สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 17-23 ก.ย. 2558

สปส. แจง 3 รพ. ไม่เข้าร่วมเป็นสถานพยาบาลประกันสังคม ปี 59
          
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2559 โรงพยาบาลรวมแพทย์ (หมออนันต์) จังหวัดสุรินทร์ โรงพยาบาลรวมแพทย์ชัยนาท จังหวัดชัยนาท และโรงพยาบาลคามิลเลียน กรุงเทพมหานคร ไม่เป็นคู่สัญญากับสำนักงานประกันสังคมในปี 2559 นี้ จึงขอแจ้ง ให้ผู้ประกันตนที่ถือบัตรรับรองสิทธิของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ทราบแนวทางการเลือกสถานพยาบาลแห่งใหม่ของผู้ประกันตนที่ถือบัตรของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง สรุปได้ดังนี้
          
1. ผู้ประกันตนที่ถือบัตรโรงพยาบาลรวมแพทย์ (หมออนันต์) จังหวัดสุรินทร์และโรงพยาบาลรวมแพทย์ชัยนาท ทั้งสองจังหวัดมีโรงพยาบาลรัฐบาลเพียงแห่งเดียวจึงจัดสถานพยาบาลโรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร ทดแทนโรงพยาบาลรวมแพทย์ชัยนาท และจัดโรงพยาบาลสุรินทร์ทดแทนโรงพยาบาลรวมแพทย์ (หมออนันต์) โดยไม่ต้องให้ผู้ประกันตนเลือกสถานพยาบาล
          
2. ผู้ประกันตนที่ถือบัตรโรงพยาบาลคามิลเลียน
             
- กรณีผู้ประกันตนผู้ซึ่งยังปฏิบัติงานในสถานประกอบการ (ผู้ประกันตนตามมาตรา 33) จะสามารถเลือกสถานพยาบาล ปี 2559 ผ่านสถานประกอบการ สำหรับผู้ประกันตนสมัครใจ (ผู้ประกันตนตามมาตรา 39) สามารถเลือกสถานพยาบาลโดยส่งแบบเลือกสถานพยาบาลไปยังสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา ภายในวันที่ 17 กันยายน 2558
             
- กรณีผู้ประกันตนเลือกสถานพยาบาลใหม่และสถานพยาบาลที่เลือกเต็มศักยภาพแล้ว รวมถึงผู้ประกันตนที่ยังมิได้เลือกสถานพยาบาล สำนักงานประกันสังคมจะจัดสถานพยาบาลรัฐบาลให้ ซึ่งเป็นสถานพยาบาลที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ที่ผู้ประกันตนประจำทำงานอยู่ 
          
ทั้งนี้  สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขา  จะพิมพ์และส่งบัตรรับรองสิทธิฯ ให้ผู้ประกันตนในวันที่ 17 ธันวาคม  2558  
          
อย่างไรก็ตาม  กรณีที่สำนักงานประกันสังคมจัดสถานพยาบาลให้โดยผู้ประกันตนมิได้เลือกสถานพยาบาลบัตรรับรองสิทธิฯ จะมีสัญลักษณ์ * ซึ่งผู้ประกันตนสามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลโดยต้องยื่นแบบ สปส.9-02 ต่อสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่/จังหวัด/สาขาใดก็ได้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2559 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559 
          
หากผู้ประกันตนยังมิได้เลือกสถานพยาบาลหรือยังมิได้รับบัตรรับรองสิทธิฯตามวันที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด  หรือมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง สำนักงานประกันสังคมจังหวัด/สาขาที่ท่านสะดวก หรือ สำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ หรือ โทร 1506 สำนักงานประกันสังคม (เจ้าหน้าที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง)
 
(สำนักงานประกันสังคม, 17/9/2558)
 
กองปราบฯ ร่วมทหารปูพรมค้นตลาดไท กวาดล้างแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย
 
(17 ก.ย.) เมื่อเวลา 00.00 น. พล.ต.ต.อัคราเดช พิมลศรี ผบก.ป พ.ต.อ.สรายุทธ สงวนโภคัย พ.ต.อ.สุทิน ทรัพย์พ่วง พ.ต.อ.กรไชย คล้ายคลึง พ.ต.อ.อิทธิพล อัจฉริยะประดิษฐ์ รอง ผบก.ป. พ.ต.อ.ไพโรจน์ โรจนขจร ผกก.2 บก.ป. ผสานกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด บก.ป. 350 นาย เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพภาคที่ 1 จำนวน 150 นาย เจ้าหน้าที่ บช.ปส.30 นาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี เข้าปิดล้อมตรวจค้นพื้นที่ตลาดไท ตามยุทธการ “ตลาดไท ใสสะอาด” กวาดล้างการใช้แรงงานต่างด้าว และเปิดสถานบริการผิดกฎหมายในพื้นที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี
       
โดยจุดแรกเจ้าหน้าที่ได้ตรวจค้นอพาร์ตเมนต์รวม 7 จุด ภายในหมู่บ้านพระปิ่น 7 และอพาร์ตเมนต์สูง 4 ชั้น ด้านหลังตลาดไท จากการตรวจสอบพบว่าหมู่บ้านและอพาร์ตเมนต์ดังกล่าวมีแรงงานต่างด้าวพักอาศัยจำนวนมาก เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการตรวจสอบขอดูเอกสารว่ามีการขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ พบว่าส่วนใหญ่มีเอกสารถูกต้อง และมีแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีบัตรอยู่ทั้งสิ้น 25 ราย นอกจากนี้ยังได้ทำการสุ่มตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด โดยพบว่ามีแรงงานต่างด้าวปัสสาวะสีม่วง 15 ราย จึงควบคุมตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
       
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำกำลังไปตรวจสอบสถานบันเทิงซึ่งเป็นร้านคาราโอเกะอีก 17 แห่ง บริเวณซอยเทพกุญชร หรือซอยแมนฮัตตัน จากการตรวจสอบพบว่าสถานบันเทิงในย่านดังกล่าวมีใบอนุญาตถูกต้อง นอกจากนี้ได้ทำการตรวจปัสสาวะนักเที่ยวและพนักงานซึ่งไม่มีการกระทำความผิดแต่อย่างใด
       
พล.ต.ต.อัคราเดชกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนผ่านทางรัฐบาลและหลายหน่วยงานว่าบริเวณดังกล่าว เป็นแหล่งพักพิงของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย รวมทั้งมีการมั่วสุมยาเสพติดและมีสิ่งผิดกฎหมายหลายประเภท จึงได้ประสานสนธิกำลังกับทางทหารเพื่อดำเนินการตามแผนยุทธการ “ตลาดไท ใสสะอาด” หลังจากนี้ไปเจ้าหน้าที่จะขยายผลการดำเนินการและจะทำให้ถูกต้อง อาทิ ตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของห้องพัก และหากพบการกระทำความผิดซ้ำก็จะดำเนินคดีในข้อหาให้ที่พักพิงโดยผิดกฎหมาย รวมทั้งจัดระเบียบต่างๆ โดยจะนำผลปฏิบัติการครั้งนี้จัดทำเป็นโมเดลต้นแบบก่อนที่จะขยายผลในพื้นที่อื่นต่อไป 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 17/9/2558)
 
ประชุมความพร้อมเรียก เก็บเงินในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง
 
นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ครั้งที่ 9/2558 เปิดเผยว่า สถานการณ์ด้านการเงินของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมียอดเงินคงเหลือทั้งสิ้น 195,347,599.09 บาท และสถานการณ์ด้านลูกหนี้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง พบว่า จากการเร่งรัดติดตามหนี้ในปีงบประมาณ 2558 (ข้อมูล ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557-กรกฎาคม 2558) สามารถติดตามเงินสงเคราะห์จากนายจ้าง ได้เป็นจำนวน 27,104,947.18 บาท และดอกเบี้ยเงินสงเคราะห์ ได้เป็นจำนวน 11,990,287.73 บาท  รวมรับชำระทั้งสิ้น 39,095,234.91 บาท
 
สำหรับความคืบหน้าการศึกษาความพร้อมและความสามารถในการจ่ายเงินสะสม และเงินสมทบฯ ของฝ่ายลูกจ้างและฝ่ายนายจ้าง ในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง คณะอนุกรรมการศึกษาการเรียกเก็บเงินสะสมและเงินสมทบในกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามมติคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์เตรียมสำรวจความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องโดยการจัดสนทนากลุ่มย่อย (Focus Group) ให้นายจ้าง-ลูกจ้าง และมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้มีสิทธิแสดงความคิดเห็น โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาการจ่ายเงินสงเคราะห์ กรณีอื่นนอกจากค่าชดเชย ประจำเดือนกันยายน 2558 รวม 14 ราย
 
กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสงเคราะห์ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างออกจากงานหรือตาย หรือในกรณีอื่นตามที่กำหนดโดยคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กองทุนฯ ได้รับเงินเพื่อดำเนินการกองทุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2543 จำนวน 200 ล้านบาท, ปี 2545 จำนวน 50 ล้านบาท,ปี 2551 จำนวน 100 ล้านบาท, และปี 2553 อีกจำนวน 50 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 400 ล้านบาท (สี่ร้อยล้านบาท)
 
(RYT9, 18/9/2558)
 
สปส.ขยายความคุ้มครองลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภท หลังพรบ.ประกันสังคมฉบับใหม่ มีผลบังคับใช้ 20 ต.ค.58 นี้
                  
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ขยายความคุ้มครองไปยังลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ภายหลังประกาศใช้พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2558 
          
นางปราณิน มุตตาหารัช เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 ที่แก้ไขปรับปรุงได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2558 และมีผลบังคับใช้ภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 20 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป ซึ่งสาระสำคัญตามมาตรา 4 เกี่ยวกับ การขึ้นทะเบียนลูกจ้าง โดยเนื้อหาที่แก้ไขปรับปรุงใช้บังคับแก่ ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน และลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างของนายจ้างที่มีสำนักงานในประเทศ และไปประจำทำงานในต่างประเทศ ต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับประกันสังคม
          
ดังนั้น ลูกจ้างที่ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคมจะได้รับความคุ้มครองใน 7 กรณี ได้แก่ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตาย คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ชราภาพ และว่างงาน 
          
หากนายจ้าง/สถานประกอบการมีข้อสงสัยสอบถามเพิ่มเติม ได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ 12 แห่ง/จังหวัด/สาขาทั่วประเทศ หรือโทร 1506 ให้บริการทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง หรือติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ
 
(สำนักงานประกันสังคม, 18/9/2558)
 
เตือนแรงงานไทยไปทำงานสิงคโปร์ไม่มีใบอนุญาต ถูกจับโทษหนัก
 
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน(กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สำนักแรงงานไทยในสิงคโปร์ แจ้งว่ามีแรงงานหญิงไทยที่ถูกชักชวนให้ไปทำงานเป็นผู้ช่วยแม่บ้านในสิงคโปร์ ได้รับค่าจ้าง 10,000 บาทต่อเดือน ถูกเจ้าหน้าที่ทางการสิงคโปร์จับกุมขณะทำงานที่บ้านพักแห่งหนึ่ง และถูกดำเนินคดีในข้อหาไม่มีใบอนุญาตทำงานซึ่งการทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตในสิงคโปร์มีโทษจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 เหรียญสิงคโปร์(ประมาณ 5 แสนบาท)หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
"ขอเตือนแรงงานไทยว่าแรงงานต่างชาติที่จะเข้าไปทำงานในสิงคโปร์จะต้องมีใบอนุญาตทำงาน โดยเฉพาะในระดับผู้ใช้แรงงานหรือผู้ช่วยแม่บ้าน และนายจ้างจะต้องส่งใบอนุญาตทำงาน ให้ลูกจ้างก่อนที่จะเดินทางเข้าสิงคโปร์ และต้องทำงานที่ตรงกับตำแหน่งงานที่ระบุไว้ในใบอนุญาตทำงานเท่านั้น"
 
นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ขอเตือนแรงงานไทยไม่ให้หลงเชื่อผู้ที่แอบอ้างว่าสามารถจัดส่งไปทำงานต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านกกจ. โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศที่มีกฎหมายหรือกฎระเบียบเข้มงวด ทั้งนี้ หากมีเรื่องร้องทุกข์หรือแจ้งเบาะแสผู้มีพฤติกรรมหลอกลวงคนหางาน สามารถแจ้งได้ที่ สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด ,กองตรวจและคุ้มครองคนหางาน โทร 02-245-6763 หรือที่สายด่วนกกจ. 1694 ได้ทุกวัน
 
(มติชนออนไลน์, 18/9/2558)
 
ผู้ประกันตน มาตรา 40 อายุเกิน 60 ปี ลาออกแล้วเกือบ4 หมื่นไปสมัคร กอช.
 
นายโกวิท สัจจวิเศษ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า ภายหลังกองทุนการออมแห่งชาติ(กอช.) เปิดรับสมัครสมาชิกเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้ขณะนี้มีผู้ประกันตนกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ซึ่งรับสิทธิประโยชน์เฉพาะกรณีชราภาพ จ่ายสมทบเองเดือนละ 100 บาทและรัฐบาลช่วยจ่ายสมทบเดือนละ 100 บาท ในกลุ่มที่มีอายุเกิน 60 ปีเพราะสามารถลาออกจากการเป็นสมาชิกสปส.ได้ ทยอยลาออกการเป็นผู้ประกันตนแล้วกว่า 37,000 คนจากจำนวนผู้ประกันตนทางเลือกที่ 3 กว่า 350,000 คน
 
โดยคาดว่าผู้ที่ลาออกนั้นต้องการไปสมัครสมาชิกกอช. โดยสปส.จะคืนเงินสมทบทั้งในส่วนที่ผู้ประกันตนจ่ายสมทบและรัฐบาลจ่ายสมทบทั้งหมดให้ เบื้องต้นคาดว่าเป็นเงินทั้งหมดกว่า 200 ล้านบาท ทั้งนี้ จะคืนเงินสมทบผ่านทางบัญชีธนาคารภายในเวลา 1 เดือน
 
แม้ว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ลาออกจากการเป็นผู้ประกันตนแล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกอช.ได้ เนื่องจากต้องรอร่างกฎหมายกอช.ฉบับแก้ไขประกาศใช้ก่อน จึงจะสมัครได้ เนื่องจากร่างกฎหมายกอช.ฉบับแก้ไขมีบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนกอช.ได้และเป็นสมาชิกได้ถึง 10 ปีโดยจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 100 บาทและรัฐบาลช่วยจ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท จะทำให้สามารถออมเงินไว้ได้ก้อนหนึ่ง
 
ทั้งนี้ ยืนยันว่าผู้ประกันตนมาตรา 40 ทางเลือกที่ 4และ5 ที่มีอยู่กว่า 700,000 คน ยังไม่สามารถโอนไปกอช.ได้เช่นกัน ต้องรอจนกว่าร่างกฎหมายประกันสังคมมาตรา40 ฉบับแก้ไขและร่างกฎหมายกองทุนกอช.ฉบับแก้ไขจะประกาศใช้
 
(มติชนออนไลน์, 20/9/2558)
 
เอ็นจีโอห่วงต่างด้าว 7 แสน ขาดประกันสุขภาพ
 
ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ นายอดิศร เกิดมงคล บอกว่า ปัจจุบันยังมีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยประมาณ 3 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้อยู่ในระบบของกระทรวงแรงงานและทำงานถูกกฎหมายกว่า 2,200,000 คนโดยในจำนวนนี้เข้าสู่ระบบประกันสุขภาพผ่านการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติกว่า 1,800,000 คน และเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้วกว่า 400,000 คน จึงคาดว่าจะมีแรงงานข้ามชาติที่ตกหล่นไม่ได้เข้าสู่ระบบกระทรวงแรงงานและระบบประกันสุขภาพกว่า 700,000 คนทั้งนี้ ขอให้ ก.สาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สร้างระบบติดตามนายจ้างไม่ยอมนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพ และประกันสังคมต้องมีบทลงโทษอย่างจริงจัง"
 
 
(Nation TV, 21/9/2558)
 
ก.แรงงาน ย้ำปี 2563 ประเทศไทยจะปลอดจากการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย
 
นางสาวพรรณี ศรียุทธศักดิ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงการบูรณาการความร่วมมือเพื่อคุ้มครองสิทธิและสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและครอบครัวในกระบวนการยุติธรรมและการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายยุติธรรมเด็ก เยาวชนและครอบครัวแบบมีส่วนร่วมระดับชาติ (MOU) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ ว่า กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเด็กโดยเฉพาะเด็กในกลุ่มเป้าหมาย คือ ลูกจ้างเด็ก (Working Children) ซึ่งจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับใช้ของกระทรวงแรงงานได้กำหนดไว้เป็นหมวดเฉพาะ คือ หมวด 4 การใช้แรงงานเด็ก ซึ่งมีบทบัญญัติสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการใช้แรงงานเด็กอยู่ 9 มาตรา เช่น การห้ามไม่ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีทำงานที่อาจเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อเด็กหรือการทำงานในสถานที่ไม่เหมาะสม อาทิ โรงฆ่าสัตว์ สถานที่อโคจร สถานบริการต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ อีกมาตราที่สำคัญ คือมาตราที่ระบุไว้เฉพาะว่าห้ามมิให้นายจ้างจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบห้าปีเป็นลูกจ้าง โดยหากมีการฝ่าฝืนของนายจ้างจะมีความผิดสูงสุด จำคุก 1 ปีหรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งกระทรวงแรงงานได้กำหนดเป็นนโยบายให้มีการตรวจการใช้แรงงานเด็กอย่างเข้มข้น หากพบการกระทำผิดในการใช้แรงงานเด็กให้มีการดำเนินคดีในทันที
 
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานมีความมุ่งมุ่นในการขจัดไม่ให้มีการใช้แรงงานเด็ก (Child Labour) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายตามอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 182 ว่าด้วยการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไปเมื่อ พ.ศ.2544 อันเป็นผลให้กระทรวงแรงงานต้องมีการจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย พ.ศ. 2558 – 2563 ซึ่งเป็นฉบับที่ 2 เพื่อเป็นแผนแม่บทให้หน่วยงานต่างๆ ได้นำไปจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการฯ 5 ด้านยุทธศาสตร์ ได้แก่ การป้องกัน การช่วยเหลือและคุ้มครองฯ การพัฒนาและบังคับใช้กฎหมาย และการพัฒนาระบบบริหารจัดการและติดตามประเมินผล
ทั้งนี้ เมื่อกระทรวงแรงงานได้นำเสนอให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้ว ทุกหน่วยงานสามารถนำแผนไปดำเนินการเพื่อให้เกิดผลเป็นไปตามวิสัยทัศน์ของแผน คือ ประเทศไทยจะต้องปลอดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ในปี พ.ศ.2563 ซึ่งถือได้ว่ากระทรวงแรงงานได้ให้การคุ้มครองสิทธิที่เป็นลูกจ้างเด็ก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายอันเดียวกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
“กระทรวงแรงงานดำเนินการแบบครบวงจรในการจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการตั้งแต่การป้องกัน คุ้มครอง ช่วยเหลือ และการนำเด็กคืนสู่สังคม โดยจะมีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำหน้าที่ในการฝึกทักษะฝีมือเพื่อช่วยเหลือเด็กที่ตกเป็นเหยื่อหรือเด็กที่ได้รับผลกระทบ เด็กที่ได้รับความเสียหาย เพื่อให้เขาเหล่านั้นมีทักษะฝีมือและกลับคืนสู่สังคมและดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคมต่อไป กระทรวงแรงงานหวังว่าเมื่อแผนชาติแล้วเสร็จทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันขับเคลื่อนและดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนชาติ ตามวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ในแผนชาติ คือภายในปี 2563 ประเทศไทยจะปลอดจากการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย” รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
 
ด้านนายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา กล่าวว่า ได้ดำเนินโครงการบูรณาการสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชน และครอบครัวในกระบวนการยุติธรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาระบบงานในศาลเยาวชนและครอบครัวให้สามารถพิจารณาคดีได้สมดังเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ที่มุ่งให้ศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นศูนย์กลางในการคุ้มครองและแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็ก เยาวชน และครอบครัว ตามที่กฎหมายบัญญัติอย่างมีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยการมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศ ทั้งในมิติด้านนโยบายระดับชาติ และมิติด้านการปฏิบัติงานในพื้นที่ต้นแบบและพื้นที่นำร่องทั่วประเทศ ทั้งนี้ นับเป็นการประสานความร่วมมือบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อคุ้มครองสิทธิและสร้างเสริมสวัสดิภาพเด็ก เยาวชนและครอบครัวในกระบวนการยุติธรรม ระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 
สำหรับการลงนามในบันทึกความร่วมมือในครั้งนี้ ประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับกระทรวง 13 กระทรวง หน่วยงานราชการอิสระ 4 หน่วยงาน หน่วยงานอิสระ 8 หน่วยงาน องค์กรระหว่างประเทศ 2 องค์กร คือ สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ องค์กรภาคเอกชนต่างประเทศ 1 องค์กรและองค์กรภาคประชาสังคม 16 องค์กรร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม รวมทั้งหมด 45 หน่วยงาน
 
(กระทรวงแรงงาน, 21/9/2558)
 
มัคคุเทศก์ภูเก็ตร้อง รมว.ท่องเที่ยวฯ กวาดล้างไกด์เถื่อน
 
กลุ่มมัคคุเทศก์อาชีพอันดามันกว่า 200 คน รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อเรียกร้องให้มีการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ อย่างจริงจัง เพื่อจัดการขั้นเด็ดขาดกับมัคคุเทศก์ต่างชาติ และบริษัทนำเข้ามัคคุเทศก์ต่างชาติผิดกฎหมาย และขอให้มัคคุเทศก์ไทยที่มีบัตรถูกต้องตามกฎหมายร่วมเป็นเครือข่ายร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐในการชี้เป้า ตรวจสอบ สืบสวน และจับกุมมัคคุเทศก์เถื่อน ซึ่งปัจจุบันทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้มีผลเสียก่อให้เกิดการว่างงานของมัคคุเทศก์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
 
ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตกล่าวภายหลังรับหนังสือร้องเรียนว่า ตนเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ที่ผ่านมาได้มีการสั่งการให้มีการตรวจจับอยู่เสมอ แต่ด้วยภูเก็ตเป็นเมืองท่องเที่ยวขนาดใหญ่ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ย่อมที่จะมีการกระทำที่ไม่ถูกต้องต่างๆ เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หลังจากวันนี้ไปจะมีการกำหนดมาตรการในการดำเนินงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้เต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ของการท่องเที่ยว และจะทำให้การท่องเที่ยวของภูเก็ตเป็นไปในทางที่ดีที่สุด
 
(สำนักข่าวไทย, 21/9/2558)
 
สนง.สถิติแห่งชาติ ย้ำแรงงานนอกระบบกลุ่มตัวอย่างให้ข้อมูลการทำงานที่เป็นจริงกับเจ้าหน้าที่ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองจากการทำงานอย่างเป็นธรรม
 
นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขอความร่วมมือแรงงานนอกระบบที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจแรงงานนอกระบบ ปี 2558 ที่อยู่ระหว่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูลทั่วประเทศของเจ้าหน้าที่สำนักงานสถิติฯ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานในปัจจุบัน จำนวนประชากรที่มีงานทำหรือไม่ได้รับความคุ้มครอง หรือไม่มีหลักประกันสังคม และการคุ้มครองตามกฏหมายแรงงาน เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนและกำหนดนโยบาย การบริหารจัดการ รวมถึงเป็นฐานข้อมูลศึกษาแรงงานนอกระบบ เพื่อขยายความคุ้มครอง หรือการประกันสังคมให้ครอบคลุมทุกสาขาอาชีพ ให้แรงงานนอกระบบได้เข้าถึงการประกันสังคม หรือความคุ้มครองจากการทำงานอย่างเป็นธรรม มีความมั่นคงจากการทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้แรงงานนอกระบบเหล่านี้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
 
(สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย, 22/9/2558)
 
เล็งขอเติม  "ทุนออม" 1.5พันล้านรับแรงงานนอกระบบล้น 6 แสนคน กอช.คาดก้อนแรกเกลี้ยงก่อน มี.ค.
 
นายสมพร จิตเป็นธม เลขาธิการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้แรงงานนอกระบบสมัครเป็นสมาชิก กอช.แล้ว 2.8 แสนคน มียอดเงินออมรวม 268 ล้านบาท โดยอัตราสมัครเพิ่ม 5 พันคนต่อวัน หากอัตราการสมัครคงระดับนี้ถึงสิ้นปีนี้ จะมีสมาชิก กอช.สูงถึง 6 แสนคน ดังนั้นงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรปี 2559 เพื่อจ่ายเป็นเงินสมทบให้กับสมาชิก กอช. วงเงิน 1 พันล้านนั้นไม่น่าจะเพียงพอ กอช.จึงเตรียมเสนอของบประมาณเพิ่มอีก 1.5 พันล้านบาท เพื่อสบทบสมาชิก กอช.
 
"กอช.เปิดรับสมัครสมาชิก เริ่ม 20 สิงหาคมที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้คาดมีประชาชนสมัครประมาณ 1-2 แสนคน แต่ผ่านมาแค่ 1 เดือน ยอดพุ่งกว่า 2.8 แสนราย เกินกว่าเป้าหมายมาก จึงคาดว่างบ 1 พันล้านบาทที่รัฐบาลจัดสรรให้จะหมดลงในเดือนมีนาคม 2559 จึงจำเป็นต้องของบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาล" นายสมพรกล่าว
 
นายสมพรกล่าวว่า แนวโน้มจะมีแรงงานนอกระบบสมัครเป็นสมาชิก กอช.อีกมาก หลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.การให้สิทธิแก่สมาชิกกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 วงเล็บ 3, 4, 5 ที่ไม่มีกองทุนชราภาพ ประมาณ 1 ล้านคน สามารถโอนย้ายเข้ามาเป็นสมาชิก กอช. ซึ่งหากคนกลุ่มนี้เข้ามาเป็นสมาชิกเพียงครึ่งหนึ่ง จะมีจำนวนถึง 5 แสนคน นอกจากนี้ร่างกฎหมายฯยังให้สิทธิคนมีอายุ 50 ปีขึ้นไป สามารถเป็นสมาชิกได้อีก 10 ปี ขณะที่อายุเกษียณของ กอช.ตั้งไว้ที่ 60 ปี ทำให้อายุใกล้ 60 ปี หรือ 60 ปี สามารถสมัครเป็นสมาชิก และมีสมาชิกภาพจนเกือบอายุ 70 ปี นอกจากนี้ยังมีลูกค้าของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.) รวม 6 แสนคน มีสิทธิสมัคร 
 
นายสมพรกล่าวว่า ไทยมีแรงงานนอกระบบถึง 24.6 ล้านคน หรือสัดส่วน 62.6% ของกำลังแรงงานทั้งหมด จำนวน 39.3 ล้านคน และเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับเงินชดเชยจากการว่างงาน อุบัติเหตุ และเกษียณอายุ รวมถึงไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคม ขณะเดียวกันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมประชากรสูงอายุและมีอัตราเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรวัยเด็กและวัยแรงงานลดลงตามความก้าวหน้าทางการแพทย์และอัตรา การเกิดลดลง คาดว่าปี 2563 จำนวนผู้สูงอายุจะมีสัดส่วนสูงถึงประมาณ 15% หรือ 10.5 ล้านคนของประชากรรวม 
 
(ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, 22/9/2558)
 
เปิดศูนย์ฝึกทักษะขายเครื่องดื่ม-เบเกอรี่เพิ่มทางเลือกหลังนักโทษพ้นคุก
 
(22 ก.ย.) ที่บริเวณด้านหน้าเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม นายปฏิคม วงษ์สุวรรณ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และตัวแทนภาครัฐ และเอกชนร่วมกันเยี่ยมชม พร้อมทดลองใช้บริการภายในศูนย์ฝึกทักษะการจำหน่ายเครื่องดื่ม และเบเกอรี่ของเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าเรือนจำใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า seven-nine coffee (ตามที่อยู่ของเรือนจำคือ เลขที่ 79 หมู่ 14 ถนนแจ้งสนิท ต.แวงน่าง อ.เมือง จ.มหาสารคาม) เปิดบริการให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการ ซึ่งมีการจำหน่ายเหมือนร้านกาแฟสมัยใหม่ทั่วไป มีทั้งเครื่องดื่มร้อน และเครื่องดื่มเย็น รวมถึงเบเกอรี่ให้เลือกดื่ม และรับประทาน ท่ามกลางบรรยากาศร้านที่ตกแต่งแบบสบายๆ
       
น.ส.ลาวัณย์ อ่อนสำลี ผู้บัญชาการเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ปัจจุบันการจำหน่ายเครื่องดื่ม และเบเกอรี่เป็นอาชีพที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำรายได้ดี ใช้เงินลงทุนต่ำ ทางเรือนจำจึงได้สนับสนุนให้ผู้ต้องขังได้ฝึกทักษะการจำหน่ายเครื่องดื่ม และเบเกอรี่ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้แก่ผู้ต้องขังได้ปรับตัวให้เข้ากับสังคมภายนอก พร้อมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานภายนอกได้รับรู้ถึงภารกิจของเรือนจำจังหวัดมหาสารคาม ในการพัฒนานิสัยของผู้ต้องขังอย่างครบวงจร
       
สำหรับการก่อสร้างอาคารศูนย์ฝึกทักษะการจำหน่ายเครื่องดื่มและเบเกอรี่ ได้รับเงินสนับสนุนจากเงินผลพลอยได้จากการฝึกวิชาชีพ และการใช้แรงงานผู้ต้องขังประเภทเงินทุนพัฒนาพฤตินิสัย จากกรมราชทัณฑ์ รวมเป็นเงิน 447,596 บาท ใช้แรงงานผู้ต้องขังจ่ายนอก จำนวน 25 คน ในการก่อสร้างอาคาร ซึ่งอาคารดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ และครูผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกคอยหมุนเวียนมาดูแล
       
พร้อมกับฝึกทักษะจำหน่ายเครื่องดื่ม และเบเกอรี่ให้แก่ผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือก เพื่อให้ผู้ต้องขังมีความรู้ในวิชาชีพตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน ที่สำคัญยังสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ภายหลังพ้นโทษด้วย 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22/9/2558)
 
คนงาน 'คีรีมายาเขาใหญ่' ขาดอากาศหายใจคาบ่อซีเมนต์ ตาย 3 สาหัส 3
 
เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 22 กันยายน 58 พ.ต.ต.เขมชาติ แปดแก้ว พงส.สภ.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รับแจ้งมีคนงานของ โครงการมุติมายา ในเครือของโครงการคีรีมายา เขาใหญ่ หมู่ที่ 6 บ้านคลองเดื่อ ต.หมูสี ลงไปทำความสะอาดในบ่อน้ำดิบ หมดสติ อยู่ในบ่อรวม 6 คน จึงรีบรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ และพร้อมด้วย นายปัญญา วงศ์ศรีแก้ว นอภ.ปากช่อง, พ.ต.อ.บัณฑิต สิงหประชา ผกก.สภ.หมูสี, นายสมเกียรติ พยัคฆกุล นายกเทศมนตรีตำบลหมูสี, หน่วยกู้ภัยเทศบาลตำบลหมูสี, หน่วยกู้ภัยมูลนิธิสว่างวิชชาธรรมสถาน, หน่วยกู้ภัยพิเศษ นครราชสีมา ประจำปากช่อง, จนท.อุทยานฯเขาใหญ่ รุดไปยังที่เกิดเหตุ
 
ที่เกิดเหตุพบเป็นบ่อคอนกรีต ขนาดกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร ลึก 10 เมตร ปากบ่อมีขนาดกว้าง 60 ซม. ยาว 60 ซม. พบเพื่อนคนงานกำลังช่วยกันเอาเชือกโรยตัวลงไปช่วยแต่กลิ่นคล้ายบ่อบำบัดน้ำเสียแรงมาก ต้องช่วยกันเอาพัดลมเปิดให้ลมพัดเข้าไปในบ่อแต่ก็ยังลงเข้าไปช่วยไม่ได้ จากนั้นได้ใช้รถแบ็กโฮ พังบ่อซีเมนต์ เพื่อให้มีอากาศเข้าไป ใช้เวลาลงไปช่วย นานกว่า 1 ชม. จึงช่วยขึ้นมาได้ พบเสียชีวิต 3 คน คือ นายสมพงษ์ พันธ์โพธิ์กลาง อายุ 26 ปี อยู่บ้านเลขที่ 45/1 หมู่ที่ 11 บ้านโต่งโต้น ต.หมูสี, นายยงยุทธ พันธ์โพธิ์กลาง อายุ 24 ปี น้องชาย, นายนพรัตน์ พัดจะโป๊ะ อายุ 36 ปี อยู่บ้านเลขที่ 135/1 หมู่ที่ 17 ต.นาบ่อคำ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร และผู้บาดเจ็บสาหัสอีก 3 คนคือ นายปริญญา แจ่มดวง 28 ปี,นายบุญสม ชูศรี 36 ปี และ นายประสาร สีพูน อายุ 36 ปี นำผู้บาดเจ็บสาหัสส่ง รพ.กรุงเทพ ปากช่อง
 
จากการสอบสวนพนักงานที่เห็นเหตุการณ์เล่าว่า โครงการมุติมายา เป็นส่วนบ้านพักอาศัย ซึ่งอยู่ในโครงการของคีรีมายา รีสอร์ท เขาใหญ่ ก่อนเกิดเหตุ บ่อซีเมนต์ที่เกิดเหตุ มีขนาด ยาว 10 เมตร และลึก 10 เมตร ปากบ่อมีขนาดกว้าง 60 ซม. ยาว 60 ซม. เป็นบ่อน้ำดินที่จะสูบน้ำบ่อ จากในโครงการฯมาพักไว้ เพื่อจะนำไปทำน้ำประปาส่งต่อไปยังบ้านพักที่อยู่ในโครงการ แต่ช่วงดังกล่าวไม่มีน้ำ นายสมพงษ์ พันธ์โพธิ์กลาง อายุ 26 ปี ได้รับคำสั่งเตรียมที่จะลงไปทำความสะอาด จึงใส่ถังออกซิเจน ลงไปดูก้นถัง สักครู่ก็เตรียมขึ้น แต่ขณะกำลังจะขึ้นกลับหมดสติ คาดออกซิเจหมด นายยงยุทธ พันธ์โพธิ์กลาง อายุ 24 ปี น้องชาย จึงตะโกนเรียกบอกเพื่อคนงานที่อยู่ใกล้พร้อมลงไปช่วย
 
"ส่งใครลงไปก็เงียบหายหมด จนกระทั่งส่งคนที่ 6 ซึ่งเป็นคนสุดท้ายลงไป เพื่อนคนงานที่อยู่ด้านบนปากบ่อจึงโทรศัพท์ไปขอความช่วยเหลือ หน่วยกู้ภัย ต่างๆ แต่กว่าหน่อยกู้ภัยจะมาช่วยต้องใช้เวลา โดยใช้รถแบ็กโฮมาพังบ่อซีเมนต์เพื่อให้อากาศเข้าไปได้ และหย่อนเชือกลงไปมัดร่างนำตัวขึ้นจนขึ้นมาได้ จากนั้นหน่วยกู้ชีพช่วยกันปั๊มหัวใจ จนกระทั่งสุดท้ายเสียชีวิต 3 คน อาการสาหัส อีก 3 คน" คนงานคีรีมายา กล่าว
 
พ.ต.ต.เขมชาติ สารวัตรเวรเจ้าของคดีกล่าวว่า โดยเบื้องต้นจะส่งศพผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายไปพิสูจน์ที่ แผนกนิติเวช รพ.มหาราช นครราชสีมา ว่าเสียชีวิตด้วยสาเหตุใด ในบริเวณที่เกิดเหตุ รปภ.ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าไปทั้ง สื่อมวลชน รถกู้ภัย และของ โรงพยาบาลต่างๆ ก็ห้ามถ่ายภาพ
 
(ไทยรัฐออนไลน์, 22/9/2558)
 
ลูกจ้างสถานีวิทยุ อสมท. ทั่วประเทศนัดตบเท้าเข้ากรุง ทวงสัญญาบรรจุ-ปรับค่าจ้าง
 
(22 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรดาลูกจ้างของสถานีวิทยุ อสมท ต่างจังหวัดทั่วประเทศได้นัดหมายกันเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อขอเข้าพบ ผอ.อสมท คนใหม่ ในวันพรุ่งนี้ (23 ก.ย.) เพื่อเรียกร้องให้ อสมท ปรับมาตรฐานการจ้างงานลูกจ้างทั่วประเทศใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ
 
1. สภาพการจ้างงาน ที่ อสมท. ว่าจ้างเป็นลูกจ้างรายวัน ทั้งนักจัดรายการ, พนักงานการตลาด, ช่างควบคุมเสียง และธุรการ ทั่วประเทศรวมกว่า 200 คน มานานเกือบ 10 ปีเต็มๆ โดยที่ไม่มีการบรรจุกเป็นพนักงาน หรือบรรจุเป็นพนักงานไม่ได้ 2. อัตราค่าจ้างงานที่ อสมท จ่ายเป็นรายวัน วันละ 300 บาทนั้น ไม่มีการปรับค่าจ้างติดต่อกันมานานถึง 3 ปีแล้ว
       
แหล่งข่าวลูกจ้างสถานีวิทยุ อสมท บอกว่า ก่อนหน้านี้คลื่นวิทยุ อสมท จะมีบริษัทสัมปทานดูแลอยู่ แต่เมื่อ อสมท ดึงคลื่นวิทยุต่างจังหวัดมาบริหารจัดการเอง และเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ พนักงานก็คาดหวังเรื่องความมั่นคงและสวัสดิการ แต่กลับถูกผู้บริหารระดับกลางในปัจจุบันขัดขวางจนทำให้เกิดการรวมตัวหาทางเรียกร้องความเป็นธรรมจาก ผอ.คนใหม่ดังกล่าว
       
ขณะที่นายอาณุสสรณ์ เกษมลภัสสรณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกิจการวิทยุภูมิภาค ได้มีบันทึกข้อความที่ อ....../2558 ลงวันที่ 22 ก.ย. แจ้งถึง ผจ.ศูนย์ฯ/นายสถานีวิทยุภูมิภาค ทั่วประเทศ เรื่อง ให้ทำความเข้าใจกับลูกจ้างรายวัน
       
โดยระบุว่า ตามที่ฝ่ายบริหารกิจการวิทยุภูมิภาค ทราบข่าวว่า ลูกจ้างรายวันปฏิบัติงานสถานีวิทยุภูมิภาคจะเดินทางเข้าพบกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท เพื่อติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานลูกจ้างรายวันนั้น ได้มีการประสานจาก ผช.กก.ผอ.ใหญ่ สำนักวิทยุฯ ว่า กก.ผอ.ใหญ่ ได้มีคำสั่งกำชับให้สำนักทรัพยากรมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วอยู่แล้ว ขอให้ลูกจ้างรายวันทุกคนอยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่สถานีตามปกติ รอผลการแก้ไขปัญหาอยู่ในพื้นที่แต่ละราย
       
ดังนั้น จึงขอให้ ผจ.ศูนย์ และนายสถานีวิทยุทุกสถานีทำความเข้าใจกับลูกจ้างรายวันเรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับสภาพการจ้างงาน โดยขอให้ควบคุม กำกับ และระงับการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ของลูกจ้างรายวันแต่ละสถานีไว้ก่อน และขอให้ติดตามความคืบหน้าอยู่ในพื้นที่ตามนโยบายของ กก.ผอ.ใหญ่ ต่อไป 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22/9/2558)
 
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม เผยทิศทางอุตรถยนต์มีทิศทางดีขึ้น การผลิตรวม 8 เดือนแรกปีนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้น 
 
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของประเทศ ในเดือนสิงหาคม 2558 ปรากฎว่าจำนวนรถยนต์ทั้งหมดที่ผลิตได้ในเดือนสิงหาคม 2558 มีทั้งสิ้น 159,470 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2557 ร้อยละ 13.26 แต่ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2558 ร้อยละ 3.85 เนื่องจากเดือนสิงหาคมมีวันหยุดต่อเนื่อง ทำให้จำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม - สิงหาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,260,584 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - สิงหาคม 2557 ร้อยละ 1.31
       
ทั้งนี้ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือนสิงหาคม 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 61,988 คัน ลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว ร้อยละ 9.9 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2558 ร้อยละ 1.85 ยอดขายภายในประเทศแม้จะปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีแนวโน้มทรงตัว เนื่องจากสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ การลงทุนของภาคเอกชนที่ยังคงชะลอตัว การเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินจากหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง และการเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐยังต่ำกว่าเป้าที่กำหนดไว้ ขณะที่รถจักรยานยนต์ มียอดขาย 125,620 คัน ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2557 ร้อยละ 12.3 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2558 ร้อยละ 10.7
       
โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2558 รถยนต์มียอดขาย 491,960 คัน ลดลงจากปี 2557 ในระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 15.07 ส่วนรถจักรยานยนต์ มียอดขาย 1,141,817 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม - สิงหาคม 2557 ร้อยละ 3.38 
 
ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป ในเดือนสิงหาคม 2558 ส่งออกได้ 101,982 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2557 ร้อยละ 13.88 เนื่องจากมีการส่งออกรถกระบะรุ่นใหม่ และการส่งออกรถอีโคคาร์ยังเติบโตดี โดยมีมูลค่าการส่งออก 52,859.77 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2557 ร้อยละ 23.44 และรวมเดือนมกราคม - สิงหาคม 2558 ส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 780,414 คัน เท่ากับร้อยละ 98.85 ของการผลิตเพื่อส่งออก โดยส่งออกเพิ่มขึ้นจากปี 2557 ในระยะเวลาเดียวกัน ร้อยละ 5.26 มีมูลค่าการส่งออก 366,981.88 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - สิงหาคม 2557 ร้อยละ 4.49
       
เมื่อรวมมูลค่าส่งออกรถยนต์ เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ ในเดือนสิงหาคมมีมูลค่า 74,913.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม 2557 ร้อยละ 16.9 และรวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนมกราคม - สิงหาคม 2558 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 534,737.68 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - สิงหาคม 2557 ร้อยละ 2.47
       
สำหรับรถจักรยานยนต์เดือนสิงหาคม 2558 มีจำนวนส่งออก 64,962 คัน (รวม CBU + CKD) ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2557 ร้อยละ 18.77 โดยมีมูลค่า 2,908.89 ล้านบาท ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2557 ร้อยละ 18.52 โดยรวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์ เดือนสิงหาคม 2558 ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ 3,207.49 ล้านบาท ลดลงจากเดือนสิงหาคม 2557 ร้อยละ 21.98 และหากรวมตั้งแต่เดือนมกราคม - สิงหาคม 2558 รถจักรยานยนต์ มีจำนวนส่งออก 634,189 คัน (รวม CBU + CKD) เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 7.78 โดยมีมูลค่า 32,531.10 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 5 
 
รวมมูลค่าการส่งออกรถจักรยานยนต์เดือนมกราคม - สิงหาคม 2558 ชิ้นส่วนและอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 35,575.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม - สิงหาคม 2557 ร้อยละ 1.23
       
ทั้งนี้เมื่อรวมเดือนสิงหาคม 2558 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 78,120.54 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 14.55 เดือนมกราคม - สิงหาคม 2558 รวมมูลค่าการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนอื่นๆ อะไหล่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วน และอะไหล่รถจักรยานยนต์ มีทั้งสิ้น 570,312.97 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 2.39 
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 23/9/2558)
 
กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เตือนผู้ที่ต้องการไปทำงานในต่างประเทศ ระมัดระวังนายหน้าเถื่อน ส่วนใหญ่ถูกหลอกไปเกาหลีใต้ ลาว และญี่ปุ่น 
 
นางสุมล ถาวรวสุ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่าขณะนี้มีการรับสมัครแรงงานไปทำงานในต่างประเทศกันมาก อย่างช่วงวันที่ 21-25 กันยายนนี้ กรมการจัดหางานทุกจังหวัด เปิดรับสมัครแรงงานชายไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น ในสาขาการผลิตอุตสาหกรรม เป็นเวลา 3 ปี ได้เบี้ยเลี้ยงเดือนละประมาณ 80,000เยนหรือ เกือบ 30,000 บาท ผู้สนใจขอให้ไปสมัครได้ที่จัดหางานของทุกจังหวัด 
 
อย่างไรก็ตามปัญหาการถูกหลอกยังมีอยู่ต่อเนื่อง โดยข้อมูลเมื่อปีที่แล้ว มีการดำเนินคดีกับนายหน้าเถื่อน 134 คดี ผู้กระทำผิด 156 คน ขณะที่ครึ่งปีที่ผ่านมา ดำเนินคดีนายหน้าเถื่อนไปแล้วกว่า 70 คดี ผู้กระทำผิดเกือบ 100 คน และแรงงานที่ถูกหลอกส่วนใหญ่ผู้ที่ต้องการไปทำงานในเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และลาว โดยนายหน้าเถื่อนมีเครือข่ายในหลายจังหวัด 
 
(ครอบครัวข่าว, 23/9/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท