Skip to main content
sharethis

(ดูภาพขนาดใหญ่)

หลังจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้การเลือกตั้งต้องถูกยืดเวลาออกไปอีก และโรดแมปของ คสช. ก็ขยายออกไป หากย้อนกลับไปช่วงแรกที่ คสช.ประกาศโรดแมปแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ช่วงแรกของการควบคุมอำนาจการปกครอง จะต้องดำเนินการในเรื่องปรองดองสมานฉันท์ให้เร็วที่สุด ในกรอบเวลา 2-3 เดือน

ระยะที่ 2 การใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกำลังดำเนินการจัดทำอยู่โดยฝ่ายกฎหมาย จะมีการจัดตั้งสภานิติบัญญัติ สรรหานายกรัฐมนตรี ตั้งคณะรัฐมนตรีบริหารราชการ ร่าง/จัดทำรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการตั้งสภาปฏิรูปเพื่อปฏิรูปการแก้ไขในทุกเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องการ และเป็นที่ยอมรับ โดยน่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี มากหรือน้อยกว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์

และ ระยะที่ 3 การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ ที่ทุกพวกทุกฝ่ายพอใจ กฎหมายทันสมัยในทุกด้าน กฎระเบียบ กติกาต่างๆ ได้รับการแก้ไข ได้คนดี สุจริต มีคุณธรรม มาปกครองบ้านเมืองด้วยหลักธรรมาภิบาล

จากคำแถลงดังกล่าวของ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านรายการคืนความสุขฯ เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 57 (อ่านรายละเอียด) ระยะเวลาที่จะมี 'ปรองดอง-ปฏิรูป-เลือกตั้ง' คือ 3 เดือน บวก 1 ปีในช่วงจัดทำรัฐธรรมนูญ หรือเท่ากับจะมีการเลือกตั้งประมาณ ก.ย. 58 หรือในช่วงเวลานี้นั่นเอง

โรดแมปขยับมาก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวผ่านรายการคืนความสุขฯ อีกเช่นกัน โดยชี้ให้เห็นว่าโรดแมป คสช. ขยับช้าเพราะพวกต้าน (อ่านรายละเอียด)

“โรดแมป คสช.นั้นจะเร็วหรือจะช้า ไม่ได้อยู่กับผมอย่างเดียว หลายอย่างทุกคนเอากลับมาลงที่ผมหมด วันนี้ใช่ ความรับผิดชอบใช่ แต่ถ้าบังคับว่าจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ ขอความร่วมมือก็ไม่ได้ ต่อต้าน แล้วจะไปถึงโรดแมปอย่างนั้นได้หรือไม่ ผมไม่ทราบ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

‘อนุพงษ์’ คาดเลือกตั้งต้นปี 59

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.58 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการจัดการเลือกตั้ง ว่า ตามที่ตนเห็นผู้เกี่ยวข้อง ทั้ง สปช. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่างคิดเหมือนกันว่าประมาณต้นปี 2559 และเมื่อไหร่ที่รัฐธรรมนูญ มีกฎหมายลูกพร้อม และจัดการเลือกตั้งได้ก็จะมีการจัดเลือกตั้งโดยเร็ว

หลัง สปช. ไม่รับร่าง รธน. ขยับเป็น 6+4+6+4 

และผลจากการที่ สปช. ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ส่งผลให้ต้องขยายเวลาโรดแมปไปอีก วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า จะใช้เวลาอีก 20 เดือนกว่าจะมีการเลือกตั้ง โดยใช้สูตร 6+4+6+4 เดือน คือกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 6 เดือน ประชามติภายใน 4 เดือน และออกกฎหมายลูกอีก 6 เดือน จากนั้น 4 เดือนหาเสียงเลือกตั้ง (อ่านรายละเอียด)

“การบริหารเวลาที่มีต่อจากนี้ จะใช้สูตร 6+4+6+4  คือ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาร่างประมาณ 6 เดือน ร่างเสร็จทำประชามติภายใน 4 เดือน หลังประชามติผ่านใช้เวลาอีก 6 เดือนในการทำกฎหมายลูก เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ จากนั้นอีก 4 เดือนจะให้เวลาหาเสียงเลือกตั้ง จึงเท่ากับ 6+4+6+4 = 20 เดือน” วิษณุ

‘ประยุทธ์’ แนะตีความเพลงท่อน “ขอเวลาอีกไม่นาน” ใหม่

จากการขยายเวลาโรดแมปดังกล่าว ส่งผลให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ จนเมื่อวันที่ 9 ก.ย.ที่ผ่านมา Voice TV เผยแพร่วิดีโอคลิปความตอนหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. กล่าวในพิธีมอบรางวัลองค์กรที่มีความเป็นเลิศในการบริหารจัดการด้านการเงินการคลัง ที่ทำเนียบรัฐบาลตอนหนึ่งถึงประเด็นการขอเวลาอีกไม่นานจากเนื้อเพลง ‘คืนความสุข’ ที่ตนเองแต่งนั้น ไม่ได้มีเจตนาดังกล่าว โดยระบุว่าหากมีความสุขแล้วก็สามารถคืนเลยในวันพรุ่งนี้ พร้อมระบุด้วยว่าขณะนี้มีบางพรรคที่เริ่มเข้าใจตนเองแล้ว และเรียกร้องให้ข้าราชการเป็นที่พึ่งให้กับประชาชนในทุกโอกาส และยืนยันว่าไม่ได้ทับอำนาจใคร และไม่จับจ้องการทำงานของใคร หากยังไม่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ขออย่าให้ทำผิดอีก รวมทั้งอยากให้การบริหารในเชิงรุก

โดย พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า

“ทนผมไปอีกหน่อยนะ ตอนนี้ก็มาทวงแล้ว ไหนว่าจะ “ขอเวลาอีกไม่นาน” ไอ้ตอนแต่ตอนเขียนก็ไม่ได้เจตนาตรงนี้นะ มันเอามาทวงแล้ว ไหนไม่นาน ไม่นานคืนความสุข มันสุขจริงหรือยัง ถ้ามันสุขจริงแล้วผมก็คืนเลยพรุ่งนี้ก็ให้ได้ ถ้าเราคิดว่ามันพร้อมนะ

วันนี้ต้องขอบคุณในส่วนของพรรคการเมืองเริ่มเข้าใจแล้ว บางพรรคเข้าใจ บางพรรคก็เหมือนเดิม ก็หัวทิ่มหัวตำอยู่เหมือนเก่า เอาล่ะช่างมันสู้ได้อยู่แล้ว สู้ด้วยความดี

.. ขอให้ข้าราชการจำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนได้ในทุกโอกาส แล้วท่านจะคิดออกเอง แล้วความเจริญก็กลับมาสู่ท่าน ประเทศชาติก็เจริญ

.. ตราบใดที่ยังไม่มีอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ผมก็ไม่ไปจับตาจ้องใครทั้งสิ้น ถ้าอยู่ในกระบวนการ เขาทำมาแล้วก็ก็ไปว่าสู้กันมา ถ้ายังไม่อยู่ไม่ต้องกลัวผม แต่อย่าทำผิดอีก ใช่ไหมเพราะผมไม่ได้ไปทาบทับอำนาจท่านเลยนะ ท่านบริหารของท่านไป

ผมต้องการการบริหารในเชิงรุก แก้ปัญหาประเทศชาติได้อย่างไรเวลาที่เรามีอยู่ ท่านรู้มากกว่าผมอีก ว่าปัญหาอยู่ที่ไหนท่านรู้ แต่ท่านจะทำอย่างไร หัวหน้างานของท่าน ผู้บัญชาการก็ต้องแก้”

สำหรับเพลง "คืนความสุขให้ประเทศไทย"  นี้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่งเนื้อร้องโดยใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง จากนั้นให้ พ.อ.กฤษฎา สาริกา ผู้บังคับการกองผบ.ดุริยางค์ทหารบก และนักแต่งเพลง วิเชียร ตันติพิมลพันธุ์ นำไปเรียบเรียงคำร้อง และทำนอง

ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว INN รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.57 พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงบางท่อนในเนื้อเพลงดังกล่าวที่ว่า เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา ผ่านรายการคืนความสุขด้วย

วิดีโอคลิปที่ พล.อ.ประยุทธ์ ร่วมร้องเพลงกับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบ เมื่อวันที่ 17 ก.ย.57

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net