คุยกับแกนนำ Bersih 4.0: ถ้าจะเปลี่ยนรัฐสภาให้ดีขึ้น ยังต้องทำอะไรอีกมาก

ประชาไทสนทนากับมัสจาลีซา แฮมซา 1 ใน 7 แกนนำเบอเซะที่เพิ่งจัดชุมนุมเรียกร้องนายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออก หลังถูกกล่าวหายักยอกเงิน 2.45 หมื่นล้านบาทจากกองทุน 1MDB ทั้งนี้แม้หลังชุมนุมแกนนำ 7 รายถูกตำรวจฟ้อง 3 ข้อหา แต่มัสจาลีซายังเชื่อว่าการที่ผู้คนไม่ได้รู้สึกกลัว-ออกมาชุมนุมเยอะมาก นับเป็นความสำเร็จ อย่างไรก็ตามถ้าต้องการเปลี่ยนรัฐสภาให้ดีขึ้น ผู้ชุมนุมยังต้องทำอะไรอีกมาก

บริเวณถนน Pasar Besar ด้านที่มุ่งไปทางจัตรัสเมอเดก้า ผู้ชุมนุมบ้างยืน บ้างนั่งพักข้างทาง ระหว่างการชุมนุม Bersih 4.0 ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2558

ผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเมอเดก้า เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2558

9 ก.ย. 2558 - หลังจากที่พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมหรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih) ชุมนุมใหญ่ที่เรียกว่า "Bersih 4.0" ที่จัตุรัสเมอร์เดก้า ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ของวันที่ 29 ส.ค. จนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 30 ส.ค. นี้ เพื่อเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออก หลังจากถูกกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อได้แก่ 1. การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 2. รัฐบาลที่ตรวจสอบได้ 3. เสรีภาพในการชุมนุม 4. ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง และ 5. รักษาเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ประชาไทมีโอกาสสัมภาษณ์ มัสจาลิซา แฮมซา (Masjaliza Hamzah) คณะกรรมการของเบอเซะ ตำแหน่งเหรัญญิก ซึ่งภายหลังการชุมนุมเมื่อ 30 ส.ค. เธอยังเป็น 1 ใน 7 แกนนำที่ถูกตำรวจออกหมายเรียก เพื่อสอบปากคำ โดยถูกตั้ง 3 ข้อหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 124C พยายามดำเนินการซึ่งเป็นภัยต่อประชาธิปไตยรัฐสภา ซึ่งตามมาตรานี้ผู้ที่พยายามกระทำการดังกล่าว หรือเตรียมการ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ส่วนอีก 2 ข้อหา เป็นไปตามมาตรา 141 ในประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดฐานชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยฟ้องพ่วงมาตรา 120 ปกปิดเจตนาที่จะกระทำความผิดกฎหมายอาญา

ทั้งนี้ก่อนหน้าการชุมนุม ผู้บัญชาการตำรวจกัวลาลัมเปอร์ ระบุว่าการชุมนุมเบอเซะ 4.0 ขัดต่อกฎหมายการชุมนุม (PAA) เพราะผู้จัดการชุมนุมไม่ส่งแบบฟอร์มที่สมบูรณ์ รวมทั้งส่งแผนการชุมนุม เส้นทางและสถานที่เพื่อให้ตำรวจอำนวยความสะดวก ส่วนคณะกรรมการด้านการสื่อสารและมัลติมีเดีย (MCMC) ของมาเลเซีย ได้ปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลการชุมนุม Bersih 4.0 โดยอ้างว่าการชุมนุมดังกล่าว "คุกคามเสถียรภาพของประเทศ"

เช่นเดียวกับ  อะหมัด ซาอิด ฮามิดี (Ahmad Zahid Hamidi) รมว.มหาดไทย ได้ออกคำสั่งของรัฐมนตรีมหาดไทย ระบุว่า เสื้อเหลืองซึ่งมีข้อความว่า "Bersih 4" และสิ่งพิมพ์ แผ่นพับที่เกี่ยวข้องกับ "Bersih 4" ถือว่าผิดกฎหมาย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

โดยต่อไปนี้เป็นการถาม-ตอบ ประเด็นต่อประเด็น กับหนึ่งในแกนนำผู้ชุมนุมเบอเซะ มัสจาลิซา แฮมซา

000

แกนนำเบอเซะ 7 คนที่ถูกตำรวจเรียกสอบสวน ในจำนวนนี้มี มัสจาลิซา แฮมซา (คนที่ 3 จากซ้าย) รวมอยู่ด้วย (ที่มา: Keadilandaily)

 

สถานการณ์ล่าสุดหลังการชุมนุมเป็นอย่างไร

หลังจากการชุมนุมจัดขึ้น มีพัฒนาการที่น่าสนใจ เรื่องแรก มีแกนนำ 7 คนถูกเรียกสอบ เท่าที่เราทราบ  1 ใน 7 คนจะถูกตั้งข้อหาในวันพุธ (2 ก.ย.) คือ มาเรีย ชิน อัมดุลลาห์ (Maria Chin Abdullah) ประธานเบอเซะ

เรื่องที่สอง รัฐบาลบอกด้วยว่าเราต้องเสียเงิน 65,000 ริงกิต (ราว 543,495 บาท) เป็นค่าทำความสะอาด รัฐมนตรีทวีตต่อสาธารณะว่า คุณระดมเงินบริจาคได้ 2.4 ล้านริงกิต แล้วทำไมถึงไม่สามารถจ่ายเงิน 65,000 ริงกิตได้ ฉันคิดว่านั่นเป็นความพยายามดิสเครดิตผลลัพธ์ของการชุมนุม

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่อาจจะนำไปสู่อันตรายคือ การทีรัฐบาลพยายามทำให้การชุมนุมเป็นเรื่องเกี่ยวกับเชื้อชาติ ถ้าคนที่ออกมาเป็นคนที่เชื่อเรื่องการเลือกตั้งที่ใสสะอาด เชื่อว่ารัฐบาลต้องปรับปรุงพฤติกรรมของตัวเอง  เชื่อว่าระบบรัฐสภาของเราต้องเข้มแข็งขึ้น คนออกมาชุมนุมไม่ใช่เพราะมาจากชุมชนเชื้อชาติ หรือมีภูมิหลังเรื่องเชื้อชาติ แต่เป็นเพราะพวกเขายึดถือคุณค่าเหล่านี้ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม เพราะว่ามีผู้ที่มีเชื้อสายจีนเข้าร่วมจำนวนมาก เลยมีคนบอกว่านี่เป็นชุมนุมของคนจีน และเป็นพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) อย่างไรก็ตาม พรรค DAP เป็นพรรคการเมืองแบบพหุเชื้อชาติ  ที่นำโดยคนเชื้อสายจีน แต่ในความรับรู้ของคนมองว่านี่เป็นพรรคของคนเชื้อสายจีน มันถูกทำให้เป็นเรื่องของเชื้อชาติ

สิ่งนี้เป็นการตีตราโดยคนที่ต่อต้านหรือไม่พอใจกับการที่เบอเซะสามารถดำเนินการได้โดยที่ไม่มีปัญหา ไม่มีความรุนแรง ไม่มีเรื่องสกปรก ฉันจึงคิดว่า นี่เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ต้องพูดถึง และในมาเลเซีย มันค่อนข้างเสี่ยง เรื่องเชื้อชาติเป็นเรื่องที่จุดติดง่าย บางส่วนของสังคมยังมีปฏิกิริยา และจริงๆ ก็คือมีปฏิกิริยาเกินกว่าเหตุกับประเด็นนี้

 

นี่เป็นแทคติกเก่าแบบที่ มหาธีร์ โมฮัมหมัด เคยใช้ (ในสมัยที่เป็นรัฐบาล) ใช่ไหม

ฉันคิดว่ามันเป็นสองระดับ ระดับแรก ถ้าคุณเข้าร่วมการชุมนุม และไม่ได้เป็นคนจีน คุณจะไม่ได้รู้สึกอะไร ถึงความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ไม่ได้มีความตึงเครียดทางเชื้อชาติอะไร เพราะคุณต่างสนับสนุนเป้าหมายเดียวกัน อย่างไรตามอีกระดับหนึ่งเป็นกำแพงของการกำหนดความรับรู้ ที่ทำให้คนรู้สึกว่าคนจีนออกมาชุมนุมจำนวนมาก

ทั้งที่ในความเป็นจริง การพูดถึงอัตลักษณ์เชื้อชาติในการชุมนุมต่ำมาก แต่ในความรับรู้ภายนอกมีคนคิดว่ามีเรื่องอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติสูงมาก และฉันคิดว่า งานของเราคือการเติมเต็มช่องว่างเหล่านี้

 

จากการสังเกตการณ์ของคุณ สื่อมาเลเซียรายงานเรื่องการชุมนุมสมดุลพอแล้วหรือยัง

ฉันคิดว่า มันก็เหมือนกับประเด็นอื่นๆ ในการตั้งคำถามกับอำนาจ การรายงานข่าวไม่สม่ำเสมอ ถ้าดูจากสื่อออนไลน์ในประเทศ เขาก็รายงานด้วยกรอบแว่นแบบวิพากษ์ ถ้ารัฐบาลตั้งข้อหากับแกนนำ เขาก็จะรายงานถึงผลกระทบกับคนที่มาชุมนุม และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน

แต่ถ้าดูสื่อสิ่งพิมพ์หลัก จะเล่นแต่เรื่องเชื้อชาติ เรื่องไม่จริง จะเน้นนำเสนอเรื่องคนไม่สนับสนุนการชุมนุม ไม่สนับสนุนข้อเรียกร้องของการชุมนุม หรือมหาธีร์ โมฮัมหมัด อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาดูการชุมนุมเบอเซะก็ถูกให้ความสำคัญ ทั้งนี้มหาธีร์ผู้มีจุดยืนไม่สนับสุนการชุมนุม แถมมาในเสื้อสีน้ำเงิน ไม่ใช่สีเหลือง แต่สื่อก็ไปให้ความสนใจ และกลายเป็นข่าว แม้แต่ใน CNN ก็ไปเรียกเขาว่าเป็นผู้นำการชุมนุม

 

ดังนั้น ความผิดพลาดและไม่เข้าใจในความซับซ้อนไม่ได้เกิดเฉพาะกับสื่อท้องถิ่นเท่านั้น แต่เกิดกับสื่อต่างชาติด้วย

สื่อภาษามลายูอย่าง อูตูซันมาเลเซีย รายงานในเรื่องเชื้อชาติ เขามองไม่เห็นเรื่องอื่นนอกจากประเด็นเชื้อชาติ  เชื้อชาติเป็นเลนส์ที่เขาใช้มองทุกเรื่อง ส่วนสื่อต่างประเทศ ทำให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็น ใครเป็นผู้นำการชุมนุม ผู้ชุมนุมนั้นรู้ แต่สื่อต่างประเทศน่ะไม่รู้

 

ในฐานะที่คุณก็ทำงานด้านสื่อ คุณคาดหวังอะไรจากสื่อในสถานการณ์เช่นนี้

สื่อควรรายงานอย่างที่มันเป็น ควรจะวิพากษ์ไม่ว่าจะรายงานประเด็นอะไรก็ตาม และเพราะการชุมนุมค่อนข้างใหญ่ มีเรื่องที่น่ากังวล เราถูกบอกว่า “ผิดกฎหมาย” เสื้อเหลืองถูกบอกว่า “ผิดกฎหมาย” เว็บเราถูกบล็อค  มีหลายอย่างที่ทำให้การชุมนุมดำเนินไปลำบาก นี่เป็นเรื่องที่สื่อสามารถรายงานได้ ไม่ต้องเข้าข้างเรา แต่พวกเขาควรจะค้นหาว่า มีประเด็นอะไรบ้างที่ต้องสนใจและทำไมจึงเป็นแบบนั้น รายงานในมุมเหล่านั้น วิเคราะห์มากขึ้น ลึกมากขึ้น มากกว่ารายงานว่ามีคนสำคัญสักคนมาเข้าร่วมและคนที่เหลือก็มาสนับสนุน สื่อทำหน้าที่ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ ไม่เฉพาะประเด็นและข้อเรียกร้อง แต่รวมถึงเกิดอะไรขึ้นและวิจารณ์การปั่นข่าวที่เกิดขึ้น ทำรายงานแบบ follow-up และทำข่าวเจาะ เช่น กรณีผู้ชุมนุมได้รับ SMS ในช่วงที่เข้ามาชุมนุม ซึ่งน่าตั้งคำถามว่า ทำไมถึงมีคนเข้าถึงเบอร์โทรศัพท์ของพวกเขาได้ และข้อความก็เป็นไวรัส  สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อขัดขวางการชุมนุม สร้างความกลัวในจิตใจของผู้ชุมนุม ทำให้คนไม่กล้าชุมนุมข้ามคืน

 

จนถึงการชุมนุมครั้งที่ 4 นี้ อะไรที่คิดว่าสำเร็จแล้ว และอะไรที่ยังไม่สำเร็จ

พรรคการเมืองในมาเลเซียจัดตั้งได้ด้วยเรื่องเชื้อชาติ ในเบอเซะ 2.0 และ 3.0 การแบ่งแยกเรื่องเชื้อชาติค่อนข้างสูง ในเบอเซะ 4.0 ไม่มีเรื่องพวกนี้ แม้ว่าจะมีการปั่นข่าวเรื่องเชื้อชาติ แต่คนที่สนับสนุนเราไม่ได้ซื้อประเด็นนี้ เบอเซะหนนี้ไม่เหมือนครั้งก่อนหน้านี้ ที่คนมาร่วมชุมนุมด้วยกันไม่กี่ชั่วโมงก็ยุติการชุมนุม แต่หนนี้ชุมนุมข้ามคืน ผู้ชุมนุมมาใช้เวลาร่วมกัน นอนข้างถนน ถ้าคุณสังเกต จะเห็นกลุ่มหลักเป็นคนจีน ที่ให้บริการอำนวยความสะดวกกับผู้ชุมนุม ทั้งอาหารและอุปกรณ์ที่จำเป็น การทำความสะอาด เก็บขยะ คราวนี้เหมือนการฝากชีวิตและความปลอดภัยของคุณไว้ในมือคนแปลกหน้า คนที่คุณไม่เคยรู้จักมาก่อน มันเป็นเรื่องใหม่สำหรับฉัน มันเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำที่คุณนอนบนถนนและมาเจอหน้าคนแปลกหน้า

ในเบอเซะ 4.0 เสื้อเหลืองถูกห้ามใส่โดยคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ตำรวจไม่ยอมให้จัดการชุมนุม เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องกับเบอเซะถูกปิดกั้น แต่คนที่มาร่วมชุมนุมก็ไม่ได้กลัวเลย กลับเป็นฉันเองในฐานะผู้จัดการชุมนุมที่รู้สึกระแวดระวัง ฉันออกจากบ้านโดยสวมเสื้อเหลืองไว้ข้างใน เพราะฉันไม่อยากถูกจับเร็วไป ฉันอยากจะไปชุมนุม ถ้าจะถูกจับก็ควรเกิดขึ้นในที่ชุมนุม แต่ปรากฎว่า พอไปถึงสถานีรถไฟ มีคนจำนวนมากสวมเสื้อเหลือง พอเข้าไปในรถไฟฟ้า มีคนสวมเสื้อเหลืองถึงครึ่งนึง แล้วพอเดินออกจากสถานี มีคน 2 ใน 3 สวมเสื้อเหลือง  รวมถึงมีคนเปลี่ยนเสื้อด้วย

ระดับความกลัวของคนทั่วๆ ไปไม่ได้รู้สึกกลัว ขณะที่นักกิจกรรมอย่างฉันกลับค่อนข้างระวัง มันน่าสนใจมาก ดังนั้น สำหรับฉัน นี่คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่

 

ข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปการเมือง มีการเปลี่ยนแปลงไหม

ข้อเรียกร้องมันค่อนข้างใหญ่  มันย้ำเตือนผู้เข้าร่วมชุมนุมว่ายังมีอะไรต้องทำอีกมาก ถ้าเราต้องการเปลี่ยนระบอบรัฐสภาให้ดีขึ้น เราไม่ได้ต้องการการล็อบบี้ เราต้องทำให้แน่ใจว่ามีการเปลี่ยนนโยบาย คุณไม่สำเร็จทั้งหมดหรอก

 

ข้อเรียกร้องหนึ่งคือเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก แต่รัฐมนตรีสำนักนายกรัฐมนตรี พอล โล้ว วิจารณ์ว่าการชุมนุมนี้มีวาระซ่อนเร้นและข้อเรียกร้องนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยและจะทำลายระบบรัฐสภา

ก็ถ้าเขาไม่เชื่อในสิทธิของประชาชนในการส่งเสียงหรือแสดงความเห็นที่ต่างจากรัฐบาล เราจึงไม่แปลกใจ

 

เท่าที่สังเกต การชุมนุมครั้งนี้ค่อนข้างมีคนเข้าร่วมเยอะมาก ทำไม

คนไม่พอใจและโกรธรัฐบาล คนบ่นในเฟซบุ๊ก แต่ไม่เคยออกมารวมกันในที่เดียว

 

คนเชื้อสายจีนมาชุมนุมเยอะ มีสาเหตุจากอะไร

มีหลายสาเหตุ หนึ่ง พรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (PAS) บอกว่าไม่ได้สนับสนุนการชุมนุมนี้ แต่ว่าจะไม่ห้ามสมาชิกเข้าร่วม แต่จะไม่ช่วยระดมคน สอง รัฐบาลประกาศห้ามข้าราชการเข้าร่วม ซึ่งข้าราชการไม่ต่ำกว่า 90% มีเชื้อสายมลายู สาม ถ้าคุณเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแล้วมาเข้าร่วม อาจจะถูกจัดการได้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐ ถ้าคุณทำงานในเฟลดา ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐให้ที่ดิน คุณทำงานเพาะปลูก มีรายได้รายวัน ถ้าอยากจะมาเข้าร่วมชุมนุม คุณจะไม่ได้ค่าจ้างวันนั้น หรือถ้ามาก็มาได้วันอาทิตย์ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมที่สุดแล้ว คนเชื้อสายมลายูน้อย

 

เราเห็นคนมลายูมาน้อยในวันเสาร์ และเพิ่มขึ้นในวันอาทิตย์

ถ้าเขาเอาชนะความกลัวได้และเห็นว่าการมาชุมนุมนั้นทำได้ เขาก็จะมาในวันที่สอง และสังเกตว่าเขาพาเด็กมาด้วย เพราะเขาไม่ได้มีเงินจ่ายค่าเลี้ยงดูเด็ก อย่างไรก็ตามก็ค่อนข้างเสี่ยง เพราะ พ.ร.บ.ชุมนุม ห้ามพาเด็กมาในที่ชุมนุม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท