ข่าวสารการประท้วงทั่วไทย 21-27 ก.ย. 2558

เรียกร้องรัฐบาล

สหภาพฯ ทีโอที ยื่นหนังสือต่อ รมต.ไอซีที ค้านประมูลคลื่น 900

(22 ก.ย.) ที่บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) เวลา 11.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอนุชิต ธูปเหลือง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ทีโอที พร้อมพนักงานกว่า 100 คน เดินขบวนคัดค้าน กรณีที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) จะนำคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซที่อยู่ในการใช้งาน ของทีโอที ไปเปิดประมูลทำ 4จี และขอให้เร่งรัดดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายในการแก้ไขสัญญาสัมปทาน กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส มูลค่า 72,000 ล้านบาท ต่อนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) หลังจากได้ยื่นหนังสือให้พิจารณาไปเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

นายอนุชิต กล่าวว่า คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของประเทศชาติ และ กสทช.ไม่มีอำนาจยุติการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เคยลงทุนด้วยระบบสัญญาร่วมการงานแม้ว่ากฎหมายจะให้อำนาจ เพราะทีโอที ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวนอกจากนี้ คลื่นย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซยังไม่เหมาะกับการให้บริการ LTE เพราะไม่มีอุปกรณ์มือถือที่ใช้งานในย่าน900เมกะเฮิร์ตซ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 เมกะเฮิร์ตซเพื่อป้องกันความเสียหายจากการทำให้ทรัพย์สินของรัฐ เช่น อุปกรณ์โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เสียหาย การถ่ายโอนลูกค้าที่เป็นทรัพย์สินเพื่อบริการสาธารณะของรัฐไปสู่การครอบครองของเอกชนซึ่งหากไม่มีความคืบหน้าจะเดินหน้ายื่นฟ้องศาลปกครองต่อไป

“หลังจากยื่นหนังสือถึงกระทรวงไอซีทีแล้ว สหภาพทีโอที ยังเตรียมยื่นหนังสือด่วนที่สุดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงไอซีที เป็นเวลาต่อไป” นายอนุชิต กล่าว

ทั้งนี้นางสาวรัจนาเนตรแสงทิพย์ผู้ตรวจกระทรวงไอซีทีเป็นผู้รับมอบหนังสือคัดค้านจากทีโอที เนื่องจากนายอุตตมะ มีประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยก่อนหน้านี้ นายอุตตม กล่าวถึงกรณีคลื่น 900 เมกะเฮิร์ตซ ว่า ในการดำเนินการกับคู่สัญญาสัมปทานทางบอร์ดบริหาร หรือฝ่ายกฎหมายของทีโอที จะต้องไปดูเองว่าจะดำเนินการในแนวทางใด เช่น จะเจรจากัน จะฟ้องศาล หรือถ้าให้ชดเชยความเสียหาย ทีโอทีต้องไปพิจารณาเองว่าเป็นจำนวนเท่าใดแต่ต้องดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งสิทธิ์ขาดทั้งหมดจะเป็นของทีโอทีแต่ก็ต้องมีการเสนอแนวทางดำเนินการเป็นวาระแจ้งเพื่อทราบไปยัง ครม.ด้วยเช่นกัน

(เดลินิวส์, 22/9/2558)

ชาวบ้านแห่ร่วมค้านเหมืองทอง บุกทำเนียบยื่น 5 ข้อเรียกร้อง เยียวยาผู้ป่วย-ยกเลิกสัมปทาน-ทบทวน พ.ร.บ.แร่

เมื่อวันที่ 22 กันยายน เวลาประมาณ 7.30 น. เครือข่ายประชาชนที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำในนาม เครือข่ายประชาคมสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) จำนวนกว่า 700 คน เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลฝั่งอาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) เพื่อเปิดโต๊ะลงทะเบียนคัดค้านเหมืองแร่ทองคำเพิ่มเติม พร้อมทั้งเตรียมยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง รวมทั้งทบทวนร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม

ทั้งนี้บรรยากาศช่วงเช้านอกจากการถือป้ายคัดค้านเหมืองแล้ว ยังมีการแสดงศิลปะ และชาวบ้านในหลายพื้นที่ได้ผลัดกันปราศรัยคัดค้านเหมืองทอง และนำรายชื่อทั่วประเทศมาส่งเพิ่มให้ตัวแทน ปปท.ด้วย ขณะเดียวกันยังคงมีประชาชนบางส่วนทยอยลงชื่อคัดค้านต่อเนื่อง นางอารมณ์ คำจริง ตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดพิษณุโลกกล่าวว่า วันนี้ในช่วงเช้าทางเครือข่ายประชาชนฯ จะใช้เวลาในการเปิดเวทีปราศรัยจากชาวบ้านในทุกพื้นที่ จนกว่าจะมีสัญญาณจากฝ่ายรัฐบาลออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องของประชาชน โดยเจ้าหน้าที่จากทำเนียบระบุว่า อาจจะมีการเชิญตัวแทน 12 จังหวัดเข้าไปเจรจา เพื่อหาข้อตกลงที่เป็นธรรม แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นว่า กระบวนการสัมปทานเหมืองควรเริ่มใหม่ทั้งหมด และนายกรัฐมนตรีควรรับฟังปัญหาและเปิดโต๊ะเจรจา แต่กรณีชาวบ้านต้องการอพยพ ควรที่จะมีการดูแลเสียก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้เท่าที่ทราบจำนวนผู้คัดค้านนั้นมีเกิน 20,000 รายชื่อแล้ว

นางสาวมณี อุ่ยประเสริฐ ตัวแทนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่จะถูกสัมปทานเหมืองทองคำ กล่าวว่าติดตามเหมืองแร่มาโดยตลอด โดยลงชื่อคัดค้านเหมืองตั้งแต่ยังเป็นเหมืองอัคราไมนิ่ง ปกติทำอาชีพออแกนิกอยู่แล้ว อย่างไรก็ไม่เอาสารเคมี และไม่ยอมรับการทำอุตสาหกรรมที่หนัก ทำลายเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาสังคมเพื่อการปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) ขอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการดังนี้ 1. ขอให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง ยกเลิกการประทานบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษ และคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำ โดยทันที 2. ขอให้ทำการตรวจและรักษาสุขภาพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกด้านอย่างละเอียดในทันที และชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง และให้พิจารณาต้นทุนที่ผลักภาระให้กับสังคมทั้งหมดจากการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยให้เป็นภาระต้นทุน ค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมด โดยปราศจากมลพิษและต้องให้มีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน 3. ขอให้ยกเลิกกระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แร่ พศ.2510 และยกเลิกร่าง พ.ร.บ. แร่ที่อยู่ระหว่างหรือผ่านความเห็นชอบของสำนักงานกฤษฎีกาหรือผ่านความเห็นชอบของจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ทุกฉบับ เพราะมีช่องโหว่ของกฎหมายมากมาย ก่อให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง และไม่สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ประเทศชาติ อีกทั้งมามาซึ่งความเสี่ยงของการทำลายทรัพยากรน้ำ ดิน ป่า และสุขภาวะชุมชนด้วย จึงต้องการให้มีการยกร่างใหม่ที่ปลอดภัยและมีความยั่งยืนต่อผลผลิตการเกษตรของประเทศไทย ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน 4. ในระหว่างที่กำลังจะมีการปิดเหมืองทองคำ หรือปิดเหมืองทองคำแล้ว หากมีประชาชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและต้องวิถีชีวิตจะต้องได้รับการเยียวยาโดยทันที และกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบจนต้องมีการอพยพ เพื่อให้มีหลักประกันว่าประชาชนไม่ถูกหลอกจากกลุ่มทุนเหมืองทองคำ และปกป้องผู้ฉกฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวบนความเดือดร้อนของประชาชน ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบายให้ดำเนินการบริหารจัดการและจัดงบประมาณให้มีการอพยพในเงื่อนไขที่ประชาชนต้องการ อย่างเป็นธรรม โดยออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนย้ายออกไปนั้นต้องสงวนสิทธิ์ให้เป็นของประชาชนเช่นเดิม ห้ามรัฐบาล เหมือง หรือกลุ่มทุนอื่นครอบครองพื้นที่ดังกล่าว 5. ขอให้กำหนดแผนฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่า รอบๆเหมืองทองคำ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน

(transbordernews, 22/9/2558)

 

โครงการภาครัฐ

ชาวกระบี่รุกฮือ! ต้านกองทัพบกใช้ที่ดินสาธารณประโยชน์สร้างสนามซ้อมรบ

(22 ก.ย.) กลุ่มชาวบ้านในตำบลคลองท่อมใต้ จำนวนกว่า 100 คน ได้เดินทางมารวมตัวกันที่บริเวณทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์หนองเป็ดน้ำ ม.9 ต.คลองท่อมใต้ อ.คลองท่อมใต้ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เพื่อคัดค้านกรณีกองทัพบกขอถอนพื้นที่จำนวนกว่า 5,000 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 13,000 ไร่ ในบริเวณทุ่งสวนเลี้ยงสัตว์หนองเป็ดน้ำ เพื่อปักหลักกันแนวเขตเตรียมโครงการสร้างสนามฝึกซ้อมรบรวมทั้งหมด 12 ฐาน พร้อมถือป้ายข้อความต่อต้าน และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ เนื่องจากที่ดินบริเวณดังกล่าวปัจจุบันชาวบ้านครอบครองปลูกที่พักอาศัย สวนยางพารา และปาล์มน้ำมันมานานกว่า 50ปี แล้ว และจะไม่ยอมย้ายไปไหนโดยเด็ดขาด     

นายจตุพร มันเล็ก อายุ 48 ปี ตัวแทนชาวบ้านที่มาชุมนุมประท้วง กล่าวว่า ที่ผ่านมาพื้นที่ทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์ทุ่งหนองเป็ดน้ำ อยู่ในความดูแลของอำเภอคลองท่อม ชาวบ้านกว่า 200 ราย ได้ครอบครองทำประโยชน์ปลูกปาล์ม และยางพาราเลี้ยงครอบครัวมานานกว่า 50 ปี แต่ในวันนี้กองทัพบก โดยกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหารราบที่ 15 จะมารังวัดแนวเขต และกันพื้นที่ จำนวนกว่า 5 พันไร่ เพื่อใช้เป็นพื้นที่การฝึกซ้อมรบยิงปืน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ที่ชาวบ้านครอบครองทำประโยชน์ ชาวบ้านจะไม่มีที่ดินทำกินอีกต่อไป จึงต้องออกมารวมตัวคัดค้าน และอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนด้วย เพราะชาวบ้านกว่า 200 ครอบครัว จะไม่มีที่ทำมาหากิน

ด้าน นายครื้น มันเล็ก อายุ 77 ปี ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ กล่าวว่า สำหรับพื้นที่แห่งนี้เป็นที่สาธารณประโยชน์ก็จริง แต่ทางกรมที่ดินได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงให้พลเมืองใช้ประโยชน์ร่วมกันกับทหารมานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 แต่มาวันนี้ ทหารจะมากันพื้นที่ใช้เป็นสนามฝึกรบ เหมือนกับไม่ให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์ ทั้งที่มีผลอาสินของชาวบ้านอยู่แล้ว ซึ่งได้ขัดแย้งต่อหนังสือสำคัญดังกล่าว ตนมั่นใจว่าตนมาอยู่ก่อนทหารอย่างแน่นอน และปักหลักทำกินอยู่ในที่แห่งนี้เพราะไม่รู้จะไปไหน  

ด้านแหล่งข่าวกองพันทหารราบที่ 1 กรมทหาราบที่ 15 เปิดเผยว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ อยู่ในความดูแลของอำเภอ ที่ผ่านมา ชาวบ้านบุกรุกปลูกผลอาสินกันจำนวนมาก แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ขับไล่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ทางกองทัพได้มีโครงการสร้างสนามฝึกซ้อม โดยกระทรวงกลาโหม และกองทัพภาคที่ 4 ซึ่งได้มอบหมายให้ ร.15 พัน 1 ไปทำการรังวัดแนวเขตพื้นที่ทุ่งหนองเป็ดน้ำ ที่ขอใช้พื้นที่ จำนวน 5 พันไร่ เพื่อใช้เป็นสถานที่ซ้อมรบ แต่หากชาวบ้านมีอาสินอยู่ก็สามารถทำประโยชน์ต่อไปได้ เจ้าหน้าที่ไม่ได้ขับไล่แต่อย่างใด

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22/9/2558)

ชาวบ้านวังตะเคียนถูกทหาร-ตำรวจสกัด หลังถูกยึดที่ดินทำเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด

เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ.2558 ที่ศูนย์แสดงสินค้า และศูนย์ประชุมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้มีการจัดงานมหกรรมการค้า การลงทุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ “Maesot SEZ Expo 2015” ระหว่างวันที่ 25-27 กันยายน โดยความร่วมมือของ 3หน่วยงาน คือ สำนักงานส่งเสริมการประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ซึ่งเป็นเจ้าภาพร่วมกับจังหวัดตาก และสมาคมการค้าเครือข่ายธุรกิจเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก ทั้งนี้ตามกำหนดการเปิดงานนั้น จะมีตัวแทนจากสำนักนายกรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน

ทั้งนี้เวลา .9.00 น.ชาวบ้านวังตะเคียน ในนามกลุ่มคนรักษ์ถิ่นที่ทำกิน แม่สอด ซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนที่ดิน เพื่อพัฒนาพื้นที่เป็นเขตอุตสาหกรรม ของเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ราว 50-60 คน ได้พากันเดินทางไปยังพื้นที่จัดงานเพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี แต่เมื่อไปถึงบริเวณหน้าห้างเทสโก้โลตัสซึ่งอยู่ก่อนพื้นที่จัดงาน 500 เมตร ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และอส.ในพื้นที่สกัดไว้ โดยชาวบ้านพยายามเจรจากับเจ้าหน้าที่ในการขอยื่นหนังสือ แต่เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอม ล่าสุดเวลา 11.30 น.ชาวบ้านยังคงอ้อนวอนให้เจ้าหน้าที่เปิดทางไปยื่นหนังสือ แต่ได้รับการปฎิเสธ “หากไม่สามารถเข้ายื่นหนังสือได้ พวกตนจะเดินทางไปยื่นหนังสือฉบับที่ศูนย์ดำรงธรรมในพื้นที่ เราหวังว่าเจ้าหน้าที่จะเห็นใจและเปิดโอกาสให้เดินทางเข้ายื่นหนังสือ”ชาวบ้านรายหนึ่ง กล่าว ทั้งนี้เนื้อหาในหนังสือที่จะยื่นระบุว่า การใช้มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเอาที่ดินตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ไปเป็นพื้นที่ราชพัสดุเพื่อทำเขตเศรษฐกิจพิเศษตากนั้น ได้สร้างความเดือนร้อนและความเสียหายอีกมากให้กับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่วังตะเคียนหมู่ 4 และหมู่ 7 เพราะที่ดินผืนนี้เป็นที่อยู่อาศัยและที่ทำการเกษตรหาเลี้ยงชีพมาซึ่งได้สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ หากถูกยกให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษจะมีนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้น ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องสูญสิ้นที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยและชุมชนบริเวณโดยรอบต้องรับผลกระทบจากการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ในหนังสือยังระบุว่า ทางภาครัฐไม่มีความชัดเจนของข้อมูล ไม่มีมาตรการรองรับ ไม่มีพื้นที่ที่จะรองรับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบและไม่ให้ภาคประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจพัฒนา ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบหรือข้อยุติร่วมกัน แต่ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามารังวัด ชี้แนวเขตในพื้นที่โดยผู้ที่รับผลกระทบได้ยื่นหนังสือคัดค้านกับเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินและศูนย์ดำรงธรรม ณ ทำเนียบรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ หนังสือระบุอีกว่า เพื่อความเป็นธรรม พวกเราขอเรียกร้อง 1.พื้นที่บริเวณนี้ไม่เหมาะสมในการรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากมีชุมชนอาศัยอยู่หนาแน่น หากก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมอาจก่อให้เกิดมลพิษสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนอย่างรุนแรง 2.การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นมูลเหตุที่นำไปสู่การรังวัดออกโฉนดในครั้งนี้ ปรากฏว่าไม่มีการศึกษาและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ ทำให้ชาวบ้านไม่มีหลักประกันในการตรวจสอบผลกระทบในอนาคต 3.ไม่ให้การรังวัดพื้นที่ของกรมที่ดินจนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติร่วมกัน 4.ให้มีการพิสูจน์สิทธิ์การทำประโยชน์ในที่ดินของชาวบ้านอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม 5.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยกเลิกคำสั่งที่ 17/2558 หรือชะลอการดำเนินการใดๆเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจนกว่าจะได้ข้อยุติการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

(transbordernews, 25/9/2558)

 

คุณภาพชีวิต

ชาวหาดใหญ่ประท้วง สมัครสมาชิกกองทุนฯ ไม่ได้

22 ก.ย. 2558 ชาวบ้านในชุมชนหน้าวัดหาดใหญ่ รวมตัวประท้วงหน้าสำนักงานกองทุนชุมชน อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หลังไม่สามารถสมัครเข้าเป็นสมาชิกกองทุนชุมชน ตามที่รัฐบาลอนุมัติให้ธนาคารออมสินกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ปล่อยกู้แก่กองทุนหมู่บ้าน โดยใน 2 ปีแรกเป็นระยะปลอดดอกเบี้ย แต่ทางคณะกรรมการกองทุนชุมชนพิจารณาแล้วพบว่า ชาวบ้านบางส่วนขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นสมาชิกกองทุนยังไม่ครบ 1 ปี ชาวบ้านจึงรวมตัวกันคัดค้านดังกล่าว

(Spring News, 22/9/2558)

วุ่นแล้ว กองทุนเงินล้าน!! แฉมีหักหัวคิว-คนจนไม่ได้กู้ แม่เฒ่าถึงกับกราบ

ตามที่คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย 3 มาตรการ ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน วงเงิน 60,000 ล้านบาท 2.มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล วงเงิน 36,275 ล้านบาท และ 3.มาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็กของรัฐบาลทั่วประเทศ วงเงิน 40,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 136,275 ล้านบาท เพื่อให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระดับชุมชนและกระจายความเจริญเติบโตไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้านเป็นหนึ่งในมาตรการดังกล่าว ผ่านโครงการสนับสนุนสินเชื่อกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 60,000 ล้านบาท แยกเป็น ธนาคาร ธ.ก.ส.จำนวน 30,000 ล้านบาท และธนาคารออมสิน จำนวน 30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ จ.ร้อยเอ็ด 20 อำเภอ ธ.ก.ส. มีเป้าหมายอำนวยสินเชื่อให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 1,049 กองทุน วงเงิน 1,049 ล้านบาท ให้คณะกรรมการกองทุนแต่ละหมู่บ้านดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้นั้น

เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 21 ก.ย.58 นายพิพัฒน์ สิงคกุล หัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม ที่ศาลากลาง จ.ร้อยเอ็ด ได้รับหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้แทนชาวบ้านหลายหมู่บ้านในหลายอำเภอ กรณีกรรมการกองทุนหมู่บ้านเลือกปฏิบัติ ให้ชาวบ้านกู้เงินสินเชื่อตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาล

นายคำนวณ ชำนิกุล อายุ 34 ปี ชาว อ.เสลภูมิ บอกกับหัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม จ.ร้อยเอ็ด ว่า ถูกกรรมการพิจารณาให้กู้เงินประจำหมู่บ้าน หักเงินร้อยละ 5 จากเงินที่ให้ชาวบ้านกู้แต่ละคน ซึ่งมีจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน โดยกรรมการอ้างว่า เงินที่หักไปนั้น นำไปใช้เพื่อจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ สำหรับมาทำเอกสารหลักฐานเงินกู้ ซึ่งก่อนหน้านั้นตนได้โทรศัพท์ไปหารือกับเจ้าหน้าที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติแล้วว่า ตามระเบียบของโครงการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อยของรัฐบาลปัจจุบัน ไม่ได้กำหนดให้หักเงินจากเงินที่ชาวบ้านกู้เลย

ขณะที่นางดวง ลาวัลย์ อายุ 40 ปี ชาว อ.เชียงขวัญ จ.ร้อยเอ็ด ได้บอกกับนายพิพัฒน์ สิงคกุล หัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม จ.ร้อยเอ็ด ว่า ที่หมู่บ้านของตน คณะกรรมการพิจารณาให้กู้เงิน ได้หักเงินจากผู้กู้รายละ 1,040 บาท ทันทีที่ได้รับเงินกู้ บอกว่าเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน กรรมการบางคนบอกว่าเป็นดอกเบี้ยล่วงหน้า ตนจึงสงสัยว่า เป็นอย่างนั้นจริงหรือ เพราะรัฐบาลประกาศแล้วว่า เงินสินเชื่อที่ชาวบ้านกู้ไป ไม่ต้องเสียดอกเบี้ยใน 2 ปี แรก แต่ปีที่ 3 ถึงปีที่ 7 ต้องจ่ายดอกเบี้ย โดยคิดในอัตราผ่อนปรน จึงขอให้ผู้มีอำนาจไปตรวจสอบความโปร่งใสของคณะกรรมการฯโดยด่วนด้วย

ขณะเดียวกันมี นางแป แก้วปัญญา อายุ 69 ปี ชาว อ.เชียงขวัญ ได้จัดพานดอกไม้ ไปวางที่บันไดทางขึ้นไปศูนย์ดำรงธรรมศาลากลาง จ.ร้อยเอ็ด แล้วประนมมือ กราบวิงวอนให้ศูนย์ดำรงธรรม พิจารณาให้การช่วยเหลือได้กู้เงินสินเชื่อจากกองทุนหมู่บ้านด้วย เพราะก่อนหน้านี้ได้ไปขอกู้ แต่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านบอกว่า ไม่ให้กู้ โดยอ้างว่าเงินให้กู้หมดแล้ว ทั้งที่ตนเป็นสมาชิกและมีเงินออมอยู่ในกองทุนหมู่บ้าน แต่ไม่เคยรู้เลยว่า เขาเปิดให้กู้กันเมื่อใด จึงทำให้มีความเข้าใจว่า คนรวยอยู่ก่อนแล้วจึงได้กู้ ส่วนคนจนไม่มีสิทธิกู้

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนชาวบ้านบอกด้วยว่า ก่อนหน้านี้มีกรรมการบางคนที่ทราบว่า ชาวบ้านจะพากันเข้าไปร้องเรียนที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ได้ไปพูดข่มขู่ชาวบ้านหลายอย่าง พร้อมห้ามเดินทางเข้ามาร้องเรียน อย่างไรก็ตาม ตัวแทนชาวบ้านบอกว่า ถ้าหากศูนย์ดำรงธรรม จ.ร้อยเอ็ด ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ชาวบ้านจะพากันเดินทางเข้ากทม. เพื่อร้องขอความเป็นธรรมจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต่อไป

ด้านนายพิพัฒน์ สิงคกุล หัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม ได้มารับหนังสือร้องขอความเป็นธรรมพร้อมกล่าวว่า การที่ชาวบ้านเข้าร้องขอความเป็นธรรมในครั้งนี้ นับว่าเป็นกรณีตัวอย่าง ที่ต้องรีบแก้ปัญหาโดยด่วน และรัฐบาลได้ให้นายอำเภอเป็นผู้มีอำนาจในการพิจารณาแก้ปัญหาในเบื้องต้น ดังนั้น ตนจะรีบทำหนังสือราชการด่วนที่สุด เสนอให้นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ร้อยเอ็ด พิจารณาลงนาม เพื่อส่งเวียนให้นายอำเภอทุกอำเภอใน จ.ร้อยเอ็ด ได้ทราบและถือเป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้โดยด่วน ซึ่งผู้แทนชาวบ้านพอใจในคำชี้แจงของหัวหน้างานศูนย์ดำรงธรรม จ.ร้อยเอ็ด และพากันสลายตัวเมื่อเวลา 11.45 น.วันเดียวกัน

(ไทยรัฐออนไลน์, 21/9/2558)

โวยถนนหลุม-บ่อ ฝุ่นคลั่กภัยสัญจร

วันที่ 23 ก.ย. นายวิชัย คำบัว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน บ้านหนองบัว หมู่ 2 ต.ป่าสัก อ.เมือง จ.ลำพูน พร้อมลูกบ้านกว่า 20 คน พากันถือป้ายประท้วง บนถนนสายบ้านม้า อ.เมือง เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนรถบรรทุกสิบล้อขนดินของบริษัทมีชื่อแห่งหนึ่งขนดินเข้าออก ส่งผลให้ถนนของหมู่บ้านพังเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ ชาวบ้านเกิดอุบัติเหตุรถยนต์เสียหลักตกข้างทางเสียหายวันละไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง โดยเฉพาะหน้าฝนถนนลื่น ใช้เส้นทางสัญจรไปมาลำบาก โดยเฉพาะรถรับส่งนักเรียนต่างเดือดร้อนอย่างหนัก วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าชาวบ้านที่อยู่อาศัยสองข้างทางเข้าบ้านม้า แหล่งขายเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังของ จ.ลำพูน ได้รับความเดือดร้อนจริง เนื่องจากถนนทางเข้าหมู่บ้านเป็นหลุมเป็นบ่อลึกสูงเท่ากับล้อรถสิบล้อ รถยนต์ขนาดเล็กเข้าไม่ได้ ขณะที่รถรับส่งนักเรียนได้รับความเดือดร้อนหนักรถติดหล่มและมักจะแฉลบลงข้างทางนักเรียนต้องเสียเวลาในการเดินทางนาน

นางสุกาญจน์ อินสาร อายุ 63 ปี อยู่บ้านเลขที่ 270 หมู่ 2 ต.ป่าสัก ชาวบ้านผู้เดือดร้อนกล่าวว่า รถขนดินสิบล้อขนผ่านหน้าบ้านทุกวันจนข้าวของมีแต่ฝุ่น อีกทั้งบ้านเรือนสกปรก เพราะฝุ่นเข้าในบ้านทุกซอกทุกมุม ชาวบ้านบางคนที่มีอาชีพค้าขายก็ได้รับความเดือดร้อนค้าขายไม่ได้เพราะฝุ่นจากรถที่วิ่งไปมาเข้าในร้านทำให้ข้าวของที่นำมาเตรียมขายให้ลูกค้าขายไม่ได้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการราดถนนให้กลับมาดีเหมือนเดิม เพราะรถขนดินทำถนนพังเสียหายเป็นหลุมเป็นบ่อ เกิดอุบัติเหตุบ่อยจนมีคนเจ็บมาแล้วแทบทุกวัน เคยไปร้องกับผู้นำหมู่บ้านได้รับคำตอบว่า บริษัทขนดินจะมาทำถนนให้แต่ขอเวลาก่อน เพราะบริษัทที่รับทำถนนติดทำงานที่อื่น จึงไม่สามารถทำให้ได้ ชาวบ้านอดทนไม่อยากจะออกมาร้องขอความเห็นใจ แต่ตอนนี้ลำบากมากโดยเฉพาะนักเรียนที่เป็นลูกหลานลำบากในการเดินทาง บางครั้งไปโรงเรียนสายเรียนไม่ทัน จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการโดยด่วน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รถที่มีขนาดเล็ก รถเก๋งจะไม่สามารถขับผ่านได้เพราะถนนเป็นหลุมลึกมากเสี่ยงต่อการติดหล่มและรถพังเสียหาย อีกทั้งบางช่วงมีรอยรถแฉลบออกข้างทางเป็นรอยยาวและลึกมาก นอกจากนี้มีรถสิบล้อขนาดใหญ่วิ่งขนดินตลอดเวลาบางคันไม่มีการใช้ผ้าคลุมดินบนรถด้วยทำให้ดินตกหล่นตลอดเส้นทาง อีกทั้งมีฝุ่นโขมงตลอด อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อสอบถามไปยังบริษัทเจ้าของรถบรรทุกสิบล้อแต่ยังติดต่อไม่ได้ ความคืบหน้าจะนำเสนอต่อไป

(ไทยรัฐออนไลน์, 23/6/2558)

ญาติติดใจ หนุ่มป่วยไข้เลือดออกดับ บุกพบหมอจี้รับผิดชอบการรักษา

25 ก.ย. 2558 นางละมัย ชัยวงษ์ อายุ 62 ปี นายสามารถ ชัยวงษ์ อายุ 34 ปี นายสุพรรณ ชัยวงษ์ อายุ 32 ปี ชาว ต.ท่าตะคร้อ อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี แม่และพี่ชายของ ว่าที่ ร.ต.สมเกียรติ ชัยวงษ์ อายุ 26 ปี พนักงานบริษัทเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.ท่าม่วง ที่เสียชีวิตจากการป่วยเป็นไข้เลือดออก เดินทางมาที่หน้าโรงพยาบาลธนกาญจน์ ถ.แสงชูโต ต.บ้านใต้ อ.เมือง เพื่อขอรับทราบขั้นตอนรักษาของแพทย์เจ้าของไข้ โดยมีญาติพี่น้อง และเพื่อนๆ ของผู้เสียชีวิตกว่า 100 คน พร้อมใจกันสวมเสื้อสีดำมาประท้วง โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างตึงเครียด

จากนั้น นพ.สหเทพ สว่างเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธนกาญจน์ ได้ขอให้ไปเจรจากันที่ห้องรับรอง ชั้นล่าง เพื่อความสะดวกในการเข้าออกของคนไข้รายอื่น แต่ทุกคนไม่ยินยอม และขอยืนพูดคุยที่บริเวณดังกล่าว ซึ่ง นพ.สหเทพ ก็ยินยอม ทั้งนี้ ญาติของ ว่าที่ ร.ต.สมเกียรติ ต้องการให้แพทย์เจ้าของไข้  มาอธิบายขั้นตอนและวิธีการรักษา ว่าที่ ร.ต.สมเกียรติ ซึ่งทาง นพ.สหเทพ ได้นำเอกสารรายงาน การดูแลผู้ป่วย มาอธิบายให้ญาติฟัง ตั้งแต่การรับตัวเข้ามารักษา เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ซึ่งเป็นวันที่คณะแพทย์ทำการเจาะเลือด พบเชื้อไข้เลือดออก รวมทั้งขั้นตอนการรักษา อาการของคนไข้ตามลำดับ กระทั่งทรุด จนต้องเข้ารักษาต่อในห้องไอซียู และถูกส่งตัวต่อไปยังโรงพยาบาลสนามจันทร์ ในเวลาต่อมา

กระทั่ง ผ่านไปประมาณ 45 นาที นพ.เลิศศักดิ์ โตสิงห์ แพทย์เจ้าของไข้ ได้เดินออกมาพบกลุ่มชาวบ้าน และได้พยายามอธิบาย แต่เหตุการณ์กับวุ่นวายขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อชาวบ้านบางรายที่ไม่พอใจ พยายามกรูเข้าหา นพ.เลิศศักดิ์ จนเกิดเหตุชุลมุนขึ้น แต่ก็มีบางส่วนที่ขวางไว้ ท่ามกลางการดูแลความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองกาญจนบุรี

ต่อมาเวลาประมาณ 16.30 น. ก็เกิดเหตุการณ์การชุลมุนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงขอให้ นพ.สหเทพ และ นพ.เลิศศักดิ์ รวมทั้งเจ้าหน้าที่พยาบาล กลับเข้าไปภายในโรงพยาบาล ก่อนที่กลุ่มชาวบ้านจะแยกย้ายเดินทางกลับไป

นายสามารถ พี่ชายของผู้เสียชีวิต เปิดเผยว่า น้องชายของตนทำงานอยู่ที่บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ต่อมาน้องชายของตนป่วยคล้ายกับเป็นไข้หวัด จึงไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่ง หมอได้เจาะเลือด เพราะสงสัยว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออก แต่ไม่พบเชื้อ ต่อมาวันที่ 29 ส.ค.58 น้องชายจึงมาหาหมอที่โรงพยาบาลธนกาญจน์ ซึ่งขณะนั้น น้องชายยังมีสุขภาพแข็งแรง เดินมาหาหมอได้ตามปกติ ผลการตรวจเลือดพบว่า น้องชายตนป่วยเป็นไข้เลือดออก จึงนอนพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล แต่น้องชายกลับมีอาการทรุดลง พวกตนพยายามสอบถาม หมอผู้รักษาก็ไม่ยอมบอกกับญาติว่าเป็นเพราะอะไร กระทั่งช่วงเช้าของวันที่ 31 ส.ค.58 น้องอาการทรุดลงเรื่อยๆ จึงแจ้งให้ทางโรงพยาบาลทราบว่า ต้องการย้ายน้องชายไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

"แต่กว่าที่น้องชายจะได้ย้ายไปที่โรงพยาบาลสนามจันทร์ ก็เวลาประมาณ 17.00 น. และเมื่อไปถึงโรงพยาบาลสนามจันทร์ น้องชายก็เสียชีวิตลง และเผาไปประมาณวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ครอบครัวของผม รวมทั้งเพื่อนบ้าน และเพื่อนๆของน้องชายที่ทำงานอยู่ด้วยกัน ต่างมีความสงสัยขั้นตอนการรักษาของแพทย์เจ้าของไข้ จึงตัดสินใจรวมตัวมาหาคำตอบจากแพทย์ผู้รักษาในวันนี้ ซึ่งพวกผมที่มาไม่ได้ต้องการเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ เพียงแค่ต้องการให้แพทย์มีความรับผิดชอบในการรักษาคนไข้ให้มากขึ้นเท่านั้น" นายสามรถ กล่าว

(ไทยรัฐออนไลน์, 26/9/2558)

 

การศึกษา

นร.-ผู้ปกครองฮือไล่ ผอ.บริหารไม่โปร่งใส-ไม่จ่ายเงินอุดหนุนการศึกษาให้เด็ก

(21 ก.ย.) นายมี บุญราม อดีตนักการภารโรงเรียนมัธยมอ่างศิลา ต.อ่างศิลา อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี นำนักเรียนและผู้ปกครองประมาณ 500 คน ประท้วงขับไล่นายพิทักษ์ บุญยอ ผู้อำนวยการโรงเรียน เพราะไม่พอใจมีการบริการการใช้เงินในโรงเรียนไม่โปร่งใส จัดซื้อจัดจ้างโดยไม่ผ่านคณะกรรมการบริหารโรงเรียน ทั้งนี้ อ้างว่ามีการนำเงินใช้อุดหนุนการศึกษาที่ได้รับจากรัฐบาลใช้ซื้อชุดนักเรียนและอุปกรณ์การเรียนคนละ 600 บาทเศษ ไปรวมกับงบใช้ปรับปรุงซ่อมแซมทาสีอาคารเรียน โดยไม่จ่ายให้กับผู้ปกครองนักเรียน ทำให้นักเรียนเสียประโยชน์ ซ้ำไม่จัดงานวันไหว้ครู ทำให้นักเรียนต้องจัดกันเอง และปลายปีการศึกษาซึ่งต้องมีการจัดทัศนศึกษานอกสถานที่ นักเรียนทราบว่าจะไม่มีการจัดเช่นกัน ด้วยเหตุเหล่านี้ทำให้กลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมต้นถึงมัธยมปลายไม่พอใจ รวมตัวกันออกมาประท้วงขับไล่ที่หน้าโรงเรียน ก่อนพากันเดินทางเข้ามายื่นหนังสือที่สำนักงานพื้นที่เขตการศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 จ.อุบลราชธานีในช่วงเที่ยง      

นายวีระพงษ์ ไตรศิวะกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่เขตการศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 พ.อ.มงกุฎ แก้วพรม รองหัวหน้ากองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยประจำจังหวัด พ.ต.อ.สิทธิศักดิ์ แสงจันทร์ ผกก.สภ.เมือง ได้มารับฟังข้อเรียกร้องของนักเรียนและชาวบ้าน      

ทั้งนี้ นายวีระพงษ์รับปากว่าจะเสนอเรื่องที่ชาวบ้านและนักเรียนร้องเรียนนายพิทักษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนอ่างศิลาให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงโดยเร็ว หากพบผิดตามที่ถูกร้องจะเสนอให้คณะกรรมการดำเนินการเอาผิดต่อไป      

ขณะที่นายพิทักษ์ บุญยอ ผู้อำนวยการโรงเรียนที่ถูกขับไล่ กล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างมีการตั้งคณะกรรมการถูกต้องตามระเบียนของทางราชการทุกขั้นตอน สำหรับเรื่องเงินอุดหนุนการศึกษาของรัฐบาล ฝ่ายการเงินของโรงเรียนได้ทำการเบิกจ่ายตามปกติ ไม่ได้กระทบเงินของนักเรียนตามที่ถูกกล่าวหา ส่วนที่ไม่ได้จัดงานวันไหว้ครูเพราะตนขอให้เลื่อนการจัดไปอีก 1 สัปดาห์ เนื่องจากจะเป็นวันครบรอบตั้งโรงเรียนครบ 40 ปี ในวันที่ 16 มิ.ย.จึงต้องการให้นำการจัดงานทั้งสองอย่างมาจัดพร้อมกัน แต่กลุ่มนักเรียนไม่ยอมได้พากันจัดงานขึ้นเองก่อน เรื่องที่เกิดขึ้นตนได้ชี้แจงเป็นเอกสารให้ผู้อำนวยการสำนักงานพื้นที่เขตการศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 ทราบทั้งหมด หากถูกตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวน ตนยินดีชี้แจงให้คณะกรรมการทราบทุกเรื่อง   

นายพิทักษ์กล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความไม่พอใจในการบริหารงานของตนกับคณะครูบางคน ทางสำนักงานพื้นที่เขตการศึกษามัธยมศึกษา เขต 29 จะได้ตั้งคณะกรรมการเข้ามาร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นและทำความเข้าใจกับผู้ปกครองและนักเรียนที่ออกมาประท้วงต่อไป

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 21/9/2558)

ม็อบชาวประจวบฯ หนุนสร้าง “มหาวิทยาลัยพ่อหลวง” ในพื้นที่ตำบลบ่อนอก

(22 ก.ย.) ที่ศาลากลางจังหวัด อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ กลุ่มชาวบ้านที่สนับสนุนการจัดตั้งมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด ในพื้นที่ ต.บ่อนอก นำโดยนายประจักษ์ ศรเฉลิม ชาวบ้านตำบลบ่อนอก พร้อมด้วย นายทรงเกียรติ ลิ้มอรุณรักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมสมาชิกสภาจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่ ประชาชน และเด็กนักเรียน จาก อ.เมือง อ.กุยบุรี อ.สามร้อยยอด และพื้นที่ใกล้เคียงหลายพันคน      

รวมทั้งนายอำเภอกุยบุรี เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อในกุฏ ได้เดินทางมาชุมนุมเพื่อสนับสนุนให้มีการสร้างมหาวิทยาลัยพ่อหลวง ในพื้นที่ ต.บ่อนอก บนเนื้อที่ จำนวน 627 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวา เพื่อถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 90 พรรษา และถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยได้ยื่นหนังสือต่อ นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขอให้ลงนามเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญสมัยที่ 3 ประจำปี 2558 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นกรณีโครงการจัดสร้างมหาวิทยาลัยพ่อหลวง ในพื้นที่สงวนเลี้ยงสัตว์คลองชายธง ต.บ่อนอก อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ เพื่อพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างรอบคอบ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาภายหลัง      

จากนั้น นายวีระ ศรีวัฒนตระกูล ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วย นายพงษ์พันธ์ วิเชียรสมุทร ปลัดจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายสมพร ปัจฉิมเพ็ชร นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ ได้ลงมารับฟังข้อมูลจากชาวบ้าน กระทั่งได้ข้อสรุปว่า นายอำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จะเป็นผู้ลงนามในหนังสือขอให้ อบต.บ่อนอก เปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญสมัยที่ 3 ประจำปี 2558 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นกรณีโครงการจัดสร้างมหาวิทยาลัยทั้งหมดอย่างรอบคอบ ซึ่งสร้างความดีใจให้แก่ชาวบ้านที่มาชุมนุมกันเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้กล่าวว่า ชาวบ้านทั้ง 2 ฝ่ายมีความเห็นตรงกันอย่างหนึ่งคือ เห็นด้วยที่จะให้สร้างมหาวิทยาลัย เพียงแต่จะสร้างบริเวณใดเท่านั้น ซึ่งจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น      

ด้าน นายอรุณชัย สมมิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 6 ต.หาดขาม กล่าวว่า ชาวบ้านอยากให้กำลังใจผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเหตุผลที่ต้องการให้สร้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ต.บ่อนอก เพราะจะเกิดประโยชน์ต่อลูกหลานในชุมนุม สถานที่ตั้งอยู่ครึ่งกลางจังหวัด ทำให้การเดินทางสะดวกสำหรับทุกคน ส่วนความคิดเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องพึ่งผลการพิจารณาจากการเปิดประชุมสภาของ อบต.บ่อนอก ที่จะพิจาณาข้อดีข้อเสียทั้งหมด      

นายประจักษ์ ศรเฉลิม สมาชิกองค์กรบริหารส่วนตำบลบ่อนอก กล่าวว่า สำหรับข้อโต้แย้งของอีกฝ่ายระบุถึงการอนุรักษ์พื้นที่สาธารณะคลองชายธงทั้งหมด 931 ไร่ ไว้สำหรับโครงการก่อสร้างแก้มลิงกักเก็บน้ำ ตนมองว่าพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารดำเนินการขุดดินเพื่อกักเก็บน้ำจืดได้ เพราะน้ำทะเลจะซึม ประกอบกับการขุดดินบนเพื่อที่ 400 ไร่ ต้องใช้งบประมาณสูงมากถึง 3 พันล้านบาท ซึ่งทำให้ไม่คุ้มค่าต่อการดำเนินการ ซึ่งมองว่าควรมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกตำบล หรือทุกอำเภอ เพื่อแสดงความคิดเห็นว่าต้องการมหาวิทยาลัยหรือไม่ และทุกฝ่ายควรยอมรับผลของการทำประชาพิจารณ์ดังกล่าว   

ขณะที่นักเรียนที่เดินทางมาร่วมชุมนุมต่างก็เห็นด้วยว่าการจัดตั้ง “มหาวิทยาลัยพ่อหลวง” ถือเป็นเรื่องที่ดีที่เยาชนจะได้มีมหาวิทยาลัยในพื้นที่ แต่ก็ขอให้ผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายได้ใช้เหตุผลพูดคุยกันโดยเฉพาะอยากให้เห็นการจัดตั้งมหาวิทยาลัย ลูกหลานของทั้งสองฝ่ายก็จะได้เรียนใกล้บ้าน ซึ่งในการชุมชุมครั้งนี้มีทั้งทหาร และตำรวจ สภ.เมืองประจวบฯ อส.เข้ามาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ซึ่งหลังจากยื่นหนังสือเสร็จแล้วชาวบ้านต่างแยกย้ายกันเดินทางกลับ

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 22/9/2558)

นร.กาญจนบุรี 400 คน เดินเท้าถือป้ายขับไล่ ผอ. อ้างส่อทุจริต

เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 58 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักเรียนจากโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 45 จังหวัดกาญจนบุรี อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี จำนวน 400 คน เดินเท้ามายังที่ว่าการอำเภอพนมทวน โดยถือป้ายกระดาษเขียนข้อความขับไล่ นางวริศรา วงค์มุสิก ผอ.โรงเรียน เนื่องจากไม่พอใจเกี่ยวกับการบริหารงานในโรงเรียน โดยอ้างว่าไม่มีความเป็นธรรมต่อครู และนักเรียน โดย ว่าที่ ร.อ.อานนท์ เชื้อเล็ก ปลัดอำเภอพนมทวน พร้อมตำรวจ สภ.พนมทวน และทหารร้อย รส.ป.พัน.9 ร่วมสังเกตการณ์

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เชิญนักเรียนทั้งหมดเข้าไปรอที่ศูนย์ไกล่เกลี่ยประนีประนอมข้อพิพาทอำเภอพนมทวน โดยตัวแทนนักเรียนได้ปราศรัยโจมตีการทำงานของ ผอ. เกี่ยวกับการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส และเรียกร้องให้ย้าย ผอ. ก่อนจึงมีการเจรจา ต่อมา นายสถาพร วิสามารถ ผอ.เชี่ยวชาญ ร.ร.สุพรรณบุรีปัญญานุกูล ได้เดินทางมาเจรจากับตัวแทนนักเรียน และนักเรียนมีการลงชื่อขอความเป็นธรรมในครั้งนี้จำนวน 427 คน โดยยื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรม ผ่าน ว่าที่ ร.ต.อานนท์ ซึ่งการชุมนุมใช้เวลานานกว่า 4 ช.ม. ยังไม่ได้ข้อยุติ

นายสถาพร เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากกระทรวงศึกษาธิการ ให้มาเจรจาและรับข้อเสนอจากนักเรียน รวมทั้งพูดคุยให้เกิดความเรียบร้อยโดยเร็ว เบื้องต้น นางนริศรา ยินยอมที่จะย้ายเข้าไปปฏิบัติราชการชั่วคราวที่กรุงเทพฯ และจะมีการเจรจากับตัวแทนนักเรียน เพื่อขอให้รุ่นพี่นำน้องกลับโรงเรียน และทางผู้บังคับบัญชายินดีที่จะตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย แต่ต้องเจรจาให้เด็กยินยอมเข้าไปพักอาศัยที่หอพักในโรงเรียนก่อน จากนั้น ก็จะเป็นกระบวนการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ต้องใช้เวลาในการสอบสวนพอสมควร

ด้านแกนนำนักเรียน เปิดเผยถึงสาเหตุที่รวมตัวประท้วงว่า นักเรียนทนไม่ไหวกับพฤติกรรมของผู้บริหารในการบริหารงาน โดยเฉพาะการยกเลิกการจ้างอาจารย์ลูกจ้างที่ผ่านมา ซึ่งนักเรียนมองว่าครูที่สอนดีและเด็กรักกลับไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการตั้งครูปกครองหอพักที่ไม่เหมาะสม จนต้องออกมารวมตัวเรียกร้องให้ย้าย ผอ. ออกไปจากโรงเรียน และให้ตั้งกรรมการสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกคนในโรงเรียน

(ไทยรัฐออนไลน์, 23/9/2558)

นร.มัธยมไล่ ผอ.! บุกยื่นหนังสือถึงผวจ. ระบุไม่สร้างสรรค์ผลงาน

25 ก.ย. 2558 ที่ห้องโถงชั้นล่างศาลากลางจังหวัดเลย ได้มีนักเรียนและผู้ปกครองนักเรียน โรงเรียนเซไลวิทยาคม อ.วังสะพุง ร่วม 100 คน เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผวจ.เลย เพื่อให้พิจารณาสั่งยาย นางปราณี ชัยยันต์ ผอ.เซไลวิทยาคม แต่ ผวจ.ติดราชการที่กรุงเทพฯ นายโสภณ สุวรรณรัตน์ ปลัดจังหวัดเลย และนายสวัสดี สุธรรมมา ศึกษานิเทศก์เขตพื้นที่มัธยมศึกษา 19 เลย (สพม.19) จึงมารับเรื่องร้องทุกข์จากนักเรียนแทน

ทั้งนี้ หนังสือ ดังกล่าว ระบุถึงวิสัยทัศน์ของ ผอ.โรงเรียน ที่ดำรงตำแหน่งกว่า 6 ปี ไม่มีการสร้างสรรค์งานเกิดขึ้นในโรงเรียน ใช้อำนาจบาตรใหญ่ในการบริหาร ให้ครูทำงานให้ตัวเองทั้งที่เป็นเรื่องส่วนตัว ทำให้คณะครูไม่มีขวัญกำลังใจในการทำงาน มีแต่บั่นทอนจิตใจจนเกิดผลเสียต่อโรงเรียน จำนวนนักเรียนลดลงทุกปี ประชาชนในชุมชนขาดความเชื่อมั่นในการบริหารงานของ ผอ.คนนี้

นอกจากนี้ ยังปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในเรื่องการบริหารเงิน เกิดการคอร์รัปชัน ปัจจุบันโรงเรียนขาดเงินในการบริหารจัดการในทุกเรื่อง เกิดผลกระทบต่อระบบงานของโรงเรียน ทำให้กิจกรรมต่างๆของโรงเรียนดำเนินงานต่อไปไม่ได้ ตอนนี้นักเรียนไม่ได้รับเงินค่าอาหารกลางวัน ไม่มีเงินค่ารถรับส่งมาเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว และปัญหาอื่นๆ ภายในโรงเรียน จึงต้องการให้ย้าย ผอ.คนปัจจุบันออกจากโรงเรียนภายใน 24 ชั่วโมง เนื่องจากบริหารงานล้มเหลว

ด้านนายโสภณ สุวรรณรัตน์ ปลัดจังหวัดเลย กล่าวว่า ตอนนี้ศูนย์ดำรงธรรมได้รับเรื่องไว้แล้ว ซึ่งทางศูนย์ฯ จะนำเรื่องเสนอ ผวจ.เพื่อดำเนินการ อย่างไรก็ตาม ให้ทาง สพม.19 ประชุมพิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน อาจจะให้ไปช่วยราชการที่อื่นก่อน แล้วตั้งคณะกรรมการสอบสวนขอเท็จจริง เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ในส่วนนักเรียนและผู้ปกครองที่มาร้องเรียนเกรงจะไม่ปลอดภัย จะให้ทางตำรวจ สภ.วังสะพุง เข้าไปดูแล ร่วมทั้งทางเขต สพม.19 ด้วย

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้พยายามติดต่อ เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงจากนางปราณี ชัยยันต์ ผอ.โรงเรียนเซไลวิทยาคม อ.วังสะพุง กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าบริหารงานไม่โปร่งใส และเรื่องอื่นๆ แต่ไม่สามารถติดต่อได้

(ไทยรัฐออนไลน์, 25/9/2558)

ยื่นศูนย์ดำรงธรรมเลย ย้าย ผอ.ร.ร.เซไลวิทยาคม ทุจริตในหน้าที่

(25 ก.ย.) ที่บริเวณด้านหน้าห้องศูนย์ดำรงธรรมศาลากลางจังหวัดจังหวัดเลย นักเรียนจากโรงเรียนเซไลวิทยาคม อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย พร้อมด้วยผู้ปกครองกว่า 50 คน เดินทางร้องเรียนต่อ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด ถึงการทำงานของผู้อำนวยการโรงเรียนเซไลวิทยาคม ที่ทำงานไม่โปร่งใส ทุจริตเรื่องเงินในโรงเรียน และขอให้ย้ายผู้อำนวยการโรงเรียนออกจากพื้นที่ภายใน 24 ชั่วโมง    

น.ส.อฌิมา สีตาล ตัวแทนนักเรียนโรงเรียนเซไลวิทยาคม กล่าวว่า ตอนนี้สถานการณ์ในโรงเรียนย่ำแย่ โรงเรียนขาดการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น วันแม่ เดือนสิงหาคม ขณะที่คูปอง ค่ารถ ค่าอาหารนักเรียนไม่ได้ใช้มาเป็นเดือนแล้ว ค่าประกันความเสียหายในโรงเรียนแม้นักเรียนจะจ่ายเงินไปแล้วแต่ไม่ได้ซ่อมแซม จนอาคารชำรุด เหมือนกับไม่มีผู้บริหาร ที่สำคัญการจัดทำผ้าป่าเพื่อสร้างรั้วโรงเรียนได้เงินจากทอดผ้าป่ากว่า 160,000 บาท นำมาใช้ทำแค่ป้าย แต่เงินกลับหายไปหมด     

ด้าน นางปราณี ชัยยันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเซไลวิทยาคม กล่าวว่า โรงเรียนทราบเรื่องต่อข้อกล่าวหาของเด็ก และผู้ปกครองแล้ว ยอมรับว่ามีการทุจริตของเจ้าหน้าที่การเงินในโรงเรียนจริง ขณะนี้ได้ดำเนินสอบสวน และให้เจ้าหน้าที่การเงินที่ก่อปัญหานำเงินที่ทุจริตกลับมาใช้คืนให้โรงเรียน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับคืน จึงเป็นที่มาทำให้เด็กนักเรียนออกมาประท้วงครั้งนี้      

ด้าน นายสวัสดี สุธรรมมา ตัวแทนคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลาการทางการศึกษา ประจำเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 19 จังหวัดเลย-หนองบัวลำภู กล่าวว่า ได้รับเรื่องร้องเรียน และแจ้งเรื่องต่อให้ นายมงคลวิทย์ ทาปลัด ผอ.สพม.19 ทราบเรื่องแล้ว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้เป็นการด่วน และหากจำเป็นก็ต้องให้ นางปราณี ชัยยันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเซไลวิทยาคม มาช่วยราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา เขต 19 ให้การสอบสวนเดินหน้า และให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 25/9/2558)

 

การเมือง-การปกครองส่วนท้องถิ่น

กำนัน-ผญบ.เชียงราย ชุมนุมร้องผู้ว่าฯ งบตำบล 5 ล้านเหลือให้ล้านเดียว

กำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้บริหารองค์กครองส่วนท้องถิ่นจาก ต.ท่าก๊อ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย ประมาณ 150 คน นำโดยนายอินเป๊ก อบอุ่น กำนัน ต.ท่าก๊อ ได้พากันเดินทางไปยังศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือขอทราบเหตุผล และให้มีการพิจารณาแก้ไขกรณีการอนุมัติงบประมาณตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบลหรือตำบลละ 5 ล้านบาทของรัฐบาล โดยให้เหตุผลว่างบประมาณดังกล่าวทางตำบลได้รับทราบรายละเอียดงบประมาณ และทำประชาคมเพียงแค่ 1 ล้านบาท แต่อีกจำนวน 4 ล้านบาทนั้น ได้รับแจ้งจากทางอำเภอว่ามีการอนุมัติให้กับสหกรณ์การเกษตรแม่สรวย จำกัด เพื่อนำไปสร้างลานตากผลผลิตทางการเกษตร จึงทำให้ทางตำบลมีความสงสัย และต้องการให้มีการพิจารณาจัดสรรกันใหม่

นายอินเป๊ก กล่าวว่า ต.ท่าก๊อ มี 27 หมู่บ้าน 6,129 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมแต่พืชผลส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องนำไปตาก เช่น ลำไย ข้าว ข้าวโพด ฯลฯ หรือแม้จะมีกาแฟ ชา ฯลฯ ที่ปลูกกันตามพื้นที่ดอยสูงแต่ก็อยู่ห่างไกลจาก ต.ท่าก๊อ ต้องใช้การขนส่งลงมาตากหากว่ามีการก่อสร้างกันจริงกว่า 20-30 กิโลเมตร ที่สำคัญ คือ งบประมาณนี้ไม่ได้ผ่านการทำประชาคมเพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาเลย และ สมาชิกสหกรณ์ก็มีเพียง 630 ครัวเรือนหรือคิดเป็นร้อยละ 10.28 ของประชากรทั้งหมดด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าต่อมา นายประจญ ปรัชญ์สกุล รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย นายนักปราชญ์ ไชยานนท์ หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์การพัฒนา จ.เชียงราย สำนักงาน จ.เชียงราย ได้เข้ารับเรื่องและชี้แจงว่าตามโครงการดังกล่าว ทางจังหวัดได้มีการนำเสนอของบประมาณไปจำนวน 204 โครงการ มูลค่า 621 ล้านบาท และได้รับการอนุมัติงบประมาณให้แล้วจำนวน 91.9 ล้านบาท และกำลังพิจารณาโครงการอื่นๆ ตามมา สำหรับที่ ต.ท่าก๊อ อยู่ในส่วนที่ได้รับการอนุมัติแล้ว แต่ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณไปให้ หากว่าทางตำบลไม่ต้องการ หรืออยากให้แก้ไขก็สามารถเสนอไปยังคณะกรรมการพิจารณาระดับจังหวัดเพื่อแก้ไขได้เช่นกัน ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมพอใจ แต่ต่างก็ยังมีความกังวลว่าจะไม่ได้รับงบประมาณเต็มจำนวน ทำให้ทางจังหวัดแนะนำให้ไปเสนอโครงการที่จะนำมาทดแทนในช่วงที่จะมีการประชุมหารือกับสหกรณ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเบื้องต้นนายนักปราชญ์ได้ประสานทางโทรศัพท์กับผู้บริหารสหกรณ์แล้วก็ได้รับแจ้งว่าพร้อมจะยกเลิกโครงการนี้ไปก่อนหากว่าประชาชนต้องต้องการต่อไปทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมแยกย้ายกันกลับ

(ประชาติธุรกิจ, 25/9/2558)

 

ประท้วงเชิงสัญลักษณ์

มติสวนยาง16 จว. ขึ้นป้ายเขตภัยพิบัติ ประท้วงราคาดิ่งเหว

เมื่อวันที่ 23 กันยายน นายสุนทร รักษ์รงค์ ผู้ประสานงานแนวร่วมกู้ชีพชาวสวน และว่าที่นายกสมาคมเกษตรกรชาวสวนยาง 16 จังหวัดภาคใต้เปิดเผยว่า ได้ออกแถลงการณ์เพื่อประกาศ”เขตภัยพิบัติ ราคายางพาราตกต่ำ” จากภาวะวิกฤตราคายางพาราตกต่ำ 3 กิโลกรัม100บาททำให้เกษตรกรชาวสวนยาง ได้รับความเดือนร้อนอย่างหนัก บางคนฆ่าตัวตายเพราะไม่สามารถทนอยู่ในสภาพแห่งความทุกข์หนักได้ ของแพง ยางถูก ลูกอด รถถูกยึด กลับมาหลอกหลอนอีกครั้ง สาเหตุจากยาง 3 กิโลร้อย หลายคนไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน และต้องออกจากการเรียน

“จึงมีการประชุมร่วมกันและได้มีมติ ให้สมาชิกแนวร่วมกู้ชีพชาวสวนยางจากทั่วประเทศติดป้ายประกาศ”เขตภัยพิบัติ ราคายางพาราตกต่ำ”ในพื้นที่ทุกจังหวัดเพื่อแสดงออกอย่างสงบให้ผู้มีอำนาจรัฐ เห็นพลังความสามัคคีและให้รัฐบาลเร่งหาแนวทางช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนยางโดยเร่งด่วน หากไม่ได้รับความสนใจ เร็วๆนี้จะเคลื่อนไหวใหญ่ในพื้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ต่อไป”

นายสุนทร กล่าวอีกว่าขณะนี้ มีแนวโน้มว่า การยางแห่งประเทศไทยจะออกประกาศเรื่องการจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางตามมาตรา 4 ของพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การยางแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้พี่น้องชาวสวนยางชายขอบ ประกอบด้วย ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินและคนกรีดยางในที่ดินดังกล่าว ไม่สามารถจดทะเบียนเกษตรกรชาวสวนยางได้ มีผลทำให้ไม่ได้รับสิทธิและผลประโยชน์ตาม พรบ.ฯโดยเฉพาะด้านสวัสดิการเกษตรกรชาวสวนยางและที่ผ่านมาไม่เคยได้รับการเยียวยาและความช่วยเหลือใดๆจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงราคายางพารา โครงการชดเชยรายได้ให้เกษตรกร 2520 บาทต่อไร่และ1000บาทต่อไร่

“ขณะนี้การยางแห่งประเทศไทย กำลังถูกครอบงำจากกลุ่มทุน และนักการเมือง จากวงการอ้อยและน้ำตาลภาคอีสานโดยวางแผนยึดอำนาจและผูกขาด ผ่านคณะกรรมการการยางแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดการยาง ที่มีการเลือกตั้ง โดยมีผู้อ้างตัวว่าเป็นแกนนำเกษตรกรชาวสวนยางในภาคใต้ รับเงินจากนักการเมืองภาคอีสานมาใช้จูงใจให้เลือกตัวเอง เข้าสู่ตำแหน่งสู่บอร์ดการยางเพื่อไปรับใช้นักการเมืองดังกล่าว ถือเป็นการทรยศพี่น้องชาวสวนยางในภาคใต้อย่างน่าละอายที่สุด”นายสุนทร กล่าว

(RYT9, 23/9/2558)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท