Skip to main content
sharethis
ไฟเย็น คือวงดนตรีเสื้อแดงที่มุ่งทำให้คน “ตาสว่าง' ด้วยความแหลมคมของเนื้อเพลงที่วิจารณ์ชนชั้นนำอย่างเสี่ยงคุก ทำให้พวกเขาถูกคุกคามโดยรัฐบาลทหาร และต้องลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านในที่สุด แม้จะอยู่อย่างยากลำบาก ด้วยข้อจำกัดในฐานะผู้ลี้ภัยหลายประการ ไฟเย็นยังคงมุ่งมั่นผลิตเพลงเพื่อการปฏิวัติสังคมไทยต่อไป 
 
 
เดือนมีนาคม 2549 กลุ่มคนเสื้อเหลือง นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้ปล่อยเพลงโดยนักแต่งเพลงนิรนาม ซึ่งต่อมาจะกลายเป็นเพลงที่ถูกเล่นซ้ำแล้วซ้ำอีกบนเวทีพันธมิตร คือเพลง 'คนหน้าเหลี่ยม' แรปเปอร์ใช้เวลากว่าสิบนาทีเพื่อแรปบอกผู้ฟังถึงข้อกล่าวหาเรื่องคอรัปชั่นแทบทุกข้อกล่าวหาที่คนๆ หนึ่งจะนึกออกต่อ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วยังมีการพูดถึงคนกว่าอีกร้อยคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นเครือข่ายของทักษิณอีกด้วย ด้วยเนื้อและทำนองเพลงที่ติดหูมาก เพลงนี้จึงสร้างแรงกระเพื่อมสูง มันทำให้ผู้คนจดจำข้อกล่าวหาการกระทำผิดของทักษิณได้อย่างรวดเร็ว ปรากฎการณ์นี้แสดงถึงพลังของดนตรีต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่ต้องสงสัย
 
ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลง เป็นที่รู้กันดีว่า ดนตรียังเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการปฏิวัติและการเคลื่อนไหวทางการเมือง จะเป็นอย่างไรถ้ามีดนตรีที่พยายามผลักพรมแดนของสิ่งที่พูดไม่ได้ในสังคมไทยอย่างเรื่องที่เกี่ยวกับการวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ซึ่งอาจมีผลทำให้ผู้นั้นต้องติดคุกได้ถึง 15 ปี ด้วยมาตรา 112 
 
‘ไฟเย็น’ คือวงป๊อปที่พยายามเปลี่ยนสิ่งที่อยู่ในบทสนทนาของชาวบ้านในที่ลับเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มาเป็นเนื้อเพลงที่ติดหูและสนุกสนาน ที่คนสามารถร้องและเต้นตามไปได้ 
 
จากซ้ายไปขวา นิธิวัติ หรือ จอม (นักร้องนำ), พอร์ท (กีต้า) ไตรรงค์ หรือ ช่อ (เปียโน และหัวหน้าวง), กล้วย (กลอง) และ อุ๊ (เพอคัชชั่น) (ถ่ายเมื่อ พ.ย. 56)
 
วงไฟเย็น ก่อตั้งช่วงปลายปี 2553 เป็นวงลูกผสมระหว่างป๊อปและลูกทุ่งสมัยใหม่ที่กลายเป็นที่รู้จักในหมู่คนเสื้อแดงและผู้ที่วิพากษ์สถาบันจำนวนหนึ่ง วงไฟเย็นไม่เคยได้มีโอกาสเล่นบนเวทีของ นปช. เลย เพราะความสุ่มเสี่ยงของเนื้อร้องในประเด็นสถาบัน ไฟเย็นจึงต้องหาโอกาสแสดงสดตามงานชุมนุมที่จัดโดยเสื้อแดงกลุ่มย่อย 
 
วิธีที่จะเข้าใจไฟเย็นได้ดีที่สุด น่าจะเป็นการดูเนื้อเพลงของไฟเย็น แต่เนื่องจากเพลงของไฟเย็นสุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดมาตรา 112 มาก ประชาไทจึงจะหยิบเพียงบางเพลงมาพูดถึงเท่านั้น 
 
'ทำไมไม่ให้ประกัน' เป็นเพลงหนึ่งที่เล่นกับเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นธีมที่ไฟเย็นใช้บ่อยๆ ในงาน เพลงๆ นี้ไม่เพียงแค่วิพากษ์กฎหมายอย่างเจ็บๆ คันๆ แต่ยังพูดถึงการไม่ให้สิทธิการประกันกับนักโทษ 112 ซึ่งเป็นประเด็นกังวลที่สำคัญประเด็นหนึ่งขององค์กรสิทธิฯ ต่างๆ 
 
“ทำไมไม่ให้ประกัน จะติดอีกนานเท่าไหร่ ทั้งสมยศ เจ๊ดา และสุรชัย ขังไว้ทำไมเล่าหนา อากงก็ห้ามประกัน (เลยตายเลย) ใช่เป็นโทษทัณฑ์ปล้นฆ่า กฎเถื่อนย่ำยี ถูกตีตรา กฎหมู่กฎหมาย อัปรีย์” 
 
การแสดงสดครั้งท้ายๆ ของไฟเย็น ณ รอบนอกของสนามรัชมังคลา ในเวทีโกตี๋ เรดการ์ด ระหว่างที่ นปช. กำลังชุมนุมอย่างข้างในสนาม เมื่อเดือน พ.ย. 57 
 
หัวหน้าวงบอกว่า ไฟเย็นนั้น “มุ่งวิจารณ์ศักดินาที่เป็นปัญหาของสังคมไทย” ที่ตั้งชื่อวงว่า 'ไฟเย็น' ก็เพราะดอกไม้ไฟประเภทนี้จะค่อยๆ มอดไหม้ ซึ่งเหมือนกับเพลงของวง คือการทำให้คนซึมซาบความคิดวิพากษ์ต่อศักดินาอย่างช้าๆ “ไฟเย็นนั้นค่อยๆ สว่างและค่อยๆ ร้อน กว่าที่คุณจะรู้ตัว ไฟเย็นก็มอดแล้ว” 
 
‘ไตรรงค์’ หรือ ‘ช่อ’ เป็นนักดนตรีอาชีพ และเคยทำงานในบริษัทดนตรีกระแสหลักมาก่อน เขายังเคยทำงานเพลงเฉลิมพระเกียรติฯ มาอีกด้วย ประสบการณ์สอนเขาให้รู้จักใช้เทคนิคของค่ายเพลงในการแต่งให้ติดหู เพลงไฟเย็นจึงมีลักษณะบ้านๆ เข้าใจง่าย และเข้าถึงรสนิยมคนเสื้อแดงรากหญ้า
 
เขายอมรับว่า บางครั้งเขาก็ก๊อปทำนองจากเพลงฝรั่งดังๆ มาเพื่อให้เพลงติดหูคนเร็วขึ้น อย่างเพลง 'ไม่รักระวังติดคุก' ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ซึ่งท่อนฮุกของเพลงนี้นำมาจากเพลง I will follow him
 
เบนจมิน ทูสิก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาด้านดนตรีที่มหาวิทยาลัยสโตนี่บรู๊ค ซึ่งมาทำวิจัยเรื่องดนตรีในการประท้วงของไทย กล่าวว่า เนื้อเพลงของไฟเย็นนั้นไม่ได้มีเนื้อหาที่แปลกแหวกแนวอะไร และจริงๆ แล้วก็เป็นสิ่งที่ปรากฎอยู่ในบทสนทนาในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งสโลแกนที่คนเสื้อแดงบางกลุ่มตะโกนในที่ชุมนุมหรืออยู่บนเสื้อยืด
 
“บางทีอาจเป็นเพราะมันคือดนตรี ซึ่งรวมถึงแผ่นซีดี และวิดีโอการแสดงสดที่เชื่อมโยงนักดนตรีกับความคิดของเขาในรูปแบบซีดีและวิดีโอการแสดงสดซึ่งมีลักษณะกึ่งถาวรที่ผู้คนทั่วไปคงไม่กล้าจะทำ” 
 
เมื่อถามว่า ตัวละครสำคัญอย่างทักษิณ ได้ปรากฎในเพลงๆ ไหนของไฟเย็นบ้างหรือไม่ ช่อกล่าวว่า มีแค่ประโยคเดียวในเพลงๆ หนึ่งที่กล่าวว่า ความนิยมของทักษิณนั้นทำให้ศักดินาไม่พอใจ 
 
ไม่น่าแปลกใจว่า เพราะยุทธศาสตร์ของ นปช. ในการประสานประโยชน์กับชนชั้นนำ ทำให้ไฟเย็นไม่ได้แสดงบนเวที นปช. เลย แต่วงไฟเย็นบอกว่า พวกเขาก็ไม่แคร์
 
“สู้ไปกราบไป เมื่อไหร่จะชนะ” ช่อกล่าว “พวกแกนนำก็พูดเรื่องเดิมๆ บนเวที ไม่เคยไปไกลกว่านี้ นปช. ไม่เคยให้ความรู้กับมวลชนเลย” 
 
ไฟเย็นแสดงสดระหว่างการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เพื่อต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ฉบับเหมาเข่ง เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งเป็นการชุมนุมซึ่งจัดโดย สมบติ บุญงามอนงค์ 
 
อย่างไรก็ตาม ไฟเย็นไม่ได้ถือว่าแรงที่สุดในกลุ่มดนตรีเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ นอกจากไฟเย็นยังมี พิษณุ พ. นักกิจกรรมเสื้อแดงคนหนึ่งที่แต่งเนื้อร้องของเพลงสรรเสริญพระบารมีขึ้นใหม่โดยใช้ทำนองเดิมระหว่างที่เขาลี้ภัยอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเนื้อเพลงของพิษณุนั้นเข้าข่ายผิดมาตรา 112 อย่างชัดเจน และถูกบล็อกโดยกระทรวงไอซีที 
 
อย่างไรก็ตาม แม้เพลงของไฟเย็นจะสุ่มเสี่ยงแค่ไหน ไฟเย็นก็ระมัดระวังเต็มที่ที่จะไม่ให้พวกเขาถูกจับ ให้ผู้คนยังฟังเพลงของเขาได้โดยไม่ต้องแอบ และสามารถแสดงสดเพื่อเปลี่ยนความคิดของผู้คนในประเทศไทยไปได้เรื่อยๆ 
 
แต่ความหวังของพวกเขาก็ต้องจบลงในวันที่ 9 มิ.ย. 2557 เมื่อคณะรัฐประหาร นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกสมาชิกวงส่วนหนึ่ง และอดีตสมาชิกหนึ่งคนรายงานตัว 
 

ชีวิตนักดนตรีลี้ภัย 

 
“ถ้าเราไปรายงานตัว เราโดนยัด 112 แน่ๆ” ‘นิธิวัติ’ หรือ ‘จอม’ กล่าว และบอกว่า ตอนนี้ทุกคนในวงยังไม่มีหมายจับมาตรา 112 แต่ถ้าไปรายงานตัวกับ คสช. น่าจะเจอแนวโน้มเหมือนทอม ดันดี นักกิจกรรมเสื้อแดงที่ไปรายงานแล้ว จึงโดนแจ้งข้อหา 112 ในภายหลัง
 
แม้จะไม่ได้ถูกเรียกรายงานตัวทุกคน แต่สมาชิกวงทั้งห้าคนตัดสินใจหลบออกจากประเทศไทยด้วยกัน เพราะรู้สึกว่า ไม่ปลอดภัยจากการคุกคามของ คสช. และต้องการร่วมกันทำเพลงต้อต้านเผด็จการไปด้วยกัน 
 
ไฟเย็นซ้อมเพลง บทเพลงของสามัญชน ซึ่งแต่งโดย ชูเวช และ แก้วใส
 
อย่างไรก็ตาม ชีวิตผู้ลี้ภัยนั้นไม่สบายเลย ในประเทศเพื่อนบ้านที่ไฟเย็นไปลี้ภัยอยู่นั้น ทางการห้ามมิให้ผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพทำมาหากินอย่างออกหน้าออกตา (ซึ่งกฎๆ นี้ก็มีคนพยายามฝ่าฝืนอยู่) และถ้าหากต้องการเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อ ก็ห้ามมิให้ระบุว่า อยู่ประเทศอะไร
 
‘อุ๊’ วัย 54 ปี มือเพอคัชชั่น (เครื่องประกอบจังหวะ) ซึ่งมีโรคประจำตัวคือโรคความดัน ไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ เนื่องจากเขาเข้าประเทศผิดกฎหมาย และอาศัยผู้ที่มาเยี่ยมนำยามาให้จากประเทศไทย ด้วยโรคภัยไข้เจ็บจึงทำให้อุ๊ไม่สามารถช่วยเพื่อนๆ ทำงานได้มาก 
 
พวกเขาต้องอยู่รวมกันในบ้านแบบคอมมูน ทุกคนต้องจ่ายเงินเข้ากองกลางวันละ 40 บาท เพื่อมาเป็นรายจ่ายในบ้านและค่าอาหาร นอกเหนือจากทุนที่ 'ผู้มีอุปการคุณ' ช่วยจุนเจือ 
 
‘พอร์ท’ ซึ่งไม่โดนหมายเรียกและหมายจับก็ลาออกจากงานประจำซึ่งค่อนข้างมั่นคง เพื่อทุ่มเทเวลาทำงานเพลงกับวงอย่างเต็มที่ “สถานการณ์ตอนนี้มันหน้าสิ่วหน้าขวาน เราต้องช่วยต่อสู้ก่อน” พอร์ทเป็นคนที่ช่วยขนเครื่องดนตรีของวงมาจากประเทศไทย หลังจากที่เพื่อนๆ ล่วงหน้ามาก่อนแล้ว
 
แน่ล่ะ การหารายได้โดยไปรับจ้างเล่นดนตรีนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะการถูกห้ามทำงานอย่างออกหน้าออกตา 
 
'ช่อ' ผู้ซึ่งมีความรู้ทางดนตรีแน่นที่สุด ได้งานสอนดนตรีตามโรงเรียน แต่รายได้ก็น้อยมาก เพียงประมาณ 1,000 กว่าบาท แลกกับการสอนดนตรี 32 ชั่วโมงต่อเดือน
 
“ที่นี่ ต้องเป็นคนที่มีเงินเท่านั้นจึงจะมีปัญญาซื้อเครื่องดนตรีหรือเรียนดนตรี เป็นชนชั้นกลางสูงขึ้นไป และส่วนใหญ่เขาก็ยกย่องคนเป็นนักดนตรี” 
 
ส่วนรายได้จากการขายเพลงบนเว็บ Bandcamp.com ก็น้อย ไม่พอเลี้ยงสมาชิกในวง ไฟเย็นเปิดเผยว่า ขายเพลงบนเว็บหกเดือน ได้เงินเพียง 5,000 บาท “ก๊อปเพลงเราเลย เราไม่หวง แต่ช่วยบริจาคด้วยก็ดี” ช่อพูดพร้อมหัวเราะ
 
ส่วน ‘จอม-นิธิวัติ’ กล่าวว่า ถึงแม้พวกเขาจะดูร่าเริง หัวเราะ หยอกล้อกันสนุกสนาน แต่จริงๆ แล้ว ชีวิตผู้ลี้ภัยก็ทำให้เขาสูญเสียอะไรไปหลายๆ อย่าง เช่น เมื่อแม่ของเขาประสบอุบัติเหตุก็ไม่สามารถไปเยี่ยมได้ หรือไปงานศพญาติผู้ใหญ่ที่รักก็ไม่ได้ 
 

เพลงจากแดนไกล 

 
เมื่อออกมาสู่ ‘ประเทศใหม่’ เวลาว่างที่มากขึ้น การอยู่รวมกันแทบจะตลอด 24 ชั่วโมง และสถานการณ์ทางการเมืองที่บีบคั้น เป็นแรงผลักดันให้เกิดไอเดียในการทำเพลงใหม่ๆ มากมาย หากแต่ว่า ในประเทศใหม่ การเดินทางของพวกเขาถูกจำกัด และต้องประหยัดเงินทุกบาททุกสตางค์ การไปทำเพลง ซ้อมดนตรี และบันทึกเสียงในห้องอัดจึงเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป ห้องนอนห้องเล็กๆ ของช่อในมุมหนึ่งของบ้านที่พวกเขาอยู่ด้วยกันจึงถูกแปลงเป็นทั้งห้องทำงาน ห้องมิกซ์เพลง ห้องซ้อม และห้องอัดเสียง 
 
ไฟเย็นซ้อมแสดงสดในห้องนอนของช่อ
 
“เวลาร้องเพลง อัดเสียง ก็ร้องในครัวบ้าง ห้องผมบ้าง ปิดประตูหน้าต่างเอา เราไม่มีห้องอัด ยังดีที่ขนเครื่องดนตรีกับมิกเซอร์จากไทยมาได้ ก็ซื้อไมค์ใหม่เพิ่ม เราไม่ไปเช่าห้องอัดหรอก เพราะเราต้องประหยัด” หัวหน้าวงไฟเย็นกล่าวกับประชาไท
 
ไฟเย็นวางแผนจะออกอัลบั้มสองชุดคือ 'เสื่อม' ซึ่งเป็นอัลบั้มรวมเพลงของไฟเย็นชุดที่สอง และ 'บทเพลงของมิตรสหายท่านหนึ่ง' ซึ่งเป็นเพลงเก่าหรือเพลงของศิลปินคนอื่นที่ไฟเย็นนำมาคัฟเวอร์ แนวทางเพลงของทั้งสองอัลบั้มนั้นสะท้อนการปรับ 'ลุค' ของวงให้ดูเด็กลงและทันสมัยขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังวัยรุ่น คนรุ่นใหม่
 
ในอัลบั้มบทเพลงของมิตรสหายท่านหนึ่ง ไฟเย็นนำเพลงปลุกใจเพื่อการปฏิวัติยุคหลัง 6 ตุลา อย่างเพลง ‘ฟ้าใหม่’ ของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งถูกร้องแบบสุนทราภรณ์และแบบเพื่อชีวิตมานาน มาปรับเป็นพังค์ป๊อป กับซาวด์ดนตรีโดยใช้ซินธิไซเซอร์ (เครื่องสังเคราะห์เสียง) เพลง ‘อหังการแห่งเสรีชน’ และ ‘สหาย’ ของ จิ้น กรรมาชน และเพลงแองเตอร์นาซิอองนาล ( L'Internationale) ซึ่งเป็นเพลงปลุกใจชนชั้นกรรมาชีพซึ่งร้องโดยสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ทั่วโลก มาปรับเนื้อร้องภาษาไทยใหม่ให้สละสลวยขึ้น
 
ไฟเย็นยังนำเพลง ‘อายูไฮ เปอมูดา’ (Ayuhai Pemuda) ซึ่งเป็นเพลงที่เยาวชนในปาตานี โดยเฉพาะกลุ่ม ‘Permas’ (สหพันธ์นักเรียน นิสิต นักศึกษา และเยาวชนปาตานี) นำมาใช้ในการเคลื่อนไหว มาแต่งเนื้อร้องภาษาไทย และคัฟเวอร์สองภาษา เพื่อให้กำลังใจเพื่อนนักกิจกรรมมลายูที่ “ถูกกดขี่จากรัฐไทย” เช่นเดียวกันกับพวกเขา “เพื่อนของผมที่สามจังหวัดถูกจับเยอะ เราเลยแปลและดัดแปลงเพลงนี้ให้เป็นสากลขึ้น ให้คนศาสนาใดๆ ฟังแล้วก็อินได้ เราก็เป็นคนที่ถูกรัฐกดขี่เหมือนกัน เราเลยเอามาร้อง” เต้ย ซึ่งสมัยทำงานในสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ได้ลงไปทำงานกับเยาวชนในสามจังหวัด กล่าว 
 
เพลงหนึ่งที่ถือเป็นผลงานชั้นเยี่ยมของไฟเย็น คือเพลง “ต้นมะขามสนามหลวง” ซึ่งเป็นการนำเพลง The Hanging Tree จากหนังเรื่อง The Hunger Games ซึ่งเป็นเพลงที่ถูกใช้ปลุกใจประชาชนให้ลุกขึ้นมาต่อต้านเมืองแคปปิตอล (เมืองเผด็จการซึ่งกดขี่เมืองอื่นๆ) มาแต่งเนื้อเพลงไทย The Hanging Tree ในบริบทไทยก็คือต้นมะขามที่สนามหลวงที่ใช้เป็นที่ผูกคอนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าไม่จงรักภักดีในยุค 6 ตุลาคม 2519 ด้วยซาวด์ดนตรีที่ค่อยๆ เร้าใจขึ้น เนื้อร้องที่มีความหมายปลุกเร้า เสียงร้องเศร้าๆ ของจอม และภาพประกอบมิวสิควิดิโอจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคงทำให้หลายๆ คนขนลุกได้ไม่ยาก  
 
“ต้นไม้ ต้นนี้ หากเธอเคยมาที่นี่
ที่เคยแขวนคอคนร้าย ผู้ไม่จงรักภักดี
เรื่องจริงสิ่งแสนประหลาด อาจเคยคุ้นขึ้นทุกที
เมื่อเราพบกันบนคบไม้ ภายใต้แสงราตรี” 
 
 
 
ตัวอย่างเพลงในอัลบั้ม ‘บทเพลงของมิตรสหายท่านหนึ่ง’ ก็เช่น เพลงคืนประชาธิปไตยให้ประชาชน ซึ่งเป็นการนำเพลง ‘คืนความสุขให้ประชาชน’ ที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาแต่ง มาแต่งเนื้อร้องใหม่ 
 
“วันที่คณะราษฎรเข้ามา เปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตย
ก่อร่างสร้างกันขึ้นมาแทบตาย สุดท้ายโดนแย่งชิง
รัฐประหารเป็นสิบๆ ครั้ง ประชาธิปไตยห่างไปทุกที 
สิทธิปวงชนโดนย่ำยี เพื่อความมั่นคงของใคร”
 
ยังมีเพลงซึ่งเกี่ยวกับการต่อสู้ร่วมสมัย เช่น ‘ศิษย์เก่าราชประสงค์’ แต่งโดย เดียร์ สหายสีแดง ซึ่งพูดถึงการร่วมต่อสู้ของคนเสื้อแดงในการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ปี 2553 และ ‘จดหมายสุดท้ายของลุงนวมทอง’ ซึ่งพูดถึงลุงนวมทอง ซึ่งผูกคอตายประท้วงรัฐประหาร แต่งโดย ตั้ม DNN เป็นต้น 
 

อนาคตของ ‘ไฟเย็น’ 

 

ช่อ จอม พอร์ท ซ้อมแสดงสดอย่างสนุกสนานในเพลง "ไม่รักนะ"
 
แน่นอนว่า การมาอยู่ห่างไกลบ้านเกิดและคนรักเพื่อต่อสู้โดยไม่เห็นอนาคตเท่าไหร่ ทำให้ไฟเย็นมองตัวเองเทียบกับสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยยุคหลังหกตุลา “คอมมิวนิสต์ ฝ่ายซ้ายเก่า ต้องเข้าป่า สะสมอาวุธ ปลุกจิตสำนึกให้คน แต่ความคิดของพวกเขาก็ไม่สามารถไปในวงกว้างได้ อยู่แต่วงแคบๆ ไม่ไปสู่มวลชน แต่สมัยนี้เครื่องมือมันเปลี่ยนไป อินเทอร์เน็ตคืออาวุธสำคัญของการเปลี่ยนแปลง ใช้ยูทูบ อัดคลิป” ช่อกล่าว “เมื่อก่อน ทำดนตรี ก็ร้อง เล่น ฟังกันเองในป่ากับเหล่าสหายด้วยกัน กว่าจะออกมาก็คือเมื่อป่าแตก แล้วค่อยออกมาแต่งเพลงปลอบใจตัวเองอีกที แต่ตอนนี้ ทำเพลงคือการต่อสู้เลย” 
 
พอร์ท กล่าวว่า พวกเขาใช้พลังของสื่อใหม่ในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งทำให้เขามีช่องทางและมีเสียงที่ดังพอจะสู้ได้กับชนชั้นนำ 
 
แม้จะมีพลังของสื่อใหม่ แต่การลี้ภัยและสถานการณ์การเมืองที่คนเสื้อแดงถูกปราบอย่างราบคาบก็ทำให้ไฟเย็นหมดโอกาสในการแสดงสด “การต่อสู้แบบนั้นจะไม่มีอีกแล้ว จะไม่มีเวทีปราศรัยใหญๆ คนมาเยอะๆ แบบนั้นอีก และเราก็คงไม่สามารถแสดงสดได้อีกแล้ว เพราะจะเป็นการเปิดหน้าเรา” ช่อกล่าว
 
พอร์ทเล่าว่า แม้จะแสดงสดในไทยไม่ได้ ความฝันของเขาคือการได้ทำ world tour ไปเล่นดนตรีให้พี่น้องเสื้อแดงในต่างแดนฟัง แต่คงต้องอาศัยการลงขันของผู้ฟังเพื่อสนับสนุนการเดินทางของวง อย่างไรเสีย สมาชิกในวงก็ต้องได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเพื่อจะเดินทางไปต่างประเทศได้เสียก่อน
 
ช่อ ยังกล่าวว่า เขาไม่หวังว่าจะได้กลับบ้านแล้ว ส่วนอุ๊ บอกว่า แม้ความเป็นอยู่ตอนนี้จะยากลำบากเพียงไร เขาก็ไม่เสียใจ เพราะเป็นทางที่เขาเลือกเอง อย่างไรก็ตาม พวกเขาจะไม่ทิ้งภารกิจการทำให้คน 'ตาสว่าง' ด้วยเสียงเพลง 
 
เมื่อทุกๆ วัน และทุกชั่วโมงของพวกเขา คือการทำงานเพื่อการปฏิวัติสังคมไทย ความเฉยชาของคนไทยในประเทศเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาท้อแท้พอสมควร “ตาสว่างแล้วลุกขึ้นมาทำอะไรไหม นี่คือปัญหา เราก็ดูอยู่ว่า เมื่อไหร่จะลุกขึ้นมากันเสียที ตอนนี้เห็นแต่คนเฉยๆ อยู่ดีกินดีก็อยู่กันไปเหมือนเดิม” 
 
“ก็มีเรื่อยๆ ที่เราเหงา เราท้อ ก็มักจะมองท้องฟ้า แล้วถามตัวเองว่า เรามาทำอะไรที่นี่” ช่อกล่าว 
 
เมื่อถามว่า เพลงไหนที่แสดงถึงความรู้สึกของการเป็นผู้ลี้ภัยในขณะนี้ได้ดีที่สุด พวกเขาบอกว่า คือเพลง 'ผ่านสายลม' เพลงที่นำมาจากกลอนซึ่ง จิ้น กรรมาชน แต่งเพื่อให้กำลังใจไฟเย็น 
 
ตอนหนึ่งของเพลงผ่านสายลม:
“จากบ้านมาสู่แดนไกล เพื่อภารกิจยิ่งใหญ่ แห่งปวงประชา 
เพื่อสร้างชาติไทย จะไม่รอช้า ฝ่าผองภัยไปข้างหน้า ท้าทายอธรรม” 
 
ไฟเย็นซ้อมเพลงผ่านสายลม
 
หมายเหตุ: มีการแก้ไขเนื้อหา วันที่ 6 พ.ย. 2558 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net