มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวประชาไท คว้ารางวัลเอเอฟพี จากการรายงานคดี 112

6 ต.ค. 2558 สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มุทิตา เชื้อชั่ง ผู้สื่อข่าวประชาไทวัย 33 ปีได้รับรางวัล Agence France-Presse Kate Webb ประจำปี 2015 จากการรายงานข่าวที่ทรงพลังและมุ่งมั่นในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งเกิดขึ้นถี่ขึ้นเรื่อยๆ ภายใต้รัฐบาลทหาร

รางวัลนี้มอบให้แก่ผู้สื่อข่าวที่ทำงานในสถานการณ์ที่ยากลำบากในภูมิภาคเอเชีย โดยชื่อรางวัลตั้งขึ้นตามชื่อของ เคท เวบบ ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีที่อุทิศตนทำงานข่าวสงครามและในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ต่างๆ เธอเสียชีวิตเมื่อปี 2550 ขณะอายุ 64 ปี เธอมีชื่อเสียงในฐานะนักข่าวที่ไม่เกรงกลัวสิ่งใดๆ และมีความเมตตาและเห็นอกเห็นใจ อีกทั้งยังเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาให้กับนักข่าวรุ่นใหม่ๆ ในภูมิภาคเอเชีย

มุทิตาได้รับการยกย่องจากความทุ่มเทในการติดตามและบันทึกคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท หนังสือพิมพ์ออนไลน์ซึ่งมีทั้งภาษาไทยและอังกฤษ

“เธออยู่แนวหน้าในการต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประเทศไทยด้วยการรายงานข่าวคดีความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างต่อเนื่อง” แอนเดรีย จิโอเกตโต้ แห่งสมาพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) กล่าว

องค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ระบุว่า งานของมุทิตาเป็น “ผลงานที่มีคุณค่า” และถือเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารสำคัญเกี่ยวกับการตัดสินและลงโทษคดีหมิ่นฯ

มุทิตา กล่าวกับ "ประชาไท" ว่า สาเหตุที่เลือกทำข่าวประเด็น 112 เพราะเห็นว่าเป็นประเด็นข้อถกเถียงสำคัญในสังคม การลงโทษก็หนักมาก แต่ไม่ค่อยมีใครทำจริงจัง อาจเพราะเกรงว่าจะเดือดร้อน หรือไม่ก็เห็นตรงกันกับที่รัฐเห็นว่าเป็นภัยความมั่นคง แต่ส่วนตัวยังสงสัยอยู่ เลยติดตามดู

เมื่อถามถึงความยากในการรายงานข่าวประเด็นนี้ มุทิตาบอกว่า จริงๆ โจทย์ที่ทำนั้นต่ำมาก คือ แค่อยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในคดี กระบวนการดำเนินคดีทั้งหมดเป็นยังไง และต้องการรู้เหตุผลจากปากผู้ต้องหา แต่ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยเวลา ความต่อเนื่องในการติดตาม ความกลัวมักครอบงำผู้ต้องหาและคนรอบข้างอย่างมาก

“มันไม่ได้เป็นความกล้าหาญอะไร การนำเสนอเรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่ใครก็ทำได้และน่าทำ เพราะเราจะเข้าใจความขัดแย้งในสังคมและผู้อยู่ร่วมสังคมที่เห็นไม่ตรงกันกับเราได้อย่างไร ถ้าไม่เปิดใจรับฟังและกล้าเผชิญกับความจริง เพื่อนำไปสู่ทางออก โดยภาพรวมการนำเสนอขององค์กรก็พยายามขยับเพดานให้การถกเถียงด้วยเหตุด้วยผลมีพื้นที่มากขึ้นอยู่แล้ว แต่ถึงที่สุดก็ยังอยู่ใต้เพดานนั้นแหละ (หัวเราะ)” มุทิตากล่าวและว่า

“ที่ผ่านมาปัจเจกชนธรรมดาๆ ที่ตระหนักเรื่องนี้ก็ทำในสิ่งต่างๆ ในหลากรูปแบบ หลายองค์กรก็พยายามทำเต็มที่ทั้งเก็บข้อมูลพื้นฐาน สร้างความเข้าใจในสังคม หรือแม้แต่ช่วยในการต่อสู้คดีเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าถึงความเป็นธรรม แต่อาจเพราะเราทำงานมายาวจึงพอทำให้เห็นชัด ซึ่งจะทำอย่างนี้ได้มาจากองค์ประกอบขององค์กรและเพื่อนร่วมงานที่สนับสนุนด้วย รวมถึงความขี้สงสัย ชอบฟังและชอบเล่าเรื่อง” 

ก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2014 ผู้ได้รับรางวัลนี้ได้แก่ เพทริเซีย เอวานเจลิสตา ผู้สื่อข่าวฟิลิปปินส์ ที่ทำข่าวมัลติมีเดียให้กับเว็บ Rappler และนิตยสาร Esquire จากการนำเสนอข่าวความขัดแย้งระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์กับกลุ่มกบฏ และผลกระทบหลังไต้ฝุ่นไหเยียน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท