Skip to main content
sharethis

สถาปนิกชี้การแก้ปัญหาน้ำท่วม โดยการไล่รื้อชุมชนริมคลอง เพื่อสร้างเขื่อน และประตูระบายน้ำ เป็นการแก้ไขปัญหาเพียงเสี้ยวเดียว ชี้มองปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ไม่ครบทุกมิติ

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Khon-Kool-Klong

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังเร่งเดินหน้ารื้อชุมชนสายคลองลาดพร้าว โดยให้เหตุผลว่า จะมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) และประตูระบายน้ำ คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากบริเวณเขื่อนเดิมอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหงไปทางประตูระบายน้ำคลอง สองสายใต้ วงเงินงบประมาณ 2,426  ล้านบาท งบประมาณ 4 ปี คือปี 2558-2561 คาดว่าจะลงนามสัญญาจ้างในวันที่ 30 กันยายน 2558  ระยะเวลาก่อสร้าง 42  เดือน

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Khon-Kool-Klong

นโยบายดังกล่าว มีจุดเริ่มต้นมาจากแผนการจัดการน้ำระดับชาติเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม ผลพวงจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้สั่งดำเนินการโดยตั้งเป็นคณะกรรมการอำนวยการในการแก้ปัญหาชุมชนริมคูคลองนี้ขึ้นมา มีรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กลาโหม และการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานทั้ง 3 คน มีเลขาการ คสช. มาเป็นเลขานุการกรรมการ โดยแบ่งย่อยการทำงานออกมาเป็น 3 อนุกรรมการ คือ คณะอนุกรรมการการโยกย้ายประชาชน คณะอนุกรรมการการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัย คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์

ภาพจากเฟซบุ๊กแฟนเพจ Khon-Kool-Klong

อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวตั้งอยู่บนข้อมสมมติฐานที่ว่า หนึ่งในสาเหตุของน้ำท่วม กทม.คือ ขนาดคลองยังกว้างไม่พอต่อการระบายน้ำ อีกทั้งยังมีบ้านเรือนจำนวนราว 23,500 หลังคาเรือน สร้างรุกล้ำพื้นที่คลอง ทางแก้ปัญหาคือ ขยายขนาดคลองให้กว้างขึ้นจากเดิม เป็น  38 เมตร เป็นระยะทาง 128.37 กิโลเมตร ซึ่งปัจจุบันมีประชาชนอาศัยอยู่แนวริมคลองทั้ง 9 สาย ราว 12,037 ครัวเรือน เป็นจำนวนประชากรทั้งสิ้น 68,087 คน จำเป็นต้องย้ายออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิม

ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ อาจารย์จากภาควิชาการผังเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง การจัดการปัญหาน้ำท่วมอง กทม. ที่ไล่รื้อชุมชนริมคลองว่า ยังไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ครบทุกมิติ เนื่องจากปัญหาน้ำท่วม กทม.ครั้งที่ผ่านมานั้น เกิดจากน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือบวกกับปัจจัยจากน้ำทะเลหนุน ส่งผลต่อประสิทธิภาพการระบายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยถูกรวมเข้าไปในปัญหาเรื่องน้ำท่วม ขณะที่ปัญหาการรุกล้ำริมคลองเป็นเพียงปัจจัยเสี้ยวเดียว

“ปัญหาการรุกล้ำทำให้การระบายน้ำมีปัญหาเป็นแค่ความจริงเสี้ยวเดียว ต้องมองปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพให้ครบทุกมิติ น้ำที่่กรุงเทพฯ เสี่ยงอยู่มี 3 น้ำ คือน้ำที่ไหลมาจากทางเหนือตอนน้ำท่วมปี 2554 เป็นน้ำท่ากับน้ำทุ่ง สองคือน้ำฝน น้ำท่วม 2554 ฝนไม่ได้ตกในกรุงเทพฯ เลย และสามที่สำคัญและหายไปจากแนวคิดเรื่องน้ำท่วมคือน้ำทะเลหนุน สมมติว่ามีน้ำทะเลหนุนในช่วงฝนตกหนักประสิทธิภาพการระบายน้ำลงทะเลจะลดลงไปครึ่งหนึ่ง” ผศ.ดร.วิจิตรบุษบา กล่าว

ติดตามต่อได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ Khon-Kool-Klong

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net