Skip to main content
sharethis

ในการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อต่างประเทศหลังฉาย 'รักที่ขอนแก่น' ในเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์ก อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับมือรางวัลพูดถึงทั้งสภาพความลำบากของภาพยนตร์ในไทยที่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง รวมถึงกรณีตัดสินใจไม่ฉายหนังตัวเองในไทย

5 ต.ค. 2558 อิริค โคห์น จากเว็บไซต์อินดี้ไวร์ ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ก.ย. ที่ผ่านมา สัมภาษณ์ 'เจ้ย' อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่เคยได้รางวัลปาล์มทองคำจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ หลังจากภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเขาที่ชื่อ 'Cemetery of Splendour' หรือ 'รักที่ขอนแก่น' ได้เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์นิวยอร์กและก่อนหน้านี้ก็ได้รับการตอบรับอย่างดีจากนักวิจารณ์ที่การฉายที่เทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์และเทศกาลภาพยนตร์เมืองโตรอนโต มีการกล่าวถึงในบทสัมภาษณ์ว่าเรื่องนี้จะเป็นภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายที่เขาจะทำในประเทศไทย

โคห์นระบุถึงผลงานเรื่อง 'ลุงบุญมีระลึกชาติ' ของอภิชาติพงศ์ซึ่งได้รับรางวัลปาล์มทองคำเมื่อปี 2553 ว่าเป็นภาพยนตร์ที่สื่อถึงเรื่องการกลับชาติมาเกิดและสิ่งเหนือธรรมชาติโดยมีส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ที่แตะประเด็นการที่กองทัพไทยปราบปรามผู้ให้ความช่วยเหลือคอมมิวนิสต์ในยุค 2508 ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่องใหม่ของเจ้ยมุ่งสำรวจตัวละครที่รู้สึกแปลกแยกด้วยการเล่าเรื่องอย่างมีสุนทรียภาพและมีการขยายประเด็นไปสู่เรื่องที่ใหญ่กว่า

อินดี้ไวร์สรุปย่อเรื่อง 'รักที่ขอนแก่น' ไว้ว่าตัวละครหลักของเรื่องคือ เจน เป็นหญิงมีอายุที่รู้สึกโดดเดี่ยว เธอทำหน้าที่อยู่ในศูนย์บำบัดที่มีทหารอยู่ในสภาพหมดสติทั้งวัน เจนและพยาบาลคนอื่นๆ ใช้เวลาในแต่ละวันพูดคุยกัน แต่ต่อมาเจนก็เริ่มรู้สึกสนิทสนมกับคนไข้ที่หมดสติที่เธอต้องดูแลอยู่มากขึ้น ความสัมพันธ์ของเธอเกิดความยุ่งยากซับซ้อนในช่วงหนึ่งที่เธอเจอกับชายชาวอเมริกันที่รู้จักกันทางอินเทอร์เน็ตแล้วหายไปจากเรื่องอย่างรวดเร็ว เจนพบว่าในที่สุดเธอต้องอยู่คนเดียวจนกระทั่งภาพยนตร์แสดงให้เห็นคนไข้ที่หมดสติของเธอเริ่มตื่นขึ้นซึ่งไม่แน่ว่าเป็นความจริงหรือไม่

โคห์นวิเคราะห์ว่าภาพยนตร์เรื่อง 'รักที่ขอนแก่น' แสดงให้เห็นถึงสังคมไทยในแง่ของความบาดหมางระหว่างสังคมคนต่างจังหวัดกับรัฐบาลทหารที่วางอำนาจซึ่งมีความยุ่งเหยิงมากขึ้นหลังจากการรัฐประหารล่าสุด

เจ้ย อภิชาติพงศ์ให้สัมภาษณ์ว่าธีมของเรื่องนี้มีความชัดเจนมากและมีการด้นสดน้อยกว่าภาพยนตร์เรื่องอื่นที่เขาเคยกำกับมา อีกทั้งเขายังรู้สึกร่วมเป็นพิเศษกับเรื่องนี้ถึงขั้นร้องไห้ออกมาในช่วงที่มีการตัดต่อ ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่มีความรู้สึกส่วนตัวของเขามากกว่าที่เขาคาดคิดไว้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการเมืองที่เจ้ยบอกว่า "คนต่างชาติอาจจะรู้สึกถึงได้น้อยกว่า แต่สำหรับผมแล้วมันมีอยู่"

แต่เมื่อโคห์นถามว่าเป็นเรื่องความสัมพันธ์กับทหารที่นำเสนอออกมาในเรื่องใช่หรือไม่ เจ้ยตอบว่า "ทั้งใช่และไม่ใช่" เขาบอกว่ามันเป็นเรื่องของความรู้สึกสับสนโดยรวมๆ มากกว่า แล้วก็มีความเศร้า มีมุมอื่นๆ ที่แล้วแต่คนจะมอง ตัวเขาเองทำภาพยนตร์ที่เขาอยากจะทำ แต่ถ้ามีมุมมองการตีความได้หลากหลายก็ถือเป็นเรื่องดี

โคห์น ตั้งข้อสังเกตอีกว่าภาพยนตร์ของอภิชาติพงศ์มักจะมีลักษณะที่เล่นกับงานภาพหรือ 'วิชวล' อีกทั้งยังมีลักษณะเหมือนอยู่ในความฝัน เรื่องเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับโลกที่เขารู้จัก เจ้ยบอกว่าฉากของเรื่อง 'รักที่ขอนแก่น' เป็นบ้านเกิดของเขาที่ไม่ค่อยได้กลับไปทำให้เขาเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน เขาจึงเน้นฉากในเรื่องที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้มันมีความหมายเป็นพิเศษกับตัวเขา การถ่ายทำที่บ้านเกิดยังทำให้เขาทำงานได้อย่างสบายใจและมีความรู้สึกบริสุทธิ์ไร้เดียงสาอยู่ด้วย

อภิชาติพงศ์บอกอีกว่าก่อนหน้านี้เขาเคยเป็นคนที่เน้นเรื่องโครงสร้างของภาพยนตร์กับการสื่ออารมณ์จากตัวเนื้อของภาพยนตร์มากกว่า แต่เขาก็ได้รับแรงบันดาลใจจากภาพยนตร์แนวทดลองคลาสสิกของอเมริกัน พอเขาโตขึ้นเขาก็เริ่มเน้นไปที่ตัวละครโดยเอาตัวเองเข้าไปผสมกับตัวละครด้วยมากขึ้น

เมื่อโคห์นถามว่าตัวเขามีชื่อเสียงมากขึ้นในฐานะหนึ่งในผู้ทำภาพยนตร์ร่วมสมัยชาวไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด สิ่งนี้มีผลต่อการทำภาพยนตร์ของเขาหรือไม่ เจ้ยตอบว่าเขาทำภาพยนตร์ที่เขาอยากทำแต่ก็มีข้อจำกัดทำให้ต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง เป็นเรื่องที่พูดแล้วจะติดคุกหรือเรื่องอื่นๆ ทำให้เขารู้สึกอึดอัดจากข้อจำกัดเหล่านี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังจากการรัฐประหารทำให้เขาไม่สามารถนำภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในประเทศไทยได้ซึ่งเป็นการตัดสินใจของเขาเองที่จะไม่เสี่ยง

เจ้ยให้สัมภาษณ์อีกว่าสภาพของไทยที่อยู่ภายใต้การปกครองของเผด็จการในปัจจุบันทำให้เกิดความไม่มั่นคง มีการอ้างใช้กฎหมายแบบตามอำเภอใจ มีการอ้างใช้กฎหมายในทางที่ผิด และบางกรณีก็มีการใช้ศาลทหารแทนที่จะใช้ศาลพลเรือนพิจารณาคดี

เรื่อง 'รักที่ขอนแก่น' มีการถ่ายทำตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร เขาถ่ายทำในขณะที่สถานการณ์ทางการเมืองดำเนินไปเรื่อยๆ เจ้ยบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเป็นเรื่องสุดท้ายที่เขาทำในประเทศไทย เขาคาดว่าในอนาคตเขาต้องการเปลี่ยนฉากของเรื่องไปเป็นโคลอมเบียหรือบางประเทศในอเมริกาใต้ ซึ่งเจ้ยรู้สึกว่ามีประวัติศาสตร์ที่เขารู้สึกเชื่อมโยงด้วยในแง่ความป่าเถื่อนและความวุ่นวาย เจ้ยบอกว่ามันอาจจะทำให้เขารู้สึกร่วมอย่างเป็นส่วนตัวน้อยลงเพราะไม่ใช่บ้านเกิด แต่ก็ทำให้เขารู้สึกถูกตัดสินน้อยลงด้วย อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้เขาเลือกแถบอเมริกาใต้เพราะในวัยเด็กเขาเติบโตมากับเรื่องผีสางและไสยศาสตร์ซึ่งในอเมริกาใต้ก็มีบรรยากาศเหล่านี้อยู่

ในแง่เทคโนโลยีกับภาพยนตร์ เจ้ยให้สัมภาษณ์ไว้ในบทสัมภาษณ์ของโคห์นว่า หลังจากที่เขาเคยลองทำศิลปะการแสดงหรือ 'เพอร์ฟอร์มานซ์' ทำให้เขาเห็นว่าภาพยนตร์มีข้อจำกัดในเรื่องกรอบภาพหรือ 'เฟรม' เหมือนกับที่ถ่ายภาพคอนเสิร์ตลงอินสตาแกรมซึ่งเป็นการนำประสบการณ์ไปใส่กรอบไว้แต่เทคโนโลยีในยุคต่อไปจะเปลี่ยนเรื่องนี้ได้ เมื่อโคห์นเสนอเรื่องเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) อย่างอุปกรณ์ชื่อ 'อ็อคคุลัส' เจ้ยก็บอกว่าเขาสนใจในเทคโนโลยีนี้มาก แต่มันก็จะมีข้อจำกัดเรื่องที่เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลเพียงคนเดียว


เรียบเรียงจาก

Apichatpong Weerasethakul on Why 'Cemetery of Splendour' Will Be His Final Film in Thailand, Indie Wire,  30-09-2015
http://www.indiewire.com/article/apichatpong-weerasethakul-on-why-cemetery-of-splendour-will-be-his-final-film-in-thailand-20150930

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net