Skip to main content
sharethis

เก็บประเด็นวงเสวนา เมือง: ที่อยู่อาศัย คน และความเป็นธรรม ไชยันต์ รัชชกูล ชี้การพัฒนาคมนาคม เป็นปัจจัยเบียดขับคนจน พบมีการไล่รื้อ โดยขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน เครือข่ายสลัม 4 ภาค ย้ำรัฐความทำหน้าที่เป็นตัวกลางแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2558 ณ ห้องประชุมชั้น 2 อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายสลัม 4 ภาค คณะทำงานวาระทางสังคม และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีประชุมวิชาการ “มองไปข้างหน้า สิทธิเพื่อความเป็นธรรมของการอยู่รวมกันในเมือง” โดยภายในงาน ไชยยันต์ รัชชกูล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวปาฐกถานำ หัวข้อ เมือง: ที่อยู่อาศัย คน และความเป็นธรรม

ไชยันต์ รัชชกูล เริ่มต้นด้วยการกล่าวว่า การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในกรุงเทพมีอัตราสูงขึ้นเรื่อยๆ ขณะนี้มีจำนวนประชากรประมาณ 8 ล้านคน ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้เกิดจากการขยายพื้นที่กรุงเทพ โดยรวมฝั่งธนบุรี และปทุมธานี ลักษณะพื้นที่กรุงเทพ จะมีจะเปลี่ยนไปอย่างไรสามารถสังเกตได้จากเส้นทางคมนาคม การขยายตัวในแนวราบ ได้ถูกขยายออกไปยังจังหวัดรอบข้างกรุงเทพ ในแนวดิ่งมีตึกสูงเกิน ขึ้นจำนวนมาก มีโครงการสร้างคอนโดขึ้นมา 130 แห่ง ในปี 2542 ซึ่งถูกสร้างตามแนวรถไฟฟ้า สายสีลม สุขุมวิท เปลี่ยนแปลงจากอดีตที่มีความหนาแน่นของที่อยู่อาศัยจะกระจุกตัวบริเวณแม่น้ำ ดังนั้นจะเห็นได้ว่า เส้นทางคมนาคมจึงเป็นตัวกำหนดการขยาย และการสร้างเมือง

ไชยันต์ กล่าวต่อว่าการขยายตัวของที่อยู่อาศัยในแนวนอนมีข้อจำกัด ทำให้แนวโน้มต่อไปของการขยายตัวจะเป็นไปในแนวตั้งมากกว่า มีการขยายตัวของที่อาศัยประเภท คอนโด มากขึ้น แม้บางส่วนจะยังไม่ได้ขายก็ตาม แต่การก่อสร้างก็ไม่ได้ลดลง เพราะมีคนเข้ามาในกรุงเทพอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีการจ้างงานและรายได้สูงกว่าต่างจังหวัด เพราะมีความเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่าที่อื่นๆ รวมทั้งมีระบบการศึกษาที่ดีกว่าต่างจังหวัด จึงเป็นเหตุปัจจัยที่ทำคนต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพมากขึ้น

ขณะเดียวกันการพัฒนาและการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ ประกอบกับการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรม ทำให้เกิดเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งคั่ง และคนจนมากขึ้น  ในปี 2543 มีประชากรราว 1 ล้านคนอาศัยอยู่ในสลัม 800 แห่งในกรุงเทพฯ  และมีความขัดแย้งเกิดขึ้นมามีการพัฒนาระบบคมนาคม ทำให้ที่ดินซึ่งมีถนนตัดผ่าน มีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า มีราคาสูงขึ้น ทำให้เกิดการเบียดขับคนจนออกจากที่อยู่อาศัย  

ไชยันต์ กล่าวต่อว่าจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปรากฎการณ์ “การกวาดล้างทางสังคม” (Social cleansing) คือการที่กลุ่มคนที่มีฐานะทางสังคมขับไล่คนที่มีฐานะต่ำกว่าตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตสลัมที่ส่วนใหญ่เป็นเขตที่ดินรัฐวิสาหกิจ เช่นบริเวณ ที่ดินของการท่าเรือ ที่ดินของการรถไฟ เป็นต้น ซึ่งมีการเบียดขับคนกลุ่มสลัมออกไปด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อนำที่ดินไปทำปะโยชน์ด้านอื่นๆ

ขณะเดียวกัน ไชยันต์ เสนอแนะต่อกรณีดังกล่าวว่า หากมีการไล่รื้อที่อยู่อาศัย แล้วมีการย้ายชาวบ้านไปอยู่ในพื้นที่อื่น ควรเน้นการมีส่วนร่วม ให้ชุมชนเป็นแกนหลักในการกำหนดความต้องการรูปแบบที่อยู่อาศัย ผังชุมชน ให้สอดคล้องกับความสามารถทางการเงินของคนในชุมชน วิถีชีวิต และสภาพความเป็นอยู่

นอกจากนี้มีการอภิปราย “ชีวิตและที่อยู่อาศัยคนจนเมืองในปัจจุบัน : ข้อค้นพบจากสนาม” โดย นุชนารถ แท่นทอง ตัวแทนจากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เผยข้อมูลการสำรวจปี 2551 มีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยจำนวน 728,639 ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 44.69 ของทั้งหมด และในช่วงเดือนกันยายน 2558 มีชุมชนที่ถูกไล่รื้อจำนวน 5 ชุมชน 223 หลังคาเรือน

นุชนารถ กล่าวต่อว่า การพัฒนาของรัฐส่งผลกระทบต่อชุมชน แม้ชุมชนเหล่านั้นจะไม่อยู่ในที่ดินของรัฐก็ตาม เช่น ที่ดินบริเวณใกล้เคียงกับรถไฟฟ้า ทำให้ที่ดินมีราคาสูงขึ้น ชุมชนที่เช่าที่เอกชนอยู่จึงประสบปัญหาการให้เลิกเช่าที่ เนื่องจากเจ้าของที่ดินต้องการให้เช่า หรือขายให้กับภาคธุรกิจมากกว่า  ซึ่งในหลายๆ ครั้งกลายเป็นข้อพิพาทเกิดขึ้น อย่างเช่นกรณีชุมชนตลาดบ่อบัว ถูกบริษัทบ่อบัวพัฒนา ไล่ที่โดยใช้เจ้าหน้าที่ที่ทหารและตำรวจ ประมาณ 600 นาย เข้ามาไล่รื้อบ้านเรือนของประชาชน 200 กว่า ซึ่งถือเป็นการที่บริษัทเอากำลังของรัฐมาไล่ที่ดิน ทำให้เห็นว่าเราไม่สามารถพึ่งพาหน่วยงานของรัฐ

นุชนารถ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ที่ จังหวัดสมุทรปราการ มีโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปรา โดยมีสถานีบางปิ้งจุดสิ้นสุดของโครงการ บริเวณนั้นชุมชนซึ่งอยู่มาประมาณ 100 ปี โดยมีการจ่ายค่าเช่าแต่กลับถูกเวนคือที่ดิน ไล่ที่ไม่ให้ชาวบ้านเช่าที่อยู่ต่อ และมีการไล่รื้อทำให้ชาวบ้านบางรายต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน

นุชนารถ ได้ให้ข้อเสนอว่าสิ่งที่เครือข่ายสลัม 4 ภาคจะทำคือ ลงไปช่วยกันดูหาทางออก พยายามเสนอกลไกแก้ปัญหากับรัฐ เช่นถ้าที่ดินเอกชนมีข้อพิพาท ก็ให้หน่วยงานภาครัฐเป็นตัวกลางช่วยเจรจาลดความขัดแย้ง และหยุดการหยุดการไล่รื้อเพื่อหาทางออกร่วมกันให้เขาได้เลือกที่อยู่อาศัย

นุชนารถ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในฐานะที่เป็นชาวบ้าน และเป็นคนจนโดยกำเนิด หากจะแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ควรให้คนจนได้มีส่วนร่วม ควรมีการเตรียมงบประมาณไว้รองรับการแก้ปัญหา ไม่ใช่เพียงผลักคนจนไปอยู่แฟลต หรือพลักออกนอกเมือง ไม่ใช่เพียงเน้นการพัฒนาเมือง แต่ไม่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net