Soundtrack of Life : เพลงขบวนนักศึกษา จากเพื่อมวลชนสู่ภูพานและพลัง 3 ประสาน

พูดคุยกันถึงเพลงขบวนนักศึกษาจาก ‘เพื่อมวลชน’ ในยุค 14 ตุลา สู่อุดมการณ์ปฏิวัติในเพลง ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ หลัง 6 ตุลา19 และเพลงโซลิดาริตี้กับความฝันถึงพลัง 3 ประสาน กรรมกร ชาวนาและนักศึกษา ยุคหลังป่าแตก

เนื่องในเดือนตุลาคมนี้จะมีวันสำคัญทางประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทย โดยเฉพาะขบวนการนักศึกษา 2 วันคือ ครบรอบ 39 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 และ 42 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 16 รายการ Soundtrack of Life ตอนนี้  ‘ดีเจเดน’ และ ‘ปลา’ หยิบยกบทเพลงที่เกี่ยวข้องกับขบวนการนักศึกษา 3 บทเพลงมานำเสนอ

โดยเพลงแรกคือเพลง ‘เพื่อมวลชน’ ของวงกรรมาชน ในปี 2517 ที่แต่งคำร้องโดย กุลศักดิ์ เรืองคงเกียรติ/นพพร ยศฐา และแต่งทำนองโดย กุลศักดิ์ หรือจิ้น กรรมาชน ซึ่งเป็นวงที่ตั้งจากนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ในช่วง เหตุการณ์ 14 ตุลา เนื้อเพลงเป็นการมองถึงบทบาทของนักศึกษาที่ควรจะเป็นคือการรับใช้ประชาชน จากเนื้อเพลงที่ว่า

“ถ้าหากฉันเกิดเป็นนกที่โผบิน ติดปีกบินไปให้ไกลไกลแสนไกล

จะขอเป็นนกพิราบขาว เพื่อชี้นำชาวประชาสู่เสรี

ถ้าหากฉันเกิดเป็นเมฆบนนภา จะนำพาความร่มเย็นเพื่อท้องนา

หากฉันเกิดเป็นเม็ดทราย จะถมกายเป็นทางเพื่อมวลชน

ชีวายอมพลีให้ มวลชนที่ทุกข์ทน ขอพลีตนไม่ว่าจะตายกี่ครั้ง”

นอกจากนี้ยังมีเพลง ‘หนุ่มสาวเสรี' ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ ที่นำทำนองเพลงตับพระลอ มาเขียนเนื้อใหม่หลังเหตุการณ์  14 ตุลา เพื่อสดุดีการต่อสู้ของเยาวชน ด้วย เป็นต้น         

หลังจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 ทำให้นักศึกษาเข้าไปมีบทบาทเรียกร้องความเป็นธรรมในสังคมโดยเฉพาะกลุ่มคนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างกรรมกร ชาวนา กระทั่งถูกไล่ปราบปรามอีกครั้งจนมาถึงเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลา 19 ส่งผลให้นักศึกษาหลายคนต้องหนีเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) ส่งผลให้เกิดเพลงต่อมาคือเพลง ‘จากลานโพธิ์ถึงภูพาน’ ที่แต่งคำร้อง โดย วัฒน์ วรรลยางกูร บันทึกเสียงเป็นคนแรก เมื่อ ตุลาคม 2520 เพลงนี้มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น 'ดินสอโดม' และ ‘จากภูพานถึงลนโพธิ์’ ด้วย ตามความหมายที่ต้องการเน้น ที่สะท้อนสภาพการต่อสู้ของนักศึกษาหลักจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่ถูกบีบให้เข้าไปต่อสู้ในป่ากับ พคท. และนอกจากอารมณ์เพลงที่แสดงถึงความคับแค้นแล้วยังมีการปลุกใจและความใฝ่ฝันถึงชัยชนะในการต่อสู้ด้วย เช่นในท่อน

“อ้อมอกภูพานคือชีวิตใหม่ คือมหาวิทยาลัยคนกล้าหาญ

จะโค่นล้มไล่เฉดเผด็จการ อันธพาลอเมริกาอย่าหวังครอง

สู้กับปืนต้องมีปืนยืนกระหน่ำ พรรคชี้นำตะวันแดงสาดแสงส่อง

จรยุทธนำประชาสู่ฟ้าทอง กรรมาชีพลั่นกลองอย่างเกรียงไกร

ในวันนี้ลานโพธิ์ธรรมศาสตร์อาจเงียบหงอย ก็เพียงเพื่อรอคอยสู่วันใหม่

วันกองทัพประชาชนประกาศชัย จะกลับไปกรีดเลือดพาลล้างลานโพธิ์”

หลังจากป่าแตกบทบาทของนักศึกษาในทางการเมืองก็ดูเหมือนจะหายไปด้วย เช่นเดียวกับบทเพลงในช่วงการต่อสู้เข้มข้นก็ถูกผลิตออกมาจำนวนมาก เนื้อหามีตั้งแต่เบาๆ ไปถึงการปฏิวัติประชาชนอย่างเพลงข้างต้น เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเพลงก็เปลี่ยนไปด้วย โดยเฉพาะเพลงที่พูดถึงนักศึกษาก็ลดลงด้วยทั้งปริมาณและความเข้มข้น เช่นเพลง มหาลัย ของ คาราบาว ในอัลบั้มเมด อิน ไทยแลนด์ ที่ออกปลายปี 2527 เนื้อหาเป็นเพียงการตั้งคำถามกับการเรียนในมาหาวิทยาลัย และโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต

อย่างไรก็ตามยังมีเพลงที่พูดถึงบทบาทของนักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคม คือเพลงโซลิดาริตี้ ของวงภารดร ที่พูดถึงการต่อสู้โดยเฉพาะภาพฝันถึงพลัง 3 ประสาน คือ กรรมกร ชาวนาและนักศึกษา ซึ่งเป็นภาพเดียวกับช่วงปี 16 โดยเฉพาะท่อนที่ว่า

“มาพวกเรามาร่วมกันต่อสู้ มาพวกเรามารวมพลัง

สุดลำบากยากแค้นที่เราเผชิญ เราจะร่วมเดินฟันฝ่า

เรากรรมกรและชาวนา สู้ นักศึกษามาร่วมประสาน

อุปสรรคใดๆไม่เคยหวั่น เราสร้างสรรค์เพื่อวันเสรี”

ขณะที่ปัจจุบันเพลงอย่าง ‘กูเป็นนักศึกษา’ ของ พงษ์สิทธิ์ คัมภีร์ ก็เป็นเพลงที่ถือว่าได้รับความนิยมมาก ซึ่งเป็นเพลงที่ตั้งคำถามกับสถานะบทบาทของนักศึกษา เช่นเดียวกับเพลง ม.ให้อะไร ของ พงษ์สิทธิ์ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท