Skip to main content
sharethis

6 ต.ค.2558 พิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรคงประมาณการอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ไว้ที่ร้อยละ 2.8 แม้ว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 จะอ่อนแรงกว่าที่เคยคาดไว้ โดยไตรมาส 3 เติบโตร้อยละ 2.8 จากเดิมคาดโตร้อยละ 3 ตามทิศทางการส่งออกหดตัว โดยปีนี้ส่งออกหดตัวร้อยละ 5 จากเดิมหดตัวร้อยละ 1.7 เนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าอย่างจีนยังย่ำแย่และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับต่ำ มีผลต่อราคาสินค้าส่งออกของไทยในกลุ่มยางพารา ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 16 การส่งออกที่ติดลบเพิ่มขึ้นจะมีผลลดทอนจีดีพีร้อยละ 0.8 แต่ประเมินว่าการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสูง คาดจำนวนนักท่องเที่ยวไตรมาส 4 จะสูงถึง 8 ล้านคน จากเฉลี่ย 7.4 ล้านคนใน 3 ไตรมาสแรก และการเบิกจ่ายภาครัฐขยายตัวได้ร้อยละ 21.2 ปีนี้จะเป็นแรงหนุนสำคัญของเศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ส่วนเศรษฐกิจไทยปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.5-3.5

ด้านปัจจัยเสี่ยงไตรมาสสุดท้ายส่วนใหญ่เป็นปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะความผันผวนในตลาดการเงินจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว โดยคาดการณ์เงินบาทสิ้นปีนี้อยู่ที่ 36.75 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปี 2559 อยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนปัจจัยในประเทศ คือ ปัญหาภัยแล้งและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญยังมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของปี 2559

กกร.ปรับลดจีดีพีปีนี้เหลือร้อยละ 2.5-3

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมติปรับลดการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ปีนี้เหลือร้อยละ 2.5-3 จากเดิมคาดการณ์ร้อยละ 3-3.5 และคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะหดตัวถึงร้อยละ 5

ซีไอเอ็มบีเล็งปรับโตต่ำกว่าร้อยละ 2.5

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการ อาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา “Whatsupp Aseanomic” ว่า ขณะนี้ธนาคารกำลังอยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 2.5 โดยจะรอดูตัวเลขเศรษฐกิจจริงไตรมาส 3 ซึ่งจะประกาศในช่วงเดือนพฤศจิกายนก่อนว่ามีทิศทางชะลอตัวลงมากหรือไม่ แต่ยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ถือว่าเข้าสู่ภาวะชะงักงัน โดยจีดีพีไตรมาสต่อไตรมาสโตต่ำกว่าร้อยละ 1 ซึ่งมาตรการรัฐที่ออกมาช่วงนี้สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้บ้างเป็นการประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดลง แต่จะมีผลต่อเศรษฐกิจจริงในช่วงเดือนธันวาคมถึงต้นปีหน้าเป็นต้นไป ซึ่งจะมีผลทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นชัดเจนปีหน้าและจีดีพีปี 2559 ขยายตัวได้ร้อยละ 3.3

นายอมรเทพ กล่าวว่า ภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก คือ การส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอทั้งจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญจน 8 เดือนแรกของปีติดลบไปแล้วร้อยละ 1.8 และทั้งปีน่าจะติดลบร้อยละ 5-6 ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัวด้วยการปรับปรุงคุณภาพสินค้าไม่มุ่งแข่งขันด้านราคา และหาตลาดใหม่ที่ยังมีการขยายตัวได้ดี

ที่มา : สำนักข่าวไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net