Skip to main content
sharethis
ในขณะที่ความสนใจจับจ้องไปยังชาวมลายูมุสลิมใน 3 จว. ชายแดนใต้ ยังมีประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่มีสิทธิมีเสียงมากนักในกระบวนการสันติภาพ ประชาไทคุยกับคนไทยพุทธ, คนรักเพศเดียวกัน และคนเชื้อสายจีนต่อมุมมุมองของพวกเขาในการแก้ปัญหาความไม่สงบ
 
เมื่อพูดถึงความขัดแย้งในปาตานี หรือ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความสนใจและการแก้ปัญหามักพุ่งไปสู่ประชากรกลุ่มหลักของปาตานี ซึ่งคือ ชาวมลายูมุสลิม เพราะวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของพวกเขาถูกกดทับด้วยนโยบายกลืนชาติและวัฒนธรรมของรัฐไทยมาเป็นเวลานาน ทั้งยังเป็นเหยื่อของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการเลือกปฏิบัติจากรัฐไทย โดยระหว่างปี 2550 - 2556 มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิมได้รับคำร้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 3,456 คำร้อง ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับชาวมลายูมุสลิม และจำนวนมากในนั้นเกี่ยวข้องกับข้อหาการบังคับสูญหายและซ้อมทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างการถูกควบคุมตัวภายใต้กฎหมายพิเศษ ทุกวันนี้ชาวมลายูมุสลิมยังคงเผชิญกับการเลือกปฏิวัติไม่เว้นแต่ละวัน เช่น การถูกตรวจค้นที่ด่านเพียงเพราะเป็นชาวมลายู และการเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอในกลุ่มคนมลายูอย่างไร้หลักเกณฑ์ 
 
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา รัฐไทยมีนโยบายที่เปิดกว้าง ให้พื้นที่ และส่งเสริมวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของชาวมลายูมากขึ้น ด้วยเพราะรัฐตระหนักว่า การให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมแก่ชาวมลายู เป็นการปลดล็อกเงื่อนไขหนึ่งของความรุนแรงและผ่อนคลายความตรึงเครียด นอกจากนี้ยังมีกระบวนการสันติภาพทั้งโดยรัฐและภาคเอกชนที่ให้ความสำคัญกับความเห็นและความต้องการของชาวมลายูเป็นสำคัญ
 
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่ชาวมลายูมุสลิมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ยังมีชาวไทย และชาวไทยเชื้อสายจีน และอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน และที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ แม้ว่าปาตานีจะมีจำนวนประชากรชาวมุสลิมมากกว่าประชากรที่นับถือศาสนาพุทธถึงเกือบหกเท่า จำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบที่เป็นคนพุทธ และคนมุสลิมกลับพอๆ กัน
 
อย่างในปี 2557 สถิติจาก Deep South Watch (DSW) ม.อ. ปัตตานี ชี้ให้เห็นว่า มีจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่เป็นชาวพุทธ (ทั้งไทย และเชื้อสายจีน และทหาร ตำรวจ ที่นับถือศาสนาพุทธ) มากกว่า ชาวมุสลิม (รวมถึงคนชาติพันธุ์อื่นนอกเหนือจากมลายู รวมถึงทหารตำรวจที่เป็นคนมุสลิม) จากจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตทั้งหมด 993 คน เป็นคนมุสลิมจำนวน 432 คนหรือร้อยละ 43.5 และเป็นผู้นับถือศาสนาพุทธ 552 คน หรือ ร้อยละ 55.6 อย่าไรก็ตาม ควรมีการจำแนกต่อไปว่า ชาวพุทธและมุสลิมที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากความไม่สงบที่เป็นพลเรือนไม่จับอาวุธ หรือเป็นเป้าอ่อน กี่เปอร์เซนต์ (เหตุการณ์ความไม่สงบในความหมายของ DSW ได้แก่เหตุการณ์เช่น คาร์บอมม์ การซุ่มโจมตี การทำร้ายร่างกายโดยอาวุธและไม่มีอาวุธ การปิดล้อมตรวจค้น การปะทะ ยิง วางเพลิง และการพบศพ) 
 
 
ในขณะที่กระบวนการสันติภาพกำลังดำเนินไป ชนชั้นนำ โดยเฉพาะชนชั้นนำมลายูและนักวิชากาต่างมีเสียงดังในกระบวนการสันติภาพ หากแต่ยังมีคนกลุ่มน้อยที่ไม่มีเสียงเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่พวกเขาก็เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในปาตานีเช่นกัน 
 
ประชาไท สัมภาษณ์ รักชาติ สุวรรณ์ คนไทยพุทธ จาก จ.ยะลา แกนนำเครือข่ายชาวพุทธพื่อสันติภาพ, อันธิฌา แสงชัย นักกิจกรรมเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ทำงานอยู่ใน จ.ปัตตานี และ ชาวปาตานีเชื้อสายจีน ที่ไม่ประสงค์ออกนาม ถึงชีวิตของพวกเขาในฐานะคนกลุ่มน้อยในปาตานี และทัศนะต่อกระบวนการสันติภาพ 
 
 

รักชาติ สุวรรณ์ 

แกนนำเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ ชาวยะลา

 
 
“สองปีก่อน ผมได้เข้าร่วมกับวงเสวนากระบวนการสันติภาพ ผมเจอคนใช้คำว่า “รัฐไทย” “ปาตานี” อะไรแบบนี้ ก็รู้สึกตกใจและงุนงง ฟังแล้วรู้สึกอึดอัด ไม่สบายใจ แต่พอเรียนรู้เรื่อยๆ เราก็ต้องยอมรับเรื่องประวัติศาสตร์ความเจ็บปวดของคนที่นี่”
 
“ครั้งแรกที่ได้ยินวาทกรรมปาตานีก็รู้สึกว่า “บ้าเปล่า!” เพราะตั้งแต่เล็กจนโต เรารู้จักแต่ประวัติศาสตร์ชาตินิยมไทย แต่พวกเขาพูดถึงประวัติศาสตร์ปาตานี “นักล่าอาณานิคมสยาม” เราก็ได้แค่คิดว่า ทำไมไม่พูดถึงไทยรบพม่าล่ะ ไทยรบฝรั่งเศสล่ะ คือประวัติศาสตร์ปาตานีแบบนี้ไม่เคยได้ยิน แต่ก็รู้สึกว่า ทำไมเขาเน้นกันแต่ประวัติศาสตร์ความเจ็บปวด ทั้งๆ ที่ประวัติศาสตร์มันก็มีทั้งสุข และทุกข์” 
 
“ตอนปลายปี 56 ผมตั้งกลุ่มชนพุทธกลุ่มน้อย เพราะช่วงนั้นคนพุทธโดนโจมตีเยอะ พวกเราคนพุทธก็คุยกัน แสดงความโกรธแค้น อัดอั้นตันใจ เสียใจในหมู่พวกเรากันเอง แต่ไม่เคยและไม่กล้าจะพูดออกสาธารณะ หรือพูดให้คนอื่นที่ไม่ใช่พุทธฟัง พอมีเด็กพุทธถูกยิง สมองไหลในร้านน้ำชา ผมรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแล้ว ก็เอาใบปลิวประณามการกระทำนั้นไปแจก  เหตุการณ์ที่ร้านน้ำชาที่ทำให้คนพุทธอย่างผมเริ่มลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดเป็นกระแส กระเทือนไปโต๊ะเจรจาเหมือนกัน ว่าการใช้ความรุนแรงไม่ควรเกิดขึ้นกับเป้าอ่อนทั้งไทยทั้งมุสลิม เพราะพวกเขาไม่ใช่คู่กรณี”
 
“เราตั้งชื่อกลุ่มว่า ชนพุทธกลุ่มน้อย ด้วยความรู้สึกอยากให้ชื่อนี้กระแทกกระทั้นไปยังรัฐ และให้พวกเราคนพุทธยอมรับกันเองด้วยว่า เราต้องอยู่ให้ได้ และรับให้ได้กับการเป็นคนกลุ่มน้อย คือต้องยอมรับว่า เราเป็นชนกลุ่มน้อยในชนกลุ่มน้อย ในพื้นที่สามจังหวัดนี้เราเป็นชนกลุ่มน้อย มีคนไม่ชอบที่เราเรียกตัวเองด้วยชื่อกลุ่มว่า ชนพุทธกลุ่มน้อย เขารู้สึกว่ามันแรงไป ต่อมาเราเลยเปลี่ยนชื่อเป็นเครือข่ายชาวพุทธเพื่อสันติภาพ”
 
“ตั้งเครือข่ายขึ้นมา เพราะต้องการพื้นที่และอยากมีส่วนร่วมและพื้นที่ในการเจรจาสันติภาพ ที่ผ่านมาคนพุทธเงียบมาก ไม่กล้าออกความเห็น แล้วเวลารัฐจะคุยเรื่องสันติภาพ ก็คือคุยกับพี่น้องมุสลิม เราก็เลยตั้งเครือข่ายขึ้นมา เพื่อให้เสียงของเราถูกได้ยิน ต่อมาเราก็จัดกิจกรรม จัดเวทีให้ความรู้เรื่องสิทธิและสันติภาพในหมู่คนพุทธเรื่อยๆ เพราะเทียบกับพี่น้องมุสลิม พวกเราตามเขาไม่ทัน เรารู้น้อยกว่าพวกเขาเยอะ แล้วคนพุทธส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเปิดใจ มองว่า มุสลิมคือโจร ไม่เปิดใจเลย”
 

ทหารมา ชุมชนแตก

 
“เราทำชุมชนของเราอยู่ดีๆ พอทหารตำรวจเข้ามายุ่งด้วยปุ๊บ ตู้ม ความแตกแยกมา ชาวบ้านแตกกันเองว่าฉันเป็นพวกตำรวจ หรือ เป็นพวกทหาร การมีฐานทหารตั้งอยู่ในชุมชนคนพุทธก็ยิ่งทำให้คนพุทธ มุสลิม ระแวงกัน” 
 
“พอตำรวจทหารเอาคนไปฝึก แล้วบอกให้ทำตามคำสั่ง มันทำให้ความเป็นประชาชนน้อยลง พอมีเหตุเขาก็บอกให้ไปตรงนั้นตรงนี้ ซึ่งมันก็ไม่ใช่บทบาทของเรา จนบางครั้งชุมชนนี้ถูกกล่าวหาว่า เป็น ชป. (ชุมชนปฏิบัติการ) ของทหาร ” 
 
“รัฐก็จับเอาพื้นที่ของเราไปเขียนขอทุน ขอโครงการเยอะ แต่เราได้ผลแค่เท่าไหร่จากโครงการพวกนั้น คุณลงมารับราชการที่นี่ คุณรักที่นี่จริงหรือเปล่า” 
 
“ที่ผ่านมา คนพุทธอยู่ที่นี่ ถูกปฏิบัติจากรัฐในทางบวกน้อยมาก เพราะเวลารัฐแก้ปัญหา ก็มุ่งแค่พี่น้องมุสลิม เหมือนรัฐมองว่า ต้องดูแลมุสลิมก่อน คนพุทธไว้ดูแลทีหลังก็ได้ ถ้ามองแบบนี้ก็เป็นการแก้ที่ผิดนะ” 
 
“ถ้าจะแก้ปัญหา ต้องมีความเท่าเทียมและสมดุล อย่างการดูแลเด็กมุสลิม ไม่ใช่เด็กมุสลิมเอนท์ไม่ติดนะ เขาสอบเข้าหมอ พยาบาล ทหารตำรวจกันได้เยอะแยะ เขาได้การศึกษามากหรือพอๆ กับเรานั่นแหละ เรื่องสิทธินี่พอได้แล้วมั้ง” 
 
“ผมคิดว่า กระบวนการสันติภาพไม่ควรมีแต่ชาวมุสลิม หรือคนพุทธจากส่วนกลาง แต่ต้องมีคนพุทธในสามจังหวัดด้วย” 
 

อคติระหว่างคนพุทธกับคนมุสลิม

 
“รอมฎอนที่ผ่านมา ตอนแรกสถานการณ์ก็ดูไปได้ดี แต่พอมีการยิงครูพุทธ คนพุทธก็พูดว่า ‘เราโดนอีกแล้ว’ มีการแชร์คลิปที่ ISIS ตัดคอคน แต่เขียนว่า เป็นมุสลิมสามจังหวัดตัดคอทหารไทย ซึ่งผมก็ต้องคุยและเคลียร์กับพวกเขา คือ พวกคนพุทธเขาจะระบายความรู้สึกกันแรงมาก ผมต้องคอยเบรค คอยปราม” 
 
“คนพุทธที่นี่มีอคติกับพี่น้องมุสลิม เพราะชอบเหมารวม ผมก็อธิบายว่า เราไม่ควรเหมารวมคนมุสลิมทุกคน อย่างคนพุทธก็ไม่ใช่คนดีทุกคนเหมือนกันใช่ไหม” 
 
“พวกเรามีเพื่อนมุสลิมแหละ แต่เราไม่คุยกันเรื่องความมั่นคง หรือเรื่องสันติภาพ คนพุทธกลัวที่จะคุยเรื่องพวกนี้กับคนที่เขาไม่ไว้ใจ โดยเฉพาะในวงที่มีคนมุสลิมอยู่ด้วย แต่ถ้าอยู่กับคนพุทธกันเองก็ระบายเต็มที่ ใส่กันเต็มที่เลยล่ะ เต็มไปด้วยอคติทั้งนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ เขาไม่เปิดใจ และเขาไม่มีความรู้” 
 

คนพุทธขอพื้นที่ในกระบวนการสันติภาพบ้าง

 
“คนพุทธมีความตื่นตัวทางการเมืองเรื่องสามจังหวัดน้อยมาก แต่ตื่นตัวกับการเมืองส่วนกลางสูงมาก คนพุทธที่นี่เป็นผู้สนับสนุน กปปส. ที่แอคทีฟมาก เดินทางไปร่วมชุมนุมถึงกทม. แต่พอเป็นเรื่องบ้านเราที่นี่กลับกลัว และสงวนท่าที ยกตัวอย่างนะ ถ้ามีเวทีเรื่องสามจังหวัด สมมติมีคนพุทธไปฟังร้อยคน ทั้งร้อยคนจะไม่ยอมให้ถ่ายรูปเลย เพราะเขารู้สึกว่า ถ้าออกสื่อไป ‘พวกนั้น’ มาเห็นแล้วจะตกเป็นเป้า จริงๆ ผมก็กลัวเหมือนกัน แต่ผมต้องหันหน้าสู้กับความกลัว” 
 
“เหตุผลหนึ่งที่คนพุทธเป็นกปปส. ก็เพราะโทษว่า ความไม่สงบนั้นเกิดจากทักษิณ โดยเฉพาะตอนที่ทักษิณมาสามจังหวัดแล้วพูดว่า ‘โจรห้าร้อย’ นั่นแหละ”  
 
“คนที่นี่รู้สึกอิน ผูกพันกับอุดมการณ์ชาติไทย ชาติ ศาสนา กษัตริย์ และรักสถาบันกษัตริย์ไทย ผูกพันมากกว่าความรู้สึกว่าเป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียอีก”  
 
“ก็มีคนพุทธที่ย้ายออกไปอยู่ที่อื่นเยอะ คนที่ชุมชนนี้ (บ้านคูหามุข) ย้ายออกไปยี่สิบครัวเรือนแล้วในสิบปีที่ผ่านมา หลายครอบครัวก็ย้ายไปอยู่กับลูกที่ไปเรียนกทม. แต่ผมไม่ย้ายออก เพราะผมเกิดที่นี่ ผมผูกพันกับที่นี่ ยิ่งพอเรามามีบทบาทเป็นแกนนำ ผมคงยิ่งหนีไปไม่ได้”
 
“คนพุทธถือว่า เขาเล่นการเมืองระดับประเทศเป็นหลัก ไม่มีการชุมนุมคือดี เราหวังว่า รัฐบาลทหารจะช่วยให้สามจังหวัดดีขึ้น  และน่าจะทำได้ดีกว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเขาเป็นสายตรงในการพูดคุย ซึ่งน่าจะมีความก้าวหน้าที่จับต้องได้ เรามีความหวังกับทหารในการแกัปัญหามาก” 
 

“อย่าทำฉัน” คือความต้องการขั้นแรก

 
“คนพุทธไม่เคยคิดว่า ถ้าเป็นเอกราช หรือ เขตปกครองพิเศษแล้วจะเป็นอย่างไร ไม่เคยคิดเตรียมไว้เลย เพราะคิดแต่ว่า อย่างไรเสีย มันก็ต้องเหมือนเดิม” 
 
“คนพุทธยังไม่ได้คิดเรื่องข้อเรียกร้องอะไร เราคิดแต่ว่า ทำยังไงให้เหตุการณ์จบๆ ซะที เราจะได้ทำมาหากินได้ และอยู่สงบสุข คนพุทธจะสนับสนุนการเจรจาก็เพราะอยากให้มันจบ ส่วนเรื่องระบอบการจัดการและปกครองมีคนสนใจน้อยมาก” 
 
“ผมเองมองว่า ไม่ว่าทางออกจะออกมาในโมเดลไหน ขอให้เราอยู่ร่วมกันได้ก็โอเค ผมก็อยากเห็นความชัดเจนเหมือนกันว่า แล้วคนพุทธอย่างตัวผมจะอยู่อย่างไร เราจะมีส่วนร่วมในการปกครองได้อย่างไร ผมกลัวมากว่า ถ้าผู้ปกครองเป็นมุสลิม มีแนวโน้มว่าคนพุทธจะโดนรังแก เกิดคำถามและข้อกังวลว่า เขาจะมารุกคืบวัฒนธรรมของเราไหม จะจำกัดสิทธิทางวัฒนธรรมเราไหม เช่น ปัจจุบันนี้ มีงานประเพณีของคนพุทธในยะลาเรียกว่า งานสมโภชเจ้าพ่อหลักเมือง ถ้าเกิดผู้ปกครองเป็นมุสลิมขึ้นมา อีกหน่อยจะไม่ให้ใช้คำว่า สมโภชหรือเปล่า หรือห้ามจัดไปเลย เรามีคำถามมามายกว่า คุณจะดูแลเราอย่างไร” 
 

ฝากถึงรัฐและขบวนการปลดแอกเอกราช

 
“อยากให้เลิกกระทำความรุนแรงต่อเป้าอ่อน เราไม่ได้เป็นคู่กรณีของคุณเลย การทำความรุนแรงกับเราซ้ำๆ ทำให้เราหวาดกลัว นอกจากนี้ถ้าขบวนการมีความจริงจังและจริงใจกับกระบวนการสันติภาพแล้วละก็ ปีกที่ใช้วิธีทางการเมือง ก็ควรไปคุยกับปีกที่ใช้อาวุธให้ลดละเลิกการโจมตีเป้าอ่อนอย่างจริงจัง” 
 
“อยากให้รัฐสานต่อการพูดคุย อย่าหยุด และควรทำอย่างเปิดเผย คือจะทำควบคู่กับการเจรจาลับไปก็ได้ แต่ต้องมีส่วนที่เปิดด้วย ชาวบ้านจะได้รู้สึกมีส่วนร่วม ถ้าทำเงียบๆ มันทำให้เกิดความรู้สึกคลุมเครือ อึมครึม” 
 
“ถ้ามารา (มารา ปาตานี: องค์กรร่มของขบวนการปลดแอกเอกราชในการพูดคุยกับรัฐไทย) อยากมาคุยกับผม ผมยินดีมาก เขาดูให้ความสนใจในความเป็นอยู่ของเรา ถ้าเขาเข้ามาคุย ความชัดเจนต่อเราคงดีขึ้น แต่คนพุทธส่วนใหญ่ก็คงตั้งป้อมอคติมาแล้ว คงเปลี่ยนความรู้สึกเขายาก ถ้ามาราถามความต้องการของเรา ข้อแรกสุดก็คือ ‘อย่ามาทำฉัน’ เราต้องการให้เขาการันตีความปลอดภัยของคนพุทธ”  
 
“ผมยังตั้งความหวังกับการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ ดูเป็นรูปธรรมและชัดเจนขึ้นกว่าเดิม จริงๆ ก็หวังกับทุกครั้งนั่นแหละ แต่ครั้งนี้มีความชัดเจนกว่าครั้งก่อน ถึงแม้มีคลิปจากบีอาร์เอ็นออกมา เราก็หวังว่า เราจะคุยกันได้ อย่างน้อยผมรู้สึกว่า ตั้งแต่มีการพูดคุยเจรจากัน การทำร้ายเป้าหมายอ่อนก็ลดลงเยอะ”  
 

อันธิฌา แสงชัย 

นักกิจกรรมเพื่อสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

อาจารย์ปรัชญา ม.อ. ปัตตานี และเจ้าของร้านหนังสือ Buku Books & More Pattani 

 
 
“เราได้มาเป็นอาจารย์สอนปรัชญา ที่ ม.อ. ปัตตานี แล้วต่อมาเราก็เปิดร้านหนังสือบูคูตั้งแต่ประมาณปลายปี 54 ที่เปิดร้านหนังสือเพราะตอนเราอยู่เชียงใหม่ เราประทับใจร้านหนังสือที่นั่น มักเป็นร้านเล็กๆ มีหนังสือที่เราชอบเยอะ แต่ร้านหนังสือใหญ่ๆ กลับเต็มไปด้วยหนังสือที่ไม่ชอบ หาหนังสือก็ยาก ปลา (ดาราณี ทองศิริ) เขาก็เคยทำร้านหนังสือมาก่อน ก็เลยชวนมาอยู่และทำร้านหนังสือด้วยกันที่ปัตตานี” 
 
“ตอนแรกมาก็ไม่ค่อยคุ้นเคยกับวัฒนธรรมที่นี่ แต่เราก็ใจสู้ อยากเรียนรู้วัฒนธรรมที่แตกต่าง ทำไปทำมาก็อยู่นาน พอเปิดหนังสือก็นานไปใหญ่ การที่เราทำร้านหนังสือทำให้คลุกคลีกับคน รู้จักคนทำงานในพื้นที่”  
 
“ตอนแรกเราก็ไม่ได้เปิดตัวว่าความสัมพันธ์ของเราเป็นอย่างไร เรามาเปิดตัวทีหลังว่าเราคบกัน การเปิดตัวก็ดีอย่างหนึ่ง มันช่วยกรองคนที่จะเข้ามาทำงานกับเราว่ารับได้หรือรับไม่ได้ ที่เราเป็น LGBT พอเปิดตัวแล้ว คนที่เข้ามาก็คือ คนที่เข้าใจ และพอโอค ทำให้เราทำงานง่ายขึ้นเหมือนกัน ส่วนคนที่ไม่โอเค ก็จะไม่มาเฉียดใกล้ ไม่มายุ่งกับเราเลย” 
 

เรื่องเพศ เรื่องเงียบ เรื่องใหญ่ ของสามจังหวัด

 
“การเปิดของเรา ทำให้บูคูกลายเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับมุสลิม LGBT มีมุสลิมบางคนมา come out (เปิดเผยว่าเป็นคนรักเพศเดียวกัน) กับเรา และขอคำปรึกษา เราก็รับฟังฟัง คือมันหาพื้นที่ปลอดภัยที่จะพูดเรื่องนี้ได้ยากมากสำหรับพวกเขาที่นี่” 
 
“ต่อมาเราก็ทำห้องเรียนเพศวิถี เป็นวงสนทนาเล็กๆ ไม่เกิน 10 คน มาคุยกันเรื่องเพศ คนที่มามีทั้งคนรักต่างเพศ คนรักเพศเดียวกัน และคนที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็น LGBT”
 
“พอเรามาทำกิจกรรมเรื่องเพศ ก็มีความไม่ลงรอยกับนักกิจกรรมมลายูมุสลิมอยู่บ้าง เขามองว่า เรื่องนี้เป็นรื่องไม่สำคัญ และบางคนถึงกับไม่อยากจะยุ่ง หรือสุงสิงด้วย หรือไม่เห็นด้วยที่ให้มีการพูดถึงประเด็นพวกนี้ ส่วนใหญ่ถ้าพูดประเด็นผู้หญิงจะมีปัญหาน้อยกว่าพูดเรื่อง LGBT” 
 
“ถ้าเรามาพูดว่า ที่นี่มีปัญหาเรื่องผู้หญิง เขาก็จะบอกว่า เราเป็นคนนอกจะไปเข้าใจอะไร แต่นั่นแหละ มันยิ่งชี้ให้เห็นว่า เรื่องเพศเป็นประเด็นใหญ่มากของสามจังหวัด แค่จะพูดถึง ก็ยังมีคนไม่ยอมหรือไม่อยากให้พูด หรือไม่มีใครกล้าพูด นี่มันสะท้อนว่า ปัญหานี้หนัก แต่ก็ไม่ถึงขั้นเลวร้าย เราเห็นนักกิจกรรมมลายูมุสลิมรุ่นใหม่หลายคนที่เปิดกว้างต่อประเด็นนี้อยู่ แต่ปัญหาคือ เขาไม่มีอำนาจในการพูด หรือไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ เพราะอาจทำให้เขาถูกต่อต้านจากชุมชนตามมา”
 
“เรารู้สึกว่า ผู้ชายที่นี่กลัวสูญเสียการนำ เขามักบอกว่าผู้หญิงมีอำนาจในครัว เป็นช้างเท้าหลังที่ผลักดันให้ผู้ชายเป็นผู้นำ ซึ่งผู้หญิงจำนวนมากก็เห็นตามนั้นและไม่ตั้งคำถาม บางทีผู้หญิงด้วยกันเองก็สกัดผู้หญิงที่ตั้งคำถามกับบทบาทนี้ด้วยซ้ำไป คือความคิดว่า ผู้หญิงที่ดีคือ ผู้หญิงที่หนุนเสริมให้ผู้ชายเป็นผู้นำ นี่ฝังลึกมาก”
 
“ผู้หญิงที่นี่พูดปัญหาตัวเองไม่ค่อยได้ ถ้าพูด ก็จะพูดอยู่แค่ในประเด็นการสร้างอาชีพ ส่งเสริมภาพลักษณ์ว่า ผู้หญิงทำงานอะไรได้บ้าง แต่จะไม่พูดเรื่องปัญหาในเชิงโครงสร้าง ไม่พูดถึงสิ่งที่กดทับผู้หญิงอยู่ เช่น สถาบันทางสังคม วัฒนธรรม ความคิดความเชื่อ จารีต และศาสนา”
 

ปลดล็อกความคิดเรื่องเพศ ด้วยความเป็นคนเหมือนกัน

 
 ดาราณี ทองศิริ (ปลา) และ อันธิฌา แสงชัย 
 
“การจะให้คนมลายูมุสลิมเข้าใจเรื่อง LGBT นี่ยากมาก คือเขาจะติดอยู่กับกรอบศาสนา ที่มองว่า การเป็น LGBT ยังไงก็ผิดบาป เวลาเราคุยเรื่องนี้ เราจะเริ่มโดยการบอกว่า เราจะไม่พูดว่าศาสนาว่าอย่างไร แต่เราจะพูดถึงฐานความเป็นมนุษย์ เราชี้ให้เห็นว่า คนที่เป็น LGBT ก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ใช่เห็น LGBT แล้วมองเห็นแต่คำว่า บาป อย่างเดียว ลองมองมุมใหม่บ้างว่าเขาก็เป็นคนเหมือนเรา คือแบบ เออ โอเคบาปก็บาป แต่เราอยู่ร่วมกันได้นะ เราเป็นเพื่อนกันได้นะ”
 
“หลายคนก็แอนตี้เรื่องสิทธิมนุษชน และแปะป้ายให้ว่าเป็นแนวคิดตะวันตก บางคนมองว่าสิทธิมนุษยชนจะทำให้คนออกห่างจากศาสนา แต่เราพบว่า สิทธิหลายๆ อย่างมันไม่ได้ขัดกับอิสลาม เพียงขัดกับจารีตของที่นี่เท่านั้น ไม่ใช่หลักศาสนาจริงๆ” 
 
“หลายคนเวลาพูดเรื่องการถูกระทำความรุนแรงจากรัฐ ก็จะอ้างถึงสิทธิมนุษยชน พูดเรื่องการปกครอง ก็อ้างถึง สิทธิในการกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง และอยากให้มีการแทรกแซงจากองค์กรภายนก เช่น ยูเอ็น โอไอซี แต่พอเป็นเรื่องเพศ เรื่องผู้หญิง กลับบอกว่า อย่าเอาหลักสากลเข้ามา”    
 
“ถ้าใช้กฎหมายอิสลามจะเป็นไง ก็ดูอาเจะห์สิ ก็เป็นงั้นแหละ แล้วเราก็คงเลิกทำงานเรื่องเพศที่นี่ หรือย้ายออกเลย เราน่าจะอยู่ยาก มันอาจไม่ปลอดภัยด้วย” 
 
“อย่างไรก็ตาม เราไม่เชื่อว่า อิสลามคืออุปสรรคในการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิและความหลากหลายทางเพศ การตีความหลักศาสนาต่างหากที่เป็นปัญหา ในต่างประเทศ เราเห็นมุสลิมทำเรื่องผู้หญิง สิทธิ และ LGBT เยอะแยะ ที่ตุรกียังมีการเดินพาเรดสนับสนุนเกย์เลย ที่มาเลเซียก็มีกลุ่มมุสลิมเฟมินิสต์ และเขายังอิงหลักการศาสนา เราเห็นกลุ่มเหล่านี้มากมายในต่างประเทศ แต่เรายังไม่เห็นในปาตานี เราจึงไม่เชื่อว่า อิสลามเป็นอุปสรรคในการทำความเข้าใจเรื่องสิทธิ แต่เป็นขนบของที่นี่ที่ทำให้เกิดเพดานทางความคิด ซึ่งสังคมที่นี่หล่อหลอมและเน้นเรื่องความเป็นชายหนักมาก เอาค่านิยมชายเป็นใหญ่ มาปนกับอิสลาม”
 

กระบวนการสันติภาพที่มีแต่ชนชั้นนำ

 
“เรารู้สึกว่าเป็นเรื่องชนชั้นนำมาก ไม่ได้เอาชาวบ้าน หรือคนในพื้นที่ที่หลากหลายอย่างแท้จริงเข้าร่วม  คนนำก็คิดๆ กันไปเอง ไม่ได้สนใจชาวบ้านอะไร คิดเองเออเองว่าอะไรเหมาะกับที่นี่”
 
“อยากให้กระบวนการได้เอาคนที่หลากหลายเข้าไปด้วย ต้องให้พื้นที่ผู้หญิงและ LGBT ด้วย ให้ที่กับคนที่เป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมด้วย ตอนนี้คนกลุ่มน้อยไม่มีส่วนร่วมเลย ตอนนี้เป็นแค่ปาหี่ สุดท้ายถ้าเกิดจะอะไรขึ้น ก็เป็นการเกี้ยเซี้ยกันระหว่างผู้มีอำนาจด้วยกันเอง” 
 

คนจีน ไม่ระบุชื่อ อายุประมาณ 60 ปี นับถือศาสนาคริสต์

 
“ผมเป็นชาวจีนแคะ แม่ผมเป็นคนรุ่นที่เท่าไหร่ไม่ทราบ แต่อยู่มาหลายรุ่นแล้ว ส่วนพ่อนั้นเกิดที่จีนเลย แล้วเดินทางมาที่นี่ ต้นตระกูลผมตอนแรกอยู่ที่อื่น แต่ช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นเข้ามา ก็มารังแกคนจีน ก็เลยหนีญี่ปุ่นมาอยู่ที่นี่ (อ.เมือง ปัตตานี)”
 
“ครอบครัวฝั่งแม่ก็เล่าสืบๆ ต่อกันมาว่า เคยเจอเจ้าหญิงปาตานีมาขี่ม้า แต่เราก็ไม่รู้ชื่อว่าเจ้าหญิงอะไร เพราะคนจีนไม่สนใจเรื่องการเมืองการปกครอง”
 
“คนจีนเป็นผู้นำความรู้และวิทยาการมาสู่ที่นี่ เช่น การทำแว่น ตัดผ้า ปลูกผัก เมื่อก่อน คนมลายูจะไปเมกกะห์ ก็จะมาตัดผ้าที่ร้านคนจีน อย่างตอนนี้ ร้านยา ร้านทองก็เป็นร้านคนจีนทั้งนั้น”
 
“การพูดภาษาเดียวกับเขา ทำให้เขารู้สึกกลมกลืนกับเรา สนิทกัน ไม่รู้สึกแปลกแยก รู้สึกสบายใจ สนิทใจ อย่างทุกวันนี้ เวลาขายของก็แทบไม่ได้พูดไทยเลย” 
 
“คนพื้นถิ่นเข้ากับคนจีนได้ดีที่สุด เพราะคนจีนพูดมลายูได้ดี ทำให้กลมกลืนกว่าคนไทย เพราะจุดเด่นของคนจีนคือ ไปอยู่ตรงไหน ก็ไม่สร้างความแตกแยกหรือความเดือดร้อน คนจีนมุ่งปรับตัว เพราะเป้าหมายคือการค้าขาย ไม่สนใจการเมือง มีนิสัยสร้างความกลมกลืนเป็นสำคัญ” 
 
“คนจีนมองว่า คุณอย่าไปขัดแย้งกับคนท้องถิ่น ต้องกลมกลืนไปเรื่อยๆ อย่าไปคิดว่า จะถูกกลืนชาติอะไร มันเป็นเรื่องธรรมชาติของชุมชน”
 
“ครอบครัวเราไม่เคยคิดจะย้ายไปไหน เพราะบ้านเรากลมกลืนได้กับที่นี่ ครอบครัวเราไม่มีอะไรมากด้วย แล้วเราก็อยู่ในเมือง ก็รู้สึกโอเคอยู่ แต่พี่น้องชาวจีนในชนบทเขารู้สึกว่า เขาตกเป็นเป้าอยู่ ก็มีคนจีนได้รับผลกระทบเยอะ แม้ความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวเรากับคนท้องถิ่นยังเหมือนเดิม เราปฏิเสธไม่ได้ว่า เราก็รู้สึกเหมือนกัน”
 
“เป็นที่น่าเสียดายที่พอมีเหตุการณ์ บวกกับความเจริญก็ทำให้ลูกหลานไปอยู่ที่อื่น ผมยังมองไม่เห็นว่า ลูกหลานคนไหนจะมาอยู่ปัตตานี ถ้ามี ก็คือคนไม่เรียนหนังสือ” 
 
“ผมไม่มองคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่เป็นออแฆตานิง (คนตานิง / ชาวปาตานี) เพราะเขาไม่ผูกพัน เขามองว่า เขาเป็นพุทธ ถ้าเป็นคนจีน เขาจะถือว่า เขานับถือเจ้าแม่ (เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว) ซึ่งไม่ใช่คนตานิง” 
 
“นิสัยคนนายู  เขาเชื่อในพระเจ้า ใครเชื่อพระเจ้าก็โอเคหมด แต่ตอนนี้ผมรู้สึกไม่เหมือนเก่า เดี๋ยวนี้มีลักษณะกลุ่มนิยมมากขึ้น” 
 

คำว่า โจร ควรใช้กับใครกันแน่?

 
“คำว่า โจร” มันแปลว่า ไปปล้น บังคับเขามา ด้วยการบังคับขู่เข็น แล้วคิดว่า คำนี้ใช้กับคนมลายูได้ไหมล่ะ?  ไม่มีโจรหรอก มีแต่คนคิดต่าง น่าจะถามตัวเองมากกว่าว่า เราทำตัวอย่างไร เขาถึงได้เกลียดเรา” 
 
“จะแก้ปัญหาที่นี่ คนไทยไปคุยกันเองก่อน การเมืองกรุงเทพ ต้องเข้าใจก่อน ปัญหาสามจังหวัดจึงจะแก้ไขได้ ให้มีความหวังกันก่อน แล้วค่อยเอาโมเดลมาใช้ที่นี่ แต่ตอนนี้ ผมก็ยังมองไม่เห็นว่า เหตุการณ์จะสงบเมื่อไหร่” 
 
“อยากให้เราอยู่กันได้อย่างกลมกลืน ถ้าเอากฎหมายอิสลามมาใช้ ต้องเป็นที่ยอมรับได้ของคนที่ถูกปกครองด้วย บทไหนใช้ได้ บทไหนใช้ไม่ได้ ถ้าไม่คำนึงถึงการยอมรับของคนใต้ปกครอง มันก็กลับไปเป็นปัญหาไม่ต่างจากตอนนี้” 
 
“เราถูกสอนว่า เราอยู่ด้วยกันแบบนี้ดีแล้ว ไม่เคยคิดไกลไปถึงขั้นว่า ถ้าแยกประเทศแล้วจะอยู่อย่างไร ส่วนคำถามว่า แยกแล้วดีไหม นี่ก็คงนานาจิตตัง แต่ถ้าแยกแล้วจะอยู่กันอย่างไรนี่ยังมองไม่เห็น สมมติว่า วันพรุ่งนี้แยกประเทศ จะเอาใครมาปกครองล่ะ จะบริหารอย่างไร ไม่เห็นอนาคตของระบอบประชาธิปไตยเลย” 
 
“จะเป็นรัฐบาลแบบไหนก็ตาม ถ้ามีระบบราชการแบบที่ไม่ได้คิดถึงประชาชน มันก็ไม่จบ คนในระบบราชการต้องเปลี่ยนทัศนคดิ คนที่มาปกครอง หรือมารับราชการที่นี่ ต้องมองว่า ตัวเองคือผู้รับใช้ ไม่ใช่ผู้ปกครอง  ตอนนี้ราชการมาแบบไม่มีความจริงใจ จำนวนมากไม่ได้รักหรือชอบพื้นที่นี้เลย อย่างผู้ว่าปัตตานี ทำไมมีวาระแค่ปีเดียว คนมาปกครองที่นี่ต้องมีใจรักด้วย”  
 
“ผมว่า คนมารับราชการที่นี่ ต้องพูดมลายูให้ได้ภายในห้าปีที่มาอยู่” 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net