Skip to main content
sharethis

9 ก.ย. 2558 ในงานเสวนาเรื่อง “พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล...ก้าวย่างสู่การพัฒนาพาณิชยนาวีไทยอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค นคร ศิลปอาชา ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในฐานเป็นประธาน ว่า กระทรวงแรงงานได้เชิญผู้เกี่ยวข้องมาซักซ้อมทำความเข้าใจเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเสนอเพื่อลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากนั้น 180 วันจะมีผลบังคับใช้ สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้ จะเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ระหว่างเจ้าของเรือและคนประจำเรือ มาตรฐานขั้นต่ำในการจ้างงานและรายละเอียดเกี่ยวกับใบรับรองด้านแรงงานทางทะเล ซึ่งเป็นเอกสารที่ออกเพื่อให้เรือไทยนำไปใช้แสดงต่อรัฐเจ้าท่าที่ให้สัตยาบันอนุสัญญา จะทำให้เรือไทยไม่ต้องถูกขึ้นตรวจเรือโดยรัฐเจ้าท่านั้น และเมื่อร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ประเทศไทยก็จะมีอำนาจกักเรือ ตรวจเรือ และสั่งแก้ไขข้อบกพร่องกับเรือที่ชักธงต่างประเทศที่เข้ามาเทียบท่าประเทศไทย หากเรือดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามร่างพระราชบัญญัตินี้

นคร กล่าวต่อว่า สำหรับร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรองรับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ.2549 ซึ่งกำหนดให้ทำตามมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้เจ้าของเรือ คนประจำเรือและแรงงานในเรือจะต้องได้รับสิทธิอย่างไรบ้าง มีวันหยุดอย่างไร มีสภาพการจ้างที่ดีอย่างไร อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นสมาชิกของ ILO

จึงได้มาร่างพระราชบัญญัติแรงงานทางทะเล พ.ศ. .... ดังกล่าวขึ้น โดยการริเริ่มของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงแรงงานได้ผลักดันร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจนแล้วเสร็จ และขณะนี้กำลังร่างกฎหมายลำดับรองอีก 67 ฉบับ ดังนั้นเมื่อแล้วเสร็จกฎหมายฉบับนี้จะมีความสอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) โดยเรือสินค้าหรือพาณิชย์นาวีที่เข้าไปจอดในประเทศใดๆ ก็ต้องปฏิบัติตามหลัก MLC มิฉะนั้นประเทศเหล่านั้นอาจปฏิเสธที่จะไม่ให้เข้าได้ เนื่องจากการคำนึงถึงโรคระบาดหรือแม้แต่การปล่อยน้ำมันในทะเล นอกจากนี้จะเป็นการส่งเสริมกิจการพาณิชย์นาวีเพราะกิจการพาณิชนาวีไทยต้องมีความเข้มแข็ง

“สาระสำคัญของพระราชบัญญัติฉบับนี้กำหนดเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานการทำงาน ความปลอดภัยในเรือ สภาพการจ้างในเรือ เนื่องจากการตรวจเรือค่อนข้างยาก เจ้าของเรืออาจจะดูแลไม่ทั่วถึง จึงต้องมีพระราชบัญญัติขึ้นมาดูแลแรงงานทางทะเลโดยเฉพาะ” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว

ส่วนการซักซ้อมทำความเข้าใจในระดับเจ้าหน้าที่หลังจากที่กฎหมายบังคับใช้แล้วคงต้องมีการซักซ้อมกันอีกครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ให้ข้าราชการกระทรวงแรงงานได้เข้าใจก่อน เนื่องจากเรื่องนี้มีส่วนเกี่ยวข้องถึง 4 กระทรวง ทั้งนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์เนื่องจากเรือสินค้าจะมีการตรวจสัญญาจ้างที่ชัดเจน มีสภาพการจ้างที่ถูกต้อง แรงงานบังคับ แรงงานเด็กจะไม่มี สำหรับการดำเนินงานของกระทรวงแรงงานเพื่อรองรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน(กสร.)ได้แต่งตั้งคณะทำงานยกร่างกฎกระทรวงและระเบียบที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จำนวน 13 ฉบับ และกฎหมายรองรับอีก 67 ฉบับ โดยจัดความสำคัญเร่งด่วนที่สามารถออกได้ทันทีเมื่อร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้จำนวน 7 ฉบับ ทั้งนี้กฎหมายลูกทั้ง 67 ฉบับคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2558 จากนั้นคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2559 จะประกาศใช้ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net