Skip to main content
sharethis

ประวัติและเส้นทางการทำงานของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ทั้ง 21 คน โดยมี 'มีชัย ฤชุพันธุ์' สมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) แถวบนสุด (จากซ้ายไปขวา) 1.มีชัย ฤชุพันธุ์ 2. กีระณา สุมาวงศ์ 3. จุรี วิจิตรวาทการ 4. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ 5. ธนาวัฒน์ สังข์ทอง 6. ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย 7. เธียรชัย ณ นคร

แถวกลาง (จากซ้ายไปขวา) 8. นรชิต สิงหเสนี 9. พล.อ. นิวัติ ศรีเพ็ญ 10. ปกรณ์ นิลประพันธ์ 11. ประพันธ์ นัยโกวิท 12. ภัทระ คำพิทักษ์  13. ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ 14. พล.ต.วิระ โรจนวาศ

แถวล่าง (จากซ้ายไปขวา) 15. ศุภชัย ยาวะประภาษ 16. สุพจน์ ไข่มุกด์ 17. อมร วาณิชวิวัฒน์ 18. อภิชาต สุขัคคานนท์ 19. อุดม รัฐอมฤต 20. อัชพร จารุจินดา 21. อัฎฐพร เจริญพานิช (คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดเต็ม)

 

5 ต.ค. 2558 - ราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 ต.ค. ได้เผยแพร่ “ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ตอนหนึ่งระบุว่า “ตามที่ มาตรา 39/1 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 เพิ่มเติมโดยมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 กําหนดให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบคน เพื่อทําหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง” (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

เมื่อตรวจสอบประวัติการทำงาน สามารถจำแนกได้เป็น ด้านกฎหมาย 11 ราย ได้แก่ มีชัย ฤชุพันธุ์, กีระณา สุมาวงศ์, ธนาวัฒน์ สังข์ทอง, ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย, เธียรชัย ณ นคร, ปกรณ์ นิลประพันธ์, ประพันธ์ นัยโกวิท, สุพจน์ ไข่มุกด์, อภิชาต สุขัคคานนท์, อุดม รัฐอมฤต และ อัชพร จารุจินดา

ด้านต่างประเทศ 2 ราย ได้แก่ จุรี วิจิตรวาทการ, นรชิต สิงหเสนี

ด้านรัฐศาสตร์ 3 ราย ได้แก่ ชาติชาย ณ เชียงใหม่, ศุภชัย ยาวะประภาษ, อมร วาณิชวิวัฒน์

ด้านความมั่นคง 4 ราย ได้แก่ พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ, ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์, พล.ต.วิระ โรจนวาศ และ อัฎฐพร เจริญพานิช

ด้านสื่อสารมวลชน 1 ราย ได้แก่ ภัทระ คำพิทักษ์

โดยสมาชิก กรธ. ทั้ง 21 รายมีดังนี้

000

1. มีชัย ฤชุพันธุ์ อายุ 77 ปี (กฎหมาย)

เคยเป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ และ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณอดีตรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรักษาการนายกรัฐมนตรี แทน พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่ลาออกหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

อดีตปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา โดยตำแหน่งประธานวุฒิสภา 28 มิถุนายน 2535 - 29 มิถุนายน 2536

มีบทบาทผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 เพื่อจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เพื่อดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาของ รัฐธรรมนูญ 2540

อดีตที่ปรึกษา คปค. หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก่อนที่จะถอนตัวหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549

อดีตปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา โดยตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ดำรงตำแหน่ง 11 ตุลาคม 2549 – 20 มกราคม 2551

หลังรัฐประหาร คสช. 22 พฤษภาคม 2557 ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

2. กีระณา สุมาวงศ์ อายุ 67 ปี (กฎหมาย)

เนติบัณฑิตอังกฤษ สำนักเกรส์อินน์, ลอนดอน เป็นคู่สมรสของ อัครวิทย์ สุมาวงศ์ รองประธานศาลปกครองสูงสุด

อดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง (ดำรงตำแหน่ง 2539 - 2545)

อดีตสมาชิกวุฒิสภาจากการแต่งตั้ง (แบบสรรหาภาควิชาชีพ) (ดำรงตำแหน่ง 2554 – 2557) ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา

3.จุรี วิจิตรวาทการ อายุ 67 ปี (ต่างประเทศ)

อดีตอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2549
เป็นอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ เมื่อ 6 กันยายน 2558
กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand)
ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรี (Commission on the Status of Women –CSW) แห่งสหประชาชาติ (วาระ 2555 – 2558)

4.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ อายุ 64 ปี (รัฐศาสตร์)

อดีตรองอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)
อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ เมื่อ 6 กันยายน 2558
อดีตผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
อดีตกรรมการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2532 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ

5. ธนาวัฒน์ สังข์ทอง อายุ 47 ปี (กฎหมาย)

กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา 

6. ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย อายุ 62 ปี (กฎหมาย)

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำรงตำแหน่งปี 2544-2552
หลังรัฐประหาร 2549 เป็นอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550

7. เธียรชัย ณ นคร อายุ 57 ปี (กฎหมาย)

เป็นอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
อดีตกรรมการศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ชุดที่มีสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
เป็น 1 ใน 9 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง ฝ่ายวิชาการ เข้ารับตำแหน่งในเดือนมีนาคม 2558

8. นรชิต สิงหเสนี อายุ 60 ปี (ต่างประเทศ)

อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เกษียณอายุราชการเมื่อ 30 กันยายน 2558
อดีตเลขานุการโทอยู่ในสถานทูตไทยประจำฟิลิปปินส์
อดีตรองอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และรองอธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ
อดีตหัวหน้าสำนักงาน รมว.ต่างประเทศ และเอกอัครราชทูตประจำกระทรวง ในปี 2543
อดีตอธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวง
อดีตอธิบดีกรมเอเชียตะวันออก และเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศนิวซีแลนด์ ซามัว และตองกา
อดีตรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ
อดีตเอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทย ประจําสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

9. พล.อ. นิวัติ ศรีเพ็ญ อายุ 60 ปี (ความมั่นคง)

อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม, สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2557
กรรมการ คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ

10. ปกรณ์ นิลประพันธ์ อายุ 47 ปี (กฎหมาย)

กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา
เป็นคนทำงานด้านกฎหมายที่เขียนบล็อกเป็นประจำ ชื่อบล็อก นักร่างกฎหมาย และเคยเขียนบทความด้านกฎหมายเผยแพร่ในสื่อ
เคยเป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... สภาผู้แทนราษฎร และเป็นอดีตอนุกรรมาธิการของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เพิ่งตกไป

11. ประพันธ์ นัยโกวิท อายุ 68 ปี (กฎหมาย)

อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบงานด้านการบริหารการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่ง กันยายน 2549 ถึง กันยายน 2556 ก่อนหน้านี้เป็นอดีตรองอัยการสูงสุด และอดีตกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

12. ภัทระ คำพิทักษ์ อายุ 49 ปี (สื่อสารมวลชน)

ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

ในอดีตขณะดำรงตำแหน่งนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ภัทระได้รับเลือกเป็นหนึ่งในสามตัวแทนสื่อให้นั่งในตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2549 ร่วมกับนางบัญญัติ ทัศนียะเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และนายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ด้านนักข่าวภาคสนามกลุ่มหนึ่งคัดค้านการดำรงตำแหน่งดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าขัดต่อจรรยาบรรณและควรรักษาระยะห่างในการประกอบอาชีพสื่อมวลชนกับอำนาจรัฐ

อย่างไรก็ตาม ทั้งสามลาออกจากตำแหน่งในองค์กรวิชาชีพสื่อและไปนั่ง สนช. สุดท้าย หลังแรงกดดันจากวงการสื่ออย่างต่อเนื่อง ภัทระ คำพิทักษ์ ลาออกจากการเป็น สนช.

13. ภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อายุ 74 ปี (ความมั่นคง)

อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2536 สมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน และเกษียณปี 2544 สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร

กรรมการในคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายผู้ชุมนุมที่ สภ.อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ปี 2547

หลังรัฐประหาร คสช. 22 พฤษภาคม 2557 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการเมือง ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 121/2557

14. พล.ต.วิระ โรจนวาศ อายุ 61 ปี (ความมั่นคง)

อดีตผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญทหารบก กองทัพบก

หลังรัฐประหาร คสช. 22 พฤษภาคม 2557 ได้รับการแต่งตั้งกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 121/2557

15. ศาสตราจารย์ ดร. ศุภชัย ยาวะประภาษ อายุ 62 ปี (รัฐศาสตร์)

คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ เมื่อ 6 กันยายน 2558

อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย

นอกจากนี้เขายังเป็นผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอเพื่อการอุดมศึกษาและการพัฒนา (SEAMEO RIHED) (พ.ศ.2548 – ปัจจุบัน)

ผลงานทางวิชาการ ได้แก่ ตำรานโยบายสาธารณะ การบริหารงานบุคคล ภาครัฐไทย: กระแสใหม่และสิ่งท้าทาย ระเบียบวิธีการวิจัยทางรัฐประศาสนศาสตร์, การปรับปรุงประสิทธิภาพของหน่วยงานของรัฐที่ประสบความสำเร็จในการบริการประชาชน: การบริหารการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนั้น ยังมีผลงานวิจัย เช่น โครงการกลไกการติดตามและประเมินการจัดการการอุดมศึกษา (2549) โครงการการเรียนรู้นวัตกรรมอุดมศึกษาที่ทำให้เกิด ผลสำเร็จในการพัฒนาอุดมศึกษาเพื่อจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (2550)

16.สุพจน์ ไข่มุกด์ อายุ 70 ปี (กฎหมาย)

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2550

อนึ่งเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2557 สุพจน์กล่าวตอนหนึ่งในการไต่สวนความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการ คลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... โดยตอบชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม ในขณะนั้นว่า "รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับไทย และเป็นไปได้ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน” (ชมคลิป)

17.  อมร วาณิชวิวัฒน์ อายุ 50 ปี (รัฐศาสตร์)

อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ในด้านการเมือง และลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ เมื่อ 6 กันยายน 2558

ช่วงที่ทำงานในตำแหน่ง สปช. ได้เป็นประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) 2 คณะ คือ ประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย และประธานอนุกรรมาธิการปฏิรูปด้านพรรคการเมือง

นอกจากนี้ยังเป็นอนุกรรมการข้าราชการตำรวจ ด้านการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ล่าสุดได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่ออีก 4 ปี ด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ผู้ใช้อำนาจหน้าที่นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ ลงวันที่ 19 ส.ค. 2557 ยังเป็นอดีตสมาชิกสมัชชาแห่งชาติจากการเสนอชื่อแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี ในชุดรัฐบาลของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

18. อภิชาต สุขัคคานนท์ อายุ 69 ปี (กฎหมาย)

อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับผิดชอบงานด้านบริหารกลาง อดีตประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 9 อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา

19. ศาสตราจารย์ ดร. อุดม รัฐอมฤต อายุ 54 ปี (กฎหมาย)

รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร ท่าพระจันทร์ และรองศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

กรรมการฝ่ายวิชาการ สถาบันวิชาชีพชั้นสูงทางกฎหมาย สภาทนายความ อาจารย์ผู้ประสานงานวิชา หลักสูตรการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า อนุกรรมการฝ่ายบริหารงานบุคคล ศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร อนุกรรมการฝ่ายกฎหมาย สำนักงาน ป.ป.ง. และกรรมการในคณะกรรมการอิสระตรวจสอบศึกษาและวิเคราะห์ การกำหนดนโยบายปราบปรามยาเสพติดให้โทษฯ (คตน.)

นอกจากนี้เขายังร่วมลงชื่อใน คำแถลงการณ์ของคณาจารย์นิติศาสตร์ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 54 โดยเป็นการแถลงงความเห็นเพื่อโต้แย้งข้อเสนอของ กลุ่ม "นิติราษฎร์" ที่ออกมาเสนอลบล้างผลพวงการรัฐประหาร (2549) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2554 ด้วย (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

ก่อนการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 อุดม เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราเมื่อ 17 มกราคม ว่า “ตอนนี้ สังคมไทยก้าวมาถึงจุดที่ว่าแม้ชนะการเลือกตั้งก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าชัยชนะที่ได้มานั้นชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับหรือไม่ สิ่งที่สำคัญที่สุดตอนนี้คือ มีประชาชนที่เขาเห็นว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมทางการเมือง ต่อต้านการบริหารประเทศของรัฐบาล และประเด็นการทุจริตต่างๆ หากรัฐบาลไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้แก่สังคม ไม่สามารถอธิบายคนในสังคมได้ ไม่สามารถทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลยอมรับในการเลือกตั้งที่มีขึ้น หากรัฐบาลตอบสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ รัฐบาลก็อาจถูกมองว่าเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว ซึ่งรัฐบาลที่ล้มเหลวทางการเมืองนั้นในทางการเมืองแล้วก็ถือว่าเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ แม้ว่าจะชนะศึกเลือกตั้งก็ตาม ส่วนตัวผมคิดว่าผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจะยกระดับไปให้ถึงจุดนั้น ให้รัฐบาลล้มเหลวทางการเมือง”

20. อัชพร จารุจินดา อายุ 62 ปี (กฎหมาย)

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
อดีตประธานกรรมการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2550
อดีตคณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549

เคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร BOT Magazine ชื่อบทสัมภาษณ์คือ “อัชพร จารุจินดา ชีวิตที่รื่นรมย์กับการทำงาน” โดยในตอนหนึ่งเขาได้กล่าวถึงความหลักของหลักธรรมาภิบาลว่า “หลักธรรมาภิบาลของจริงก็คือ หลักที่เป็นตัวตนของคนไทยนี่แหละ คือความรู้จักเกรงกลัวต่อบาป นั่นคือสิ่งที่เป็นหัวใจของธรรมาภิบาล ถ้าคนเราปฏิบัติอย่างมีความเป็นธรรม ซื่อสัตย์ ไม่แสวงหาประโยชน์เกินสมควรที่จะได้ รู้จักรับผิดชอบต่อหน้าที่ให้ได้ดีที่สุด สิ่งนี้ก็คือเรื่องของความโปร่งใส”

21. พล.อ.อัฎฐพร เจริญพานิช อายุ 67 ปี (ความมั่นคง)

คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 11 กฎหมายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม ทางแพ่งและทางอาญา
อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญและอดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net