Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย เป็นระบอบการปกครองโดยประชา (ประชาชน) ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของประชาชน ในฐานะผู้ก่อตั้ง ผู้ขับเคลื่อนประเทศที่ปกครองในระบอบนี้ไปข้างหน้า ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทางการเมือง

ภายใต้การปกครองโดยประชาชนในประเทศทีมีคนอาศัยอยู่มากกว่า 60 ล้านคน เป็นที่แน่นอนว่าเราไม่สามารถที่จะให้คนทั้งหลายมาร่วมกันปกครองได้ ระบบผู้แทนจึงเกิดขึ้นเพื่อเลือกผู้แทนเข้ามาปกครองประเทศในนามของประชาชน ขณะเดียวกันก็มีการนำเอาระบบการมีส่วนร่วมทางตรงไม่ว่าจะเป็น การเสนอกฎหมาย การถอดถอนผู้มีอำนาจ หรือการลงประชามติ มาใช้ควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองประเทศได้มากที่สุด

แต่เมื่อดูจากตัวเลขอันมหาศาลของประชากรภายในประเทศ เราคงไม่สามารถคาดหวังให้ประชาชนทุกคนมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ได้ในการตัดสินใจเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แน่นอนว่าเรื่องจำนวนเป็นปัจจัยที่สำคัญ แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือประชาธิปไตยนั้นเป็นระบบที่ยอมรับในความแตกต่าง ทั้งทางความคิด ความต้องการของประชาชน ซึ่งสะท้อนผ่านแนวคิดและหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก อาทิ หลักปัจเจกชนนิยม ที่เน้นว่ามนุษย์แต่ละคนนั้นมีคุณค่าในตัวของตัวเอง หลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่บังคับให้รัฐ (ประเทศ) ต่างๆ ต้องให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ ต้องให้ประชาชนในประเทศของตนแสดงศักยภาพหรือก็คือความสามารถในการใช้เหตุผลออกมาให้ได้มากที่สุดโดยปราศจากการแทรกแซงที่ไม่จำเป็น ซึ่งการรับรองสิทธิและเสรีภาพนี้ย่อมหมายความถึงการที่ประชาชนในระบอบนี้สามารถที่จะแสดงความต้องการของตนออกมาได้ โดยคาดหวังว่ารัฐจะต้องสนองตอบต่อความต้องการนี้ ไม่ว่าจะในเชิงการปฏิบัติ หรือเชิงนโยบาย
 
ประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ใช้การปกครองในรูปแบบนี้ โดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่ที่เกิดและลืมตาขึ้นมาพร้อมกับคำว่าสิทธิและเสรีภาพ ย่อมมีความตระหนักรู้อย่างเต็มที่ถึงอำนาจที่ตนมีในฐานะพลเมืองคนหนึ่งของประเทศชาติ ซึ่งท่ามกลางสภาวะที่ทุกคนพร้อมที่จะแสดงตัวตนหรือความต้องการของตัวเองออกมา คำถามหนึ่งที่เกิดตามมาคือทำไมเราต้องฟังความคิดเห็นของคนอื่น แน่นอนถ้ามีคนมาประชุมกันสิบคนเพื่อตัดสิน และมีคนเห็นคล้อยตามหรือมีความต้องการเช่นเดียวกับเราเป็นจำนวนสักหกคน เราย่อมมีโอกาสที่จะหลงลืมและละเลยความต้องการ หรือแม้กระทั่งความเห็นของคนส่วนน้อย ซึ่งการละเลยความต้องการของผู้ที่เป็นส่วนหนึ่งของฟันเฟืองในการขับเคลื่อนสังคมเช่นนี้ หากเป็นเพียงแค่ชั่วครั้งคราวก็ย่อมไม่มีปัญหา แต่หากนานวันเข้าสิ่งเหล่านี้จะนำไปสู่การปะทะทางความคิดและการปะทะทางกายภาพในท้ายที่สุด

สิ่งที่ควรจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นคือสิ่งที่เรียกว่าวัฒนธรรมในการเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งในความเห็นของผู้เขียนถือว่าเป็นคุณสมบัติขั้นต่ำที่สุดซึ่งประชาชนในระบอบประชาธิปไตยควรมี เพราะเหตุผลดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นถึงความหลากหลายทางความคิดในสังคมประชาธิปไตย ซึ่งเราไม่สามารถนำกฎหมายมาบังคับให้ปัจเจกแต่ละคนต้องเคารพซึ่งกันและกันได้ ทางที่ดีที่สุดในการป้องกันมิให้เกิดการหลงลืมเสียงส่วนน้อยจึงควรเป็นการปลูกฝังความเคารพซึ่งกันและกันผ่านการไตร่ตรองอย่างมีเหตุผล โดยอาศัยสถาบันทางสังคมต่างๆ แม้มันในท้ายที่สุดแม้จะไม่ได้ทำให้เสียงส่วนน้อยมีความสำคัญถึงขั้นที่จะพลิกวงล้อของกระแสที่หมุนไปได้ แต่ก็คงทำให้เสียงส่วนน้อยกลายเป็นส่วนหนึ่งของเหตุผลสำคัญในการเลือกที่จะตัดสินใจกระทำการใดๆโดยเสียงส่วนใหญ่

แล้วเราได้ปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ลงไปในสังคมของเราหรือไม่ ? ตลอดเก้าปีของการรัฐประหารเราเห็นความแตกแยกของคนในสังคม ความแตกแยกที่เกิดขึ้นเพียงเพราะความเชื่อในความถูกต้องของเรา และเอาอารมณ์เป็นใหญ่เสียจนไม่เคยพยายามที่จะอธิบายให้คนที่ไม่เห็นต่างฟังถึงเหตุและผล เราจะเห็นการอ้างความเดือดร้อนของตนเอง ความดีที่ตนมี รวมถึงความเชื่อของอีกฝ่ายขึ้นมาทำลายฝ่ายตรงข้าม โดยที่คนในสังคมพร้อมใจที่จะเชื่อในคุณงามความดีอันเป็นกระแสหลักของสังคม และเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามได้ทันทีโดยไม่ต้องหาเหตุผลใดๆมารองรับ ซึ่งสิ่งที่ตามมาจากการทำลายความชั่วในมุมมองของคนในสังคม คือการพยายามคิดหาทางแก้ปัญหาโดยพรรคพวกของตนเองตามที่เห็นสมควร ซึ่งอาจแจกแจงขั้นตอนการแก้ปัญหาได้เป็นสองขั้น ขั้นแรกคือการปิดปากผู้ที่ตนเห็นว่าเป็นคนไม่ดี และขั้นต่อมาคือการจัดทำระบบการปกครองต่างๆเสียใหม่ โดยไม่จำเป็นต้องรับฟังเสียงของเหล่าคนไม่ดี

ระบบการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นภายหลังการกระทำเช่นนี้ ท่านทั้งหลายเชื่อแน่หรือว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้องและควรทำ เราไม่ได้กำลังกดขี่หรือลดทอนความเป็นมนุษย์ของคนกลุ่มหนึ่ง โดยห้ามมิให้เขาแสดงออกซึ่งเหตุผลอยู่หรือ และในขณะเดียวกัน เราเองมิใช่หรือที่กำลังลดทอนความเป็นมนุษย์ของตัวเรา โดยปฏิเสธที่จะใช้ความคิดและเหตุผลที่เราทุกคนล้วนมีอยู่ในตัวมารับฟังความคิดเห็นใดๆที่เราไม่เห็นชอบอย่างไตร่ตรอง ซึ่งในท้ายที่สุด สังคมที่กลบฝังความแตกต่างเช่นนี้ ไม่ว่าจะมีการออกแบบระบบการเมืองมาดีสักเพียงไหนก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นภายใต้วัฒนธรรมที่กดขี่ความมีเหตุผลของผู้อื่นย่อมไม่สามารถนำมาซึ่งระบบการปกครองที่จะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันได้ และเราก็ไม่สามารถที่จะเรียกระบบการปกครองที่เกิดขึ้นในภาวะเช่นนี้ว่าเป็นประชาธิปไตยได้เลย

สังคมปลูกฝังอะไรกันแน่ให้กับสมาชิกที่อาศัยอยู่ร่วมกัน ระหว่างแนวคิดที่ไม่ก่อให้เกิดความแตกต่าง ผ่านการห้ามคิด ห้ามพูด ซึ่งจะทำให้สังคมสงบได้ในเวลาหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็รอวันที่ความแตกต่างนั้นจะปะทุขึ้นมา หรือแนวคิดที่ทำให้ทุกความแตกต่าง ทุกความต้องการ สามารถเจรจาต่อรองกันได้อย่างเท่าเทียม โดยไม่ปฏิเสธซึ่งกันและกัน  คำถามนี้เป็นคำถามที่เราทุกคนต้องถามตัวเอง ว่าเราอยากเห็นสังคมไทยเป็นอย่างไร เราอยากเห็นครอบครัวต้องขัดแย้งกันเพียงเพราะไม่สามารถรับฟังความเห็นที่แตกต่างกันทางการเมืองได้ หรือเราอยากเห็นสังคมที่พร้อมที่จะพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเหล่านั้นจะขัดแย้งกับความเชื่อในตัวเราขนาดไหนก็ตาม และเราคงต้องหาคำตอบเหล่านี้ให้ได้ในเร็ววัน ก่อนที่สังคมอันแสนสงบสุข (?) จะพังทลายลง
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net