บัวพันธ์ พรหมพักพิง : รัฐสมัยใหม่ให้ภาคประชาสังคมทำแทน แต่ในพื้นที่ขัดแย้งควรวางตัวอย่างไร

“รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง” ผอ.ศูนย์ประชาสังคมมหาวิทยาลัยขอนแก่น องค์กรที่มุ่งสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้องค์กรภาคประชาสังคม เพราะแนวโน้มรัฐสมัยใหม่จะให้มีบทบาทพัฒนาสังคมแทนรัฐ แต่ในพื้นที่ขัดแย้งอย่างในชายแดนภาคใต้ ภาคประชาสังคมควรวางตัวอย่างไร เขามีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร

รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สัมภาษณ์พิเศษ “รศ.ดร.บัวพันธ์ พรหมพักพิง” ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อครั้งเชิญตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมทั่วประเทศที่อยู่ในเครือข่าย รวมทั้งจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ไปอบรมพัฒนาศักยภาพเมื่อไม่นานมานี้

ศูนย์นี้ก่อตั้งขึ้นเพื่อสร้างผู้นำรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคประชาสังคมเป็นหลัก ด้วยมองว่า แนวโน้มในอนาคตภาคประชาสังคมจะมีบทบาทในการพัฒนาสังคมแทนรัฐมากขึ้น ส่วนภาคประชาสังคมในพื้นที่ขัดแย้ง เช่น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรวางตัวอย่างไร เขามีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร

ทำไมต้องก่อตั้งศูนย์ประชาสังคมฯ

ก่อนอื่น รศ.ดร.บัวพันธ์ เล่าถึงการก่อตั้งศูนย์ประชาสังคมฯนี้ว่า เกิดจากการทำวิจัยเรื่อง“ธรรมาภิบาลในชุมชนและการสร้างองค์กรภาคประชาสังคม” ที่ศูนย์วิจัยอยู่ดีมีสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืนมหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 3-4 ปีแล้วโดยการสนับสนุนของโครงการสะพาน : เสริมสร้างประชาธิปไตย

ข้อค้นพบจางานวิจัยชิ้นนี้ คือพบว่าไม่มีองค์กรหรือหน่วยงานที่สร้างผู้นำรุ่นใหม่เพื่อเข้ามาทำงานในองค์กรภาคประชาสังคม ทั้งที่ผลการสำรวจของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่าปัจจุบันองค์กรภาคประชาสังคมมีการเติบโตอย่างมาก

ต่อมาเขาได้เสนอให้มหาวิทยาลัยตั้งศูนย์ประชาสังคมฯนี้ขึ้นมา พร้อมๆได้พบปะพูดคุยกับตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคมหลายๆกลุ่มที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งทุกคนก็เห็นด้วยที่จะให้ตั้งศูนย์นี้ขึ้นมากระทั่งได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนสิงหาคม 2556

ส่วนเหตุที่ใช้ชื้อ “ศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์”ซึ่งยาวพอสมควรเพราะคำว่า “องค์กรเอกชน”ไม่มีบัญญัติในภาษาไทย แต่มีบัญญัติคำว่า “องค์กรเอกชนสาธารณะประโยชน์”

มุ่งสร้างผู้นำรุ่นใหม่และเป็นพื้นที่กลาง

สำหรับภารกิจของศูนย์ประชาสังคมและการจัดการองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ มี 3 อย่าง ได้แก่

1.พัฒนาผู้นำรุ่นใหม่ให้องค์กรภาคประชาสังคมโดยเปิดหลักสูตรการบริหารองค์กรภาคประสังคมให้นักศึกษาระดับปริญญาโทและเป็นวิชาเลือกให้นักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมทั้งได้เปิดอบรมหลักสูตรนี้ให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจด้วย

โดยในหลักสูตรนี้ มี 3 เรื่องด้วยกัน คือการจัดการองค์กรภาคประชาสังคม การจัดการโครงการ และการจัดการเงินในองค์กร

2.การศึกษาสาธารณะ คือเป็นศูนย์กลางที่ให้องค์กรภาคประชาสังคมมาพูดคุยกันในประเด็นต่างๆใช้ชื่อว่า เวทีล้อมวงรงข่วงประชาธิปไตย คำว่า “รงข่วง”เป็นภาษาอีสานหมายถึงการประชุมกันโดยไม่มีใครมากำหนดวาระการประชุม

ที่สำคัญคือเรื่องที่พูดคุยกันนั้นจะนำไปสื่อสารผ่านสื่อหรือเว็บไซต์ต่างๆ ฟรี โดยศูนย์ประชาสังคมฯ จะออกค่าใช้จ่ายให้ แต่ที่ผ่านมาเวทีการศึกษาสาธารณะนี้ทำได้แค่ครั้งเดียว เพราะสถานการณ์ทางการเมืองยังไม่เอื้อตอนนี้ก็รอจังหวะที่จะจัดอีกครั้ง

ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาองค์กรประชาสังคม

3.การวิจัยองค์กรภาคประสังคมเพื่อการพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม เช่น เรื่องกฎหมายองค์กรภาคประชาสังคม การสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานขององค์กรภาคประชาสังคม เป็นต้น

ช่วยถ่วงดุลระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจ

รศ.ดร.บัวพันธ์ กล่าวถึงความสำคัญขององค์กรภาคประชาสังคมว่า การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาเป็นหน้าที่ของภาครัฐกับภาคธุรกิจ โดยรัฐเป็นผู้ควบคุม เพื่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศชาติมากที่สุด แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“เพราะภาครัฐกับภาคธุรกิจร่วมมือกันโดยไม่มีองค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาถ่วงดุล ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่มีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุลระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจเพื่อให้พัฒนาประเทศได้อย่างถูกทิศถูกทาง”

เขาย้ำว่า ดังนั้นการเกิดขึ้นขององค์กรภาคประชาสังคมจึงมีความสำคัญในการที่จะถ่วงดุลระหว่างภาครัฐกับภาคธุรกิจ

ภาคประชาสังคมจะทำงานบริการของรัฐ

รศ.ดร.บัวพันธ์ บอกว่า ในอนาคตหน่วยงานของรัฐบาลจะมีขนาดเล็กลง เพราะยิ่งรัฐมีบุคลากรมากขึ้น รัฐก็ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายมากขึ้น เห็นได้จากงบประมาณของรัฐส่วนใหญ่เป็นค่าจ้างพนักงานราชการ

“ดังนั้นในอนาคตงานบริหารของรัฐจะมีหน่วยงานอื่นๆ หรือองค์กรภาคประชาสังคมไปทำแทนรัฐมากขึ้น เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่รัฐบาลให้การดูแลคนชราเป็นหน้าที่ขององค์กรพัฒนาเอกชนเพราะรัฐไม่สามารถทำได้จึงทำให้เกิดองค์กรพัฒนาเอกชนจำนวนมากในประเทศญี่ปุ่นในอนาคตประเทศไทยก็จะมีแนวโน้มอย่างนี้ด้วย”

รศ.ดร.บัวพันธ์ บอกว่า ขณะเดียวกัน งานบริการเหล่านี้ก็ไม่สามารถให้ภาคธุรกิจไปดำเนินการได้ เพราะเขาจะคิดค่าบริการแพงมาก หากให้องค์กรภาคประชาสังคมทำก็จะคิดราคาที่เป็นธรรมและไม่แพงมาก

รัฐสมัยใหม่จะให้เอกชนทำหน้าที่แทน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่รัฐสมัยใหม่ให้เอกชนดำเนินการแทน คือการส่งเสบียง เสื้อผ้า เครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ แก่ทหารต่างชาติที่ไปทำสงครามในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากรัฐดังนั้นรัฐสมัยใหม่จะมีขนาดเล็กลง

ขณะเดียวกันหากปล่อยให้ภาคธุรกิจเติบโตอย่างเดียวโดยไม่ควบคุมเลยก็ไม่ได้ เพราะจะให้เกิดระบบทุนนิยมสุดโต่ง ดังนั้นต้องให้องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามาถ่วงดุลภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน

ในพื้นที่ขัดแย้งภาคประชาสังคมต้องอยู่ตรงกลาง

รศ.ดร.บัวพันธ์ บอกด้วยว่า สำหรับกรณีขององค์กรภาคประชาสังคมที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง เช่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น อยากให้นึกถึงสงครามในตะวันออกกลางที่เกิดจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐอเมริกาที่เข้าไปทำสงครามกับกลุ่มต่างๆในประเทศเหล่านั้นโดยที่ไม่มีคนมาถ่วงดุล จึงทำให้ปัญหาความขัดแย้งมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

“สิ่งที่ขาดหายไปในความขัดแย้งในตะวันออกกลางก็คือองค์กรภาคประชาสังคม ซึ่งเป็นภาคประชาสังคมที่ไม่ได้หนุนคู่ขัดแย้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เป็นฝ่ายที่อยู่ตรงกลาง แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ตรงกลางแล้วไม่ได้ทำอะไรเลย”

รศ.ดร.บัวพันธ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่างไรก็ตาม องค์กรภาคประชาสังคมก็สามารถที่สนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ได้ในกรณีที่ฝ่ายนั้นให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพของประชาชน และการเคารพชาติพันธ์อื่นๆโดยยืนอยู่บนหลักสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ใช่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อที่จะทำลายอีกฝ่ายหนึ่ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท