Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์ อับดุลฮาฟิซ หิเล ผู้ประสานงานหลัก “SHIF 2015” รวมงานฮาลาล-สร้างสันติสุข หวังเริ่มที่ “ผู้นำศาสนาอิสลามจะเป็นคนกลางสร้างสันติภาพ” กับข้อสงสัยเรียกร้องมานาน ทำไมผู้นำศาสนาเพิ่งออกมา

ความน่าสนใจของงาน “SHIF 2015” อยู่ที่การรวม“เทศกาลฮาลาล”กับ“การหาทางออกของปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้” ไว้ด้วยกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีองค์กรผู้นำศาสนาอิสลามในประเทศเป็นหัวเรือใหญ่ในความพยายามที่จะเป็นคนกลางสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในพื้นที่

เพราะเป็นงานที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (กอท.) และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอจ.ใต้) จัดร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยใช้ชื่องานว่า “เทศกาลนานาชาติฮาลาลชายแดนใต้” หรือ “Southern Border Halal International Fair” (SHIF 2015) ระหว่างวันที่ 8-10 กันยายน 2558 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา

งานนี้มีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้นสู่การเป็นผู้นำธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยวฮาลาลในระดับอาเซียนและนานาชาติ พร้อมผลักดันเศรษฐกิจฮาลาลให้เป็นปัจจัยความสำเร็จในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ โดยเชิญโต๊ะอิหม่ามมัสยิดกว่า 2,800 แห่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้าร่วม และเชิญผู้ที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทั้งจากในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านประเทศมาร่วมพูดคุยด้วย

คลิกอ่านกำหนดการ Southern Border Halal International Fair 2015 (SHIF 2015)

ทำไมจึงต้องเป็นว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ หิเล?

งานใหญ่ระดับนี้มีว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ หิเล กรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลาเป็นผู้ประสานงานหลักในพื้นที่ ในฐานะทีมงานสำคัญของพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ เลขาธิการ กอท. เพราะเขามีบทบาทสำคัญหลายอย่างและยังทำงานในหลายองค์กรในพื้นที่ด้วย เช่น เป็นประธานชมรมศิษย์เก่าอินโดนีเซียในประเทศไทย, ประธานมูลนิธิลุกมานูลฮากีม, ประธานสมาพันธ์ส่งเสริมและพัฒนาสังคมสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้, นายกสมาคมโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามจังหวัดยะลา, นายกสมาคมการศึกษาเอกชนจังหวัดยะลา, และรองประธานสมาพันธ์โรงเรียนเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เขาเป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่อย่างดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญสามารถชี้นำสังคมในพื้นที่ได้ รวมทั้งกลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม กลุ่มผู้นำภาคประชาสังคมและเจ้าหน้าที่รัฐ

ว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ เล่าว่า ตนเคยร่วมงานกับพล.ต.ต.สุรินทร์ มาก่อน ซึ่งพล.ต.ต.สุรินทร์ มองว่า ตนขับเคลื่อนงานหลายอย่างในพื้นที่ จึงชวนมาร่วมกันจัดงานนี้และได้วางแผนที่จะร่วมดำเนินงานด้านการสร้างสันติสุขในพื้นที่กันต่อไปในอนาคตด้วย

“ผมเคยทำงานด้านฮาลาลมากว่า 12 ปีตั้งแต่มีพระราชบัญญัติบริหารกิจการศาสนาอิสลาม พ.ศ.2540 ที่กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดรับผิดชอบเรื่องฮาลาล ซึ่งมี 39 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดก็ให้ กอท.รับผิดชอบ ซึ่งผมเคยเป็นเลขานุการฝ่ายกิจการฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมอิสลามประจำจังหวัดยะลา ก่อนจะออกมาเป็นที่ปรึกษาจนถึงปัจจุบัน”

งานฮาลาลเกี่ยวข้องกับการสร้างสันติสุขอย่างไร?

ว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ บอกว่า แม้ชื่อของงานเกี่ยวกับเรื่องฮาลาล แต่ กอท.มองว่าพื้นที่นี้เกิดปัญหาความไม่สงบมานานกว่า 11 ปีแล้ว การแก้ปัญหาของทุกรัฐบาลก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ยังมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นมุสลิม แต่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดในพื้นที่ก็คิดมาตลอดว่าจะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร

“ด้วยเหตุนี้ ที่ประชุม กอท.จึงมีมติให้ พล.ต.ต.สุรินทร์ เป็นผู้รับผิดชอบในการขับเคลื่อนงานร่วมกับสำนักจุฬาราชมนตรี และประธานคณะกรรมการอิสลามใน 5 จังหวัดชายแดนใต้เพื่อเป็นตัวเชื่อมหรือคนกลางระหว่างฝ่ายรัฐกับฝ่ายผู้เห็นต่างเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่”

ว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ บอกว่า ในอดีตฝ่ายรัฐกับฝ่ายผู้เห็นต่างมักจะไปพูดคุยเจรจากันในต่างประเทศ แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล วิธีการแก้ปัญหาก็เปลี่ยนแปลงไปด้วยหรือมีการเปลี่ยนตัวแทนพูดคุยเจรจากันใหม่ ทำให้การแก้ปัญหาไม่ประสบความสำเร็จ ทาง กอท.จึงมองว่าตนเองก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการพูดคุยได้ โดยจะใช้เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้น

กอท.ขอเป็นคนกลางสร้างสันติภาพ

“ในอดีตคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและ กอท.ไม่เคยคิดที่จะเป็นคนกลางในการแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เลย แต่อาจจะเคยไปร่วมพูดคุยบ้างบางเวที แล้วก็กลับมาพัฒนางานที่ตัวเองถนัดเหมือนเดิม แต่สุดท้ายเราก็กลับมามองว่าองค์กรผู้นำศาสนานี้ก็ควรเป็นเจ้าภาพและต้องเชิญทุกๆ องค์กรมาร่วมแก้ไขปัญหากันอยู่ดี”

จากนั้น จึงมีการประสานองค์กรต่างๆ เช่น โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม มูลนิธิศูนย์ประสานงานตาดีกา 5 จังหวัดชายแดนใต้ สถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนใต้ และองค์กรอื่นๆ ให้มาร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องการสร้างสันติภาพ

“แต่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและ กอท.ก็มองว่า การพูดคุยสันติภาพมีเกิดขึ้นมีการดำเนินการในต่างประเทศแล้ว จึงควรจัดให้มีในพื้นที่ด้วย ซึ่งทางคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและ กอท.จะมามีบทบาทเป็นคนกลางในส่วนนี้ เพื่อจะได้ทราบว่าฝ่ายรัฐต้องการอะไรและฝ่ายที่เห็นต่างต้องการอะไร หรืออะไรที่เป็นความต้องการร่วมกันบ้าง”

คนเรียกร้องมานาน ทำไมผู้นำศาสนาเพิ่งออกมา?

ว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ บอกว่า เหตุรุนแรงเกิดขึ้นมากว่า 11 ปี ผู้ที่ตกเป็นจำเลยมากที่สุดคือผู้นำศาสนา รวมไปถึงอุสตาซ(ครูสอนศาสนาอิสลาม) และครูสอนดาตีกา ทั้งที่เหตุการณ์ส่วนใหญ่ยังไม่สามารถหาข้อเท็จจริงได้ ในขณะที่ผู้นำศาสนาอิสลามเองก็ไม่กล้าส่งเสียงออกมาเพราะเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน อาจถูกทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้เห็นต่างเข้าใจผิดได้

“การเข้าใจผิดตรงนี้ทำให้ผู้นำศาสนาเสียชีวิตไปหลายคนแล้ว แต่ตอนนี้ผู้นำศาสนาจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปอีกคงไม่ได้แล้ว เพราะพื้นที่ขัดแย้งอื่นๆ เขาแก้ปัญหากันไปไกลแล้ว และประชาคมอาเซียนก็กำลังจะเปิด จึงต้องมาคิดกันว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดความสงบขึ้นมา”

การปกครองชายแดนใต้ต้องไม่ใช่แบบเดิม

ว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ บอกว่า ความสงบในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าต้องเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องพิจารณาดูว่าสิ่งที่ควรจะเป็นคืออะไร เช่น ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วทำให้เหตุการณ์สงบ เราก็ควรที่จะแก้กฎหมายให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ เพื่อแลกกับการที่ประชาชนไม่ต้องมาบาดเจ็บล้มตายกันอีก เป็นต้น

ส่วนตัวมองว่า พื้นที่ชายแดนใต้จะสงบได้แต่ต้องไม่ใช่ภายใต้โครงสร้างการปกครองในปัจจุบัน กล่าวคือโครงสร้างการปกครองจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง อาจจะต้องพบกันครึ่งทางระหว่างความต้องการของฝ่ายต่างๆ จะเป็นแบบใดก็ได้ที่ทุกคนได้มาร่วมกันออกแบบ ไม่ใช่ตั้งธงเอาไว้แล้วว่าต้องการแบบใดแบบใดแบบหนึ่ง

เพราะมีการพูดคุยแล้วหรือเพราะมี MARA PATANIจึงออกมา?

“ทุกคนเห็นด้วยที่มีกระบวนการสร้างสันติภาพในพื้นที่ เพราะมีเป้าหมายที่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เกิดสันติภาพหรือสันติสุข กอท.จึงออกมาโดยมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายได้ผลลัพธ์ที่ Win-Win และประชาชนเองก็ต้อง Win ด้วย”

จะมีวิธีการขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร

ว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ บอกว่า หลังจากนี้จะนัดประชุมหารือว่าจะขับเคลื่อนกันอย่างไร และไม่เฉพาะคณะกรรมอิสลามเท่านั้น แต่จะเชิญหลายๆ องค์กรมาร่วมกันขับเคลื่อนด้วยกัน หลังจากคุยกันแล้วเราอาจตั้ง 2-3 ประเด็น เพื่อเสนอให้ทั้งสองฝ่ายพิจารณาเพื่อวัดความจริงใจต่อกัน หากเสนอไปแล้วใครจะรับหรือไม่ก็ไม่เป็นไร แต่อย่าลืมว่าโลกกำลังมองอยู่

“การสร้างสันติภาพไม่ใช่หน้าของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ต้องมาทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกัน เพราะมีเป้าหมายร่วมกันคือสันติภาพแต่อาจมีวิธีการที่ต่างกัน อย่าง Deep South Watch ก็มีวิธีการอีกแบบแต่ก็มีเป้าหมายเพื่อสันติภาพเช่นกัน หรือ MARA PATANI ก็ใช้อีกวิธีการหนึ่งซึ่งไม่เหมือนกับเรา แต่เป้าหมายของเขาก็คือสันติภาพเช่นกัน”

“เราต้องสร้างวัฒนธรรมที่ไม่ทะเลาะกัน เพราะปกติองค์กรต่างๆ แม้ทำงานคล้ายกันก็มักจะทะเลาะกัน เราจะต้องเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมตรงนี้ให้ดีขึ้น”

คิดว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่?

ว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ บอกว่า ในงานสัมมนาครั้งนี้จะมีการพูดคุยกับผู้นำศาสนากว่า 3,000 คนว่า พวกเขาเหล่านั้นคิดเห็นอย่างไร เห็นด้วยกับเราหรือไม่ ส่วนฝ่ายรัฐนั้น ทางพล.ต.ต.สุรินทร์ได้สอบถามทางแม่ทัพภาคที่ 4 แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าคำตอบคืออยากเห็นความสงบ และยังเสนองบประมาณมาให้ด้วย เช่นเดียวกับทาง ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ที่ต้องการให้งบประมาณมาด้วย แต่ กอท.ได้ตอบปฏิเสธ เพราะต้องการใช้งบประมาณของตัวเอง

“ในเมื่อเราเสนอตัวที่จะเป็นคนกลาง แล้วเราจะรับเงินจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้อย่างไร เพราะอาจถูกมองว่าไม่เป็นกลางได้”

เราหวังว่า งานนี้อย่างน้อยจะเกิดกระแสของการสร้างสันติสุขขึ้นมา ยกตัวอย่างกรณีอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซียหลังเกิดเหตุสึนามิ มีป้ายรณรงค์เรื่องสันติภาพจำนวนมาก เช่นที่เขียนว่า DAMAI ITU INDAH (สันติภาพเป็นสิ่งสวยงาม) เต็มไปหมด แต่ที่นี่ไม่ปรากฏป้ายลักษณะนี้เลย ยกเว้นป้ายที่ฝ่ายรัฐทำอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้วทุกฝ่ายต้องทำ ทั้งคณะกรรมการอิสลาม โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ปอเนาะ โรงเรียนตาดีกา แม้แต่องค์กรปกครองท้องถิ่น ทั้ง อบจ. เทศบาล อบต.ก็ต้องทำ เป็นต้น

“ผมเชื่อว่าเมื่อผู้นำศาสนาออกมามีบทบาทอย่างนี้แล้ว ผู้คนจะตามเพราะที่นี่ขาดผู้นำที่กล้าหาญที่จะออกมานำมานาน และผู้คนก็เบื่อกับเหตุไม่สงบมานานมากแล้ว”

และการที่คณะกรรมการอิสลามออกมาเสนอตัวที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนสันติภาพครั้งนี้จะมีพลังมากเพราะมีเครือข่ายผู้นำศาสนาเยอะกว่า แต่ก็ยินดีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกองค์กรเข้าร่วม เพราะเราไม่ได้มีฮีโร่เพียงหนึ่งเดียว

อยากให้ช่วยบอกว่าใครหรือองค์กรไหนที่ขับเคลื่อนงานด้านนี้บ้าง เพื่อที่เราจะได้เชิญมาร่วมกันออกแบบอนาคตร่วมกัน เพราะโจทย์นี้มีคำตอบเหมือนกันนั่นคือสันติภาพ

คำว่า“สันติภาพ”กับ“สันติสุข”ต่างกันอย่างไร

ว่าที่ ร.ต.ดร.อับดุลฮาฟิซ ตอบว่า ผมไม่ถนัดเรื่องภาษา แต่มองว่าทั้งสองคำ แปลเป็นภาษามลายู คือ Kedamaian หรือ Damai เหมือนกัน คำว่าสันติสุข ไม่ได้หมายถึง Keamanan อย่างที่หลายคนแปล เพราะคำว่า Keamanan แปลว่า ความปลอดภัย

หรือหากจะแปลเป็นภาษาอังกฤษ ทั้ง 2 คำ ก็ยังแปลว่า Peace แม้บางคนจะแปลคำว่าสันติสุข เป็น happiness ซึ่งความจริงแล้ว happiness แปลว่า ความสุขไม่ใช่สันติสุข

ที่สำคัญคือ ทั้ง 2 คำนี้ มีใจความหลักอยู่ที่คำว่า“สันติ”ไม่ใช่อยู่ที่คำว่า“ภาพ”หรือคำว่า“สุข”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net