหมุนเวียนน้อย เวลามีปัญหาพลังงานมีปัญหาก็จะคิดแต่พลังงานฟอสซิล หรือพลังงานที่อาจจะเรียกว่าทำลายทรัพยากรธรรมชาติ

“ก็ต้องบอกเลยว่ามันไม่มีอะไรง่ายเลยสำหรับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบไหน รัฐบาล ม.44 รัฐบาลประชาธิปไตย กลไกของฝั่งประชาชนยากเสมอ หรือการเคลื่อนของภาคประชาชนไม่ได้ง่าย เพราะว่าประเทศนี้ก็ต้องบอกว่ายังให้ความสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเข้มข้น ต้นทุนต่ำ ผ่านการเอื้ออำนวยจากระบบภาษีอะไรต่ออะไรยังเป็นแบบเดิม เพราะฉะนั้นมันก็ไม่ได้ง่ายถึงแม้ว่าภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ในอนาคตก็ตาม” สารีกล่าวและว่า “ยังไงประชาชนที่สนใจในเรื่องพวกนี้ก็ต้องทำงาน และประชาชนเองก็ต้องลุกขึ้นมาจัดการในเรื่องพวกนี้ด้วยตนเอง ไม่เห็นง่ายสักเรื่องนึง ไม่ว่าจะรัฐบาลไหนก็ตาม แม้กระทั่งเรื่องวินาที (คิดค่าโทรศัพท์ตามจริงเป็นวินาที) รัฐบาลนี้ก็ยังทำไม่ได้เลย หรือข้าราชการก็ไม่ได้ทำเลย มันก็ต้องไปเรียกร้อง ต้องไปกดดันทุกรัฐบาล”

สำหรับการตัดสินใจในวันอาทิตย์นี้ สารีระบุว่า ก็ต้องเวทน้ำหนักทั้งหมด แล้วก็ถ้ารับก็ไปทำประชามติ เพราะ สปช.ไม่ไช่คนตัดสินใจสุดท้าย แต่เป็นประชาชนซึ่งต้องเป็นคนที่ตัดสินใจที่จะรับกติกานี้ ซึ่งเหมือนเป็นกติกาสำคัญที่จะเกิดกฎหมายเรื่องสิทธิอีกเยอะแยะมากมาย เป็นคนตัดสินใจ ดังนั้นถ้า สปช. เห็นชอบถึงจะไปประชามติ แต่ถ้า สปช. ไม่เห็นชอบก็ต้องมีกรรมการยกร่างชุดใหม่ขึ้นมา

สารี กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า สปช. ก็มีความยากอยู่เหมือนกัน คือขานึงก็ก้าวหน้า เรียกว่าขาสิทธิ ขาอะไรต่อมิอะไรก็ก้าวหน้า แต่ว่าเราก็มีข้อกังวลเหมือนกัน อย่างเช่นเรื่องวุฒิสภา ที่ไม่ได้ใช้เงื่อนไขในส่วนของกรรมการสรรหาวุฒิสภาชุดแรก หรือแม้กระทั่งกรรมการยุทธศาสตร์ที่ทุกคนวิพากษ์วิจารณ์กันว่า เอ๊ะ…มันจะเป็นคู่ขัดแย้งกับประชาชนที่จะมาสนับสนุนรัฐบาลมั้ย แต่ว่ายังไงก็ตาม เราไม่ใช่คนตัดสินใจสุดท้าย แต่ว่าก็ต้องตัดสินใจให้ดีที่สุดจริงๆ โดยส่วนตัวก็อยากเห็นการเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง

“เรื่องของประชาชนมันเป็นเรื่องของจริง แต่ว่ามันถูกให้ความสำคัญน้อย”  สารีกล่าวและว่า อย่างเช่นเรื่องการมีส่วนร่วม ในมาตรา 64 เขียนไว้ได้ดีมาก เปิดการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจกับโครงการของรัฐ มาตรา 62 เรื่องฟังความคิดเห็น ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ มีความก้าวหน้าขึ้นจากเดิมที่แค่ฟังความคิดเห็น  ตอนนี้ก็ก้าวไปถึงเรื่องการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ

“เรา กลุ่มที่อาจเรียกได้ว่าเป็นเอ็นจีโอใน สปช. ก็ได้นะ ก็ต้องบอกได้ว่าเราก็มีจุดอ่อนนะ อย่างเช่นเราก็อาจจะให้ความสำคัญเรื่องการเมือง ที่มา ส.ส. ที่มา ส.ว. น้อยกว่าในหมวดนี้ เราอาจจะให้ความสำคัญกับสิทธิมากกว่า ถ้าว่าหมวดการเมืองเนี่ยเราก็จะเห็นว่าเขียนไว้ยังไง ก็อาจจะมีช่องว่าง ช่องทางที่จะให้ปรับตัวได้อยู่ดี เพราะฉะนั้น เราอาจจะสนใจเรื่องกระบวนการตรวจสอบ กระบวนการที่ประชาชนจะปฏิบัติการ เราสนใจในส่วนนี้ หรือเครื่องมือของประชาชนที่จะมีในรัฐธรรมนูญ” สารีทิ้งท้าย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net