Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

เคยตั้งใจเอาไว้นานแล้ว ว่าจะเขียนบทความสักบทความเกี่ยวกับ ‘แฟรงค์’ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล (อดีตสาราณียกร ‘ปาจารยสาร’ และบรรณาธิการผู้ก่อตั้งจุลสารปรีดี) ว่าด้วยการมองโลกของเด็กๆ (พอดีช่วงนั้นน้องแฟรงค์ยังเรียนอยู่ในระดับก่อนอุดมศึกษา) แต่ด้วยภาระหน้าที่การงาน จึงไม่มีโอกาสได้เขียนถึงสักทีจนกระทั่งข่าวคราวทุกอย่างเงียบเชียบหายไป มาวันนี้ แฝดคนละฝา (แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องขนาดตัว) ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ (เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท (ซึ่งถูกก่อตั้งโดยแฟรงค์ เนติวิทย์)) ได้บินโฉบมาสะกิดใจข้าพเจ้า (ให้นึกถึงเรื่องราวเก่าๆ) อีกครั้ง กับการสร้างวีรกรรมสะเทือนสังคมไม่น้อยไปกว่าศิษย์ผู้พี่ กล่าวคือการชูป้าย “สอนเด็กไทยไม่ให้โกง ใช้เหตุผลสร้างจริยธรรม ดีกว่าท่องจำหน้าที่พลเมือง # จากใจนักเรียนถึงลุงตู่” ในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่น ประจำปี 2558 (ซึ่งแน่นอนว่าหลังจากสร้างวีรกรรมนั้นแล้ว เพนกวินก็ถูกควบคุมตัวไปยัง สน.ปทุมวัน เรียบร้อยโรงเรียน คสช.)

ถ้าท่านผู้อ่านยังจำกันได้ เมื่อประมาณสองปีที่แล้ว แฟรงค์ (ต่อไปขออนุญาติเรียกแต่ชื่อเล่น) ได้ถูกสังคม (กระแสหลัก) วิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักอยู่พอสมควรกับกรณีที่เขาเป็นผู้เรียกร้องให้มีการยกเลิกการตัดผมเกรียนในสถาบันก่อนอุดมศึกษา (ซึ่งหลังๆดูจะรวมไปถึงเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาไทยด้วย) แต่จะว่าไปแล้ว มันมิใช่เรื่องที่แปลกใหม่แต่อย่างใดเลยในสังคมไทย กับการที่คนๆหนึ่ง (ซึ่งกรณีนี้เป็นเด็กเสียด้วย) กล้าหาญโผล่หน้าออกมาเรียกร้องในสิ่งที่ตนเองคิดว่าถูกต้องและมีเหตุผล แต่การกระทำนั้นดันไปท้าทายโครงสร้างจารีตประเพณีที่หยั่งฝังรากลึกในสังคม จนท้ายที่สุด จึงมีป้าย(เชิดชูเกียรติ) ร่อนมาแปะหน้าผากว่าเป็นบุคคลที่มีทัศนคติอันตรายต่อสังคมไปโดยปริยาย


“ต้องเข้าใจก่อนว่ามันเป็นสิทธิ์ของเด็กคนนั้นอยู่แล้วในการเลือกตัดเกรียนหรือไม่ก็ตาม ประเด็นมันไม่ใช่การตัดเกรียน ประเด็นคือเรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิ์ในการตัดผมบนหัวของนักเรียนคนนั้น คุณไม่สามารถไปละเมิดได้ ประเด็นอยู่ตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาประนีประนอมกับเรื่องแบบนี้ เพราะมันเป็นหัวของเขา ไม่ต้องออกกฎ เขาต้องมีอิสรภาพในการเลือกอยู่แล้ว”


“ตอน ม.2 ผมเขียนวิจารณ์กฎระเบียบนี่แหละ น่าจะเป็นเรื่องทรงผม เพราะมันละเมิดสิทธิมนุษยชนรุนแรง ยังไม่ได้เผยแพร่ แต่เขาเรียกไปเทศน์ 5 ชั่วโมง เขาบอกว่า ผมมีทัศนคติที่เป็นอันตรายต่อโรงเรียน ซึ่งผมก็ชอบคำนี้”


“ถ้าเรื่องระเบียบทรงผมเป็นเป้าหมายระยะสั้นของสมาพันธ์ฯ ระยะยาวจะไปสู่จุดไหน (คำถาม): เราต้องแก้ฐานคิดของสังคมไทย ฐานคิดของผู้บริหารการศึกษาไทย ให้เห็นประเด็นเรื่องความเป็นมนุษย์ ปรัชญาการศึกษาที่แท้จริงคือการมองเห็นนักเรียนเป็นมนุษย์ ตอนนี้พวกเขาไม่เห็นนักเรียนเป็นมนุษย์ ถ้าเห็นนักเรียนเป็นมนุษย์ เห็นทุกคนเป็นมนุษย์ ต้องให้พวกเขามีความสุขในการเรียน ไม่ใช่ไปพัฒนาอย่างอื่น ตอนนี้เขาเน้นไปที่ตัวอื่น ไม่เน้นความสุขของผู้เรียน”

(คัดข้อความมาบางส่วนจากนิตยสาร WAY ฉบับ 58)


แล้วจุดที่น่าสนใจตรงนี้คืออะไร? จุดที่น่าสนใจตรงนี้อยู่ที่ว่า ‘วิธีวิทยา’ ในการมองโลกและมนุษย์ของแฟรงค์นั้นดูจะไม่ผูกติดกับเหตุผลเชิงโครงสร้างและวาทกรรมเฉพาะเจาะจงในสังคม กล่าวขยายเพิ่มเติมก็คือว่าโดยปกติแล้ว ในการให้เหตุผลสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งในสังคม เรื่องนั้นๆย่อมต้องคงไว้ซึ่งกรอบแห่งความหมายซึ่งถูกผลิตซ้ำจนกลายเป็นความหมายที่แท้จริงในห้วงเวลานั้นๆไปแล้ว (แต่กรณีของแฟรงค์กลับหาเป็นเช่นนั้นไม่) ยกตัวอย่างเช่นว่าเหตุใดนักเรียนและผู้ใหญ่ (กระแสหลัก) จึงมองว่าการตัดผมเกรียนหรือการตัดผมสั้นเท่าติ่งหูนั้นแท้แล้วเป็นอุบายอันแยบยลที่ทำให้นักเรียนเป็นคนที่มีระเบียบวินัยในอนาคต? (เพราะถ้าใช่จริง ป่านนี้ผู้ใหญ่ไทยก็คงมีระเบียบวินัยที่สุดในโลกแล้ว) หรือกระแทกใจ (และไร้เหตุผลบนความมีเหตุผลอีกสายพันธุ์หนึ่ง) ไปมากกว่านั้นก็เช่นว่าเป็นเด็กก็ต้องไว้ผมสั้นสิ หัวเหม่ง น่ารักสมวัย หรือเราควรที่จะอนุรักษ์ประเพณีรูปแบบทรงผมนี้ไว้เป็นต้น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนตั้งอยู่บนพื้นฐานของตรรกวิบัติทั้งสิ้น

แฟรงค์บอกเราว่าหัวใครหัวมัน คุณไม่มีสิทธิ์ไปละเมิดได้ เพราะมันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชน ตรงนี้ถ้าฟังเผินๆแล้วนับว่าเป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้ หรือ (บางคน) อาจจะว่าถึงขนาดไร้สาระเลยทีเดียว (ในเชิงวาทกรรมหลัก) แต่ถ้าลองพินิจพิจารณาใคร่ครวญให้ถ้วนถี่ ก็จะเห็นได้ว่าวิธีการมองโลกของแฟรงค์นั้นค่อนไปในทางหลัก ‘อภิปรัชญา’  เนื่องจากมองแก่นนามธรรมของสภาวะมนุษย์เองเป็นแกน (รวมถึงคุณค่า) แล้วจึงค่อยยึดโยงไปสู่ธรรมชาติภายนอก หาได้มองจากความหมายที่สังคม (เชิงโลกียสัจ) ได้ปูทางสร้างกันมารุ่นต่อรุ่น จนท้ายที่สุดแล้วจึงไปยัดเยียดความหมายหรือคำตอบให้กับสังคมในบางเรื่อง อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าตีความว่าเนื่องจากแฟรงค์เองยังเด็กอยู่ (ณ ตอนนั้น) จึงไม่สามารถสื่อสารนัยนามธรรมเรื่องผมเกรียนออกมาให้ชัดเจนกว่านี้ได้ (แต่ที่ประทับใจข้าพเจ้าที่สุดเห็นจะเป็นเวลาแฟรงค์พูดเรื่อง ‘ความเป็นอนิจจัง’ ของกระแสธารเวลา และรองลงมาคือเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน) แต่ไม่ว่าจะอย่างไร แฟรงค์ก็ได้ให้ความคิดอ่านอื่นๆที่น่าสนใจไว้ไม่น้อย ใน ‘เจาะข่าวเด่น’ ของคุณสรยุทธ์ (เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556) ไว้ให้เราได้ขบคิดกัน แม้ว่าโดยส่วนตัวข้าพเจ้าแล้ว บางกรณีจะยังเป็นเพียงการขี่ม้ารอบเมือง ยังหาใช่การพุ่งเข้าโจมตีทีเดียวจอดก็ตาม (ป.ล. ข้าพเจ้าโดยส่วนตัวตะลึง (ระคนตลก) เวลาที่แฟรงค์โต้ตอบกลับประเด็นเรื่อง ‘การถวิลหาอดีต’ ในเรื่องทรงผม (จากเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง) ว่าถ้าคนเรามีการถวิลหาจริง เราก็คงถวิลหาทรงมหาดไทยหรือทรงจุกไปแล้ว กับอีกประเด็นหนึ่งคือกรณีการคัดค้านเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของเครื่องแบบ (ซึ่งเริ่มจากเด็กผู้หญิงคนเดียวกัน) ว่ามันขึ้นอยู่กับคนที่ใส่ หาใช่เครื่องแบบกำหนด)

มาที่ประเด็นของ ‘เพนกวิน’ (ต่อไปนี้ขอเรียกแต่ชื่อเล่น) เลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทคนปัจจุบันกันบ้าง อันที่จริง ข้าพเจ้าคงจะไม่ประหลาดใจแต่อย่างใดเลย กับกรณีเพียงมีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งโห่ฮาลุกขึ้นมาชูป้ายประท้วงเช่น ไม่เห็นด้วยกับที่มาของอำนาจ (เช่นการทำรัฐประหาร) หรือพฤติกรรมที่ส่อแววมิชอบ (เช่นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่น) ของรัฐบาลซึ่งกุมอำนาจอยู่ในขณะนั้น เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นการเมืองไทยในยุคใดสมัยใด กรณีดังกล่าวก็จะมีให้เห็นกันบ้างประปรายอยู่แล้ว (แม้ว่าโดยมากผู้ประท้วงจะอยู่ในวัยนักศึกษา หาใช่เด็กมัธยมปลายก็ตาม) แต่ด้วยเหตุใดเล่า ข้าพเจ้าจึงมองว่ากรณีของเพนกวินนั้นมีความน่าสนใจมากเป็นพิเศษ? คำตอบนั้นมีอยู่สามประการ (ที่เกี่ยวเนื่อง) ด้วยกัน


ประการแรก นัยยะของการเรียกร้องให้ทางกระทรวงศึกษาฯปรับเปลี่ยนเอาวิชา ‘หน้าที่พลเมือง’ ออก แล้วให้ใส่วิชา ‘ปรัชญา’ หรือ ‘จริยศาสตร์’ เข้าไปแทน

ประการที่สอง การ ‘มองโลก’ ของเพนกวิน

และประการสุดท้าย ว่าด้วย ‘ความเข้าใจปรัชญา’ ของเพนกวิน

“การเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองคือการกำหนดไว้แล้ว ว่าเด็กที่ดีต้องมีลักษณะอะไรบ้าง ทำอย่างไรบ้างถึงจะได้ชื่อว่าเป็นเด็กดี ซึ่งมีการกำหนดไว้แล้ว เด็กมีหน้าที่แค่ทำตามเท่านั้น

ผมว่าสิ่งเหล่านี้ได้ก้าวข้ามขั้นตอนที่สำคัญไป นั่นก็คือ “การวิเคราะห์-วิพากษ์” หรือพูดอีกแบบคือ การเรียนวิชาพลเมืองได้ข้ามขั้นตอนในการตั้งคำถามไปว่า สิ่งนั้นดีจริงหรือ? ทำไมเราต้องทำ? เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในเรื่อง ‘กาลามสูตร’ ที่ว่าอย่าเชื่อ แต่ให้สงสัยไว้ก่อน จนกระทั่งรู้แล้วว่ามันจริงถึงจะเชื่อ

ซึ่งการเรียนปรัชญา-จริยศาสตร์ จะทำให้เด็กตั้งคำถามถึงสิ่งต่างๆ และท้ายที่สุดเขาจะเลือกเชื่อบางสิ่งจากพื้นฐาน ซึ่งนั่นคือการปลูกฝังจริยธรรมได้ยั่งยืนกว่า”

“เราไม่ควรที่จะทำให้คนทุกคนเหมือนกันหมด มันเป็นไปไม่ได้ เราเป็นมนุษย์ เรามีเอกลักษณ์ของตัวเอง แต่ทำอย่างไรเราถึงจะยอมรับความแตกต่างที่ว่านั้นได้ ความแตกต่างนี่แหละครับ ที่คือความงามของสังคม”

(คัดมาบางส่วนจากบทความ ‘อ่านความคิดนักเรียน ม.5 ผู้หาญกล้าชูป้ายเบื้องหน้า ‘บิ๊กตู่’ ความคิดเหมือน ‘เมล็ดพันธุ์’ อย่าเอา ‘กะลา’ ไปครอบมันไว้’ ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 18 - 24 กันยา 2558)

ทำไมจึงปรัชญา ? เหตุใดจึงจริยศาสตร์ ? สำหรับข้าพเจ้าแล้ว นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจและน่าประหลาดใจที่สุด เนื่องจากคนที่ประกาศกร้าวเอ่ยอ้างเหตุผลนี้หาได้มีวัยวุฒิ คุณวุฒิ และประสบการณ์ซึ่งดูแล้วเพรียบพร้อมต่อการยกประเด็นนี้ขึ้นมาแต่อย่างใด (หรือต่อให้มี ก็ใช่ว่าจะสามารถตระหนักรู้และหยิบยกขึ้นมาได้โดยง่าย เนื่องจากท่านผู่อ่านอย่าลืมว่านี่คือสังคมไทย) ในทีแรก ข้าพเจ้าต้องขอสารภาพว่าตัวเองมีความเคลือบแคลงสงสัยอยู่ในที เกี่ยวกับความเข้าใจ (ในเรื่องที่หยิบยก) รวมไปถึงจุดประสงค์ของเพนกวิน แต่อย่างไรก็ดี หลังจากที่ข้าพเจ้าได้ฟังและได้อ่านข้อมูลต่างๆซึ่งมาจากปากของเขาเอง (ย้ำว่าเป็นเด็กมัธยมปลาย) โดยตรงแล้ว ความปีติเบิกบานก็บังเกิดขึ้นในใจข้าพเจ้าทันที ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวได้พาข้าพเจ้าให้ระลึกหวนไปถึงความหวังลมๆแล้งๆที่พัดผ่านเข้ามาบางครั้งบางคราวเช่นกัน กล่าวคือข้าพเจ้าเคยวาดหวังเหลือเกิน ว่าอยากให้ทางกระทรวงศึกษาฯ (ในหลายๆยุคสมัย) ได้บรรจุวิชา ‘หลักปรัชญาเบื้องต้น’ เป็นวิชาบังคับ (หรือวิชาเลือกก็ได้เอ้า!) ของโรงเรียน (เฉพาะในหลักสูตรระดับมัธยมปลายศึกษา) เนื่องจากวิชาดังกล่าวเป็นวิชาที่ว่าด้วย ‘ปัญญา’ ล้วนๆ แต่ข้าพเจ้าก็ต้องทำเป็นลืมมันไปทุกครั้ง เนื่องจากมันคงไม่มีวันเกิดขึ้นได้ในสังคมฉาบฉวยแบบเราๆ

ถ้าพูดลงไปแบบเฉพาะเจาะจง สาเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้าประหลาดใจอย่างมากเห็นจะเป็น ‘วิธีการมองโลก’ ของเพนกวิน ซึ่งมันมิใช่เรื่องง่ายๆเลย กับการที่เด็กคนหนึ่งจะสามารถมองการแก้ไขปัญหาหนึ่งๆด้วยหลักปรัชญาหรือจริยศาสตร์ เนื่องจากปรัชญาโดยตัวของมันเองนั้นดำรงอยู่ในลักษณะนามธรรม ธำรงไว้ซึ่งแก่นสัจจะ มิใช่หลักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าในเชิงปรากฎการณ์ของรูปธรรม (เพียงไม่กี่ขั้น) ดั่งที่เห็น ดังนั้นถ้าผู้พูดไม่ (พอจะ) รู้เรื่องดังกล่าวบ้างเสียแล้ว ข้อเสนอก็คงจะถูกกลั่นกรองออกมามิได้แน่ทีเดียว (ถึงแม้เอาเข้าจริงเพนกวินจะเคยสารภาพ (ไว้ใน มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 12 ก.ย.58) ว่าเขาเองดูจะแน่นไปทางสายประวัติศาสตร์มากกว่าปรัชญาก็ตาม)

ทีนี้ เพนกวินพยายามจะบอกอะไรกับเรา? จากการตีความของข้าพเจ้า (ผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงท่านนายกฯ ฉบับที่ ๒ เรื่อง ‘ข้อเสนอเกี่ยวกับการศึกษาเพื่อปลูกฝังจริยธรรม’ และบทสัมภาษณ์ต่างๆ) เพนกวินมิได้คิดจะแก้ไขปัญหาเรื่องการปฏิเสธเนื้อหาวิชาหน้าที่พลเมือง (เรื่องท่องจำ) โดยการนำประเด็น เนื้อหาสาระ หลักทฤษฎี หรือแม้แต่องค์ประกอบของหลักวิชาปรัชญา (หรือจริยศาสตร์) ระบบใดระบบหนึ่ง (หรือแม้แต่ของประเทศใดประเทศหนึ่ง) มาทำการประยุกต์ใช้โดยเฉพาะเจาะจง หากทว่าเสนอแนะ ‘กระบวนการทางปรัชญา’ (หรือพูดง่ายๆคือ ‘ระบบ’) ในการที่จะเข้าถึงจุดหมายที่ว่ามาดังกล่าว (ซึ่งก็คือการปลูกฝังจริยธรรมที่ยั่งยืน) ซึ่งกระบวนการที่ว่าอาจหมายถึงการถกเถียง วิพากษ์-วิจารณ์ วิเคราะห์ ตั้งคำถาม (ในทางปรัชญาเรียกว่า ‘dialectic’) รวมถึงการหาข้อสรุปร่วมกันในองคาพยพหนึ่งๆต่อปัญหาหนึ่งๆซึ่งเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น และปลายทางของถนนเส้นนี้เอง ที่จะนำมาซึ่งความเข้าใจร่วมกันต่อสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราอย่างยั่งยืน

ซึ่งแน่นอน ว่ามุมมองดังกล่าวหาได้ใช่เรื่องที่ใหม่เสียทีเดียว เนื่องจากเราจะเห็นว่าสังคมไทยเรา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้) ก็มีการตั้งคำถามใหม่ๆมากขึ้นทุกวี่ทุกวัน แต่อย่างไรก็ดี เราก็คงจะปฏิเสธเสียมิได้ว่าความกล้าหาญของเด็กๆนั้นเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดของเพนกวิน เด็กมัธยมชั้นปีที่ 5 จากโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่งที่ถ่อมตนว่าตัวเองเดินมาทางสายประวัติศาสตร์มากกว่าปรัชญา (จริงหรือไม่ลองมาดูกันบางส่วนทางด้านล่าง)


“คือวิชาหน้าที่พลเมืองเป็นเรื่องของการท่องจำค่านิยม 12 ประการบ้าง หรือลิสต์ไว้แล้วว่าอะไรคือดี ไม่ดี อะไรต้องทำ ไม่ต้องทำ แล้วให้เด็กไปจำแล้วทำตามนั้น ซึ่งผมมองว่ามันคือคำสั่ง ไม่ได้ปลูกจิตสำนึกเลย... เป็นการกำหนดความดีสำเร็จรูปไว้แล้ว และข้ามขั้นตอนของการสร้างความดี ถ้าเป็นวิชาปรัชญาจริยธรรมที่ผมเสนอไป จะเป็นเรื่องของการแสดงความคิดเห็นกัน ถกเถียงกันเพื่อที่จะหาข้อสรุปว่า ความดีจริงๆ แล้วมันคืออะไรกัน แล้วความดีฉบับของตัวเองนั้นเป็นแบบไหน และเมื่อเด็กสามารถสร้างความดีของตนที่สามารถสอดคล้องกับความดีของสังคมได้ ก็จะเป็นความดีของเขาเอง ผมเชื่อว่าเขาจะมีความรู้สึกร่วมมากกว่าและอยากปฏิบัติมากกว่าครับ”

“ผมยอมรับว่าผมไม่ใช่คนเก่งด้านปรัชญาหรือศึกษามามากมายเท่าไหร่จะหนักไปทางประวัติศาสตร์มากกว่าแต่ว่าสิ่งที่ทำให้ผมสนใจปรัชญาไม่ใช่ตัวเนื้อหา แต่คือวิธีคิดของมัน”

“ผมยังคงเชื่อมั่นในประเทศไทยผมเชื่อมั่นตลอดว่าตราบใดที่มนุษย์ยังคงความเป็นมนุษย์อยู่ มนุษย์ย่อมหาสิ่งที่ดีกว่าให้ตัวเองได้เสมอ แม้ประเทศไทยตอนนี้อาจมีปัญหานิดหน่อย แต่ในที่สุดแม้จะต้องใช้เวลาอีกสักพักหนึ่ง ผมเชื่อว่าประเทศไทยจะต้องหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุด สังคมไทยจะต้องค้นพบวิธีการที่ว่าคนไทยจะอยู่กันอย่างไร ก้าวต่อไปยังไง ต้องมีสักวันหนึ่งที่เราจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้”

“ผมอ่านประวัติศาสตร์มาตั้งแต่อนุบาล เริ่มจากที่เป็นนิทาน เช่น สุริโยทัย เพราะมันสนุก...
แรกๆ เด็กๆ ไม่รู้อะไรก็อ่านประวัติศาสตร์กระแสหลักไป เพลินๆ ดี จนเข้าประถมปลายถึงมัธยมก็มีหนังสือแปลกๆ หรือได้ฟังครูประวัติศาสตร์พูด ก็เห็นอีกด้านหนึ่งที่แปลกไปจากที่เราเคยรู้มา เลยรู้ว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่แค่เรื่องท่องจำแต่ต้องคิดด้วยนะ ก็เลยสนใจมากขึ้นอีก... ทำให้เข้าใจว่าสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็เป็นอย่างนี้แหละ เวลาได้ยินคนพูดว่า มนุษย์สมัยนี้แย่จังเลย ทำไมเป็นอย่างนี้ แต่พอเราไปอ่านประวัติศาสตร์ก็จะรู้ว่า แท้จริงแล้ว มนุษย์เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว”

(คัดมาบางส่วนจาก มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 12 ก.ย. 58)


ป.ล. ไม้ผลัดนี้อยู่ที่เพนกวิน แล้วไม้ผลัดต่อไปจะเป็นใครน้อออ...

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน  ปัจจุบัน รัฐพล เพชรบดี เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปศาสตร์ (ปรัชญา) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net