Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

สองสัปดาห์ผ่านไปกับการประท้วงใหญ่ต่อการเสนอแก้ไขกฏหมายความมั่นคงของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ผู้คนกว่า 3 หมื่นคนที่ส่วนใหญ่เป็นแม่บ้านและคนหนุ่มสาวออกมาประท้วงบริเวณหน้ารัฐสภาของญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว กล่าวกันว่าเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งนี้เป็นครั้งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นหลังจากการประท้วงในยุคปลาย 60 ที่นำโดยขบวนการนักศึกษาญี่ปุ่นที่นิยมลัทธิมาร์กซิสต์ในยุคนั้น  การประท้วงยังมีกระจายไปตามจังหวัดต่างๆทั่วประเทศญี่ปุ่นไม่ว่าฮอกไกโด โอซาก้า ฟูกูโอกะ นางาซากิและนางาซากิ  ภาพของคนหนุ่มสาวที่ถือโทรโข่งพร้อมกับแร็ปคำว่า “เซพโพฮันไต เคนโพมะโมเระ”( ต่อต้านกฎหมายสงคราม รักษารัฐธรรมนูญ)ได้กลายเป็นภาพที่ทุกคนตั้งคำถามว่าพวกเขาคือใคร?


(1)

จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นโดยการนำของชินโซ อะเบะ( 2012-2014)ได้เสนอร่างกฎหมายปกป้องความลับแห่งชาติ( Secrecy Law)ที่ให้อำนาจรัฐในจับกุมและคุมขัง  ผู้ที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐได้โดยไม่มีต้องหลักฐาน(เพราะว่ามันเป็นความลับ)ต่อรัฐสภาญี่ปุ่นในช่วงปี ค.ศ.2013  ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก  หลายเดือนก่อนกฏหมายดังกล่าวจะผ่านสภาสูงของญี่ปุ่นในวันคืนวันที่ 6 ธันวาคมในปีเดียวกัน  ที่โตเกียวการชุมนุมประท้วงบนท้องถนนจากผู้คนหลากหลายกลุ่มไม่ว่า กลุ่มสหภาพแรงาน นักกิจกรรมฝ่ายซ้าย นักวิชาการ ประชาชนก็เกิดขึ้น  หนึ่งในนั้นคืออากิ โอกุดะ( Aki Okuda)นักศึกษาสังคมศาสตร์วัย 19 ปี เขาและเพื่อนๆร่วมกันตั้งกลุ่ม Student Against Secret Protection Law (SASPL)เพื่อต่อต้านกฏหมายดังกล่าวที่พวกเขาเห็นว่าลิดรอนสิทธิและเสรีภาพ  และจัดชุมนุมประท้วงครั้งแรกในย่านชินชูกุกลางกรุงโตเกียวในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.2014 นอกจากนี้เขาและเพื่อนในกลุ่ม SASPL ยังเข้าร่วมประท้วงขับไล่ฐานทัพอเมริกาที่ตั้งอยู่ในเกาะโอกินาวาที่ในช่วงนั้นมีปัญหาจากการที่ทหารอเมริกันในฐานะทัพกระทำชำเรากับผู้หญิงญี่ปุ่น  ช่วงเวลาดังกล่าวอากิและเพื่อนได้เริ่มสนใจการมีส่วนร่วมทางการเมือง  ผิดกับกับคนหนุ่มสาวญี่ปุ่นทั่วไปๆในปัจจุบันที่เห็นว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของพวกเขา  อีกทั้งพรรคการเมืองในญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะหาฐานคะแนนเสียงจากกลุ่มวัยกลางคนจนถึงผู้สูงอายุสังเกตได้จากนโยบายสวัสดิการสังคม  อย่างไรก็ตามการการเข้าร่วมประท้วงบนท้องถนนใน 2 เหตุการณ์ที่กล่าวมา  ก็ไม่ใช่เป็นการประท้วงครั้งแรกที่เขาและเพื่อนๆ ได้เข้าได้ไปมีประสบการณ์นับก้าวเดินบนท้องถนน  


(2)

ผลกระทบจากแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มเมืองฟุกุชิมาเมื่อวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ.2011(เหตุการณ์ 3-11) ไม่เพียงแต่ทำให้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเมืองจนต้องมีอพยพผู้คนออกจากเมือง  และด้วยการเกรงกันว่าจะมีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหวจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิส่งผลให้เมืองกลายเป็นพื้นที่ภัยพิบัติที่ไม่อาจให้ผู้คนกลับไปอยู่อาศัยได้อีก  ผลทางสังคมที่สำคัญที่ตามมาจากภัยพิบัติ 3-11 คือการรณรงค์ต่อต้านการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่น( anti-nuclear electric power movement) ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้นำไปสู่การตั้งคำถามถึงการให้ข้อมูลของสถานการณ์การรั่วไหลและผลกระทบจากการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีอันแท้จริงต่อสาธารณะ   ซึ่งรัฐบาลของญี่ปุ่นในขณะช่วงปี ค.ศ. 2011-2014)( นายกรัฐมนตรียุกิโอะ ฮะตะยะมะและต่อเนื่องนะโอะโตะ คัง จากพรรคประชาธิปไตย)ไม่ได้ทำความกระจ่าง  และดูเหมือนจะห้ามการเผยแพร่ข่อมูลอันแท้จริงของผลดังกล่าว   เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นดังกล่าวและมีชุมนุมประท้วงจากผู้ชุมนุมหลายกลุ่ม ศิลปิน นักดนตรี นักวิชาการ นักกิจกรรม แรงงาน และผู้คนเป็นระยะๆ อย่างต่อเนื่อง จากหลังเหตุการณ์ในปี ค.ศ. 2011  จนในวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2012 จึงได้มีการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่จึงถูกจัดขึ้น มีคนเข้าร่วมกว่า 200, 000 คน

กลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญต่อการประท้วงในการเมืองร่วมสมัยของญี่ปุ่นคือกลุ่มคนที่จัดว่าอยู่ชายขอบของสังคมญี่ปุ่น  พวกเขาถูกเรียกว่า “Freeter” (มาจากคำว่า Free ในภาษาอังกฤษและ Arbeiter ในภาษาเยอรมันที่แปลว่า “คนงาน”) พวกเขาเป็นที่รู้จักในญี่ปุ่นในช่วงราวปี ค.ศ.1988 โดยมีนิตยสาร Recruit ซึ่งเป็นนิตยสารประเภทลงข่าวประกาศหางานเป็นผู้ใช้คำนี้เป็นครั้งแรก   ความหมายของ Freeter หลังจากเศรษฐกิจฟองสบู่แตกในทศวรรษที่ 90  พวกเขาซึ่งเคยถูกตีตราว่าเป็นปัญหาสังคม  เพราะ “การไม่มีงานทำ”ของพวกเขากลายเป็นสภาพที่ต่ำกว่าคนตกงานทั่วไป เพราะคนเหล่านั้นที่ยังคงได้รับสวัสดิการอยู่  แต่กับฟรีเตอร์แล้วพวกเขาไม่มีอะไรเลยเนื่องจากไม่เคยอยู่ภายใต้ระบบสวัสดิการ และด้วยสาเหตุที่เศรษฐกิจตกต่ำคนที่ถูกจัดว่าเป็นฟรีเตอร์อยู่แล้วกลายเป็นคนไร้งาน ส่วนคนหนุ่มสาวที่จบการศึกษาใหม่ๆก็กลายสภาพเป็นคนไร้งานจากระบบบริษัทพร้อมๆกับกลายเป็นฟรีเตอร์ไปพร้อมๆกัน   ฟรีเตอร์มีเพิ่มจำนวนมากนับหลายล้านคน แม้จะไม่มีตัวเลขที่แน่นอน มีการกล่าวกันว่าทศวรรษที่ 90 คือทศวรรษของพวกฟรีเตอร์


(3)

กลางทศวรรษที่ 90 คำว่า kuriaita ( หรือ creative )กลายมาเป็นคำที่เข้ามาสอดรับกับการสภาพการไร้งานของฟรีเตอร์ได้อย่างพอดี  ฟรีเตอร์ซึ่งแต่เดิมคือคนหนุ่มคนสาวญี่ปุ่นที่ทำงานแบบชั่วคราว ไร้สวัสดิการ  ได้กลายเป็นพระเอกคนใหม่ที่ต้องการปลดแอกตนเองออกจากระบบการจ้างงานแบบบริษัทญี่ปุ่น  พวกเขานี้ไม่ตองการเข้าสู่ระบบโครงสร้างสังคมช่วงชั้นในบริษัทของญี่ปุ่น  ไม่ต้องการอยู่ภายใต้ระบบการจ้างงานที่ต้องสวามิภักดิ์กับระบบบริษัทไปตลอดจนเกษียณ ได้กลายเป็นคนหนุ่มคนสาวที่ต้องสร้างสรรค์งานอย่างเป็นอิสระภายใต้วาทกรรม “การทำงานสร้างสรรค์” การมีอิสระของพวกเขาได้แสดงบทบาทในพื้นที่ทางการเมืองด้วยเช่นกัน  มีการรวมกลุ่มของสภาพฟรีเตอร์ในโตเกียวและฮิโรชิมา  พวกเขาทำงานกับองค์กรไม่แสวงหากำไร ( Non-profit organization)หลายแห่งโดยเฉพาะที่เกี่ยวประเด็นคนไร้บ้าน แรงงานข้ามชาติ  กลุ่มฟรีเตอร์ในโตเกียวเป็นกลุ่มแรกๆที่ออกมาเดินขบวนต่อต้านสงครามในอิรักใน ปี ค.ศ.2003 (ด้วยการแสดงด้านศิลปวัฒนธรรมและดนตรี) พวกเขาตัดขาดตัวเองจากอุดมการณ์มาร์กซิสต์หัวรุนแรงในญี่ปุ่นยุค 1960( ที่หนุ่มสาวญี่ปุ่นจำนวนหนึ่งเข้าร่วมกับกองทัพแดงญี่ปุ่น)  และไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ทางการเมืองแบบตายตัว

โยชิทากะ โมอิ( Yoshitaka Mouri)นักสังคมวิทยาจากมหาวิทยาศิลปะโตเกียวเห็นว่า ฟรีเตอร์คือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองแบบใหม่ให้กับคนรุ่นหนุ่มสาวในญี่ปุ่น  พวกเขาไม่ได้ละทิ้งเรื่องเชิงการเมือง  หากแต่พวกเขาละทิ้งเรื่องของการเมือง(เชิงโครงสร้าง)แบบเดิม  ปรากฏการณ์ของการนำประท้วงสงครามอิรักและประท้วงการใช้พลังงานนิวเคลียร์ในญี่ปุ่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นสำหรับพื้นที่ทางสังคมการเมืองของพวกเขา  ซึ่งในตอนประท้วงผลเหตุการณ์ 3-11 นั่น กลุ่มหนุ่มสาวในวัยนักศึกษายังไม่กล้าออกมามีบทบาทมากนัก ด้วยเหตุผลที่ว่ามัน(ยังไม่ใช่เวลาของพวกเขา)  และสำคัญที่ว่าเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการหางานของพวกเขาหลังจบการศึกษา


 

(4)

กลับมาที่อากิ โอกุดะและเพื่อนๆในกลุ่ม SASPL หลังกฎหมายปกป้องความมั่นคงผ่านสภาในปลายปี ค.ศ. 2013  พวกเขาก็เปลี่ยนชื่อกลุ่มเป็น Student Emergency Action for Liberal Democracy  หรือ SEALDs  และก็เริ่มนำการประท้วงมากขึ้น  มีการขยายกลุ่มไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ในปัจจุบันคาดกันว่ามีสมาชิกที่เป็นนักศึกษาราว 2000 คนจากมหาวิทยาลัยทั่วญี่ปุ่น  แม้ว่าเราจะเห็นภาพของเขาและสมาชิกก่อตั้งบ่อยในสื่อหรือคลิปใน youtube  แต่กลุ่ม SEALDs ไม่เห็นว่าตนเองเป็นแกนนำการประท้วงกฎหมายความมั่นคงดังกล่าว และเขากล่าวเสมอว่าการประท้วงครั้งนี้ไม่มีแกนนำ  ไม่มีการทำงานจัดตั้งแบบบทลงล่าง( top-down)  SEALDS เป็นแค่คนนำการประท้วง  ยังมีกลุ่มคนรุ่นหนุ่มสาวหลากลุ่มที่นำการประท้วงครั้งนี้ด้วยอย่างเช่น CIVITAS, Tokyo Crew

ด้วยหมวกทรงเท่กับโทรโข่ง พร้อมกับท่อนแร็ป “ เซพโพฮันไต เคนโพมะโมเระกลุ่ม” อากิ โอกุดะและเพื่อนๆทำให้มีคนหนุ่มสาวจำนวนมากที่เข้าร่วมกับพวกเขาบนท้องถนน  แต่นั่นไม่ใช่ที่พื้นที่เดียวที่พวกคนเหล่านั้นจะเข้าร่วมกับกิจกรรม SEALDS  คุณสามารถไปผับที่จัดโดย SEALDs  คุณสามารถซื้อเป้สะพายหลังที่มีโลโก้ของ SEALDs คุณสามารถซื้อเสื้อยืด(ที่ผลิตเพื่อ)ของ SEALDs  แน่นอนคุณสามารถร่วมปกป้องเสรีนิยมประชาธิปไตยพร้อมๆกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ร่วมกับ SEALDs...ดูเหมือนว่าโลกทุนนิยมนิยมยังโหดร้ายกับหนุ่มสาวญี่ปุ่น(ยุคหลังฟรีเตอร์?)ยังไม่พอ 

 

อากิ โอกุดะ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Student Against Secret Protection Law (SASPL)
และ Student Emergency Action for Liberal Democracy  หรือ SEALDs  ( ภาพจาก FB No Nukes Photographer)

 

หน้าปกอัลบั้ม Goo ของวงอัลเทอร์เนทีฟร็อกอเมริกัน Sonic Youth
ถูกปรับใช้เป็นแบบสกรีนให้กับเสื้อยืดของ SEALDs ที่เพิ่งออกจำหน่าย ( ภาพจากทวิตเตอร์ของ SEALDs)


อากิ โอกุดะ กับการแร็ปเซพโพฮันไตข้างถนนก่อนการประท้วงใหญ่ปลายเดือนสิงหาคม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net