Skip to main content
sharethis

ปลดล็อคกระบวนการสันติภาพชายแดนใต้ มุมมองกูรูสันติภาพ “ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส” ผู้นำแนวคิด “แผนที่เดินทางสู่สันติภาพ” มาวิเคราะห์แนวทางการพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่ม MARA PATANI

ควันหลงจาก”การประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพื้นที่กลางสร้างสันติภาพจากคนใน” (IPP) เมื่อ 29-30 ส.ค. 2558 ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอร์ส นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ม.อ.ปัตตานี อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา ม.อ.หาดใหญ่ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้ศึกษาวิจัยความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพในหลายประเทศ ได้นำเสนอแนวคิดว่าด้วย “การสร้างแผนที่เดินทางสู่สันติภาพ” (Peace Roadmap) ขึ้นโดยได้นำมาวิเคราะห์แนวทางการพูดคุยสันติภาพของตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่ม MARA PATANI เมื่อ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ณ ประเทศมาเลเซีย อย่างน่าสนใจ

สัญญาณแห่งความหวัง

ความคลุมเครือของ MARA PATANI เป็นเรื่องปกติ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาปีหรือสองปีกว่าที่อะไรๆ จะชัดเจน อย่างไรก็ตามการเกิดขึ้นของ MARA PATANI ก็เป็นสัญญาณอันดีว่า ขณะนี้กลุ่มฝ่ายตรงข้ามรัฐไทยใช้การต่อสู้ทางการเมือง คือมีความเป็นการเมืองมากขึ้น จากการต่อสู้ด้วยอาวุธเพียงอย่างเดียว ก็ได้ออกมาเปลี่ยนภาพเป็นการใช้ทั้งอาวุธและการพูดคุย ดูแนวโน้มสำหรับผมแล้ว กระบวนการสันติภาพมีแต่จะเดินไปข้างหน้า

แทร็ก 1 ระหว่างตัวแทนสองฝ่าย

ในขณะนี้จากกระบวนการสันติภาพทั้งหมดถือว่ายังอยู่ในขั้นที่1 (Track 1) จากที่มีการริเริ่มการพูดคุยซึ่งข้อตกลงครั้งแรกที่ตัวแทนรัฐบาลไทยไปพูดคุยกับตัวแทน BRN ที่ประเทศมาเลเซียเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2556 ครั้งนั้น BRN ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อ แต่ในวันนี้ MARA PATANI ยื่นข้อเสนอ 3 ข้อ ซึ่งโดยภาพรวมการพูดคุยไม่ได้ต่างจาก 2 ปีที่แล้วมากนัก คือมาเลเซียเป็นฝ่ายจัดการพูดคุย มีฝ่าย MARA PATANI กับ ตัวแทนพูดคุยฝ่ายรัฐไทย และมีทีมผู้สนับสนุนทั้งสองฝ่าย

แทร็ก 1.5  เพิ่มช่องทาง(ออก)หลังบ้าน

อย่างไรก็ตามมีกลไกหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาในการพูดคุยครั้งนี้ ซึ่งครั้งที่แล้วไม่มี คือการให้มีคณะเลขานุการร่วมขึ้นมา หรือจะใช้ชื่ออะไรก็ตาม โดยให้ทั้งสองฝ่ายส่งคนมาเป็นคณะกรรมการพูดคุยหาทางออก นี่ถือเป็นหัวใจสำคัญในการพูดคุยสันติภาพ เพื่อหาจุดประนีประนอมกันในแต่ละประเด็น ซึ่งจะเป็นคณะกรรมการที่ดูไม่เป็นทางการ แต่ให้ประสิทธิภาพมากกว่าการพูดคุยที่เป็นทางการที่อาจจะมีหัวโขนของแต่ละฝ่าย รวมถึงในแต่ละฝ่ายก็มีคนอีกมากในฝ่ายของตัวเอง ซึ่งเวลาพูดอะไรก็ต้องเอาใจพวกของตนด้วยกันทั้งสองฝ่าย

การลดความเป็นทางการลงในระดับของคณะเลขานุการร่วม จะทำให้กระบวนการดำเนินไปได้เร็วขึ้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าในคณะเลขานุการร่วมนี้จะมีความเป็นทางการน้อยลงแต่ก็ยังมีความเป็นทางการอยู่พอสมควร คือมีลักษณะเป็น “ช่องทางหลังบ้าน” (Back Chanel) ที่ไม่ใช่การพูดคุยบนโต๊ะ แต่จะมีการจัดการพูดคุยกันอย่างใกล้ชิดหาทางออกแล้วส่งข้อสรุปมาให้กับฝ่ายเจรจาบนโต๊ะอีกที เป็นการปลดล็อคบางอย่างที่การพูดคุยบนโต๊ะไม่สามารถหาทางออกได้ ซึ่งคณะกรรมการต้องเป็นคนที่ทั้งสองฝ่ายไว้วางใจ โดยกระบวนการนี้จะทำไปอย่างคู่ขนานกันกับการเจรจาบนโต๊ะ

ในส่วนของผู้ที่อยู่ข้างหลังทั้งสองฝ่ายก็สำคัญมาก เพราะต่างก็มีทั้งฝ่ายที่สนับและฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย การได้รับเสียงสนับสนุนของแต่ละฝ่ายจึงเป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในกระบวนการนี้ ฝ่ายรัฐก็พยายามหาวิธีการให้ได้เสียงสนับสนุนจากประชาชน และดูจากแถลงการณ์ของฝ่าย MARA PATANI ก็เช่นเดียวกัน

Track 2 ภาคประชาสังคม วิชาการ สื่อสาร

ในส่วนของ Track 2 จะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากขึ้น เป็นวิธีดึงคนจำนวนมากเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการ เช่น การสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและนำข้อสรุปความต้องการของประชาชนขึ้นไปยังโต๊ะเจรจาได้ ตั้งคำถามกับประชาชนว่าต้องการเห็นพื้นที่นี้เป็นอย่างไร อยากเห็นทางออกของปัญหาอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการดึงเสียงของประชาชนเข้าไปสู่การตัดสินใจ

ตัวอย่างความสำเร็จและแนวทาง

ในประเทศไอร์แลนด์เหนือ การทำสำรวจความคิดเห็นประชาชนก้าวหน้าขนาดที่ทำควบคู่กันไปกับกระบวนการสันติภาพเลยด้วยซ้ำซึ่งในกระบวนการหากมีประเด็นอะไรที่ต้องตัดสินใจก็จะทำโพลออกมาเลยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจ

การเข้ามีส่วนร่วมภาคประชาสังคมมีแนวทางอยู่สองแนวทาง คือ การขอเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ และสองคือริเริ่มกำหนดกระบวนการขึ้นมาเองว่าจะมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ อยากให้กระบวนการสันติภาพเป็นไปในแนวทางใด

รูปธรรมที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศแอฟริกาใต้ คณะกรรมการสันติภาพท้องถิ่นมีอยู่ทุกอำเภอ และในบางแห่งลงไปถึงระดับหมู่บ้าน เพื่อรวบรวมเสียงของประชาชนว่าคิดเห็นอย่างไรต่อกระบวนการสันติภาพ แล้วส่งขึ้นไปที่ระดับภูมิภาค ส่งไปที่ระดับชาติและส่งไปยังโต๊ะเจรจา

ในประเทศเมียนมาร์ภาคประชาสังคมจัดเวทีสาธารณะเรื่องสันติภาพ มีการตั้งคณะทำงานติดตามความคืบหน้าเรื่องสันติภาพ เวทีแต่ละครั้งทุกๆ สองเดือนก็จะมีผลของการติดตามมาพูดคุยในเวทีด้วย

อีกวิธีคือการจัดสัมมนาเพื่อเรียนรู้กระบวนการสันติภาพในประเทศอื่นๆ วิธีต่อมาคือการสร้างขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อลอบบี้ ผลักดันแนวทางหรือทางออกของปัญหาโดยสันติ แนวทางต่อมาคือภาคประชาสังคมร่วมกับนักวิชาการส่งให้ข้อมูลความรู้ขึ้นไปยังโต๊ะเจรจา เช่นระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับคนในพื้นที่เป็นอย่างไร ภาคประชาสังคมสามารถค้นคว้าขึ้นมาได้จากการทำงานในพื้นที่แล้วนำขึ้นไปบอกบนโต๊ะเจรจาว่านี่เป็นสิ่งที่คนในพื้นที่ต้องการ อีกแนวทางคือการมีกลุ่มล็อบบี้ อาจจะเป็นกลุ่มสตรี หรืออื่นๆ นำเสนอความต้องการขึ้นไป

เมื่อมาถึงประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพ กลไกในการตัดสินใจ เช่นการพูดคุยกัน ทั้งสองฝ่ายจะตัดสินใจสรุปข้อตกลงออกมาเลย หรือจะมีพื้นที่ให้กับประชาชน ภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการตกลงกันในการพูดคุย

อีกประเด็นที่จำเป็นต้องคิดคือ กลไกในการจัดการผ่าทางตันซึ่งใน Track 1 จะใช้วิธี “ช่องทางหลังบ้าน” หรือ ใช้ Track 1.5 ในส่วนภาคประชาสังคมก็เช่นกัน หากมีความหลากหลายรวมตัวกันก็อาจมีเรื่องที่ไม่เห็นด้วย ก็ต้องมีกลไกผ่าทางตันหาทางออกร่วมกัน

ความจำเป็นของนานาชาติในฐานะฝ่ายที่ 3

ในฝ่ายที่ 3 ควรจะมีใครบ้าง ขณะนี้ฝ่ายที่ 3 มีมาเลเซียฝ่ายเดียวที่อำนวยความสะดวก ก็มาดูว่าประเทศมาเลเซียประเทศเดียวจะพอมั๊ย หรือจำเป็นจะต้องทำเหมือนในมินดาเนา(ประเทศฟิลิปปินส์) ที่มีหลายๆ ประเทศรวมกลุ่มเข้ามาช่วยสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ในมินดาเนามี 4 ประเทศรวมกลุ่มกันเข้ามาช่วยมาเลเซีย

ความพร้อมของภาคประชาสังคม

ภาคประชาสังคมจะเข้ามาช่วยอย่างไร ในบางเรื่องภาคประชาสังคมต้องริเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่ตอนนี้ เช่นหากมีข้อตกลงเรื่องการหยุดยิง วันนั้นสองฝ่ายอาจมีความต้องการให้ภาคประชาสังคมเข้ามาเป็นคนกลางคอยตรวจสอบการหยุดยิงก็ได้ ในประเทศเมียนมาร์มีการฝึกฝนภาคประชาสังคม 500 คนจัดตั้งเป็นกรรมการตรวจสอบการหยุดยิง เป็นองค์กรที่มีองค์ความรู้ในเรื่องนี้อย่างดี ภาคประชาสังคมบ้านเราก็สามารถไปเรียนรู้กับเขาได้

ยุติอนารยะของความรุนแรง

สุดท้าย ในส่วนของความรุนแรง จะทำอย่างไรให้ความรุนแรงมีความเป็นอารยะขึ้น คนที่เกี่ยวข้องต้องพยายามคิดค้นให้ได้ว่า ทำอย่างไรให้ทั้งสองฝ่ายตระหนักว่าความรุนแรงนั้นจำเป็นต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายและหลักมนุษยธรรมระหว่างประเทศ คือการไม่ทำร้ายผู้บริสุทธิ์ให้ได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net