Skip to main content
sharethis

ผู้สนับสนุนรัฐบาลมาเลเซียสวมเสื้อแดง-ชุมนุมใหญ่ เพื่อตอบโต้การชุมนุม "เบอเซะ 4.0" ที่เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี 'นาจิบ ราซัก' ลาออกหลังพัวพันยักยอกเงิน 2.45 หมื่นล้านบาท - อย่างไรก็ตามผู้ชุมนุมได้หยิบเรื่องละเอียดอ่อนคือ "เชื้อชาติ" มาโจมตีการชุมนุมเบอเซะ รวมทั้งประกาศว่ามาเพื่อให้รู้ว่า "ประเทศนี้มีเจ้าของ"

15 ก.ย. 2558 - หลังมาเลเซียเพิ่งผ่านพ้นการชุมนุมใหญ่ "เบอเซะ 4.0" (Bersih 4.0) โดยกลุ่มเบอเซะ หรือ "พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรม" เรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออก หลังถูกสื่อมวลชนกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 24,500 ล้านบาท นั้น

 

กลุ่มหนุนรัฐบาลนาจิบ ชุมนุมใหญ่ "สามัคคีประชาชน" โต้กลุ่มเบอเซะ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.ย. ในวันหยุด "วันมาเลเซีย" วันที่รำลึกถึงการรวมรัฐซาบาห์ ซาราวัก และสิงคโปร์เข้ามาอยู่ใน "ประเทศมาเลเซีย" เมื่อ พ.ศ. 2506 (ก่อนที่สิงคโปร์จะถูกขับออกไปในปี พ.ศ. 2508 นั้น) ได้มีการชุมนุมตอบโต้โดยฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลนาจิบ อย่างไรก็ตามกลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งใช้เสื้อสีแดงเป็นสัญลักษณ์ดังกล่าวได้ใช้หยิบเรื่อง "เชื่อชาติ" ซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อนในสังคมมาเลเซียขึ้นมาเป็นประเด็นต่อสู้ทางการเมือง ด้วยการกล่าวหาว่าการชุมนุมเบอเซะเป็นการชุมนุมของคนจีน และพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP)

การรวมตัวของผู้ชุมนุมสนับสนุนรัฐบาลมาเลเซียที่ปาดัง เมอร์บก ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

โดยผู้ชุมนุมราว 45,000 คน ได้เดินขบวนไปตามท้องถนนในกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และรวมตัวกันที่ปาดัง เมอร์บก เพื่อการชุมนุม "สามัคคีประชาชน" หรือ "Himpunan Rakyat Bersatu" โดยเป็นการตอบโต้การชุมนุมเบอเซะ 4.0

ขณะที่มาเลเซียกินี รายงานก่อนหน้านี้ว่า ผู้จัดการชุมนุม ระบุว่าจะใช้ชื่อการชุมนุมว่า การชุมนุมเพื่อ "ศักดิ์ศรีมลายู" หรือ "Himpunan Maruah Melayu" อย่างไรก็ตามมีการเปลี่ยนแปลงเป็นการชุมนุม "สามัคคีประชาชน" ดังกล่าว

 

แกนนำพรรคอัมโนพยายามลดโทน "เหยียดเชื้อชาติ" ในการชุมนุม

ในรายงานของมาเลเซียกินี [1], [2] ระบุว่า พรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ หรือ อัมโน (UMNO) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลอยู่ใน "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional - BN) ปฏิเสธว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม แต่ผู้จัดชุมนุมคือสหพันธ์สีลัตแห่งชาติ (National Silat Federation - Pesaka) องค์กรซึ่งมีหัวหอกเป็นแกนนำในพรรคอัมโน รวมทั้งอดีตผู้ว่าการรัฐมะละกา โมฮัมหมัด อาลี รัสตัม (Mohd Ali Rustam) ได้เข้าร่วมการชุมนุมด้วย

ขณะที่ผู้นำพรรคอัมโนระดับอาวุโสพยายามที่จะเข้ามามีบทบาทในการชุมนุมแทนแกนนำระดับชุมชน ที่เป็นพวก 'ฮาร์ดไลเนอร์' เพื่อลดโทนเสียง "เหยียดเชื้อชาติ" ของการชุมนุมลง ทั้งนี้การชุมนุมเต็มไปด้วยโทนเสียง "เหยียดเชื้อชาติ" โดยมีการตะโกนด่าทอผู้สื่อข่าวชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และมีการชูป้ายประท้วงในทางยั่วยุ

ทั้งนี้เป้าหมายของผู้ชุมนุม คือพรรคฝ่ายค้าน "พรรคกิจประชาธิปไตย" หรือ DAP ซึ่งถูกผู้ชุมนุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมองว่าเป็นพรรคของชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน

ทั้งนี้บนเวทีชุมนุมใหญ่ ที่ปาดัง เมอร์บก มีการตะโกนคำขวัญว่า "Tolak DAP" (ไม่เอาดีเอพี)" "Hidup Najib (นาจิบจงเจริญ)" และ "(Hidup Melayu) มลายูจงเจริญ" ด้วย

ขณะที่ในช่วงเช้าของการชุมนุม มีการเผยแพร่คลิปของผู้ชุมนุมซึ่งเป็นสตรีมาจากรัฐยะโฮร์ รัฐเดียวกับที่ "หลิม กิตเสียง" ส.ส. และแกนนำของพรรคกิจประชาธิปไตย (DAP) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งได้ที่นั่ง ส.ส. ในรัฐดังกล่าว โดยสตรีรายนี้ได้ออกปากไล่หลิม กิตเสียง และบอกว่า "พอกันที" และบอกว่า หลิม กิตเสียง คุณต้องรู้ว่าที่มีเป็นแผ่นดินของมลายู นอกจากนี้สตรีผู้นี้ยังใช้ถ้อยคำเหยียดเชื้อชาติเพื่อโจมตีหลิม กิตเสียงด้วย โดยหลังจากที่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่ ก็มีเสียงวิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมที่หยิบยกประเด็นเรื่องเชื้อชาติขึ้นมาโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

 

แกนนำระบุผู้ชุมนุมมาเพื่อร้องเตือนว่า "ประเทศนี้มีเจ้าของ"

ด้าน อันนัว มูซา (Annuar Musa) ซึ่งมีตำแหน่งเป็นสมาชิกของสภาสูงสุดพรรคอัมโน ได้ปราศรัยว่า นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ได้กล่าวแสดงความยินดีกับการชุมนุมในวันนี้ นอกจากนี้ อันนัว นูซา กล่าวด้วยว่า "ต้องไม่ทำให้จุดยืนและสิทธิของพวกเราชาวมลายูต้องถูกตั้งคำถามหรือเยาะเย้ย"

"นี่ไม่ใช่การฉลองทั่วไป ต้องทำให้เสียงของประชาชนสองแสนห้าหมื่นคนร้องเตือนว่าประเทศนี้มีเจ้าของ" อันนัว นูซา กล่าวโดยอ้างว่ามีผู้ชุมนุมมาถึงสองแสนห้าหมื่นคน

ขณะที่คำว่า "เจ้าของ" ในทีนี้หมายถึง ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายู ซึ่งมีสถานะเป็น "ภูมิบุตร" โดยถูกกำหนดให้ได้รับสิทธิหลายอย่างในประเทศ

 

ห้างไอทีปิดชั่วคราว หลังผู้ชุมนุมรวมตัวใกล้ย่านดังกล่าว

มีรายงานด้วยว่า ศูนย์การค้าอุปกรณ์ไอที "โลวยัตพลาซ่า" (Low Yat Plaza) ซึ่งผู้ค้าและพนักงานหน้าร้านส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน และเคยเกิดจลาจลขนาดย่อมมาแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน ต้องปิดทำการชั่วคราวในวันนี้ด้วย เนื่องจากมีการรวมตัวของผู้ชุมนุมต้านกลุ่มเบอเซะอยู่ใกล้เคียงบริเวณดังกล่าว

ผู้ชุมนุมเผชิญหน้ากับตำรวจปราบจลาจลที่ถนนเปตาลิงสตรีท หรือ "ไชน่าทาวน์" ของกัวลาลัมเปอร์ ก่อนตำรวจใช้รถฉีดน้ำเพื่อสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่พยายามจะบุกเข้าไปในย่านชาวจีนดังกล่าว (ที่มา: Lim Huey Teng/Malaysiakini)

ตำรวจปราบจลาจลฉีดน้ำสลายการชุมนุมที่ถนนเปตาลิงสตรีท (ที่มา: มาเลเซียกินี)

เจ้าหน้าที่ตำรวจมาเลเซียแถลงข่าวอธิบายสาเหตุที่ต้องสลายการชุมนุมที่ถนนเปตาลิงสตรีท ยืนยันว่าผู้ชุมนุมเริ่มใช้วิธีการขว้างปาสิ่งของ จึงต้องใช้การฉีดน้ำ (ที่มา: มาเลเซียกินี)

ตำรวจมาเลเซียสลายการชุมนุมหลังผู้ชุมนุมพยายามบุกเข้าไปในย่านคนจีน

ในขณะที่การชุมนุมใหญ่ของผู้ชุมนุมที่ปาดัง เมอร์บก เป็นไปอย่างสงบและสลายตัวไปตั้งแต่เวลา 18.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น อย่างไรก็ตามเกิดเหตุรุนแรงขึ้นที่ถนนเปตาลิงสตรีท ซึ่งมีผู้ชุมนุมประมาณ 800 คน พยายามที่จะเข้าไปในบริเวณดังกล่าวซึ่งมีชาวจีนอาศัยอยู่ โดยเปตาลิงสตรีทรู้จักกันในนามของ "ไชน่าทาวน์" ของกัวลาลัมเปอร์

ทั้งนี้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณดังกล่าวกับผู้ชุมนุมที่ใส่เสื้อสีแดง โดยถึงที่สุดจบลงด้วยการที่ตำรวจจลาจลฉีดน้ำเพื่อสลายการชุมนุม ณ จุดดังกล่าว และมีการจับผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 3 นาย และผู้ประท้วงจำนวนหนึ่งบาดเจ็บหลังเหตุปะทะกัน

ขณะที่แกนนำการชุมนุมไม่ยอมรับว่าเป็นผู้ชุมนุมฝ่ายตน โดยจามาล โมฮัมหมัด ยูโนส ( Jamal Md Yunos) ประธานพันธมิตรเอ็นจีโอมาเลเซีย (Gabungan NGO-NGO Malaysia) ซึ่งเป็นฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล อ้างว่าเหตุปะทะกับตำรวจเป็นเพราะการยั่วยุของพรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat) "พวกเขาพยายามป่วนการชุมนุม ต้องการให้เกิดปัญหา ผมขอปฏิเสธเลยว่าไม่เกี่ยวกับเรา"

อย่างไรก็ตาม จามาล ก็ได้เข้าไปห้ามปรามไม่ให้ผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นของตำรวจ และกล่าวกับผู้ชุมนุมว่า เขาบอกว่าจะไปแจ้งความกับตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้ค้าในย่านถนนเปตาลิงสตรีท ซึ่งผู้ค้าส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน เพื่อให้ผู้ชุมนุมสงบ และยอมออกจากพื้นที่

ก่อนหน้านี้ในช่วงชุมนุมเบอเซะ ซึ่งจัดไปเมื่อ 29 ถึง 30 ส.ค. ที่ผ่านมา จามาล เคยจัดแถลงข่าวต่อต้านกลุ่มเบอเซะ และประกาศว่านำผู้สนับสนุนเข้ามาชุมนุมเผชิญหน้ากับกลุ่มเบอเซะ อย่างไรก็ตามในช่วงการชุมนุมเบอเซะ จามาล ไม่ได้จัดการชุมนุม แต่เลื่อนการชุมนุมมาเป็นวันที่ 16 ก.ย. ดังกล่าว

 

สังเขปการเมืองมาเลเซียหลังเผชิญ 2 การชุมนุม

แกนนำเบอเซะ 7 คน ซึ่งมีทั้งชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน อินเดีย และมลายู ที่ถูกตำรวจเรียกสอบสวน หลังจากชุมนุมใหญ่เมื่อ 29 ถึง 30 ส.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในมุมของผู้ชุมนุมฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลมาเลเซียมองว่าการชุมนุมเบอเซะเป็นการชุมนุมของคนเชื้อสายจีน เนื่องจากจำนวนผู้เข้าร่วมการชุมนุมมีชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนในสัดส่วนที่สูงกว่าการชุมนุมเบอเซะครั้งก่อนๆ (ที่มา: Keadilandaily)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ พันธมิตรเพื่อการเลือกตั้งเสรีและยุติธรรมหรือกลุ่มเบอเซะ (Bersih) จัดชุมนุมใหญ่ระหว่างวันที่ 29 ถึง 30 ส.ค. ที่จัตุรัสเมอเดก้า ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นเวลา 34 ชั่วโมง ก่อนวันหยุด "วันรำลึกเอกราช" เพื่อเรียกร้องให้นาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซียลาออกจากถูกสื่อมวลชนกล่าวหาว่ายักยอกเงินกว่า 700 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 24,500 ล้านบาท) จากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย "วันมาเลเซียเดเวลอปเมนท์ เบอรฮาด" หรือ 1MDB

นอกจากนี้ผู้ชุมนุมยังมีข้อเรียกร้อง 5 ข้อได้แก่ 1. การเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม 2. รัฐบาลที่ตรวจสอบได้ 3. เสรีภาพในการชุมนุม 4. ทำให้ระบบประชาธิปไตยแบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง และ 5. รักษาเศรษฐกิจของประเทศ

โดยการชุมนุมเป็นอย่างไปอย่างเรียบร้อย ไม่เหมือนการชุมนุมเบอเซะครั้งก่อนๆ เมื่อ 10 พ.ย. 2550, การชุมนุม "Bersih 2.0" 9 ก.ค. ปี 2554 และ การชุมนุม "Bersih 3.0" เมื่อ 28 เม.ย. 2555 ซึ่งทุกครั้งจบลงด้วยการสลายการชุมนุมโดยตำรวจมาเลเซีย

อย่างไรก็ตามหลังการชุมนุม มัสจาลิซา แฮมซา (Masjaliza Hamzah) คณะกรรมการของเบอเซะเปิดเผยว่าหลังการชุมนุม ตำรวจได้ออกหมายเรียกแกนนำ 7 คน รวมทั้งเธอด้วยเพื่อสอบปากคำ โดยถูกตั้ง 3 ข้อหาว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 124C พยายามดำเนินการซึ่งเป็นภัยต่อประชาธิปไตยรัฐสภา ซึ่งตามมาตรานี้ผู้ที่พยายามกระทำการดังกล่าว หรือเตรียมการ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี ส่วนอีก 2 ข้อหา เป็นไปตามมาตรา 141 ในประมวลกฎหมายอาญา เป็นความผิดฐานชุมนุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยฟ้องพ่วงมาตรา 120 ปกปิดเจตนาที่จะกระทำความผิดกฎหมายอาญา

โดยก่อนหน้าการชุมนุม ผู้บัญชาการตำรวจกัวลาลัมเปอร์ ระบุว่าการชุมนุมเบอเซะ 4.0 ขัดต่อกฎหมายการชุมนุม (PAA) เพราะผู้จัดการชุมนุมไม่ส่งแบบฟอร์มที่สมบูรณ์ รวมทั้งส่งแผนการชุมนุม เส้นทางและสถานที่เพื่อให้ตำรวจอำนวยความสะดวก ส่วนคณะกรรมการด้านการสื่อสารและมัลติมีเดีย (MCMC) ของมาเลเซีย ได้ปิดการเข้าถึงเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลการชุมนุม Bersih 4.0 โดยอ้างว่าการชุมนุมดังกล่าว "คุกคามเสถียรภาพของประเทศ" เช่นเดียวกับ  อะหมัด ซาอิด ฮามิดี (Ahmad Zahid Hamidi) รมว.มหาดไทย ได้ออกคำสั่งของรัฐมนตรีมหาดไทย ระบุว่า เสื้อเหลืองซึ่งมีข้อความว่า "Bersih 4" และสิ่งพิมพ์ แผ่นพับที่เกี่ยวข้องกับ "Bersih 4" ถือว่าผิดกฎหมาย (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net