เดอะการ์เดียนล้วงลึกสังคมอิหร่าน: ทำไมยังมีการคุกคามทางเพศแม้แต่งกายมิดชิด

นักข่าวเดอะการ์เดียนเล่าถึงกรณีการคุกคามทางเพศในอิหร่านที่แม้แต่การแต่งกายอย่างมิดชิดหรือการแต่งกายตามหลักศาสนาก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้หญิงพ้นจากการถูกคุกคามทางเพศ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสังคมที่ปิดกั้นพื้นที่การสื่อสารระหว่างหญิง-ชาย มาตั้งแต่เด็ก รวมถึงเจ้าหน้าที่ทางการที่มีอคติจ้องจับผิดทางศีลธรรมต่อเพศหญิงเพียงอย่างเดียว

หอคอยอาซาดี (The Azadi Tower) สร้างในปี 2514 โดยพระเจ้าชาห์ เพื่อรำลึกการครบรอบ 2,500 ปีของจักรวรรดิเปอร์เซีย (ที่มาของภาพประกอบ: Christiaan Triebert/flickr.com/CC BY 2.0)

16 ก.ย. 2558 - นักข่าวเดอร์การ์เดียนประจำกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เล่าถึงบรรยากาศในย่านทางตอนเหนือของกรุงเตหะรานที่เธอเดินทางไปทำงานว่าเป็นย่านที่มีการจราจรคับคั่งและมีห้างร้านต่างๆ ที่ดูทันสมัยรวมถึงร้านกาแฟแบบประเทศตะวันตก แต่บนถนนสายนั้นก็ทำให้เธอรู้สึกว่ากำลังถูกคุกคามทางเพศอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะจากการจ้องมองส่วนสงวนของร่างกายด้วยความหื่นกระหายแม้ว่าเธอจะสวมชุดแจ็กเก็ตขนาดกลางปกคลุมร่างกาย บางครั้งก็มีการส่งเสียงคล้ายเสียงจูบดังๆ หรือมีการส่งเสียงคล้ายงูขู่ฟู่ๆ ข้างหลังหูของเธอ บางครั้งก็มีการใช้ถ้อยคำหยาบคายกับเธอด้วย การแสดงออกถึงความหื่นกระหายตรงๆ เช่นนี้ทำให้เธอรู้สึกขนลุก

นักข่าวเล่าต่อไปว่าในบางกรณีเธอยังถูกผู้ชายขับรถตามและพยายามพูดคุยเชื้อชวนให้เธอขึ้นรถ โดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นในย่านเวเลนจักทางตอนเหนือของเตหะรานขณะที่เธอเดินอยู่กับเพื่อนผู้หญิงรวม 4 คน มีชายคนหนึ่งพยายามขับรถตามพวกเธอไม่ว่าพวกเธอจะด่าทอหรือพยายามเมินเฉยเขามากเท่าไหร่ก็ตาม จนกระทั่งพวกเธอตัดสินใจหลบเข้าไปในร้านกาแฟ เธอเล่าอีกว่าไม่ใช่แค่รถยนต์เท่านั้นบางทีก็มีผู้ชายคอยขี่ยานพาหนะอื่นๆ ติดตาม เช่นรถจักรยานยนต์ หรือรถสกู๊ตเตอร์

"การคุกคามทางเพศในที่สาธารณะเป็นความจริงที่เกิดขึ้นทุกวันในอิหร่าน" นักข่าวเดอะการ์เดียนระบุในบทความ

ไม่เพียงแค่นักข่าวที่ดูมีรูปลักษณ์ภายนอกเหมือนคนต่างชาติและดูเป็นเสรีชนเท่านั้นที่ตกเป็นเป้าของการคุกคามทางเพศ นักข่าวเดอะการ์เดียนระบุว่าเมื่อเธอได้พูดคุยเรื่องนี้กับเพื่อนก็พบว่ามีการปฏิบัติแบบเดียวกันกับผู้หญิงทุกแนว

ซาฮาร์ หญิงอายุ 26 ปี ที่ไม่ใช่ชาวอิหร่านโดยกำเนิดเปิดเผยว่าเธอเติบโตในประเทศมุสลิมที่ไม่มีการบังคับสวมฮิญาบในประเทศของเธอผู้คนมักจะสอนว่าฮิญาบจะปกป้องผู้หญิงจากความปรารถนาของผู้ชายเพราะมีคำสอนว่าส่วนสงวนของร่างกายผู้หญิงจะทำให้เกิดความโกลาหลในหมู่ผู้ชาย ซาฮาร์เดินทางไปเรียนที่กรุงเตหะรานมา 1 ปีแล้ว ซึ่งในอิหร่านมีการบังคับให้สวมฮิญาบ แต่เธอก็ยังคงถูกคุกคามทางเพศบนท้องถนนและการสวมผ้า 'ชาดอร์' ซึ่งเป็นผ้าคลุมทั้งตัวเผยให้เห็นใบหน้าก็ไม่ทำให้เธอรอดพ้นจากการถูกคุกคาม อีกทั้งยังมีกรณีที่เธอเห็นผุ้หญิงคนอื่นที่แต่งกายมิดชิดด้วยชาดอร์แต่ก็ยังถูกผู้ชายคุกคามเช่นกัน

"ฉันเข้าใจว่าไม่ว่าฉันจะสวมใส่อะไรก้ตาม ผู้ชายก็จะยังคงไล่ตามฉัน เพียงเพราะฉันเป็นผู้หญิง" ซาฮาร์กล่าว

หญิงอีกคนหนึ่งชื่อไอชา นักศึกษาวิชาเคมีอายุ 23 ปี อธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้ชายในอิหร่านแสดงออกให้ตีความไปในเชิงคุกคามทางเพศว่า ผู้หญิงและผู้ชายถูกแยกให้เรียนแบบหยิงล้วนและชายล้วนตั้งแต่ประถมถึงมัธยมศึกษาทำให้ไม่มีโอกาสให้ปฏิสัมพันธ์กัน พวกเขาจึงไม่สามารถสนทนากันแบบปกติได้ ทำให้การสนทนาชวนให้ส่อนัยทางเพศอยู่เสมอ ทำให้ชวนตั้งคำถามว่าหรือผู้ชายเหล่านี้ไม่รู้วิธีการเข้าหาถึงใช้วิธีการ "พูดแซว" หรือการสะกดรอยตามเพราะคิดว่าจะใกล้ชิดกับผู้หญิงได้

"เป็นเพราะพวกเราอยู่ในสังคมที่ไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิงและผู้ชายได้พบปะสื่อสารกันอย่างเสรี" ไอชากล่าว

ในอิหร่านไม่มีพื้นที่ของคลับ บาร์ ทำให้พื้นที่ของการเกี้ยวพาราสีอยู่ตามท้องถนน ไอชาบอกอีกว่าบางครั้งการเข้าหาผู้หญิงในอิหร่านก็ทำให้พวกเธอรู้สึกดีในช่วงแรกๆ แต่เมื่อพวกเขาเริ่มแสดงความต้องการทางเพศอย่างโจ่งแจ้งก็ทำให้พวกเธอรู้สึกไม่ปลอดภัยและรู้สึกเปลือยเปล่าซึ่งไอชาถือว่าเป็นปัญหา

นักข่าวเดอะการ์เดียนระบุอีกว่าสิ่งที่แยกแยะระหว่างการเกี้ยวพาราสีกับการคุกคาม คือการคุกคามมีลักษณะของการไล่ล่า ทำให้ผู้ถูกล่ารู้สึกหวาดกลัวเวลาเดินบนท้องถนน ในบทความของเธอระบุอีกว่าแม้แต่เจ้าหน้าที่ซึ่งต้องรักษาความปลอดภัยให้กับพวกเธอก็ยอมให้มี "การล่า" แบบนี้เกิดขึ้นได้ทั่วไป

นักข่าวเดอะการ์เดียนชี้ว่าเรื่องนี้ทำให้เกิดความย้อนแย้งในแนวคิดของการ "ปกป้องเรือนร่างของผู้หญิง" ด้วยเสื้อผ้า ในขณะที่ฝ่ายคุกคามมีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ไม่ว่าจะเป็นการสะกดรอยตามหรือการจับต้องลวนลาม ในขณะที่ตำรวจศีลธรรมเอาแต่จับกุมผู้หญิงที่ "สวมฮิญาบที่ไม่ดี" หรือแต่งกายในแบบที่พวกเขามองว่าล่อแหลม

นอกจากนี้หญิงชาวอิหร่านยังกล่าวถึงปัญหาทางวัฒนธรรมอื่นๆ ที่เป็นการกดขี่ผู้หญิง เช่นถึงแม้ว่าการไปไหนมาไหนกับผู้ชายจะทำไปเพื่อป้องกันตัวเองจากการคุกคามทางเพศแต่ผู้ชายที่ไปด้วยกลับรู้สึกว่าพวกเขา "เป็นเจ้าของ" ผู้หญิงคนนั้น รวมถึงการที่สังคมกดดันให้ผู้หญิงต้องไม่พูดถึงเรื่องนี้ทำให้พวกเธอไม่มีพื้นที่ให้พูดคุยปรึกษาหารือแม้แต่กับเพื่อนที่สนิทด้วย

 

เรียบเรียงจาก

How the hijab has made sexual harassment worse in Iran, The Guardian, 15-09-2015
http://www.theguardian.com/world/iran-blog/2015/sep/15/iran-hijab-backfired-sexual-harassment

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท