Skip to main content
sharethis

นักวิชาการ ชี้เปิดเหมืองทองได้ไม่คุ้มเสีย จี้รัฐทบทวนการให้เหมืองใช้ไซยาไนด์ ชาวบ้านทีได้รับผลกระทบย้ำ รัฐต้องฟังเสียงประชาชน

เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2558 กลุ่มเสรีนนทรี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์รามคำแหง และภาคีเครือข่าย ได้จัดเสวนาหัวข้อ .มีเงินเรียกน้อง มี (เหมือง) ทองเรียกหายนะ” ณ ห้องประชุมโสตทัศนศึกษา อาคาร 2 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวิทยากรประกอบด้วย อาภา หวังเกียรติ อาจารย์ประจำวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา และณัฐพงษ์ แก้วนวล ชาวนาจากอำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก

สืบเนื่องจาก กรณีที่ภาครัฐ โดยกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม มีแผนจะเปิดเหมืองทองคำใน 12 จังหวัด โดยเตรียมให้ภาคเอกชนเข้าสำรวจเพื่อขออนุมัติใบอาชญาบัตร ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ลพบุรี เลย นครสวรรค์ สระบุรี ระยอง จันทบุรี สุราษฎร์ธานี สระแก้ว และสตูล

ณัฐพงษ์ เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อเปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำคือ การสั่งให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่แต่เดิมต้องออกไป ขณะที่การเหมืองแร่ยังส่งผลกระทบต่อชีวิต และสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทำให้ชาวบ้าน เจ็บป่วย ล้มตาย แต่กลับไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานใดออกมาระบุบว่าคนที่เจ็บป่วย ล้มตายเป็นจำนวนมากเกิดจากการทำกิจกรรมจากเหมืองแร่

ณัฐพงษ์ เสนอว่า รัฐต้องทบทวนและฟังเสียงประชาชนมากขึ้น โดยขณะนี้มีประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมทานเหมืองแร่ทองคำมากถึง 27,000 รายชื่อ และภายหลังจากครบ 15 วัน ที่ได้ยื่นหนังสือคัดค้านเปิดเหมืองแร่ทองคำทั้ง 12 จังหวัด ที่ศูนย์ร้องเรียนประชาชนในวันที่ 29 ก.ย. ชาวบ้านจะไปติดตามผลการดำเนินการกับ ก.พ.ร.และกระทรวงอุตสาหกรรมว่า เหมืองแร่ทองคำควรจะยุติได้หรือไม่ และขอให้คนทั้งประเทศร่วมกันลุกออกมาปกป้องไม่ใช่ให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินอนุญาตให้ดำเนินการเหมืองทั้ง 12 จังหวัดเพียงผู้เดียว

ด้าน อาภา เริ่มต้นด้วยการกล่าวถึง กรณีในต่างประเทศที่มีการทำเหมืองแร่ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ปล่อยสารพิษโลหะมหาศาล โดยการปล่อยสารสารโลหะหนักนั้น จะต้องมีรายงานให้ประชาชนรับทราบด้วย ขณะที่ในบางประเทศถึงกับออกกฎหมายห้ามใช้สารไซยาไนด์ในการสกัดทองคำ อาภาเสนอด้วยว่า รัฐบาลไทยควรทบทวนการใช้แร่ไซต์ยาไนต์ที่เป็นตัวก่อให้เกิดอันตราย ถึงแม้ว่าต้นทุนจะต่ำแต่เปรียบเหมือนการปลุกผีขึ้นมา

อาภา ให้ข้อเสนอว่า การทำเหมืองแร่ได้ไม่คุ้มเสียควร เก็บทองไว้ให้ลูกหลาน และให้หยุดนโยบายเหมืองทองคำและร่างพระราชบัญญัติแร่ ฉบับใหม่ และเรียกร้องต่อเหมืองเก่า ไม่ให้ใช้อาณาบัตรพิเศษ และประทานบัตรเพิ่ม ส่วนในกรณีเหมืองเก่าให้ทบทวนกระบวนการสกัดแร่ โดยไม่ควรใช้ไซยาไนด์ในการสกัดแร่

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ได้กล่าวถึงร่างนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำว่า การพิจารณาร่างกฎหมายตั้งแต่คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะรัฐมนตรี และ สนช. ว่ามีกระบวนการที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและประชาชนไม่สามารถคัดค้านได้ ขณะที่ในปี 2552 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอไปยัง ครม.ให้ยกเว้นอาชาบัตรพิเศษ และประทานบัตร รวมถึงการชะลอเหมืองทองคำที่ยังไม่ได้รับอนุญาต แต่หากการพิจารณาพื้นที่ ที่มีเหมืองแร่สูงตกไปเป็นของกรมอุตสาหกรรมและการ เหมืองแร่ตามร่างนโยบายและการสำรวจเหมืองแร่ทองคำที่ไม่ติดกฎหมายอื่นๆ ผ่าน การพิจารณาจะทำให้สามารถดึงพื้นที่ที่เหมืองแร่สูงออกมาให้เอกชนดำเนินการ ได้ทันที แม้กระทั่งเป็นพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติ

ทั้งนี้เลิศศักดิ์ มีข้อเสนอต่อกรณีดังกล่าวทั้งหมด 6 ข้อดังนี้

1.กำหนดให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่การผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มภายในประเทศ หากผลการพิจารณาเห็นว่าแร่ทองคำเป็นแร่เชิงเศรษฐกิจที่ควรนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์

2.แก้ไขกฎหมาย ประกาศกระทรวง กฎ ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เช่น พ.ร.บ. แร่ พ.ศ.2510 ให้การทำเหมืองแบบเปิด ใช้หลักเกณฑ์เดียวกับเหมืองใต้ดิน ซึ่งมีการกำหนดขั้นตอน หลักเกณฑ์การปรึกษากับผู้มีส่วนได้เสียไว้อย่างชัดเจน และกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน หลักเกณฑ์การปรึกษากับผู้มีส่วนได้เสียไว้อย่างชัดเจน และกำหนดขอบเขตอำนาจพื้นที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นตอน ตั้งแต่การสำรวจจนถึงการฟื้นฟูหลังปิดเหมือง เพื่อให้หน่วยปฏิบัตินำไปใช้เป็นแนวทางและเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

3. กำหนดให้มีการทบทวนวิธีคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนที่เก็บการทำเหมือง ให้สอดคล้องกับแนวโน้มราคาทองคำ โดยทบทวนอัตราค่าภาคหลวงใหม่ทุกครั้งที่ราคาทองคำในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นผิดปกติ โดยพิจารณารวมถึงตัวแปรต่างๆ ให้ครบถ้วน อาทิ ผันแปรตามศักยภาพของเหมืองแต่ละแห่งและผลกระทบจากการทำเหมือง

4. ปรับปรุงกระบวนการกำกับ ติดตาม และตรวจสอบโดยพิจารณาให้มีหน่วยงานที่เป็นกลาง โดยมี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) หรือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้ดำเนินการ นอกจากนี้ควรพิจารณารูปแบบของกองทุนจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยให้ยึดหลักธรรมาภิบาล และทบทวนการกระจายอำนาจให้ อบต. ให้เหมาะสมกับขีดความสามารถที่จะดำเนินการได้ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานท้องถิ่น รวมทั้งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการในการไกล่เกลี่ยกรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนและผู้ประกอบการทำเหมือง

5. กำหนดมาตรการฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดโครงการให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น กำหนดเงื่อนไขให้มีการปลูกป่าชดเชยเพื่อฟื้นฟูหลังสิ้นสุดโครงการอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้มีการตั้งกองทุนฟื้นฟูหรือเงินค้ำประกันการฟื้นฟูที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของภาครัฐ การจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนเพื่อช่วยเหลือด้านสาธารณูปโภคในชุมชน และกองทุนพัฒนา อบต. และกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบการฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดเหมือง

6. สำหรับพื้นที่ที่ได้ยื่นคำขออาญาบัตรในการสำรวจไว้แล้วแต่ยังไม่มีผลทางกฎหมาย ควรให้ชะลอการอนุมัติไปก่อน โดยให้รอผลการกำหนดประเภทแร่ การกำหนดเขตพื้นที่ทำเหมืองและการปรับนโยบายการสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำใหม่ ส่วนพื้นที่ที่ได้รับอนุมัติอาชญาบัตรพิเศษในการสำรวจและมีสิทธิขออนุมัติประทานบัตรเพื่อทำเหมือง ซึ่งถือว่ามีผลผูกพันทางกฎหมายและตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 และอยู่ในอำนาจการพิจารณาของ กพร. ให้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปได้ โดยให้คำนึงถึงบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการจัดทำรายงานผลกระทบต่อสุขภาพ รวมทั้งมาตรการฟื้นฟูพื้นที่หลังปิดโครงการในประทานบัตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net